ReadyPlanet.com


ปรึกษาการโอนทีดิน


 วันนี้มาโอนมรดกค่ะ

ที่ดินเป็นทีนาเป็นของปู่

ลุงเป็นคนจัดการมรดกแต่ลุงจะโอนให้หลานได้ไหมค่ะ แต่จนทที่ดินบอกให้ไปตามพ่อมารับแล้วให้พ่อโอนให้เราแต่เราไม่รุ้จะตามพ่อได้จากที่ไหนพ่อย้ายออกจากบ้านเลขทีได้20กว่าปีเจอกันล่าสุดปี59วันที22ม.คมางานศพย่าแล้วก็ไม่เจออีกเลย

จนทบอกว่าถ้าโอนข้ามจะเสีย5%ของราคาประเมินเราก็ยินยอมผู้จัดการก็ยินยอมแต่จนทบอกไปตามพ่อมาดีกว่าจะได้เสียไม่มาก

คำถามคือ

1เราสามารถรับมรดกตรงนี้ได้ไหม

ในกรณีทีเราตามพ่อมาไม่ได้

2ถ้ารับไม่ได้เราต้องทำยังไงเราถึงจะได้มรดกตรงนี้ค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ หนึ่งวันพันกว่าเรื่อง :: วันที่ลงประกาศ 2024-01-04 14:29:03


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4550226)

 1. ผู้จัดการมรดกสามารถทำได้ครับ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากต้องแบ่งมรดกให้แก่ทายาทให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งพ่อเป็นผู้สืบสันดานของปู่มีสิทธิรัลมรดกก่อนคุณครับ ถ้าหากมีการโอนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดชอบครับ

2. คำถามตามข้อ 2. ว่าถ้ารับไม่ได้ต้องทำอย่างไร เบื้องต้นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องติดตามหาตัวทายาทมารับมรดกให้ได้ วิธีการเท่าที่ทำได้คือ ติดต่อและติดตามตามภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านก่อน สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ว่าบุคคลตามทะเบียนที่ปรากฏชื่อนี้ มีข้อมูลการพักอาศัยหรือการย้ายไปทำงานต่างท้องที่อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องของผู้จัดการมรดกที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นคุณเป็นทายาทชั้นหลาน (ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดาน) จึงยังไม่ถือว่าได้รับความเสียหายจากเรื่องนี้โดยตรงครับเพราะไม่ใช่ทายาทโดยธรรมชั้นใกล้ชิดที่สุดจนกว่าจะมีหลักฐานว่าพ่อซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมชั้นใกล้ชิดที่สุดได้เสียชีวิตแล้ว เช่น หายสาปสูญ ก็ต้องมีคำสั่งศาลมายืนยันเป็นต้น

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2024-01-05 05:01:00


ความคิดเห็นที่ 2 (4550262)

 ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น-ยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครอง

โอนที่ดินมรดกมาเป็นของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นทุกคน แม้ต่อมาจะได้มีการโอนที่ดินมรดกมาเป็นชื่อตนในฐานะส่วนตัวก็ยังถือไม่ได้ว่าได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินมรดกแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเพราะยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไป  ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่จะต้องจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น การจัดการมรดกยังมิได้เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8286/2544

      ครั้งแรกที่ ล. โอนที่ดินมรดกของ ท. มาเป็นของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นทุกคน แม้จะมีการโอนที่ดินมรดกดังกล่าวมาเป็นของ ล. ในฐานะส่วนตัวแล้วก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินมรดกแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวเพราะ ล. ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ทั้งปรากฏว่าก่อนหน้านี้ ล. ได้ถูก ป. ยื่นฟ้องในอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้นเรื่องขอแบ่งมรดก คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ล. ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับ ส. กับ ป. ทายาทผู้ตายต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทของ ส. คำพิพากษาจึงผูกพันล. และจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ล. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ต้องถือว่า ล. ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นอยู่เช่นเดิม ล. ยังคงมีหน้าที่จะต้องจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น การจัดการมรดกยังมิได้เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

     โจทก์ทั้งสิบสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1552 ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 คนละ222 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 13 จำนวน 777.5 ตารางวา หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย

     จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

     ต่อมานางบังอร ค่องหิรัญ ที่ 1 นางอนันต์ คำป้อม ที่ 2ได้ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ทั้งสิบสาม โดยอ้างว่าผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นบุตรของนางสำเนียงมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าว 222 ตารางวาและผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญยังหรือสอมีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับโจทก์ที่ 12 ซึ่งเป็นบุตร จำนวน 222 ตารางวา ศาลชั้นต้นอนุญาต

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1542ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 คนละ 172.7 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 คนละ 103.6 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 8 ถึงที่ 11 คนละ222 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 12 และผู้ร้องสอดที่ 2 คนละ 55.5 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 13 จำนวน 518.3 ตารางวา ให้ผู้ร้องสอดที่ 1 จำนวน 222ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ที่ 9 ถึงแก่กรรมนางสาวประสม ฉิมคราม ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาต

          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

          โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ถึงที่ 12 และผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยโจทก์ที่ 2 ที่ 8 ที่ 9 ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา

          สำหรับโจทก์ที่ 5 ที่ 10 ถึงที่ 12 ได้ยื่นฎีกา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันให้รับฎีกา และให้ส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลย หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการต่อไปมิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา แต่ปรากฏตามรายงานของเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 22ธันวาคม 2542 ว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2542 เจ้าหน้าที่ส่งหมายนัดให้จำเลยไม่ได้เนื่องจากบ้านปิด โจทก์ที่ 4 ที่ 10 ถึงที่ 12 ไม่ได้ยื่นคำแถลงเข้ามาภายใน 15 วันตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกา จึงเป็นการเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าโจทก์ที่ 4 ที่ 10 ถึงที่ 12 ทิ้งฟ้องฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2),246 และ 247 ให้จำหน่ายฎีกาของโจทก์ที่ 4 ที่ 10 ถึงที่ 12 ออกจากสารบบความของ ศาลฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นางทิม คำป้อมเจ้ามรดกมีบุตร 6 คน คือนายเปลื้อง นายปลด นายสว่างหรือหว่างนางลำใย นายแป๊ะ และนางสุดใจ คำป้อม ซึ่งทุกคนถึงแก่กรรมไปหมดแล้วโจทก์ที่ 2 เป็นหลานนายปลด โจทก์ที่ 8 และที่ 9 เป็นบุตรนายสว่างผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นหลานนายสว่าง ส่วนผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นภริยาของนายบุญยังหรือสอ คำป้อม บุตรนายสว่าง โจทก์ที่ 2 ที่ 8 และที่ 9 ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางทิมทรัพย์มรดกของนางทิมคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1552 เฉพาะส่วน เนื้อที่23 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา หลังจากนางทิมถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งนายเหลี่ยม คำป้อม บุตรนายแป๊ะเป็นผู้จัดการมรดกของนางทิมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2531 นายเหลี่ยม โอนที่ดินมรดกของนางทิมมาเป็นของนายเหลี่ยมในฐานะผู้จัดการมรดก และในวันเดียวกันก็โอนที่ดินมรดกของนางทิมมาเป็นของนายเหลี่ยมในฐานะส่วนตัวต่อมานายเหลี่ยมถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยซึ่งเป็นภริยานายเหลี่ยมเป็นผู้จัดการมรดกของนายเหลี่ยม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ที่ 8 และที่ 9 ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ครั้งแรกที่นายเหลี่ยมโอนที่ดินมรดกของนางทิมมาเป็นของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นทุกคน แม้จะมีการโอนที่ดินมรดกดังกล่าวมาเป็นของนายเหลี่ยมในฐานะส่วนตัวแล้วก็ตามก็ยังถือไม่ได้ว่าเปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินมรดกแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวยังมิได้เพราะนายเหลี่ยมยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ทั้งปรากฏว่าก่อนหน้านี้นายเหลี่ยมได้ถูกนางประเทือง ยี่กัว ยื่นฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 623/2537 ของศาลชั้นต้น เรื่องขอแบ่งมรดกคดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า นายเหลี่ยม คำป้อม ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับนายสว่างกับนายแป๊ะทายาทผู้ตาย ต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทของนายสว่าง จึงผูกพันนายเหลี่ยมและจำเลยซึ่งเป็นทายาทนายเหลี่ยมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ต้องถือว่านายเหลี่ยมครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นอยู่เช่นเดิมนายเหลี่ยมยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นการจัดการมรดกยังมิได้เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายความแล้วพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้วินิจฉัยประเด็นข้ออื่นและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาประเด็นแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คดีของโจทก์ที่ 4 ที่ 10ถึงที่ 12 ที่ทิ้งฎีกาและโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 และที่ 13 ที่มิได้ฎีกาจึงไม่ถึงที่สุดในการพิพากษาใหม่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงต้องชี้ขาดตัดสินคดีเกี่ยวกับคำฟ้องของโจทก์ ดังกล่าวด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยประเด็นข้ออื่นแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)ประกอบด้วยมาตรา 247 ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ที่ 8 และที่ 9 ผู้ร้องสอดที่ 1และที่ 2 ฟังขึ้น"

          พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 10:21:27


ความคิดเห็นที่ 3 (4550264)

 ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก

การที่ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองซึ่งไม่ใช่ทายาทย่อมไม่มีอำนาจกระทำเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกเมื่อผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมตกเป็นโมฆะ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงยังคงเป็นมรดกของผู้ตายและโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก(คนใหม่)มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง  

บุคคลจะยกอายุความคดีมรดกขึ้นต่อสู้ได้จะต้องเป็นบุคคลซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก เมื่อผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกจึงไม่อาจยกอายุความคดีมรดกขึ้นตัดฟ้องโจทก์ได้ ทั้งคดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก(คนใหม่)ของผู้ตายฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารให้ออกจากที่ดินมรดก และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินมรดกคืน มิได้ฟ้องเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 มาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9295/2547

          การที่ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนเองซึ่งไม่ใช่ทายาท แม้จะเป็นการตอบแทนการเอาเงินส่วนตัวชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแทนกองมรดก อันเป็นการจัดการมรดกทั่วไป ก็ไม่มีอำนาจกระทำเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก เมื่อผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมอนุญาตและ ป. ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลจึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1722 ย่อมตกเป็นโมฆะ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสมพงษ์ ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเรือตรีประสิทธิ์ ซึ่งเดิมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 3648 และ 10583 ของผู้ตาย กับยึดถือโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไว้ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3648 และ 10583 ตำบลโกรกกราก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร คืนแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน

          จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3648 และ 10583 ตำบลโกรกกราก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร คืนแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทต่อไป และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาทแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

          จำเลยทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายสมพงษ์ผู้ตายได้รับรองแล้วส่วนเรือตรีประสิทธิ์ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 และเป็นสามีของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นพี่ของผู้ตาย เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3648 และ 10583 ตำบลโกรกกราก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีชื่อผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531 นายสมพงษ์ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเรือตรีประสิทธิ์เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาในปี 2532 เรือตรีประสิทธิ์ได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 50 ก. ลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 3648 และเรือตรีประสิทธิ์กับจำเลยทั้งสองได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านหลังดังกล่าว ปี 2534 เรือตรีประสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของตน จากนั้นในปี 2537 เรือตรีประสิทธิ์ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองยังคงพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไว้ ต่อมาปี 2540 ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสมพงษ์โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3648 และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของนายสมพงษ์หรือไม่ เห็นว่าเมื่อผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรม แม้โจทก์จะเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายสมพงษ์ แต่นายสมพงษ์ก็ได้รับรองแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ให้ถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (1) มีสิทธิได้รับมรดกก่อนเรือตรีประสิทธิ์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (3) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และย่อมส่งผลให้เรือตรีประสิทธิ์ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายสมพงษ์ผู้ตายเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง เรือตรีประสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกมีเพียงสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ซึ่งจะต้องแบ่งส่วนมรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิในมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น การที่เรือตรีประสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนเองทั้งที่ไม่มีสิทธิรับมรดกดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจไม่มีผลผูกพันแต่ประการใด ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่เรือตรีประสิทธิ์โอนที่ดินมรดกทั้งสองแปลงให้แก่ตนเองเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่เรือตรีประสิทธิ์เอาเงินส่วนตัวชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแทนกองมรดกอันเป็นการจัดการมรดกทั่วไป ซึ่งผู้จัดการมรดกมีอำนาจทำได้ ไม่ใช่การแบ่งปันทรัพย์มรดก ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเรือตรีประสิทธิ์ มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า โจทก์มีนางสาวลักษณา ซึ่งเป็นบุตรของเรือตรีประสิทธิ์กับนางสุมลเป็นพยานเบิกความว่า เรือตรีประสิทธิ์ได้ขายที่ดินมรดกไป 1 แปลงเพื่อเอาเงินมาไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกอีก 2 แปลง ซึ่งตามสารบัญจดทะเบียนที่ดินทั้งสองแปลง ก็ปรากฏว่าเรือตรีประสิทธิ์ได้โอนที่ดินมรดกทั้งสองแปลงให้เป็นของตนเองในระหว่างจำนอง ต่อมาในปี 2535 จึงไถ่ถอนจำนอง หากเรือตรีประสิทธิ์เอาเงินส่วนตัวไถ่ถอนจำนองจริง ก็น่าจะจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองก่อนที่จะมีการโอนที่ดินมรดกเป็นของตน กรณีจึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของนางสาวลักษณาว่าที่เรือตรีประสิทธิ์เอาเงินที่ขายที่ดินมรดกไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 ยังห้ามผู้จัดการมรดกมิให้ทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก เว้นแต่จะมีพินัยกรรมอนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากศาล การที่เรือตรีประสิทธิ์ทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองซึ่งไม่ใช่ทายาท ถึงแม้จะเป็นการตอบแทนการเอาเงินส่วนตัวชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแทนกองมรดกอันเป็นการจัดการมรดกทั่วไปตามที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกา ก็ไม่มีอำนาจกระทำเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกเมื่อผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมตกเป็นโมฆะจึงไม่ทำให้เรือตรีประสิทธิ์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกทั้งสองแปลงโดยนิติกรรมแต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงยังคงเป็นมรดกของผู้ตายและโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้

          ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกต้องฟ้องภายใน 5 ปี โจทก์ฟ้องเกินกำหนดจึงขาดอายุความตามมาตรา 1733 นั้น เห็นว่า บุคคลจะยกอายุความคดีมรดกขึ้นต่อสู้ได้จะต้องเป็นบุคคลซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 แต่เรือตรีประสิทธิ์ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น และจำเลยทั้งสองก็เป็นเพียงทายาทของเรือตรีประสิทธิ์ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเช่นกัน จึงไม่อาจยกอายุความคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นตัดฟ้องโจทก์ได้ ทั้งคดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารให้ออกจากที่ดินมรดก และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินมรดกคืน มิได้ฟ้องเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกของเรือตรีประสิทธิ์เพื่อให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทต้องรับผิดแต่อย่างใด จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 มาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

         พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 10:28:02


ความคิดเห็นที่ 4 (4550265)

 ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งทรัพย์มรดกเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่

ผู้จัดการมรดกไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิรับมรดกเช่นนี้จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2548

การที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยกับนายลับเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย เมื่อปี 2534 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งนายลับกับจำเลยให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมฮวย ต่อมานายลับได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีมรดกอีกคดีหนึ่ง แล้วบุคคลทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยนายลับตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางกิมฮวยให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อปี 2543 จำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกเป็นของจำเลย โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้ง 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ศาลมีคำสั่งยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยแบ่งเงินจำนวน 200,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสามคนละ 50,000 บาท

จำเลยให้การว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ดังนั้น ทรัพย์สินและเงินสดที่จำเลยได้รับจากนายลับตามสัญญา จึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย มิใช่ทรัพย์มรดกของนางกิมฮวย ซึ่งจะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดิน 4 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2280, 2033, 3440 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเลขที่ 1475 ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลย คนละส่วนเท่า ๆ กัน หากจำเลยไม่ดำเนินการหรือไม่สามารถแบ่งได้ ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาด และนำเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันคนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยแบ่งเงินสดให้โจทก์ทั้งสาม คนละ 50,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์คนละ 1,000 บาท

        จำเลยอุทธรณ์

        ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้ง 4 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2280, 2033, 3440 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเลขที่ 1475 ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแบ่งเงินสุทธิให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน และให้จำเลยแบ่งเงินมรดกให้โจทก์ทั้งสามคนละ 25,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 4,687.50 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม และให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 4,687.50 บาท แก่จำเลย 

       โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา

              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายลับกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสาม ดังนั้น เมื่อจำเลยและนายลับแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งมีสิทธิรับมรดกเช่นนี้จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง และเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยได้รับไปได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่นายลับยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดกและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่านายลับสละมรดก เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า เจ้ามรดกยังมีนายลับเป็นคู่สมรส นายลับย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) อีกกึ่งหนึ่งคงตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้ง 4 แปลง และเงินสดให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน จึงชอบแล้ว

    พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 10:38:07


ความคิดเห็นที่ 5 (4550266)

ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับผู้นั้นถึงแก่ความตาย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2552

ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับ ล.ถึงแก่ความตาย และเมื่อ ล.เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดพิจารณา ศาลสอบคู่ความแล้ว โจทก์แถลงรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพียง 113,719.75 บาท และจำเลยแถลงสละข้อต่อสู้ที่ว่านายแหล่ ยังมีชีวิตอยู่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า การเป็นคนสาบสูญเข้าเหตุที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และนัดฟังคำพิพากษา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 113,719.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ตุลาคม 2549) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาล เป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 62 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 ดังนั้น ผลแห่งความตายเพราะสาบสูญจึงมีเช่นเดียวกับการตายธรรมดาคือสิ้นสภาพบุคคลและเกิดผลตามมาในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาท รวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่ความรับผิดที่ผู้ตายจะต้องได้รับนับแต่มีคำสั่งศาลแสดงว่าเป็นคนสาบสูญ และเมื่อพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ การฌาปนกิจสงเคราะห์ หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน จะเห็นได้ว่าเมื่อนายแหล่ ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับนายแหล่ถึงแก่ความตาย และเมื่อนายแหล่เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยานายแหล่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 10:51:04



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล