ReadyPlanet.com


ซื้อที่ดินกับผู้ที่ไม่บรรลุนิติภาวะได้ไหมค่ะ ช่วยแนะนำด้วย ขอบคุณค่


ติดต่อซื้อขายตกลงราคากันแล้วแต่ที่ดินเป็นชื่อเด็กชายอายุ 15 ปี เจ้าตัวและผู้ปกครองเต็มใจขาย ขอขอบพระคุณมากค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ มานี :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-12 21:25:44


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2006029)

ผู้เยาว์ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ครับ หากผู้แทนโดยชอบธรรมจะขายที่ดินผู้เยาว์ต้องขออนุญาตศาลก่อน และศาลก็ไม่อนุญาตง่าย ๆ ครับ หากศาลเห็นว่าการขายนั้นไม่มีความจำเป็นและไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-11-12 23:37:32


ความคิดเห็นที่ 2 (2006619)

จำนองทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล


การรับจำนองเป็นโมฆะธนาคารผู้รับจำนองไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองแม้จะรับจำนองไว้โดยสุจริต

 

1. ปู่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ที่ดินให้หลาน(บุตรของบุตร) โดยมิได้ยกให้บุตรของตนเลย บุตรจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เมื่อปู่เสียชีวิต มรดกตามพินัยกรรมย่อมตกได้แก่หลาน

2. บุตรเจ้ามรดก โดยไม่สุจริต ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และศาลได้ตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก ได้โอนทรัพย์มรดกของหลานมาเป็นของตนเอง และนำไปจำนองกับธนาคาร เป็นการไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก ดังนั้นการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก และต่อผู้รับพินัยกรรมซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่ จึงมีผลทำให้นิติกรรมจำนอง ระหว่างผู้แทนโดยชอบธรรม กับ ธนาคารเป็นโมฆะ

3. เมื่อที่ดินมรดกตกเป็นของหลานแล้ว บิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม นำไปจำนองกับธนาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล เป็นโมฆะ ถือเสมือนว่าไม่ได้มีการจำนองเกิดขึ้นเลย เพราะบิดาไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลย

4. เมื่อไม่มีการจำนองเกิดขึ้นเลยก็ถือเสมือนว่า ที่ดินดังกล่าวยังเป็นมรดกของปู่ อยู่ ซึ่งตกทอดได้แก่หลานตามเดิม และเมื่อธนาคารรับจำนองที่ดินจากบิดา(ผู้แทนโดยชอบธรรม) ย่อมไม่เกิดผลให้ธนาคารมีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้ว่าจะรับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตาม ก็ไม่มีผลให้ธนาคารกลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองไม่ผูกพันหลานผู้รับมรดกตามพินัยกรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1099/2550

 

  คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวรพรรณ์ชำระเงินแก่โจทก์ 4,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,173,550 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12106 ตำบลตลาดขวัญ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ จำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอโดยขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้อง

          โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอ

            ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ปล่อยที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ให้เป็นพับ

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ฎีกา

            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยกับนายวรพรรณ์ นายวรพรรณ์เป็นบุตรของจ่าสิบตำรวจถาวรกับนางลำไย เดิมที่ดินพิพาทเป็นของจ่าสิบตำรวจถาวร ซึ่งทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 จ่าสิบตำรวจถาวรถึงแก่ความตายนายวรพรรณ์ร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกจ่าสิบตำรวจถาวร วันที่ 26 พฤษภาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรตามคดีหมายเลขแดงที่ 797/2537 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2538 นายวรพรรณ์จึงนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของตน ครั้นวันที่ 26 ธันวาคม 2538 นายวรพรรณ์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้กู้ยืมเงินไว้แก่โจทก์ นายวรพรรณ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2539 วันที่ 15 ธันวาคม 2540 นางสาวไมตรียื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวร จำเลยในฐานะส่วนตัว ผู้ร้องและเด็กหญิงพิมพ์มณี โดยนางปิยะนุช ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ยื่นคำคัดค้าน และมีการส่งพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ไปตรวจพิสูจน์ ศาลชั้นต้นเชื่อว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 เป็นพินัยกรรมที่แท้จริง จึงพิพากษาคำร้องขอของนางสาวไมตรีและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 496/2544 ของศาลชั้นต้น

            ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจ่าสิบตำรวจถาวรทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 นายวรพรรณ์จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสอง นายวรพรรณ์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของจ่าสิบตำรวจถาวร ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 แต่นายวรพรรณ์ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรต่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 797/2537 ของศาลชั้นต้น แสดงว่าการร้องขอและการนำสืบหมายพยานหลักฐานของนายวรพรรณ์เป็นไปโดยไม่สุจริตปกปิดข้อเท็จจริงทำให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรโดยหลงผิด แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยจ่าสิบตำรวจถาวร นายวรพรรณ์ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่นายวรพรรณ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัวโดยนายวรพรรณ์เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก แต่อาศัยคำสั่งศาลที่สั่งโดยหลงผิดเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรมให้นายวรพรรณ์มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรอันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นส่วนควบจึงยังคงเป็นมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องอยู่ตามเดิม หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวรพรรณ์ไม่ เมื่อนายวรพรรณ์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นส่วนควบเสียแล้ว นายวรพรรณ์ ก็ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จากนายวรพรรณ์ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะจำนองได้ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

ผู้แสดงความคิดเห็น admin วันที่ตอบ 2009-11-14 22:56:31



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล