ReadyPlanet.com


คดีล้มละลาย


ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ประสงค์จะขอถอนฟ้องได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ ดนัย :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-08 20:40:21


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2004460)

ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จะขอถอนฟ้องจำเลยไม่ได้
 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-08 20:45:54


ความคิดเห็นที่ 2 (2004462)

คำพิพากษาที่  3286/2530


  โจทก์ฟ้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

           จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

           จำเลยที่ 2 ให้การว่ามีเงินพอที่จะชำระหนี้ได้ ขอให้ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด ส่วนจำเลยที่ 2 ยังฟังไม่ได้ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ให้ยกฟ้อง

           โจทก์อุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2เด็ดขาดนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

           จำเลยที่ 2 ฎีกา

           ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และจำเลยที่ 2 แถลงไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นลงโฆษณาประกาศหนังสือพิมพ์แล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

           ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว โจทก์จะมาขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ในชั้นนี้ไม่ได้ จึงให้ยกคำร้อง" แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ยังมีทางที่จะชำระหนี้รายนี้ได้ยังไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

           พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-08 20:48:40


ความคิดเห็นที่ 3 (2004463)

มาตรา 11 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาลเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นคำฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

ศาลมีอำนาจเรียกให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์วางเงินประกันค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-08 20:53:27


ความคิดเห็นที่ 4 (2004468)

คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 25/2503

การถอนฟ้องคดีล้มละลายจะกระทำได้เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว แม้คดียังไม่ถึงที่สุด โดยมีอุทธรณ์ฎีกาต่อมา ก็จะมาขอถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์ฏีกาไม่ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-08 20:57:12


ความคิดเห็นที่ 5 (2004471)

คำพิพากษาที่  1636/2532

การถอนฟ้อง คดีล้มละลายจะกระทำได้ เฉพาะ ในศาลชั้นต้นเท่านั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว แม้คดียังไม่ถึงที่สุดโดย มีอุทธรณ์ต่อโจทก์ก็จะขอถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้.

ข้อสังเกต

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  โจทก์อุทธรณ์ แล้วต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง (ไม่ใช่ถอนอุทธรณ์)  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้ พึงสังเกตว่าหากโจทก์ขอถอนอุทธรณ์ โจทก์ก็น่าจะถอนได้ 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-08 21:02:33


ความคิดเห็นที่ 6 (2004474)

การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป

คำพิพากษาที่  1593/2543

การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยหรือลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป แม้จำเลยที่ 3 จะชำระเงินให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไปจึงไม่สมควรอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกา

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 และที่ 7 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6

  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 และที่ 7 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

  โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จและส่งไปศาลชั้นต้นเพื่อนัดฟังแล้ว

          โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 ได้นำเงินจำนวน 900,000 บาท มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 3 ต่อไป จึงขอถอนฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 3

         ศาลชั้นต้นสอบทนายจำเลยที่ 3 แล้ว แถลงไม่คัดค้าน

         ศาลฎีกามีคำสั่งว่า "พิเคราะห์แล้ว การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยหรือลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงแต่เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป ทั้งเจ้าหนี้จะอาศัยคดีล้มละลายเป็นเครื่องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด อันมีผลเท่ากับขอให้ศาลฎีกาพิพากษาตามคำฟ้องขอให้ล้มละลาย แม้จำเลยที่ 3 จะได้ชำระเงิน 900,000 บาทแก่โจทก์ และโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป จึงไม่สมควรอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกาสำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกคำร้อง"

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-08 21:11:18



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล