ReadyPlanet.com


เปลี่ยนอำนาจการปกครองผู้เยาว์


เด็กอายุ 11 ปี มารดาเด็กเสียชีวิต ขณะที่บิดาไม่มีอาชีพที่มั่นคง  อาของเด็กต้องการรับเด็กไปอยู่ด้วย แต่เกรงว่าการยืนขอรับเป็นบุตรบุญธรรมต้องใช้เวลานาน จึงจะร้องขอศาลสั่งโอนอำนาจการปกครองผู้เยาว์มาเป้นอา โดยบิดายินยอมได้หรือไม่   และหากอาอยู่ต่างประเทศไม่สามารถมาได้จะให้ใครดำเนินการแทนได้หรือไม่  ขอบคุณล่วงหน้าครับ



ผู้ตั้งกระทู้ นัท :: วันที่ลงประกาศ 2010-01-15 16:39:18


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2025191)

อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ เกิดมีขึ้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เด็กที่เกิดมาจากบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของทั้งบิดามารด ดังนั้นบุตรที่ยังเป็นผู้เยาว์คืออายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ย่อมอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาแต่หากบิดาหรือมารดาเสียชีวิต อำนาจปกครองย่อมตกอยู่กับฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่

มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของ บิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

แต่หากบิดาและมารดา เสียชีวิตทั้งสองคน จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองขึ้นก็ได้

 

มาตรา 1585 บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือ บิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้น ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้


ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่านตาม มาตรา 1582 วรรค 1 ศาลจะตั้งผู้ปกครองในส่วนที่ผู้ใช้อำนาจ ปกครองถูกถอนอำนาจปกครองนั้นก็ได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจ ปกครองถูกถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินตาม มาตรา 1582 วรรค 2 ศาลจะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินก็ได้

 

แต่หากกรณีที่บิดายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่สามารถตั้งผู้ปกครองมาเป็นผู้ใช้อำนาจแทนบิดาได้ หรือโอนอำนาจปกครองไปให้ผู้อื่นได้ เว้นแต่บิดาใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ ประพฤติชั่วร้าย กรณีนี้ ญาติของผู้เยาว์หรือเด็กจะร้องขอให้ศาลถอนอำนาจปกครองของบิดาแล้วตั้งตนเองเป็นผู้ปกครองก็ได้

มาตรา 1582 ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครอง เสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2563/2544


 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง

           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่าบิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-01-15 18:57:24


ความคิดเห็นที่ 2 (2025192)

อ่านคำพิพากษาย่อยาว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2563/2544


 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง

           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่าบิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์

 


 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นน้องของนางจิรัฐธิกา ดาแว่นนางสาวหทัยชนก ใจกล่ำ อายุ 18 ปี ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจิรัฐธิกา ดาแว่น กับนายสุรศักดิ์ ใจกล่ำ ต่อมานางจิรัฐธิกากับนายสุรศักดิ์ได้จดทะเบียนหย่าโดยให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของมารดาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2543 นางจิรัฐธิกาถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุ ทำให้ผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครอง ผู้ร้องเป็นน้าของผู้เยาว์มีความประสงค์จะขอเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของนางสาวหทัยชนก ใจกล่ำ ผู้เยาว์


          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง


          ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ


          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองของนางสาวหทัยชนก ใจกล่ำผู้เยาว์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนว่า ผู้ร้องเป็นน้าของผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรของนางจิรัฐธิกา ดาแว่น กับนายสุรศักดิ์ ใจกล่ำ ต่อมานางจิรัฐธิกาและนายสุรศักดิ์จดทะเบียนหย่าจากการเป็นสามีภริยาและมีข้อตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของมารดา ตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่า หลังจากนั้นนางจิรัฐธิกาถึงแก่กรรม ส่วนนายสุรศักดิ์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์เกี่ยวกับเรื่องจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเห็นว่า การจะตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสีย ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า มารดาของผู้เยาว์ถึงแก่กรรมส่วนบิดาของผู้เยาว์ยังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครองแต่อย่างใด แม้บิดาและมารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6)เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะเพิกถอนอำนาจปกครองนั้นจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาลดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงขณะจดทะเบียนหย่าถึงแก่กรรม อำนาจปกครองผู้เยาว์ก็กลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้" แสดงให้เห็นว่าในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายได้ให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้อง ผู้ร้องจะไม่มีอำนาจยื่นก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า พฤติการณ์ที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด และไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้อง กรณีถือได้ว่า บิดาของผู้เยาว์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาถึงแก่ความตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดาของผู้เยาว์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ การให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า"


          พิพากษากลับ ให้ถอนอำนาจปกครองผู้เยาว์จากนายสุรศักดิ์ ใจกล่ำบิดาและตั้งนางสาวจุฬารัตน์ ศรีคำ ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง

 

 

( สุวัตร์ สุขเกษม - สมพล สัตยาอภิธาน - ชวลิต ธรรมฤาชุ )

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-01-15 18:58:48



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล