ReadyPlanet.com


ผู้จัดการมรดก(ซึ่งเป็นทายาทด้วย)โอนมรดกไปเป็นของตัวเอง


มีข้อสงสัยขอรบกวนถามต่ออีกนิดครับ
ถ้าผู้จัดการมรดก(ซึ่งเป็นทายาทด้วย)ได้โอนย้ายทรัพย์มรดกต่างๆไปเป็นของตัวเอง อยากทราบว่า
1. กฎหมายได้ระบุไว้หรือไม่ครับว่า ผู้จัดการมรดกจะต้องโอนทรัพย์มรดกเหล่านั้นไปเป็นของตัวเองแล้วกี่วัน จึงจะฟ้องร้องตามกฎหมายได้ครับ เพราะเกรงว่า ผจก.มรดก จะหัวหมออ้างว่า การที่โอนมาไว้ที่ตัวเอง ก็เพื่อรวบรวมไว้เป็นที่เดียว จะได้สะดวกในการจัดแบ่งให้ทายาทในภายหลัง
2.ในกรณีนี้ถ้าผจก.มรดกมีเจตนาทุจริตจริง นอกจากการฟ้องถอดถอนผจก.มรดก และฟ้องให้ตัดสิทธิในกองมรดกแล้ว จะสามารถฟ้องข้อหาอื่นได้อีกหรือไม่ครับ
3. โทษทางแพ่งที่จะได้รับ คืออะไรบ้างครับ
4.ความผิดของผู้จัดการมรดกประเภทใดบ้างที่ถือเป็นโทษทางอาญา และโทษที่จะได้รับคืออะไรบ้างครับ
5. จากที่กฎหมายระบุว่า ทายาทที่ถูกกำจัดหรือตัดสิทธิในกองมรดก ถ้าทายาทคนนั้นมีทายาทรับช่วงต่อ ทายาทที่รับช่วงต่อย่อมสามารถรับมรดกแทนที่ได้นั้น   อยากทราบว่า มีความผิดกรณีใดบ้างครับ ที่จะส่งผลมรดกในส่วนนี้ยังคงอยู่ ไม่ตกทอดไปถึงตัวทายาทที่รับช่วงต่อ
                ( เนื่องจากผมสงสัยว่า ถ้าฟ้องร้องแล้ว ตัดสินว่าทายาทคนนั้นผิดจริง และถูกกำจัดตัดสิทธิในกองมรดก แต่ถ้ามีทายาทรับช่วงต่อ ก็สามารถมารับมรดกในส่วนนี้แทนได้นั้น ก็ไม่รู้ว่าจะฟ้องกันไปทำไม เพราะฟ้องไปแล้ว ลูกหลานเหลนของทายาทคนนั้น ก็มารับมรดกไปแทนได้อยู่ดีครับ )
ขอบคุณมากครับ
 
 
 


ผู้ตั้งกระทู้ วิชัย :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-27 15:24:23


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2010918)

1. ในเรื่องระยะเวลาในการถือครองทรัพย์มรดกนั้นกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ครับ แต่หากไม่มีเหตุขัดข้องใด ๆ ที่ผู้จัดการมรดกจะอ้างได้ และผู้จัดการมรดกไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกภายในเวลาอันสมควร ถือว่าผู้จัดการมรดกไม่ทำหน้าที่ ดังนี้ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกและตั้งคนใหม่แทนได้ครับ

2.  มีเจตนาทุจริตเช่นอย่างไรครับ ต้องยกตัวอย่างให้เห็นความผิดปกติ จะได้ปรับเข้ากับข้อกฎหมายได้

3. โทษทางแพ่งก็อาจถูกกำจัดมิให้รับมรดกก็ได้

4. ยักยอกทรัพย์มรดกเป็นของตนเองมีความผิดโทษอาญาครับ

5. การถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการเฉพาะตัว กฎหมายบัญญัติไว้ดังนั้นครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-27 16:34:40


ความคิดเห็นที่ 2 (2010956)

ขอบคุณครับ และจากที่คุณลีนนท์ตอบข้อที่ 4   "  ยักยอกทรัพย์มรดกเป็นของตนเองมีความผิดโทษอาญาครับ "

- อยากรบกวนถามต่อนิดครับว่า โทษอาญานี่ จะปรับเท่าไร และจำคุกกี่เดือนกี่ปีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วิชัย วันที่ตอบ 2009-11-27 17:15:26


ความคิดเห็นที่ 3 (2010985)

มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-27 17:54:56


ความคิดเห็นที่ 4 (2010994)

ขอบคุณมากๆครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วิชัย วันที่ตอบ 2009-11-27 18:23:24


ความคิดเห็นที่ 5 (2015808)

ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ถือครองที่ดินมรดกแทนทายาทและมีหน้าที่แบ่งมรดก

จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขายให้บุคคลใด โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอมทั้งสิ้น ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้จำนวน 13 ไร่เศษ ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์

จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้

          จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งกับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยโจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายจันทร์ดี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายชิต บิดามารดาของโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียน ส่วนบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายอุดมและนายสวัสดิ์ชัย ส่วนนายประเสริฐเป็นลูกติดมากับบิดาจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทเดิมมีเนื้อที่ 24 ไร่ เป็นของนายอำคาขายให้แก่นายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.2 ต่อมานางอ่อนจันทร์มารดาโจทก์ได้ร่วมกับนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 13 ไร่ นำรวมเข้ากับที่ดินเดิมเป็นประมาณ 37 ไร่ แล้วขอแบ่งแยกออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ต่อมานายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต เมื่อปี 2537 และภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต (ตามคำสั่งศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 260/2537 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ตามสำเนาที่แนบท้ายหนังสือนำส่งพยานเอกสาร ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครสาขาสว่างแดนดิน ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2543) แล้วจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ทำบันทึกตกลงแบ่งแยกที่ดินมรดกให้แก่ทายาทต่อหน้านายสว่างผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 ตามเอกสารหมาย ล.1 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือจำนวน 13 ไร่ ให้แก่โจทก์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 ขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทจำนวน 13 ไร่ ดังกล่าวตามที่ตกลงกันไว้ให้แก่โจทก์ ตามคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 549/2538 เอกสารหมาย จ.3 และต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 (ในขณะนั้น) ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เอกสารหมาย จ.4 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 ท้ายสำนวนคดีดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 1 และในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.1

          คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่ เห็นว่า สำหรับประเด็นแรกโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น ทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรของนางอ่อนจันทร์กับนายจันทร์ดี ซึ่งอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และต่อมามารดาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 และมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 นายอุดม นายสวัสดิ์ชัย โจทก์จึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของบิดาจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มีสิทธิรับมรดกของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะคู่สมรสและถือเป็นทายาทคนหนึ่งของบิดาจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์นำสืบว่า เมื่อมารดาโจทก์มาอยู่กินกับนายชิต ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทเพิ่มเติมประมาณ 13 ไร่ จากที่ดินเดิม 24 ไร่ ที่ซื้อจากนางอำคารวมเป็น 37 ไร่เศษ แล้วแบ่งแยกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ดังนี้เมื่อนายชิตถึงแก่กรรม ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกแก่มารดาโจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งตกแก่ทายาที่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิตกับมารดาโจทก์คือจำเลยที่ 1 กับพี่น้องรวม 3 คน คนละหนึ่งส่วน โดยมารดาโจทก์ยังมีส่วนได้รับในฐานะทายาทชั้นบุตรด้วยอีก 1 ส่วน และเมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมในภายหลัง ส่วนที่ตกเป็นมรดกของมารดาโจทก์ก็ย่อมตกแก่โจทก์ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาโจทก์ โจทก์จึงมีส่วนได้ในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของนายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ด้วย และจากคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า นางอ่อนจันทร์มารดาของโจทก์ ได้ถึงแก่กรรมภายหลังนายชิตประมาณ 4 ให้แก่ลูกๆ จำนวน 5 ล็อก โดยมีสิ่งบอกหลักเขตหรือแนวกรรมสิทธิ์ได้ แต่ไม่ได้โอนทางทะเบียน และระหว่างนั้นมารดาโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทจำนวน 13 ไร่ ให้แก่นางใหม่ ต่อมาโจทก์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวคืนมาจากนางใหม่ โดยไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกัน แต่นางใหม่ให้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้ที่โจทก์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายชิตบิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ได้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชิต เพื่อจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการรับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต แล้วได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมออกเป็น 5 แปลง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2538 คงเหลือที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 เพียง 13 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลัง ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะไปดำเนินการขอแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงๆ นั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่สามารถตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวได้ จึงได้ไปเจรจาตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกันต่อหน้านายสว่างผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 โดยโจทก์มีนายสว่างผู้ใหญ่บ้าน และนายหนู นายจันทากับนายถวิลกรรมการหมู่บ้านมาเบิกความว่าร่วมเป็นกรรมการในการเจรจาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งปันที่ดินพิพาทกันตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า จำเลยที่ 1 ขอแบ่งที่ดิน 2 แปลง แปลงหนึ่งเนื้อที่ 1 งาน อีกแปลงหนึ่งเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายประเสริฐได้ 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายอุดมได้ 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน นายสวัสดิ์ชัย 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน ส่วนโจทก์ได้ที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กับพี่น้องซึ่งเป็นบุตรของนายชิตรวม 4 คน ได้ที่ดินรวม 5 แปลง โดยจำเลยที่ 1 ได้ 2 แปลง คนอื่นได้คนละ 1 แปลง ซึ่งตรงกันจำนวนแปลงที่จำเลยที่ 1 ได้ขอแบ่งตามที่ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งแต่ละแปลงมีเนื้อที่ใกล้เคียงกับที่ตกลงกันไว้ในเอกสารหมาย ล.1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ได้ 2 แปลง มีแปลงหนึ่งเนื้อที่ 1 งานเศษด้วย จึงเชื่อได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงแบ่งที่ดินมรดกเอกสารหมาย ล.1 กันต่อหน้าผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงไปดำเนินการขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงตามที่ตกลงกันไว้จริงโดยคงเหลือที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 13 ไร่เศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ตกเป็นของโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทกันในคดีนี้คือ ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 12 ไร่เศษ ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 นั้น เป็นของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต เป็นผู้ถือสิทธิ์ครอบครองแทนเท่านั้น

          ปัญหาวินิจฉัยต่อไปในประเด็นที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสมรู้ร่วมคิดกันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ที่จะขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่นั้นเห็นส.ค.รวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการทำนิติกรรมฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามที่วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชิต จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขายให้บุคคลใด โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอมทั้งสิ้น ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้จำนวน 13 ไร่เศษ ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 นั่นเอง ดังนั้นการที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งมา และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

          อนึ่ง คดีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครองที่โจทก์จะต้องฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ด้วย เพราะในเรื่องการแย่งการครอบครองนั้น จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้ว จึงไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายบัวคำสามีของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 ตามบันทึกตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.5 ที่ทำที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างแดนดิน แล้วโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 นั้น ก็ฟังไม่ได้เช่นกัน

          ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จึงไม่ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

          พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์
คำพิพากษาที่  1971/2551

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-12-14 14:43:44



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล