ReadyPlanet.com


เช่าซื้อบ้าน (สามีเช่าซื้อบ้านโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา)


สามีดิฉันได้ไปทำสัญญาเช่าชื้อบ้าน โดยที่ดิฉันไม่รู้เรื่อง และไม่ได้ให้ความยินยอม และก็ไม่ได้อาศัยอยู่บ้านหลังนั้นด้วย ตรงนี้สามีเขาจะมีความผิดไมค่ะ  แล้วดิฉันจะต้องมารับผิดชอบเรื่องหนี้สินเช่าซื้อบ้านกับเขาหรือไมค่ะ  ขอความอนุเคราะห์ปรึกษาแนะนำด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ ทุกข์ใจ :: วันที่ลงประกาศ 2013-11-06 09:42:17


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2434563)

สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือจดทะเบียนสมรสกัน ในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรสในเรื่องทรัพย์สินกันไว้ย่อมต้องอยู่ในเงื่อนไขของมาตรา 1476 ที่คัดลอกมาให้พิจารณาด้านล่างนี้ ดังนั้นตามคำถามว่า สามีของคุณไปทำนิติกรรมเช่าซื้อบ้านโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคุณซึ่งเป็นคู่สมรสนั้นมีผลบ้งคับหรือไม่ สามีมีความผิดหรือไม่?

ตามมาตรา 1476 ด้านล่างนี้บัญญัติเรื่องการเช่าซื้อไว้ว่า สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณี "ให้เช่าซื้อ" เท่านั้น ดังนั้นการเช่าซื้อเป็นการได้มาซึ่งสินสมรสจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขว่าต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง สัญญาเช่าซื้อจึงมีผลบังคับได้ไม่เป็นโมฆียะ และสามีของคุณไม่มีความผิดครับ

การที่สามีของคุณไปก่อหนี้สินโดยที่คุณไม่ได้ให้ความยินยอมและเป็นคู่สัญญาคุณจึงไม่อยู่ในฐานะลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว และสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าชนิดหนึ่งที่คู่สัญญาตกลงให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้เช่าซื้อเมื่อได้ผ่อนชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ขณะที่ยังผ่อนชำระหนี้หรือเช่าซื้ออยู่นั้นกรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้เช่าซื้ออยู่ครับ

มาตรา 1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
 
มาตรา 1476/1 สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-12-04 09:20:19


ความคิดเห็นที่ 2 (2434657)

ความยินยอมในการจัดการสินสมรส

การที่ศาลนัดสืบพยานโจทก์และผู้ร้องทราบนัดแล้วไม่ไปศาลตามนัดโดยศาลมิได้สั่งงดสืบพยาน ศาลจึงดำเนินกระบวนพิจารณาไป ถือไม่ได้ว่าเป็นการผิดระเบียบ เมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำร้องขอกันส่วนแล้วไม่คัดค้าน กรณีเป็นเรื่องพิพาทระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ ศาลไม่ต้องนัดสืบพยานจำเลย คำยินยอมของสามีหรือภรรยาเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมนั้นไม่ต้องทำต่อหน้าเจ้าพนักงาน เมื่อผู้ร้องรับว่าหนังสือยินยอมเป็นหนังสือของผู้ร้องที่ถูกต้องแท้จริงแล้วก็นำไปใช้จดทะเบียนจำนองที่ดินได้ หาเป็นโมฆะไม่ การที่ผู้ร้องทำหนังสือระบุว่า ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้จำนอง รวมทั้งกิจการอื่นที่กระทำไปโดยผู้ร้องขอร่วมรับผิดชอบในนิติกรรมนั้น เสมือนผู้ร้องได้กระทำเองทุกประการ ถือว่า ผู้ร้องยอมให้สัตยาบันหนี้ที่เกิดขึ้นว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ก่อหนี้กับผู้ร้อง. (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3693/2532)

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5531/2534

ผู้ร้องในฐานะภรรยาของจำเลยที่ 2 ลงชื่อให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมจำนองที่ดิน แม้หนังสือยินยอมจะไม่ได้ทำที่สำนักงานที่ดิน และต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1479 หนังสือยินยอมระบุว่า กิจการใดที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปผู้ร้องร่วมรับผิดชอบในนิติกรรมนั้นด้วย เสมือนหนึ่งผู้ร้องได้กระทำเองทุกประการ แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้รับรู้ถึงหนี้สินที่จำเลยที่ 2ได้ก่อให้เกิดขึ้น และถือได้ว่าผู้ร้องให้สัตยาบันหนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 ต้องผูกพันที่ดินและทรัพย์สินอื่นรวมทั้งส่วนของผู้ร้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นสินสมรสและสินส่วนตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วน. 

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3234/2536

จำเลยร่วมซึ่งเป็นสามีของ ย. ได้ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือยกกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทำบันทึกข้อตกลงสามฝ่ายยินยอมให้ ย. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ถือว่าจำเลยร่วมยินยอมให้ ย. แลกเปลี่ยนที่ดินที่เป็นสินสมรสกับโจทก์ เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการโอนที่ดินของตนให้แก่จำเลยตามข้อตกลงตรงตามความประสงค์ของ ย.  แล้ว สัญญาหรือข้อตกลงจะแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างโจทก์กับ ย.จึงมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519ประกอบด้วย มาตรา 456 วรรคสอง จำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย.จึงต้องโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของย. ให้แก่โจทก์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2013-12-04 16:24:29



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล