ReadyPlanet.com


สิทธิได้รับค่าชดเชยของลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการ


 การย้ายสถานประกอบกิจการ

ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การย้ายสถานประกอบกิจการย่อมหมายถึงการที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือ สถานที่แห่งใหม่ แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการอื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารงานที่จะสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานในสถานประกอบการอื่นๆ ของนายจ้างตามความเหมาะสมได้



ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2024-01-07 06:22:48


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4550557)

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9556/2559

เรื่อง แม้นายจ้างย้ายลูกจ้างไปเพียงบางแผนกไปอยู่โรงงานแห่งใหม่อันมิใช่สาขาเดิม ที่นายจ้างมีอยู่ก็ตาม แต่นายจ้างได้ปิดแผนกนั้นทั้งหมดถือเป็นการ “ย้ายสถานประกอบกิจการ” ตามมาตรา 120 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12550/2558

 เรื่อง นายจ้างมีเจตนาย้ายสานักงานจากกรุงเทพ ไปจังหวัดสมุทรสาคร โดยทยอยย้ายทีละแผนกรวมเวลา 2 ปีเศษ จึงปิดการดาเนินการที่สาขากรุงเทพ แม้จดเปลี่ยนแปลงให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นสานักงานใหญ่และสานักงานกรุงเทพเป็นสาขาก็ตาม ก็ถือเป็นการ “ย้ายสถานประกอบกิจการ” ตามมาตรา 120 ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-07 06:33:05


ความคิดเห็นที่ 2 (4550558)

กรณีนายจ้างมีสถานประกอบการแห่งอื่นอยู่ก่อนแล้ว

 

นายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สถานประกอบการของนายจ้างซึ่งตั้งอยู่ที่อื่นอีกแห่งหนึ่งซึ่งนายจ้างมีอยู่แล้ว กรณีนี้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2545

จำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่กรุงเทพมหานครและย้ายพนักงานขายทั้งหมดไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ต โดยขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ จึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานขาย โดยให้โจทก์ทำงานที่สำนักงานแผนกการขาย ณ โรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน ตรอกกัปตันบุช เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม 2542 จำเลยย้ายสำนักงานแผนกการขายและให้โจทก์ไปทำงานที่สำนักงานแผนกการขายตั้งอยู่เลขที่ 140 อาคารเคี่ยนหงวนถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในการว่าจ้างจำเลยตกลงว่าเมื่อโจทก์ทำงานครบ 1 ปี โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปีต่อไป 10 วัน หากจำเลยไม่จัดให้โจทก์หยุดจำเลยจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี แก่โจทก์ จำเลยจ่ายเงินเดือน ค่าบริการเพิ่ม และค่าครองชีพเป็นค่าจ้างให้โจทก์ในแต่ละเดือน ซึ่งค่าจ้างในเดือนสุดท้ายจ่ายเป็นเงินเดือน 25,000บาท ค่าบริการเพิ่ม 13,000 บาท และค่าครองชีพ 600 บาท รวมเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้าย 38,600 บาท เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่อาคารเคี่ยนหงวนโดยให้มีผลนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 พร้อมกับสั่งให้โจทก์ไปทำงานประจำที่สำนักงานแผนกการขายของจำเลยตั้งอยู่เลขที่ 10 หมู่ 4 ถนนศรีสุนทร ตำบลเชิงทะเลอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นับแต่วันดังกล่าว แต่เนื่องจากโจทก์เป็นสตรียังไม่แต่งงานและมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร คำสั่งของจำเลยที่ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัดในทันทีโจทก์ไม่สามารถจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยใหม่และภารกิจในครอบครัวเดิมได้ทัน คำสั่งดังกล่าวจึงมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยมิได้แจ้งคำสั่งย้ายสถานประกอบกิจการให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2543 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาจ้างแก่จำเลยพร้อมกับให้จำเลยชำระค่าจ้างและเงินอื่นตามกฎหมายแก่โจทก์เมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาจ้างแก่จำเลยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งย้ายสถานประกอบกิจการสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดลง จำเลยมีหน้าที่ชำระเงินตามกฎหมายแก่โจทก์คือค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 115,799.40 บาท ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงิน 38,599.80 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2542 จำนวน 10 วัน เพิ่มจากอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติอีกไม่น้อยกว่า1 เท่า คิดเป็นเงิน 25,733.20 บาท เงินค้างเบิกค่าใช้จ่ายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2542 ที่โจทก์ทดรองเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานให้แก่จำเลยเป็นเงิน 22,637 บาท คิดถึงวันฟ้องจำเลยต้องจ่ายเงินต้น 202,769.40 บาท และดอกเบี้ย 12,863.43 บาท รวมเป็นเงิน 215,632.83 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 215,632.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้น 202,769.40 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 21/63-64อาคารไทยวาทาวเวอร์ชั้น 21 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทรกรุงเทพมหานคร และมีสถานที่ประกอบกิจการโรงแรมตั้งอยู่เลขที่ 10 หมู่ 4 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีสำนักงานแผนกการขายตั้งอยู่เลขที่ 140 อาคารเคี่ยนหงวน ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โจทก์ทราบสถานที่ตั้งทั้งสามแห่งของจำเลยดีมาโดยตลอด จำเลยมิได้ย้ายสถานที่ตั้งประกอบกิจการ เป็นเพียงจำเลยย้ายสำนักงานแผนกการขายซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารเคี่ยนหงวนไปตั้งอยู่ในอาคารไทยวาทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลย จึงไม่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2521 มาตรา 120 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยย้ายแผนกการขายจากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการย้ายสถานที่ประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์หรือครอบครัว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับและจำเลยไม่แจ้งการย้ายสถานประกอบกิจการให้โจทก์ทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย30 วัน โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน 10 วัน คิดเป็นเงิน 11,613 บาท และโจทก์ได้ออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการทำงานแทนจำเลย 22,637 บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษ 104,514 บาท ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 34,838 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 11,613 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จและเงินทดรองจ่ายในการทำงาน 22,637 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าการย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 120 จะต้องเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไปในที่แห่งใหม่ มิใช่ย้ายไปสถานที่ที่จำเลยมีและใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนแล้วในขณะย้ายโจทก์นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 เป็นบทบัญญัติยกเว้นพิเศษให้นายจ้างต้องมีความรับผิดมากขึ้นกว่าปกติโดยให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้นจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น" ย่อมหมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการที่อื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารงานที่จะสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานในสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ของนายจ้างตามความเหมาะสมได้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 1 มกราคม 2543 และย้ายพนักงานขายทั้งหมดไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ต แม้ศาลแรงงานกลางมิได้ชี้ชัดว่าจำเลยมีสถานประกอบกิจการอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ได้ความชัดจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์เคยถูกจำเลยสั่งให้ไปช่วยทำงานที่สำนักงานของจำเลยสาขาภูเก็ตคราวละประมาณ 1 เดือน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยตั้งสถานประกอบกิจการขึ้นใหม่ที่จังหวัดภูเก็ต แสดงว่าขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้วจึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ ดังนั้นการที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในสถานประกอบกิจการของจำเลยที่จังหวัดภูเก็ตจึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 120 โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น"

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-07 06:40:01


ความคิดเห็นที่ 3 (4550559)

ลูกจ้างไม่สามารถไปทำงานได้เพราะส่งแฟนไปทำงานและกลับส่งงานพิเศษไม่ทันถือว่าเป็นผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างและครอบครัวถือว่ามีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงค์ชีวิตตามปกติของลูกจ้าง

เป็นเหตุให้ลูกจ้างต้องมีที่อยู่ใหม่และมีเส้นทางในการเดินทางใหม่ซึ่งบางครอบครัวต้องหาสถานที่เรียนให้บุตรใหม่ การย้ายสถานประกอบการของนายจ้างดังกล่าวจึงมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้าง


 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-07 07:09:34


ความคิดเห็นที่ 4 (4550560)

 นายจ้างประกอบกิจการขนส่งย้ายที่ลงเวลาทำงานไปตั้งอยู่ที่อื่น

 เมื่อนายจ้างได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการอันเป็นประจำแห่งเดิมที่อู่ปากน้ำแล้วย้ายไปเปิดใช้อู่สายใต้ใหม่อันมิใช่สถานที่ที่นายจ้างใช้ประกอบกิจการประจำอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำแห่งใหม่จึงเป็นกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น กรณีที่ลูกจ้างมีบ้านอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอู่ปากน้ำ 3 กิโลเมตร และห่างจากอู่สายใต้ใหม่ 58 กิโลเมตร ซึ่งลูกจ้างพักอาศัยอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อยและต้องดูแล การที่นายจ้างเปลี่ยนให้ลูกจ้างจะต้องเริ่มต้นทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่ที่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้แล้ว  ลูกจ้างจึงมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม อันจะเป็นเหตุให้ลูกจ้างมีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเช่นเดิม เป็นการเพิ่มภาระและก่อความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างหรือครอบครัว ถือได้ว่ามีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้าง ลูกจ้างย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8759/2558

กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึงนายจ้างได้ปิดสถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมแล้วย้ายไปเปิดในที่แห่งใหม่อันมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่จอดเก็บรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.507 ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถจะต้องเริ่มต้นมาที่อู่ปากน้ำ เวลา 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นกะแรกเพื่อลงชื่อก่อนทำงานแล้วรับรถขับออกจากอู่ไปยังปลายทางสายใต้ใหม่แล้วขับวนกลับมาที่อู่ปากน้ำ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วโจทก์จะต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำรถไปจอดเก็บไว้ที่อู่ปากน้ำจึงกลับบ้านได้ เมื่อจำเลยได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมที่อู่ปากน้ำแล้วย้ายไปใช้อู่สายใต้ใหม่อันมิใช่สถานที่ที่จำเลยใช้ประกอบกิจการประจำอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำแห่งใหม่ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นแล้ว เมื่อโจทก์มีบ้านอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอู่ปากน้ำ 3 กิโลเมตร และห่างจากอู่สายใต้ใหม่ 58 กิโลเมตร โดยโจทก์พักอาศัยอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อยและโจทก์ต้องดูแล เมื่อพิจารณาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นมาทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้แล้ว แสดงว่าหากโจทก์ต้องทำงานตามที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการจากอู่ปากน้ำไปที่อู่สายใต้ใหม่ ย่อมมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเช่นเดิม เป็นการเพิ่มภาระและก่อความเดือดร้อนแก่โจทก์หรือครอบครัว ถือได้ว่ามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือครอบครัว หากโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยโดยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้มีผลในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว

ค่าชดเชยพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 10 ปีขึ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) เป็นเงิน 145,175 บาท เมื่อคิดเป็นค่าชดเชยพิเศษคือร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับจะได้เป็นเงิน 72,587.50 บาท การที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษเป็นเงิน 72,587.50 บาท แก่โจทก์ แม้เกินไปจากที่โจทก์มีคำขอบังคับ แต่เป็นการกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามจำนวนเงินที่ถูกต้องแท้จริง จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบแล้ว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,292 บาท ค่าชดเชยพิเศษ 52,142 บาท และเงินประกันการทำงาน 9,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้เงิน 26,121 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 21,115 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษจำนวน 51,472.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันเป็นยุติว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารโดยรถยนต์ปรับอากาศสาย ปอ.507 เข้าร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ ขสมก. วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากอู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ถึงขนส่งสายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และวนกลับอู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 โจทก์ได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศสาย ปอ.507 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นรายวัน วันละ 191 บาท กำหนดจ่ายทุกวัน และได้รับค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วโดยสารคิดจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 รวมเวลา 10 เดือน คิดเป็นเงินจำนวนรวม 87,875 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน โจทก์พักอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อย และโจทก์กับพี่สาวต่างดูแลกัน ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2550 จำเลยได้มีประกาศคำสั่งพิเศษ/2550 และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2550 โจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างกับจำเลย ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป เนื่องจากจำเลยย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีบ้านพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 120/59 หมู่ที่ 2 ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งระยะทางจากบ้านพักถึงอู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ประมาณ 3 กิโลเมตร ระยะทางจากบ้านถึงสายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ประมาณ 58 กิโลเมตร จำเลยย้ายอู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ไปเปิดอู่ที่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุทำให้การเริ่มต้นปฏิบัติงานของโจทก์จะต้องเริ่มต้นไปลงเวลาทำงานรับรถยนต์ที่อู่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และเมื่อปฏิบัติงานเสร็จโจทก์ก็จะต้องนำรถยนต์ไปเก็บที่อู่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร แล้วเติมน้ำมันแล้วจึงจะกลับบ้านโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการได้ จึงถือว่าการย้ายอู่ของจำเลยเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการของจำเลยแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะไปทำงานโดยเริ่มต้นทำงานที่อู่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยชอบด้วยมาตรา 120 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแก่โจทก์ สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมแก่โจทก์ ส่วนเงินประกันการทำงาน เมื่อจำเลยให้การและนำสืบยอมรับว่าเก็บเงินประกันการทำงานไว้จากโจทก์ 9,720 บาท ดังนั้นเมื่อโจทก์ออกจากงานจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนให้โจทก์ แต่ถ้าโจทก์ทำความเสียหายให้แก่จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธินำไปหักกับความเสียหายของจำเลยได้ แต่เมื่อระหว่างโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางสาย ปอ.507 โดยประมาทเลินเล่อไปชนรถยนต์ของผู้อื่นจนได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายไป 30,835 บาท จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากโจทก์ ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย 30,835 บาท เมื่อนำเงินประกันการทำงานของโจทก์มาหักหนี้แล้ว 9,720 บาท คงเหลือที่โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย 21,115 บาท และเมื่อนำเงินที่โจทก์จะต้องชดใช้ 21,115 บาท มาหักออกจากค่าชดเชยพิเศษที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ 72,587.50 บาท แล้วคงเหลือค่าชดเชยพิเศษที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ 51,472.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การย้ายอู่จอดรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยเป็นกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์หรือครอบครัว และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยย้ายอู่จอดรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศสาย ปอ.507 จากต้นทางที่อู่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ไปยังปลายทางที่อู่สายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนจุดจอดรถเท่านั้น เพราะการเดินรถยังเดินในเส้นทางเดิม และเพื่อความเหมาะสมในการทำงานจึงเปลี่ยนจุดจอดรถ จุดลงเวลาทำงานและรับส่งรถ กำหนดเวลาทำงานให้สิทธิเลือกเป็น 4 กะ หากทำกะดึกอนุญาตให้ทำกะต่อไปโดยมิใช่กะแรกได้ ลักษณะการทำงานอยู่บนรถตลอดเวลามิได้อยู่ในสำนักงานจึงไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ นั้น เห็นว่า กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึงนายจ้างได้ปิดสถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมแล้วย้ายไปเปิดในที่แห่งใหม่อันมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่จอดเก็บรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.507 ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถจะต้องเริ่มต้นมาที่อู่ปากน้ำ เวลา 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นกะแรก เพื่อลงชื่อก่อนทำงานแล้วรับรถขับออกจากอู่ไปยังปลายทางสายใต้ใหม่แล้วขับวนกลับมาที่อู่ปากน้ำ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วโจทก์จะต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำรถไปจอดเก็บไว้ที่อู่ปากน้ำจึงกลับบ้านได้ ต่อมาจำเลยได้ย้ายไปใช้อู่สายใต้ใหม่เป็นสถานที่จอดเก็บรถแทน และในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่ที่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้ แสดงว่าเดิมจำเลยได้ใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำ เมื่อจำเลยได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมที่อู่ปากน้ำแล้วย้ายไปเปิดใช้อู่สายใต้ใหม่อันมิใช่สถานที่ที่จำเลยใช้ประกอบกิจการประจำอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำแห่งใหม่ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อโจทก์มีบ้านอยู่ที่บ้านเลขที่ 120/59 หมู่ที่ 2 ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอู่ปากน้ำ 3 กิโลเมตร และห่างจากอู่สายใต้ใหม่ 58 กิโลเมตร โดยโจทก์พักอาศัยอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อยและโจทก์ต้องดูแล เมื่อพิจารณาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่ที่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้แล้ว แสดงว่าหากโจทก์ต้องทำงานตามที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการจากอู่ปากน้ำไปที่อู่สายใต้ใหม่ซึ่งมีระยะทางห่างจากบ้านพัก 58 กิโลเมตร ย่อมมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเช่นเดิม เป็นการเพิ่มภาระและก่อความเดือดร้อนแก่โจทก์หรือครอบครัว ถือได้ว่ามีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง แล้ว หากโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยโดยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้มีผลในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์มากกว่าที่โจทก์ขอชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่โจทก์มากกว่าที่โจทก์ขอเป็นการไม่ชอบและขัดต่อกฎหมาย นั้น เห็นว่า การได้รับค่าชดเชยพิเศษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 10 ปีขึ้นไป โจทก์จึงพึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) และโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 191 บาท และค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ค่าตั๋วโดยสารอันถือเป็นค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย เมื่อคิดค่าชดเชยจากค่าจ้างรายวันโจทก์จะได้รับเป็นเงิน 57,300 บาท และคิดค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ซึ่งนับ 300 วันสุดท้าย (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550) เป็นเงิน 87,875 บาท รวมเป็นค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับเป็นเงิน 145,175 บาท เมื่อคิดเป็นค่าชดเชยพิเศษคือร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับจะได้เป็นเงิน 72,587.50 บาท การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษเป็นเงิน 72,587.50 บาท แก่โจทก์ แม้เกินไปจากที่โจทก์มีคำขอบังคับ แต่เป็นการวินิจฉัยให้จ่ายค่าชดเชยพิเศษตามจำนวนเงินที่ถูกต้องแท้จริงโดยอ้างเหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและระบุอำนาจตามกฎหมายในการวินิจฉัยไว้ด้วยแล้ว จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-07 07:55:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล