ReadyPlanet.com


ลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน


ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน แต่นายจ้างไม่จ่ายเงินให้ ต้องทำอย่างไร และมีขั้นตอนอย่างไรบ้างครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ทองดี :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-13 22:55:20


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2006382)

เมื่อลูกจ้างประสบอันตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ลูกจ้างจะไปฟ้องเรียกเงินทดแทน คือค่ารักษาพยาบาล และค่าทดแทนจากนายจ้างทันที่ไม่ได้ ลูกจ้างต้องไปยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สำนักงานประกันสังคมก่อน  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งแล้ว หากนายจ้างไม่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและไม่จ่ายเงินตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่  ลูกจ้างจึงจะฟ้องเรียกเงินทดแทนจากนายจ้างได้ และถ้านายจ้างอุทธรณ์  ลูกจ้างก็ต้องรอจนกว่าคณะกรราการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยอุทธรณ์เสียก่อนและหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้  ลูกจ้างจึงจะฟ้องคดีได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-13 23:01:11


ความคิดเห็นที่ 2 (2006588)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

มาตรา 13  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้าง  จัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความ  จำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
         ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้าเมื่อฝ่าย  ลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบ
 
มาตรา 15 กรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ  ในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างตามความจำเป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ  อัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 16  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย  หรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

มาตรา 18  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย  ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้
         (1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถ  ทำงานติดต่อกันได้เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม  (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลา  ที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี
         (2) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสีย  อวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสียอวัยวะและตามระยะเวลาที่ต้องจ่ายให้ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด   แต่ต้องไม่เกินสิบปี
         (3) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ   โดยจ่ายตามประเภทของการทุพพลภาพและตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกำหนด แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปี
         (4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่  ความตายหรือสูญหายมีกำหนดแปดปี
 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-14 20:39:45


ความคิดเห็นที่ 3 (2006611)

การจ่ายเงินทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายจนไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวัน


แม้นายจ้างเป็นธนาคารที่มีวัตถุประสงค์ในทางการเงิน แต่เมื่อลูกจ้างได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่นายจ้างจัดให้มีกิจกรรมดังกล่าว และลูกจ้างได้เข้าร่วมกิจกรรมตามคำสั่งของนายจ้าง  การกระทำหรือกิจกรรมที่เป็นวิถีทางซึ่งทำให้เป้าหมายที่กำหนดไว้ของนายจ้างบรรลุผลตามวัตถุประสงค์จึงไม่เป็นการที่นายจ้างกระทำกิจกรรมนอกวัตถุประสงค์ ดังนั้นการประสบอันตรายจากการเล่นกีฬาฟุตบอลของลูกจ้างจึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนตามที่กฎหมายกำหนด

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1149/2533

 

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวน 25,776.48บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 24,273 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนจำนวน 16,962.40 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขันกีฬา จึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง เพราะเป็นกิจการนอกทางการที่จ้างศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน25,519.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน24,273 บาท นับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 16,962.40 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม2532 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาได้ความว่าโจทก์ที่ 1 มีระเบียบว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคาร โจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานของโจทก์ที่ 1 ตำแหน่งพนักงานตรวจสอบ ฝ่ายตรวจสอบ สำนักงานใหญ่ โจทก์ที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 เป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมสำนักงานใหญ่ 1 วันที่ 16กรกฎาคม 2531 โจทก์ที่ 2 ลงเล่นฟุตบอล ขณะแข่งขันโจทก์ที่ 2ได้รับบาดเจ็บต้องออกจากการแข่งขันและถูกพาตัวไปส่งโรงพยาบาลปรากฏว่ากระดูกขาซ้ายหักและข้อเท้าซ้ายเคลื่อนต้องพักรักษาตัวไปทำงานไม่ได้จนถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2531 จึงไปทำงานได้ตามปกติคดีคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์ที่ 2ประสบอันตรายดังกล่าวนั้น เนื่องมาจากการทำงานให้โจทก์ที่ 1นายจ้างหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2มีระเบียบฉบับที่ 21 ว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคารตามเอกสารหมาย จ.4 ระบุไว้ในข้อ 3 ว่า

          "ข้อ 3 วัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬาของธนาคารมีดังต่อไปนี้

          (1) เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การกีฬาให้แพร่หลายไปในหมู่พนักงานของธนาคารให้สนใจการเล่นกีฬามากยิ่งขึ้น อันเป็นการเพิ่มพูนสุขภาพพลานามัย ฝึกความมีระเบียบวินัย รู้แพ้รู้ชนะสมานสามัคคีและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

          (2) .....

          (3) เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของพนักงานจากการปฏิบัติงานประจำวันอันจะส่งผลให้การปฏิบัติงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          (4) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ภายในและภายนอกของธนาคาร"

          จากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจและเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า กิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็นกิจกรรมเพื่อการสร้างสรรค์ให้งานในหน้าที่หลักเพิ่มประสิทธิภาพและเพื่อผลในการประชาสัมพันธ์หน่วยงานของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2 อันเป็นการยอมรับกันในวงการธุรกิจปัจจุบันว่าการประชาสัมพันธ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นในการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจเพื่อการแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจสำหรับกิจการที่ดำเนินอยู่เมื่อกิจกรรมการกีฬาเป็นสิ่งส่งเสริมการดำเนินงานของโจทก์ที่ 1เช่นนี้ ก็ต้องเป็นที่เข้าใจและเห็นได้เป็นการทั่วไปว่า กิจกรรมเช่นนี้จะกลับมีในหน่วยงานที่ต้องการประสิทธิภาพให้เพิ่มขึ้นในการทำงาน การใดที่ทำแล้วจะเป็นผลให้งานของนายจ้างเพิ่มพูนในทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางเช่นกรณีนี้นั้น ต้องนับว่าการนั้นอยู่ในวัตถุประสงค์ของนายจ้าง จริงอยู่ที่พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 มาตรา 9 ได้บัญญัติวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 ว่า "ธนาคารมีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อส่งเสริมอาชีพหรือการดำเนินงานของเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร" แต่ก็ต้องยอมรับกันในหมู่ของผู้มีความรับผิดชอบว่ากิจกรรมตามระเบียบฉบับที่ 21 ของโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นหนทางที่จะทำให้วัตถุที่ประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 บรรลุผลหรือทำให้วัตถุประสงค์นั้นบังเกิดผลในทางที่เพิ่มพูนมากขึ้น การกระทำหรือกิจกรรมที่เป็นวิถีทางซึ่งทำให้เป้าหมายที่กำหนดไว้บังเกิดผลนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่เป็นการนอกวัตถุประสงค์แต่อย่างใด แต่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรปรับปรุงส่งเสริมให้สอดคล้องกับการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ ดังที่กล่าวไว้ในคำปรารภของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่103 โจทก์ที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 เป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมสำนักงานใหญ่ 1 ถูกต้องตามระเบียบฉบับที่ 21 ว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคาร ข้อ 11 และในระเบียบดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดเจนตามข้อ 20 ว่า "การแข่งขันกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาของพนักงานธนาคารตามข้อ 11 ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร...." ดังนั้นพนักงานของโจทก์ที่ 1 ไม่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ประจำในตำแหน่งใดเมื่อได้รับคำสั่งให้เป็นนักกีฬาตามระเบียบดังกล่าว ก็นับว่าพนักงานผู้นั้นต้องทำหน้าที่เป็นนักกีฬาของโจทก์ที่ 1 ด้วย การที่โจทก์ที่ 2 ลงแข่งขันกีฬาฟุตบอลเพื่อคัดเลือกหาทีมตัวแทนสำนักงานใหญ่ ตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 และได้รับบาดเจ็บขณะที่ทำการแข่งขัน จึงเป็นการที่ลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ ในข้อ 15 แล้ว เหตุที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่าจำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำการแข่งขันกีฬามาพิจารณาเพราะนอกวัตถุประสงค์ การที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 จึงเป็นการสั่งจ่ายนอกวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทน นั้น เห็นว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนมีปรากฏให้เห็นชัดเจนในคำปรารภของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ว่า "สมควรจัดให้มีกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างว่าจะต้องได้รับเงินทดแทนในเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน" เป็นข้อแสดงให้เห็นหลักการอันสำคัญยิ่งว่าการจัดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นนั้น ก็เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้าง และเมื่อพิจารณาถึงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ จะเห็นได้ว่าประกาศดังกล่าวได้กำหนดหมวดในการบังคับตามข้อกำหนดไว้แยกส่วนออกจากกันให้เห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ ระบุหมวด 1 อัตราเงินสมทบ หมวด 2 วิธีเรียกเก็บเงินสมทบ หมวด 3 การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ซึ่งในหมวด 1 และหมวด 2นั้น กำหนดสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อกันระหว่างนายจ้างกับสำนักงานกองทุนเงินทดแทน มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามสิทธิของผู้ที่จะได้รับตามหลักการของเงินทดแทนแต่ประการใด สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินทดแทนนั้นมีกำหนดไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินทดแทนหรือไม่เพียงใดจะต้องพิจารณาจากข้อกำหนดในหมวดนี้ จะนำหลักเกณฑ์ในหมวดอื่นที่มิได้เกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินทดแทนมาเป็นข้อพิจารณาว่า สิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่ตามข้อกำหนดในหมวดนี้ได้หมดไปนั้นหาต้องด้วยเจตนารมณ์ของการจัดให้มีกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างดังกล่าวข้างต้นตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม2515 ข้อ 3 ต้องการให้มีขึ้นไม่ จำเลยยกปัญหาเรื่อง อัตราการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างมาเป็นเหตุอ้างเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงเป็นการไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

          จำเลยอุทธรณ์ในประการต่อมาว่า ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 2 ในคราวเดียวกันเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ข้อ 16 วรรคท้าย ให้นำข้อ 54 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 มาใช้บังคับแก่การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนโดยอนุโลม ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54 กำหนดว่า "เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย.....ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือน ดังต่อไปนี้

          (1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวัน.....โดยจ่ายนับแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้....." ตามข้อกำหนดดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสำนักงานกองทุนเงินทดแทนที่จำเลยรับผิดชอบอยู่นั้นมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายจนไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวัน ตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ กรณีของโจทก์ที่ 2นั้นได้ประสบอันตรายจนไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม2531 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2531 และโจทก์ที่ 2 ได้เรียกร้องให้จำเลยจ่ายตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2531 จำเลยแจ้งปฏิเสธว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับตามหนังสือลงวันที่ 8 มีนาคม 2532 โจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าว เมื่อวันที่ 21สิงหาคม 2532 อันเป็นที่เห็นได้ว่าหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ที่ 2 เป็นรายเดือนตามที่กฎหมายกำหนดนั้นได้ล่วงเลยมาแล้วเป็นเวลานาน เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่าย จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ที่ 2 ทั้งหมดที่ถึงกำหนดแล้วในคราวเดียวกัน จำเลยจะนำข้อกำหนดในเรื่องการจ่ายเงินเป็นรายเดือนมาเป็นเหตุอ้างอีกนั้น เป็นการกล่าวอ้างในสิ่งที่มิชอบด้วยเหตุผลและหลักการที่ควรจะเป็นไปในทางที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจะต้องทำหน้าที่เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในอันที่จะได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองจากกองทุนศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

 

 

( อุดม เฟื่องฟุ้ง - ศักดา โมกขมรรคกุล - ตัน เวทไว )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-14 22:07:06



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล