ReadyPlanet.com


สัญญากู้ยึดโฉนดบ้านเป็นประกัน


กรณีสัญญากู้ระบุ ผู้กู้ได้รับเงินวันทำสัญญา 1,000,000 บาท และผู้ให้กู้ได้ยึดโฉนดบ้านเป็นประกันการชำระหนี้ และระบุว่า ถ้าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ จะให้โอนกรรมสิทธิ์บ้านให้แก่ผู้ให้กู้ และตีราคาบ้านเพียง 500,000 บาท (ซึ่งราคาบ้านจริงขายได 1,500,000) อยากทราบว่า กรณีนี้สัญญากู้มีผลสมบูรณ์หรือไม่คะ และการบังคับตามสัญญานี้ ใช้ได้หรือไม่ และเงินส่วนที่ขาดอีก 500,000 บาท (เมื่อยึดบ้านแล้ว) ผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะเอาจากผู้กู้อีกหรือเปล่าคะ (เพราะราคาบ้านจริงๆ ก็น่าจะพอชำระสำหรับหนี้ที่ว่าแล้ว) - --- ขอทราบมาตราที่เกี่ยวข้องและอ้าิงอิงประกอบด้วยค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ นักศึกษา :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-27 20:44:15


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1978276)

มาตรา 173   ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะนิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่าคู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้

สัญญากู้ยืมเงินมีผลใช้บังคับได้ในส่วนที่กู้ยืมเงินกัน แต่ส่วนที่เกี่ยวกับการชำระหนี้หากผิดนัดจะให้โอนกรรมสิทธิ์บ้านใช้บังคับไม่ได้ เฉพาะในส่วนนี้เป็นโมฆะ เจ้าหนี้และลูกหนี้กลับสู่ฐานะเดิม เมื่อเจ้าหนี้ทวงถามแล้วไม่ชำระหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้และบังคับคดีตามกฎหมายต่อไปได้ครับ

มาตรา 656    ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและณ สถานที่ส่งมอบ

ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้นท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของ หรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-08-28 10:08:24


ความคิดเห็นที่ 2 (1978277)

 

การที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๙๐๔๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ยืม โดยไม่ปรากฏว่ามีการ

ตกลงกันว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวที่ตีใช้หนี้เงินกู้ยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ กรณีจึงขัดกับ ป.พ.พ.มาตรา ๖๕๖ วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๖๕๖ วรรคสาม มีผลให้คู่ความต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๔๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยได้

 

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวกลับคืนมาเป็นของโจทก์ โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริการออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และให้โจทก์กับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนการขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๔๙ ตำบลหนองหาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างโจทก์กับจำเลย ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๓ และยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง ดังนั้น คดีนี้จึงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือเอาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๓๘ ประกอบมาตรา ๒๔๗ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยกู้ยืมเงินจำเลยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายจำนวน ๒๘๐,๐๐๐ บาท โจทก์มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๗๓ ตำบลหนองหาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ให้แก่จำเลยไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมาโจทก์ไม่มีเงินชำระหนี้ จึงเสนอขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย แต่จำเลยไปตรวจสอบแล้วไม่สามารถโอนกันได้ โจทก์จึงนำที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๙๐๔๙ ตำบลหนองหาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาโอนให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้แทนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๗๓ และจำเลยยินยอมรับโอนที่ดินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้จากโจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การโอนที่ดินชำระหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวขัดต่อ ป.พ.พ.มาตรา ๖๕๖ วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ป.พ.พ.มาตรา ๖๕๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ส่วนในวรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ และในวรรคสาม บัญญัติว่า ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ จากบทกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่จำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๙๐๔๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ยืมโดยไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวที่ตีใช้หนี้เงินกู้ยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ กรณีจึงขัดกับมาตรา ๖๕๖ วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๖๕๖ วรรคสาม ซึ่งมีผลทำให้คู่ความต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๔๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินจำนวน ๒๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้แต่เพียงว่าโจทก์ก้าเงินจำเลยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายจำนวน ๒๘๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น กรณียังฟังไม่ยุติว่าโจทก์เป็นหนี้เงินกู้จำเลยจำนวนเท่าใดแน่ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่เรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินกู้คืนภายในบังคับแห่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6947/2549

 

ผู้แสดงความคิดเห็น *** วันที่ตอบ 2009-08-28 10:09:26



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล