ReadyPlanet.com


นายจ้างสั่งย้ายให้ไปทำงานอีกสาขา


กรณีที่ผมจะปรึกษากำลังอยู่ในสถานะการณ์ที่กำลังรอคำสั่ง...สนญ.อยู่กรุงเทพ ในสัญญาจ้างให้ผมมาประจำอยู่สาขาหาดใหญ่และในสัญญาจ้างไม่แน่ใจว่าจะระบุว่านายจ้างมีสิทธิ์ย้ายไปสาขาใดก้ได้หรือเป่าว...ผมมาทำงานที่หาดใหญ่ได้ประมาณ 6 ปีในระหว่างที่ทำงานที่หาดใหญ่เกิดการขัดแย้งในเรื่องการทำงานกับฝ่ายขายแต่ไม่ใช่การทะเลาะวิวาท...ทาง สนญ.ได้รับการร้องเรียนจึงออกคำสั่ง 2 เงือนไข 1.ให้ผมย้ายออกจากพื้นที่เดิมไปอยู่ สนญ.ในตำแหน่งหน้าที่การทำงานเดิม(ตอนนี้กำลังรอคำสั่งย้าย)โดยยังไม่แน่ใจว่าจะมีค่าที่พักให้หรือไม่อย่างไร 2. ให้ผมย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงกันแต่ห่างกันประมาณ 300 กม. ข้อที่จะปรึกษา...1. หากผมจะปฏิเสธการย้ายไป สนญ.(บริษัทมีค่าที่พักหรือไม่มีค่าที่พักมีผลหรือไม่)ด้วยเหตุผลเรื่องครอบครัว ลูกอายุ 6 ด.อยู่ด้วยกันพร้อมภรรยาที่หาดใหญ่ ลูกอีกคนอยู่กับย่าที่นครศรีฯหากผมย้ายไปสนญ.โอกาสที่จะมาเยี่ยมมาหาลูกทั้งสองคนในเวลาเดียวกันน้อยมาก กรณีที่ 2 หากผมรับข้อเสนอที่ 2 คือย้ายไปทำงานอีกตำเเหน่งที่สาขาอื่นผมควรจะได้ค่าที่พักหรือไม่นายจ้างจะอ้างว่าตอนผมอยู่หาดใหญ่บริษัทไม่ได้จ่ายให้จะฟังขึ้นหรือไม่และหากไม่มีค่าที่พักให้ผมจะทำอย่างไรหากผมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกมาจะถือว่าผมผิดไหม...ผมจะได้เงินค่าชดเชยไหมอย่างไร...รบกวนด้วยนะครับ บอกตรงๆว่าทุกวันนี้เครียดนอนไม่หลับห่วงกังวลเรื่องครอบครัวเป็นที่สุด...ขอบคุณมากครับ



ผู้ตั้งกระทู้ uvit (uvit_add-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-02-11 12:02:51


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2034432)

คงต้องทราบให้แน่ชัดก่อนว่า สัญญาจ้างระบุให้นายจ้างมีสิทธิย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สาขาอื่นได้หรือไม่ ปกตินายจ้างที่มีสำนักงานสาขา จะระบุไว้ในสัญญาจ้างให้มีสิทธิย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สาขาอื่นได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

หากนายจ้างมีสิทธิที่จะย้ายได้ย่อมไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการที่ให้สิทธิลูกจ้างบอกเลิกสัญญาได้ แต่กรณีที่นายจ้างมีสิทธิย้ายย่อมเป็นการบริหารจัดการกิจการของนายจ้าง ดังนั้นหากลูกจ้างปฏิเสธถือว่าลูกจ้างขัดคำสั่งของนายจ้างและไม่ได้ค่าชดเชยครับ

สำหรับเรื่องที่พัก กฎหมายไม่ได้ระบุเรื่องนี้ไว้

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-02-11 16:41:56


ความคิดเห็นที่ 2 (2034435)

คำพิพากษาฎีกาที่ 782-800/2539 นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน สัญญาจ้างระบุให้นายจ้างย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สาขาอื่นได้    เมื่อมีเหตุผลสมควรนายจ้างย่อมย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สาขาได้ หากลูกจ้างไม่ยอมไปย่อมเป็นการละทิ้งหน้าที่

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2010-02-11 16:43:14


ความคิดเห็นที่ 3 (2034437)

คำพิพากษาที่  782 - 800/2539

 

จำเลยรับโจทก์ทั้งหมดเข้าทำงานในตำแหน่งลูกจ้างในการผลิตสินค้าของจำเลยเป็นการทำงานโดยใช้แรงงานตามธรรมดาทั่วไปมิใช่จ้างให้ทำงานโดยอาศัยความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะทั้งตามสัญญาจ้างก็ระบุไว้ชัดว่าจำเลยสามารถย้ายโจทก์ทั้งหมดไปทำงานในสาขาอื่นของจำเลยได้ซึ่งโจทก์ทุกคนก็ทราบความข้อนี้ตั้งแต่วันทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยและตามสัญญาดังกล่าวก็ไม่มีข้อตกลงว่าการย้ายโจทก์ไปทำงานที่อื่นจำเลยจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อนเมื่อจำเลยมีความจำเป็นย้ายโจทก์ทั้งสิบเก้าให้ไปทำงานที่สาขาของจำเลยที่โรงงานอำเภอ ปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรีในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิมและให้มีสิทธิและประโยชน์เท่าเดิมจำเลยจึงมีสิทธิย้ายโจทก์ทุกคนได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่ถือว่าเป็นการย้ายโดยกะทันหันและรวบรัดคำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานและตามกฎหมายแพ่งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ไปทำงานเกินกว่า3วันทำงานจึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและสุจริตเป็นการขาดงานติดต่อกัน3วันทำงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับค่าจ้างค้างที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์นั้นเป็นค่าจ้างในระหว่างวันที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานที่อำเภอ ปากเกร็ด เมื่อโจทก์ทั้งหมดไม่ไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ไม่ได้ทำงานเนื่องจากข้อบังคับการทำงานกำหนดว่าจำเลยจะจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเฉพาะวันที่ลูกจ้างทำงานเท่านั้น

 


  โจทก์ ทั้ง สิบ เก้า สำนวน ฟ้อง ว่า จำเลย จ้าง โจทก์ ทั้ง สิบ เก้า เข้าทำงาน ทำ หน้าที่ พนักงาน ให้ ค่าจ้าง อัตรา สุดท้าย แก่ โจทก์ ที่ 1 เดือน ละ4,650 บาท โจทก์ นอกนั้น ให้ ค่าจ้าง อัตรา สุดท้าย ระหว่าง วัน ละ132 บาท ถึง 135 บาท กำหนด จ่าย ค่าจ้าง ทุกวัน ที่ 4 และ วันที่ 20ของ เดือน ต่อมา วันที่ 19 สิงหาคม 2537 จำเลย ไม่ยอม ให้ โจทก์ทั้ง สิบ เก้า เข้า ทำงาน ตาม ปกติ อ้างว่า โจทก์ ทั้ง สิบ เก้า กับพวกมี ส่วน เกี่ยวข้อง กับ ข้อเรียกร้อง เพื่อ เปลี่ยนแปลง ข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพ การจ้าง และ จะ จัดตั้ง สหภาพแรงงาน โดย จำเลย ไม่ยอม จ่ายค่าจ้าง ให้ โจทก์ การกระทำ ของ จำเลย ถือว่า เป็น การ เลิกจ้าง โจทก์ทั้ง สิบ เก้า โดย โจทก์ ไม่มี ความผิด เป็น การ เลิกจ้าง ไม่เป็นธรรมทั้ง ไม่ได้ บอกกล่าว เลิกจ้าง ล่วงหน้า จำเลย จึง ต้อง จ่าย ค่าชดเชยสินจ้าง แทน การ บอกกล่าว ล่วงหน้า ค่าเสียหาย เนื่องจาก เลิกจ้าง ไม่เป็น ธรรม ค่าจ้าง ค้างจ่าย ค่าจ้าง ใน วันหยุด พักผ่อน ประจำปีและ ดอกเบี้ย โจทก์ ทวงถาม แล้วแต่ จำเลย ไม่ยอม จ่าย ขอให้ บังคับจำเลย จ่ายเงิน จำนวน ดังกล่าว พร้อม ดอกเบี้ย

          จำเลย ทั้ง สิบ เก้า สำนวน ให้การ ว่า จำเลย เลิกจ้าง โจทก์ ที่ 1ถึง โจทก์ ที่ 5 โจทก์ ที่ 9 ถึง โจทก์ ที่ 11 โจทก์ ที่ 13 ถึง โจทก์ที่ 16 และ โจทก์ ที่ 19 เนื่องจาก เมื่อ วันที่ 15 สิงหาคม 2537 จำเลยมี คำสั่ง โอน ย้าย โจทก์ ดังกล่าว ไป ทำงาน ที่ โรงงาน ของ จำเลย ที่อำเภอ ปากเกร็ด จังหวัด นนทบุรี ซึ่ง จำเลย มีอำนาจ สั่ง โยก ย้าย ได้ โดย จำเลย ไม่ได้ ลด ตำแหน่ง หน้าที่ และ ค่าจ้าง แต่ โจทก์ ดังกล่าว ไม่ยอม ไปปฏิบัติงาน ตาม ที่ โอน ย้าย และ ได้ ขาดงาน ไป ตั้งแต่ วันที่ 16 ถึง 17สิงหาคม 2537 โดย ไม่มี เหตุอันสมควร จำเลย จึง ลงโทษ โจทก์ดังกล่าว ด้วย การ ตักเตือน เป็น หนังสือ เมื่อ วันที่ 18 สิงหาคม 2537หลังจาก นั้น โจทก์ ดังกล่าว ยัง ขาดงาน อีก อันเป็น การ ฝ่าฝืน ข้อบังคับหรือ ระเบียบ การ ทำงาน หรือ คำสั่ง อัน ชอบ ด้วย กฎหมาย ของ จำเลยและ จำเลย ได้ ตักเตือน เป็น หนังสือ แล้ว และ การกระทำ ของ โจทก์ดังกล่าว เป็น การกระทำ ไม่ สม แก่ การปฏิบัติหน้าที่ ของ ตน ให้ ลุล่วง ไปโดย ถูกต้อง และ สุจริต เป็น การ จงใจ ทำให้ จำเลย ได้รับ ความเสียหายเพราะ ร่วมกัน จงใจ หยุดงาน ทำให้ ขบวน การ ผลิต ของ จำเลย ต้อง หยุดชะงัก เนื่องจาก พนักงาน ไม่ เพียงพอ จำเลย จึง มีสิทธิ เลิกจ้าง โจทก์ดังกล่าว ได้ โดย ไม่ต้อง จ่ายเงิน ใด ๆ ให้ โจทก์ จำเลย เลิกจ้างโจทก์ ดังกล่าว ตั้งแต่ วันที่ 22 สิงหาคม 2537 และ ได้ จ่าย ค่าจ้างสำหรับ วันที่ 15 สิงหาคม 2537 ให้ แล้ว หลังจาก นั้น โจทก์ ดังกล่าวไม่มี สิทธิ ได้รับ ค่าจ้าง เพราะ ไม่ได้ เข้า ทำงาน ส่วน โจทก์ ที่ 6ถึง โจทก์ ที่ 8 โจทก์ ที่ 17 และ โจทก์ ที่ 18 จำเลย เลิกจ้าง เนื่องจากโจทก์ ดังกล่าว ได้ ละทิ้ง หน้าที่ เป็น เวลา 3 วันทำงาน ติดต่อ กันโดย ไม่มี เหตุอันสมควร กล่าว คือ โจทก์ ดังกล่าว ได้รับ คำสั่ง ให้ ย้ายไป ทำงาน ที่ อำเภอ ปากเกร็ด เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ วันที่ 18 สิงหาคม 2537 ต่อมา วันที่ 19 ถึง วันที่ 22 สิงหาคม 2537 โจทก์ ดังกล่าวไม่ไป ทำงาน โดย ไม่แจ้งเหตุ ให้ จำเลย ทราบ จำเลย จึง เลิกจ้างตั้งแต่ วันที่ 23 สิงหาคม 2537 โดย ไม่ต้อง จ่ายเงิน ใด ๆ ให้ โจทก์จำเลย จ่าย ค่าจ้าง ให้ โจทก์ ดังกล่าว ไป แล้ว และ จำเลย เลิกจ้างโจทก์ ที่ 12 เนื่องจาก ฝ่าฝืน ข้อบังคับ หรือ ระเบียบ การ ทำงานหรือ คำสั่ง อัน ชอบ ด้วย กฎหมาย ของ จำเลย และ ละทิ้ง หน้าที่ เป็น เวลา3 วันทำงาน ติดต่อ กัน โดย ไม่มี เหตุอันสมควร กล่าว คือ โจทก์ ที่ 12ได้รับ คำสั่ง ให้ ย้าย ไป ทำงาน ที่ อำเภอ ปากเกร็ด เช่นเดียวกัน แต่ โจทก์ ที่ 12 ขาดงาน ไป ตั้งแต่ วันที่ 20 ถึง วันที่ 23 สิงหาคม 2537จำเลย จึง เลิกจ้าง โจทก์ ที่ 12 ตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม 2537 เพราะละทิ้ง หน้าที่ 3 วันทำงาน ติดต่อ กัน โดย ไม่มี เหตุอันสมควร ทั้ง การกระทำ ของ โจทก์ ทั้ง 12 เป็น การกระทำ ไม่ สม แก่ การปฏิบัติหน้าที่ให้ ลุล่วง ไป โดย ถูกต้อง และ สุจริต จำเลย จึง มีสิทธิ เลิกจ้าง โจทก์ที่ 12 ได้ โดย ไม่ต้อง จ่ายเงิน ใด ๆ ส่วน ค่าจ้าง ค้าง จำเลย ได้ จ่ายให้ โจทก์ ที่ 12 แล้ว ขอให้ ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลาง พิจารณา แล้ว พิพากษา ให้ จำเลย จ่าย ค่าชดเชยสินจ้าง แทน การ บอกกล่าว ล่วงหน้า ค่าจ้าง ค้าง ค่าจ้าง ใน วันหยุดพักผ่อน ประจำปี พร้อม ดอกเบี้ย อัตรา ร้อยละ เจ็ด ครึ่ง ต่อ ปี นับแต่ วันฟ้องจนกว่า จะ จ่ายเงิน เสร็จ แก่ โจทก์ ทั้ง สิบ เก้า เป็น จำนวน ตาม รายละเอียดใน คำพิพากษา คำขอ นอกจาก นี้ ให้ยก

          จำเลย ทั้ง สิบ เก้า สำนวน อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา

          ศาลฎีกา แผนก คดีแรงงาน วินิจฉัย ว่า "จำเลย รับ โจทก์ ทั้งหมดเข้า ทำงาน ใน ตำแหน่ง ลูกจ้าง ใน การ ผลิต สินค้า ของ จำเลย อันเป็นการ ทำงาน โดย ใช้ แรงงาน ตาม ธรรมดา ทั่วไป มิใช่ จ้าง ให้ ทำงาน โดย อาศัยความ เชี่ยวชาญ ใน เรื่อง ใด เรื่อง หนึ่ง โดยเฉพาะ ทั้ง ตาม สัญญาจ้างก็ ระบุ ไว้ ชัด ว่า จำเลย สามารถ ย้าย โจทก์ ทั้งหมด ไป ทำงาน ใน สาขา อื่นของ จำเลย ได้ ซึ่ง โจทก์ ทุกคน ก็ ได้ ทราบ ความ ข้อ นี้ ตั้งแต่ วัน ทำสัญญาจ้างแรงงาน กับ จำเลย แล้ว เมื่อ โจทก์ ทุกคน ตกลง เข้า ทำงานกับ จำเลย โจทก์ ทุกคน และ จำเลย จึง ต้อง ปฏิบัติ ตาม สัญญา ที่ ทำ ไว้ต่อ กัน และ ตาม สัญญา ดังกล่าว ก็ ไม่มี ข้อตกลง ไว้ ว่าการ ย้าย โจทก์ไป ทำงาน ที่อื่น จำเลย จะ ต้อง แจ้ง ให้ โจทก์ ทราบ ล่วงหน้า ก่อน ดังนั้นเมื่อ จำเลย มี ความจำเป็น ย้าย โจทก์ ทั้ง สิบ เก้า ให้ ไป ทำงาน ที่ สาขา ของจำเลย ที่ โรงงาน อำเภอ ปากเกร็ด จังหวัด นนทบุรี ใน ตำแหน่ง ไม่ ต่ำกว่า เดิม และ ให้ มีสิทธิ และ ประโยชน์ เท่าเดิม จำเลย จึง มีสิทธิ ย้ายโจทก์ ทุกคน ได้ โดย ไม่ต้อง แจ้ง ให้ ทราบ ล่วงหน้า และ ไม่ ถือว่า เป็นการ ย้าย โดย กะทันหัน และ รวบรัด คำสั่ง ของ จำเลย ให้ ย้าย โจทก์ทุกคน ไป ทำงาน ที่ โรงงาน อำเภอ ปากเกร็ด จึง ชอบ ด้วย กฎหมาย โจทก์ ทั้งหลาย ซึ่ง เป็น ลูกจ้าง ต้อง มี หน้าที่ และ ความรับผิด ชอบตาม สัญญาจ้างแรงงาน และ ตาม กฎหมาย แพ่ง จะ ต้อง ปฏิบัติ ตาม คำสั่ง ดังกล่าวเมื่อ โจทก์ ทุกคน ไม่ปฏิบัติ ตาม จึง เป็น การกระทำ อัน ไม่สมควร แก่ การปฏิบัติ หน้าที่ ของ ตน ให้ ลุล่วง ไป โดย ถูกต้อง และ สุจริต ปรากฏว่า จำเลยมี คำสั่ง ย้าย โจทก์ ที่ 1 ถึง โจทก์ ที่ 5 โจทก์ ที่ 9 ถึง โจทก์ ที่ 11โจทก์ ที่ 13 ถึง โจทก์ ที่ 16 และ โจทก์ ที่ 19 ไป ทำงาน ที่ โรงงาน อำเภอ ปากเกร็ด เมื่อ วันที่ 15 สิงหาคม 2537 แต่ โจทก์ ดังกล่าว ฝ่าฝืน คำสั่ง ไม่ไป ทำงาน ใน วันที่ 16 และ 17 สิงหาคม 2537 ถือได้ว่าโจทก์ ดังกล่าว ขาดงาน จำเลย จึง มี หนังสือ เตือน โจทก์ ดังกล่าว ซึ่งเป็น คำเตือน ที่ชอบ ด้วย กฎหมาย เมื่อ โจทก์ ดังกล่าว ไม่ไป ทำงาน ที่อำเภอ ปากเกร็ด ตั้งแต่ วันที่ 19 ถึง 22 สิงหาคม 2537 อีก จึง เป็น การกระทำ ผิด ซ้ำ คำเตือน ส่วน โจทก์ ที่ 6 ถึง โจทก์ ที่ 8 โจทก์ ที่ 17และ โจทก์ ที่ 18 จำเลย มี คำสั่ง ย้าย ไป ทำงาน ที่ อำเภอ ปากเกร็ด เมื่อ วันที่ 18 สิงหาคม 2537 แต่ โจทก์ ดังกล่าว ฝ่าฝืน คำสั่ง โดยขาดงาน ตั้งแต่ วันที่ 19 ถึง 22 สิงหาคม 2537 สำหรับ โจทก์ ที่ 12 ได้ทราบ คำสั่ง ย้าย ดังกล่าว เมื่อ วันที่ 19 สิงหาคม 2537 แต่ โจทก์ ที่ 12ได้ ฝ่าฝืน คำสั่ง ไม่ไป ทำงาน ตั้งแต่ วันที่ 20 ถึง วันที่ 23 เดือนเดียว กัน จึง เป็น การ ขาดงาน ติดต่อ กัน 3 วันทำงาน โดย ไม่มี เหตุอันควรถือได้ว่า โจทก์ ทุกคน กระทำการ อัน ไม่สมควร แก่ การปฏิบัติหน้าที่ของ ตน ให้ ลุล่วง ไป โดย ถูกต้อง และ สุจริต จำเลย จึง มีสิทธิ เลิกจ้างโจทก์ ทั้ง สิบ เก้า ได้ โดย ไม่ต้อง บอกกล่าว ล่วงหน้า อุทธรณ์ ของจำเลย ข้อ นี้ ฟังขึ้น

          ที่ จำเลย อุทธรณ์ อีก ข้อ ว่า คดี นี้ โจทก์ บรรยายฟ้อง ว่า วันที่19 สิงหาคม 2537 เป็นต้น มา จน ถึง วันฟ้อง จำเลย ไม่ยอม ให้ โจทก์เข้า ทำงาน ตาม ปกติ โดย จำเลย ยึด บัตร ลง เวลาทำงาน ของ โจทก์ไม่ยอม ให้ โจทก์ ตอก บัตร ลง เวลา เข้า ทำงาน และ ไม่ยอม จ่าย ค่าจ้าง ให้ถือว่า เป็น การ เลิกจ้าง ใน คำฟ้อง ดังกล่าว ไม่ได้ กล่าว ถึง ว่า จำเลยมี คำสั่ง ย้าย โจทก์ ไป ทำงาน ที่ ไหน อย่างไร แล้ว โจทก์ ไม่ไป ทำงานเพราะ คำสั่ง ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึง ไม่เป็น การ ฝ่าฝืนคำสั่ง และ ไม่ใช่ เป็น การ ละทิ้ง หน้าที่ ซึ่ง ข้อเท็จจริง ที่ศาลแรงงานกลาง ฟัง เป็น ยุติ ว่า จำเลย มี คำสั่ง ย้าย โจทก์ ไป ทำงาน ที่สาขา ของ จำเลย ที่ อำเภอ ปากเกร็ด แล้ว โจทก์ ไม่ไป ทำงาน ไม่ใช่ ข้อเท็จจริง ตาม ที่ โจทก์ บรรยาย ใน คำฟ้อง ไม่มี ข้อเท็จจริง ใด ที่ ปรากฏว่า ตั้งแต่ วันที่ 19 สิงหาคม 2537 เป็นต้น มา ถึง วันฟ้อง จำเลย ไม่ยอมให้ โจทก์ เข้า ทำงาน และ จำเลย ได้ ยึด บัตร ลง เวลาทำงาน ของ โจทก์ทั้ง ไม่จ่าย ค่าจ้าง ให้ ข้อเท็จจริง กลับ ปรากฏว่า จำเลย มี คำสั่งย้าย โจทก์ ไป ทำงาน ที่ สาขา อื่น แล้ว โจทก์ ไม่ไป ทำงาน เอง เมื่อข้อเท็จจริง ที่ ศาลแรงงานกลาง ฟัง เป็น ยุติ นั้น เป็น ข้อเท็จจริงที่ ไม่ได้ อยู่ ใน คำฟ้อง ศาลแรงงานกลาง ต้อง พิพากษายก ฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลาง วินิจฉัย โดย อาศัย ข้อเท็จจริง ที่ ปรากฏ นอกคำฟ้อง ของ โจทก์ เป็น การ วินิจฉัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย วิธีพิจารณา ความสำหรับ ค่าจ้าง ค้าง ที่ โจทก์ ฟ้อง ให้ จำเลย จ่าย แก่ โจทก์ ตาม คำขอ ท้ายฟ้องนั้น เป็น ค่าจ้าง ใน ระหว่าง วันที่ จำเลย มี คำสั่ง ย้าย โจทก์ ไป ทำงาน ที่อำเภอ ปากเกร็ด เมื่อ ศาลแรงงานกลาง ฟัง ข้อเท็จจริง ว่า โจทก์ ทั้งหมด ไม่ไป ทำงาน ตาม คำสั่ง ของ จำเลย โจทก์ ซึ่ง เป็น ลูกจ้างรายวัน และ ไม่ได้ ทำงาน ให้ แก่ จำเลย จึง ไม่มี สิทธิ ได้รับ ค่าจ้างใน วันที่ โจทก์ ไม่ได้ ทำงาน ทั้ง ข้อบังคับ การ ทำงาน เอกสาร หมาย ล. 24กำหนด ว่า จำเลย จะ จ่าย ค่าจ้าง แก่ ลูกจ้าง เฉพาะ วันที่ ลูกจ้าง ทำงานเท่านั้น ที่ ศาลแรงงานกลาง พิพากษา ให้ จำเลย จ่าย ค่าจ้าง ค้าง แก่โจทก์ ทั้งหมด ตาม ตาราง แนบท้าย คำพิพากษา จึง ไม่ถูกต้อง นั้น สำหรับปัญหา ที่ ว่า ศาลแรงงานกลาง ฟัง ข้อเท็จจริง นอกฟ้อง หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ ได้ บรรยายฟ้อง ถึง สาเหตุ ที่ จำเลย เลิกจ้าง โจทก์ ว่า เป็น เพราะโจทก์ มี ส่วน เกี่ยวข้อง กับ ข้อเรียกร้อง เพื่อ เปลี่ยนแปลง สภาพ การจ้างและ โจทก์ กับพวก จะ จัดตั้ง สหภาพแรงงาน เมื่อ จำเลย เลิกจ้าง โจทก์เพราะ สาเหตุ ดังกล่าว จึง เป็น การ เลิกจ้าง ที่ ไม่เป็นธรรม สาเหตุการ เลิกจ้าง ดังกล่าว เป็น สาเหตุ ตาม คำฟ้อง ของ โจทก์ แต่ ใน การวินิจฉัย คดี ศาลแรงงานกลาง ฟัง ข้อเท็จจริง ว่า สาเหตุ ที่ จำเลย เลิกจ้างโจทก์ เป็น เพราะ จำเลย ย้าย โจทก์ ไป ทำงาน ที่ สาขา ของ จำเลย ที่ อำเภอ ปากเกร็ด แล้ว โจทก์ ไม่ไป ทำงาน ดัง ที่ จำเลย ให้การ เป็น ประเด็น และ นำสืบ ซึ่ง เป็น การ ฟัง ข้อเท็จจริง จาก การ วินิจฉัย พยานหลักฐานของ โจทก์ และ จำเลย ตาม ประเด็น แห่ง คดี เมื่อ ข้อเท็จจริง รับฟัง ได้ ดังที่ จำเลย นำสืบ ศาลแรงงานกลาง ย่อม ฟัง ข้อเท็จจริง ดังกล่าว ได้หาใช่ เป็น การ ฟัง ข้อเท็จจริง นอก คำฟ้อง อย่างใด ไม่ ปัญหา ต่อไป มี ว่าจำเลย ต้อง จ่าย ค่าจ้าง ที่ ค้าง แก่ โจทก์ ทั้ง สิบ เก้า หรือไม่ จำเลยอ้างว่า โจทก์ ทั้ง สิบ เก้า มิได้ ไป ทำงาน ใน วันที่ เรียกร้อง ค่าจ้าง จำเลยจึง ไม่ต้อง จ่าย ค่าจ้าง ใน วันนั้น ให้ เห็นว่า โจทก์ ที่ 1 เป็น พนักงานรายเดือน ซึ่ง ตาม ระเบียบ ข้อบังคับ เกี่ยวกับ การ ทำงาน ของ จำเลยตาม เอกสาร หมาย ล. 24 หมวด 2 เรื่อง เงื่อนไข การ ว่าจ้าง ได้ จำแนกพนักงาน ของ จำเลย ไว้ ว่า ข้อ 3.1 พนักงาน รายเดือน หมายถึงพนักงาน ที่ บริษัท ตกลง จ้าง ไว้ เป็น การ ประจำ โดย กำหนด ค่าจ้าง ไว้เป็น รายเดือน ตาม ฟ้องโจทก์ ที่ 1 เรียก ค่าจ้าง ก่อน ที่ จำเลย จะ เลิกจ้างคือ ตั้งแต่ วันที่ 15 ถึง 19 สิงหาคม 2537 ดังนั้น จำเลย จึง ต้อง จ่ายค่าจ้าง ที่ ค้าง ให้ แก่ โจทก์ ที่ 1 ตาม ฟ้อง ส่วน โจทก์ ที่ 2 ถึง โจทก์ที่ 5 โจทก์ ที่ 9 ถึง โจทก์ ที่ 11 โจทก์ ที่ 13 ถึง โจทก์ ที่ 16 และโจทก์ ที่ 19 เป็น พนักงานประจำ ซึ่ง กำหนด ค่าจ้าง เป็น รายวัน เมื่อโจทก์ ขาดงาน วัน ใด โจทก์ ย่อม ไม่มี สิทธิ ได้รับ ค่าจ้าง ใน วันนั้นปรากฏว่า ก่อน จำเลย เลิกจ้าง โจทก์ ที่ กล่าว แล้ว มา ทำงาน เฉพาะวันที่ 15 และ วันที่ 18 สิงหาคม 2537 จำเลย จึง ต้อง จ่าย ค่าจ้างที่ ค้าง ให้ แก่ โจทก์ ดังกล่าว คน ละ 2 วัน โจทก์ ที่ 6 ถึง โจทก์ ที่ 8โจทก์ ที่ 17 และ โจทก์ ที่ 18 ขาดงาน ตั้งแต่ วันที่ 19 สิงหาคม 2537โจทก์ ดังกล่าว จึง มีสิทธิ ได้รับ ค่าจ้าง ที่ ค้าง ใน วันที่ 15 ถึง วันที่18 สิงหาคม 2537 คน ละ 4 วัน สำหรับ โจทก์ ที่ 12 นั้น ขาดงาน ไป ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2537 ดังนั้น จำเลย จึง ต้อง จ่าย ค่าจ้าง ที่ ค้างตั้งแต่ วันที่ 15 ถึง วันที่ 19 สิงหาคม 2537 ให้ แก่ โจทก์ ที่ 12ตาม ฟ้อง ส่วน ค่าชดเชย และ สินจ้าง แทน การ บอกกล่าว ล่วงหน้าเมื่อ ได้ วินิจฉัย ดังกล่าว มา แล้ว ข้างต้น ว่า โจทก์ ที่ 1 ถึง โจทก์ ที่ 5โจทก์ ที่ 9 ถึง โจทก์ ที่ 11 โจทก์ ที่ 13 ถึง โจทก์ ที่ 16 และ โจทก์ที่ 19 กระทำผิด ซ้ำ คำเตือน โดย ฝ่าฝืน คำสั่ง จำเลย ไม่ไป ทำงาน ที่โรงงาน สาขา ของ จำเลย ที่ อำเภอ ปากเกร็ด และ โจทก์ ที่ 6 ถึง โจทก์ ที่ 8โจทก์ ที่ 12 โจทก์ ที่ 17 และ โจทก์ ที่ 18 ละทิ้ง หน้าที่ ติดต่อ กันสาม วันทำงาน โดย ไม่มี เหตุอันสมควร ซึ่ง เป็น การกระทำ อัน ไม่สมควรแก่ การปฏิบัติหน้าที่ ของ ตน ให้ ลุล่วง ไป โดย ถูกต้อง และ สุจริต กรณีต้องด้วย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4)(5) และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583จำเลย จึง มีสิทธิ เลิกจ้าง โจทก์ ได้ โดย ไม่ต้อง จ่าย ค่าชดเชย และ สินจ้างแทน การ บอกกล่าว ล่วงหน้า ให้ แก่ โจทก์ ดังกล่าว สำหรับ ค่าจ้าง ใน วันหยุดพักผ่อน ประจำปี นั้น เมื่อ จำเลย เลิกจ้าง เพราะ โจทก์ ทั้ง สิบ เก้ากระทำ ความผิด ตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 กรณี จึง ต้องด้วย ข้อ 45 จำเลย จึง ไม่ต้อง จ่าย ค่าจ้าง ใน วันหยุดพักผ่อน ประจำปี แก่ โจทก์ ทุกคน อุทธรณ์ ของ จำเลย ฟังขึ้น บางส่วน "

          พิพากษาแก้ เป็น ว่า จำเลย ไม่ต้อง จ่าย ค่าชดเชย สินจ้าง แทน การบอกกล่าว ล่วงหน้า และ ค่าจ้าง สำหรับ วันหยุด พักผ่อน ประจำปี ให้ แก่โจทก์ ทั้ง สิบ เก้า แต่ ให้ จำเลย จ่าย ค่าจ้าง ที่ ค้าง แก่ โจทก์ ที่ 2โจทก์ ที่ 4 โจทก์ ที่ 5 โจทก์ ที่ 9 โจทก์ ที่ 14 โจทก์ ที่ 15โจทก์ ที่ 19 คน ละ 270 บาท โจทก์ ที่ 3 โจทก์ ที่ 10 โจทก์ ที่ 13โจทก์ ที่ 16 คน ละ 264 บาท โจทก์ ที่ 6 เป็น เงิน 536 บาท โจทก์ที่ 7 โจทก์ ที่ 8 คน ละ 540 บาท โจทก์ ที่ 11 เป็น เงิน 268 บาท โจทก์ที่ 17 และ โจทก์ ที่ 18 คน ละ 528 บาท นอกจาก ที่ แก้ ให้ เป็น ไปตาม คำพิพากษา ศาลแรงงานกลาง

 

 

( พิมล สมานิตย์ - พรชัย สมรรถเวช - สละ เทศรำพรรณ )

 

 

หมายเหตุฎีกา

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่782-800/2539วินิจฉัยไว้หลายเรื่องหลายประเด็นคือ

          1.การย้ายแม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงแต่ก็เป็นที่รับกันทั่วไปว่านายจ้างมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายลูกจ้างได้โดยไม่ลดตำแหน่งหรือสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับอยู่

          การลดตำแหน่งให้ดูจากโครงสร้างแผนภูมิการบริหารของนายจ้างว่ามีตำแหน่งใดบ้างและตำแหน่งใดเทียบเท่าตำแหน่งใด

          หากนายจ้างไม่มีโครงสร้างแผนภูมิการบริหารงานก็ให้ดูจากลักษณะงานและอำนาจการบังคับบัญชาหากย้ายจากลักษณะงานที่ต้องใช้ความรู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษไปสู่ตำแหน่งที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญถือว่าต่ำกว่าเดิมหรือย้ายจากตำแหน่งที่เดิมมีอำนาจบังคับบัญชากล่าวคือมีผู้ใต้บังคับบัญชาให้สั่งงานได้ไปสู่ตำแหน่งลอยซึ่งไม่มีอำนาจสั่งการใดเลยถือว่าต่ำกว่าเดิม

          แต่หากยังมีอำนาจบังคับบัญชาอยู่แต่มีผู้ใต้บังคับบัญชาน้อยกว่าเดิมหรืออำนาจบังคับบัญชาน้อยกว่าเดิมก็ยังถือว่ามีอำนาจบังคับบัญชาไม่เป็นการต่ำกว่าเดิม

          ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่นั้นถือสิทธิประโยชน์ที่ได้รับเป็นประจำแน่นอนเท่านั้นเช่นค่าจ้างหรือเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเป็นต้นส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้รับเป็นประจำหรือไม่แน่นอนเช่นค่าล่วงเวลาค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าเปอร์เซ็นต์การขาย(ค่าคอมมิชชั่น)ไม่ถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับดังนั้นแม้ย้ายแล้วจะไม่ได้รับหรือได้รับต่ำกว่าเดิมก็ไม่ถือว่าต่ำกว่าเดิม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ได้วินิจฉัยตามแนวเดิมว่าการย้ายไปสู่ตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าเดิมและมีสิทธิประโยชน์เท่าเดิมนั้นเป็นการย้ายที่ชอบด้วยกฎหมาย

          2.การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ย้ายศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(4)นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนก่อนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย(คำพิพากษาศาลฎีกาที่3572/2525,2855/2526และ3129/2527)

          ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้วินิจฉัยว่าเป็นเพียงการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและสุจริตซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีไม่ร้ายแรงและถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ด้วยเมื่อครบ3วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรนายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(5)

          3.การบอกกล่าวล่วงหน้าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างที่ให้ย้ายนั้นเดิมศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรงถือว่าเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงนายจ้างสามารถไล่ออกจากงานโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและโดยสุจริตซึ่งนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583เช่นเดียวกัน

          4.ช่วงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่สัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนกล่าวคือต่างฝ่ายต่างมีหนี้ต้องชำระตอบแทนกันหากฝ่ายใดไม่ชำระหนี้อีกฝ่ายมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตอบแทนได้(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา369)และมาตรา575บัญญัติว่า"นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้"หมายความว่านายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง(สินจ้าง)ตลอดเวลาที่ถูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างเท่านั้นหากไม่ทำงานลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง

          กรณีที่เป็นลูกจ้างรายวันรายชั่วโมงลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานนั้นเมื่อลูกจ้างไม่ทำงานลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง

          ส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนซึ่งเหมาจ่ายเป็นเดือนปัญหาว่าช่วงที่ไม่ทำงานลูกจ้างจะได้ค่าจ้างหรือไม่ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้วินิจฉัยตรงตามหลักสัญญาต่างตอบแทนว่าเมื่อโจทก์ทั้งหมดไม่ไปทำงานตามคำสั่งของจำเลย(นายจ้าง)จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ไม่ได้ทำงาน

          ข้อสังเกต

          ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกานี้มีข้อบังคับการทำงานกำหนดว่านายจ้างจะจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเฉพาะวันที่ลูกจ้างทำงานเท่านั้นหากไม่มีข้อบังคับกำหนดว่าจะจ่ายค่าจ้างเฉพาะวันที่ลูกจ้างทำงานปัญหามีว่าลูกจ้างที่ไม่ทำงานจะได้ค่าจ้างหรือไม่ผู้หมายเหตุเห็นว่าน่าจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกันตามหลักสัญญาต่างตอบแทน

           รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์
 
 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2010-02-11 16:49:21


ความคิดเห็นที่ 4 (2034441)

การจ่ายเงินค่าชดเชยกรณีที่นายจ้าง ย้ายสถานประกอบกิจการ
 
 
มาตรา 120  ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการในการนี้ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118
 
ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย
 
ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการว่า เป็นกรณีที่นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยได้รับค่าชดเชยตามวรรคหนึ่งหรือไม่
 
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานให้เป็นที่สุด เว้นแต่นายจ้างหรือลูกจ้างจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้าง ต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างที่ยื่นคำขอตามวรรคสาม จึงจะฟ้องคดีได้
 
การบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรานี้ ลูกจ้างต้องใช้สิทธิภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ หรือนับแต่วันที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานหรือคำพิพากษาของศาลเป็นที่สุด

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2010-02-11 17:06:52


ความคิดเห็นที่ 5 (2035715)

ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความเห็นครับ...หากผมยื่นฟ้อง ศาลแรงงานจะเอาเรื่องของครอบครัวด้านความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก ยกตัวอย่าง...หากต้องย้าย จะทำให้โอกาสที่พ่อจะได้เจอกับลูกและครอบครัวน้อยลง เพราะลูกสองคนแยกกันอยู่คนละจังหวัดตรงจุดนี้จะฟังขึ้นไหมครับ...ขอรบกวนท่านอื่นๆที่เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ช่วยให้คำแนะนำด้วยนะครับ...

ผู้แสดงความคิดเห็น uvit วันที่ตอบ 2010-02-16 11:07:22



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล