ReadyPlanet.com


คดีพรากผู้เยาว์


น้องอายุ17 ถูกผช อายุ30ปี พาไป...แต่ตอนนี้หลักฐานไม่มีเลย การตรวจก็อาจไม่เจอเพราะน้องโดนมาก่อน 1 เดือน ถึงจะมากล้าบอก ผช ไม่รับสารภาพว่าทำ อยากถามว่าถ้าเราแจ้งความไปแล้ว แล้วเราไม่มีหลักฐานอะไรเลยเราจะโดนแจ้งกลับไหมครับ



ผู้ตั้งกระทู้ คดีพรากผู้เยาว์ :: วันที่ลงประกาศ 2023-12-30 03:15:55


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4550362)

 แนะนำให้ไปแจ้งความไว้ก่อนครับ เพื่อให้พนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน พยานบุคคลแวดล้อมเพื่อจับกุมผู้ต้องหาต่อไปครับ การที่เราเป็นผู้เสียหาย กล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดใดเกิดขึ้นย่อมมีหน้าที่นำสืบความจริง กรณีไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกล่าวหาใครง่าย ๆ เขาได้รับความเสียหายจากการกลั่นแกล้งก็ฟ้องกลับ ว่าแจ้งความเท็จได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 13:34:10


ความคิดเห็นที่ 2 (4550363)

 แม้จำเลยไม่ได้พาเด็กไปจากบ้านที่เกิดเหตุ แต่การที่จำเลยชวนเด็กไปกระทำอนาจารจนต้องตามหาตัว เป็นการพาเด็กไปแล้ว และเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาให้ถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย โดยปราศจากเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2563

คำว่า “พา” หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า “พราก” หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่ากระทำด้วยวิธีการใดและไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล ความผิดฐานพาและพรากไปเพื่อการอนาจาร สาระสำคัญอยู่ที่ว่าการพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควรจำเลยจอดรถอยู่ใต้ต้นมะม่วงริมถนนหน้าบ้าน โจทก์ร่วมที่ 3 วิ่งเล่นอยู่บริเวณนั้น จำเลยชวนโจทก์ร่วมที่ 3 เข้าไปดูการ์ตูนในรถด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย จากนั้นอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 เข้าไปในรถให้โจทก์ร่วมที่ 3 นั่งบนตัก และกระทำอนาจารโดยใช้มือล้วงอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 3 โดยปิดประตูแต่เปิดกระจกฝั่งคนขับไว้เพียง 1 ใน 4 ส่วน ก็เพื่อหาโอกาสล่วงละเมิดทางเพศต่อโจทก์ร่วมที่ 3 โดยไม่ให้มีคนพบเห็น แม้จำเลยไม่ได้พาไปจากบ้านที่เกิดเหตุ โดยรถยังจอดอยู่ห่างจากวงสุราประมาณ 15 เมตร และมิได้ติดเครื่องยนต์ในลักษณะที่จะพาตัวโจทก์ร่วมที่ 3 ไปก็ตาม แต่การที่จำเลยชวนโจทก์ร่วมที่ 3 ไปกระทำอนาจารราว 40 นาที จนต้องตามหาตัว เป็นการพาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปแล้ว และเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาให้ถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย โดยปราศจากเหตุอันสมควร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 283 ทวิ, 317

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานาย ว. ผู้เสียหายที่ 1 นาง ป. ผู้เสียหายที่ 2 และเด็กหญิง ข. โดยนาง ป. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และให้ผู้เสียหายที่ 3 โดยผู้เสียหายที่ 2 เข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร กระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ส่วนฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279, 283 ทวิ และ 317 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 3 อายุ 4 ปีเศษ เป็นบุตรสาวของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 โจทก์ร่วมทั้งสามพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักด้านหลังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ห. วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 10 นาฬิกา โจทก์ร่วมที่ 1 พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปงานเลี้ยงปีใหม่ ที่บ้านนาง ท. ยายของโจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาลดังกล่าว แล้วโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปร่วมนั่งดื่มสุรากับจำเลยและคนอื่นอีกหลายคนที่ใต้ถุนบ้านของนาง ท. ส่วนโจทก์ร่วมที่ 3 วิ่งเล่นอยู่บริเวณบ้าน ต่อมาเวลาประมาณ 15 นาฬิกา นาง ท. ไม่พบโจทก์ร่วมที่ 3 ทุกคนที่อยู่ในบ้านจึงแยกย้ายกันตามหา นาง อ. ลูกพี่ลูกน้องโจทก์ที่ 2 มองเข้าไปในรถกระบะของจำเลยผ่านกระจกด้านคนขับซึ่งเปิดไว้ประมาณ 1 ใน 4 เห็นโจทก์ร่วมที่ 3 นั่งเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่บนตักของจำเลยบนเบาะนั่งข้างคนขับ รถกระบะของจำเลยไม่ได้ติดเครื่องยนต์จอดอยู่ริมถนนหน้าบ้านนาง ท. ซึ่งไม่มีรั้วกั้น โดยโจทก์ร่วมที่ 3 นั่งอยู่กับจำเลยประมาณ 40 นาที ก่อนที่โจทก์ร่วมที่ 1 จะพาโจทก์ร่วมที่ 3 ไป หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 3 เข้ารับการตรวจร่างกายกับแพทย์ที่โรงพยาบาล ห. 3 ครั้ง แพทย์ระบุว่า เยื่อพรหมจารีไม่ฉีกขาด แต่มีรอยบวมแดงบริเวณแคมใหญ่ และช่องคลอดอักเสบ สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นควรพิจารณาประเด็นที่ว่า จำเลยกระทำอนาจารโจทก์ร่วมที่ 3 หรือไม่เสียก่อน ประเด็นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามมีโจทก์ร่วมที่ 3 เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า จำเลยอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 เข้าไปนั่งบนตักของจำเลยในรถ แล้วใช้มือล้วงเข้าไปและใช้นิ้วแหย่อวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 3 โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ทำท่าทางประกอบการเบิกความด้วยการใช้มือล้วงเข้าไปในอวัยวะเพศ นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามยังมีโจทก์ร่วมที่ 2 และนางสาว ศ. พยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ห. มาเบิกความสนับสนุนได้ความว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 2 สอบถามโจทก์ร่วมที่ 3 ว่าทำไมจึงไปอยู่กับจำเลยในรถ โจทก์ร่วมที่ 3 เล่าว่า จำเลยชวนไปดูการ์ตูนในรถ แล้วใช้มือล้วงเข้าไปในอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 3 โจทก์ร่วมที่ 3 เจ็บที่อวัยวะเพศ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงโทรศัพท์ไปปรึกษานางสาว ศ. และพาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบนางสาว ศ. ที่บ้านพักเพื่อตรวจดูอวัยวะเพศ นางสาว ศ. ตรวจพบรอยแดงบริเวณแคมนอก จึงแนะนำให้โจทก์ร่วมที่ 2 พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปตรวจกับแพทย์ที่โรงพยาบาล ห. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอและแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2561 โจทก์ร่วมที่ 2 พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปตรวจที่โรงพยาบาล ห. แพทย์ตรวจพบว่ามีการอักเสบบวมแดงบริเวณอวัยวะเพศ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงพาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธร ห. พนักงานสอบสวนส่งโจทก์ร่วมที่ 3 ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 8 มกราคม 2561 วันที่ 18 มกราคม 2561 โจทก์ร่วมที่ 3 ยังคงมีอาการเจ็บที่อวัยวะเพศ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงพาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 3 อายุเพียง 4 ปีเศษ สมองยังไม่เจริญเต็มที่ ความสามารถในการสื่อสารอาจถูกจำกัดด้วยภาษาและคำพูด แต่ก็สามารถรับรู้และจดจำเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองรวมทั้งความรู้สึกที่มีและถ่ายทอดสาระสำคัญให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ซึ่งเนื้อหาที่โจทก์ร่วมที่ 3 ให้การและเบิกความพร้อมทำท่าทางเกี่ยวกับการถูกจำเลยกระทำอนาจารก็เป็นเรื่องยากที่เด็กในวัยนั้นจะคิดปั้นแต่งขึ้นเองได้ ประกอบกับคำเบิกความและคำให้การดังกล่าวก็สอดคล้องกับผลการตรวจชันสูตรบาดแผล ซึ่งพบรอยบวมแดงภายนอกช่องคลอดบริเวณแคมใหญ่ ทำให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 3 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น การที่โจทก์ร่วมที่ 2 พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอหลังเกิดเหตุประมาณ 4 วัน ก็ไม่ใช่ข้อพิรุธที่จะส่งผลกระทบต่อน้ำหนักและความน่าเชื่อของคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน เพราะหลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 2 ได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปให้นางสาว ศ. ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตรวจดูเบื้องต้นในวันเกิดเหตุแล้ว และโจทก์ร่วมที่ 3 ยังสามารถวิ่งเล่นได้ไม่มีอาการถึงขั้นต้องส่งโรงพยาบาลฉุกเฉิน ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันหยุดปีใหม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบโต้แย้งทำนองว่า จำเลยนอนอยู่ที่เบาะนั่งด้านหน้าข้างคนขับโดยเปิดประตูรถด้านนั้นไว้ แต่ปิดประตูด้านคนขับ โจทก์ร่วมที่ 3 มาขอจำเลยดูการ์ตูนในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย จำเลยกลัวว่าโทรศัพท์จะหายและขณะนั้นมีรถสัญจรบริเวณนั้นจำนวนมาก กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมที่ 3 จึงอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 ขึ้นมาดูการ์ตูนบนตักและปิดประตูรถฝั่งที่จำเลยนั่งเพราะเกรงว่าโจทก์ร่วมที่ 3 จะลงจากรถ หลังจากนั้นจำเลยหลับ มารู้สึกตัวอีกทีตอนที่โจทก์ร่วมที่ 1 ตะโกนด่าจำเลยและอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 ออกไปจากรถนั้น เห็นว่า เหตุผลที่จำเลยอ้างในการอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 มานั่งบนตักในรถแตกต่างจากเหตุผลที่จำเลยเคยแถลงต่อศาลชั้นต้นในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2561 หน้า 2 ซึ่งจำเลยให้เหตุผลว่า ฝนกำลังจะตกจึงให้โจทก์ร่วมที่ 3 เข้าไปดูโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยในรถ ทำให้คำเบิกความของจำเลยขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนข้อที่จำเลยอ้างเพื่อปิดประตูรถหลังจากอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 ขึ้นมานั่งบนตักแล้วว่าเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมที่ 3 ลงจากรถก็ไม่สมเหตุผล เพราะไม่มีเหตุที่จำเลยต้องกังวลว่าจะเกิดอันตรายกับโจทก์ร่วมที่ 3 ในกรณีที่โจทก์ร่วมที่ 3 ต้องการจะลงจากรถ เนื่องจากด้านที่จำเลยนั่งติดกับบริเวณพื้นที่บ้านของนาง ท. ไม่ได้ติดกับฝั่งถนน ในทางตรงข้ามกลับส่อให้เห็นข้อพิรุธในความพยายามที่จะทำให้คนที่อยู่ภายนอกยากแก่การมองเห็นภายในรถ พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสาม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามว่า จำเลยอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 ไปนั่งบนตักแล้วใช้มือล้วงอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 3 อันเป็นการกระทำอนาจารโจทก์ร่วมที่ 3 คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพาและพรากโจทก์ร่วมที่ 3 ไปเพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า คำว่า “พา” หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า “พราก” หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมอันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใดและไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล สาระสำคัญอยู่ที่ว่าการพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร เมื่อจำเลยจอดรถอยู่ใต้ต้นมะม่วงริมถนนหน้าบ้าน โจทก์ร่วมที่ 3 วิ่งเล่นอยู่บริเวณนั้น จำเลยชวนโจทก์ร่วมที่ 3 เข้าไปดูการ์ตูนในรถด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย จากนั้นจำเลยอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 เข้าไปในรถให้โจทก์ร่วมที่ 3 นั่งบนตัก และกระทำอนาจารโดยใช้มือล้วงอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 3 โดยปิดประตู แต่เปิดกระจกฝั่งคนขับไว้เพียง 1 ใน 4 ส่วน ก็เพื่อหาโอกาสล่วงละเมิดทางเพศต่อโจทก์ร่วมที่ 3 โดยไม่ให้มีคนพบเห็น แม้จำเลยไม่ได้พาไปจากบ้านที่เกิดเหตุ โดยรถยังจอดอยู่ห่างจากวงสุราประมาณ 15 เมตร และมิได้ติดเครื่องยนต์ในลักษณะที่จะพาตัวโจทก์ร่วมที่ 3 ไปก็ตาม แต่การที่จำเลยชวนโจทก์ร่วมที่ 3 ไปกระทำอนาจารราว 40 นาที จนต้องตามหาตัวกันเช่นนี้ เป็นการพาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปแล้ว และเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาให้ถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ โดยมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำผิดบังคับแก่จำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ส่วนฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยรวม 5 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 13:38:28


ความคิดเห็นที่ 3 (4550367)

 ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2565

โจทก์ฟ้องจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลย และจำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 หรือแยกผู้เสียหายที่ 1 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่ น. เป็นผู้ติดต่อมาหาจำเลยเพื่อเสนอให้ผู้เสียหายที่ 1 ขายบริการทางเพศให้แก่จำเลย และพาผู้เสียหายที่ 1 มาส่งที่บ้านของจำเลย ในทำนองว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด และอุทธรณ์ของจำเลยมิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1, 91, 277, 283 ทวิ, 317

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน เป็นจำคุก 4 ปี 12 เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน เป็นจำคุก 4 ปี 12 เดือน รวมจำคุก 8 ปี 24 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้อง ข้อ 1.1 และในความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.2 คงลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1.2 และ 1.4 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน 2 กระทง และตามฟ้องข้อ 1.3 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร อีก 1 กระทง เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่งแล้ว รวม 3 กระทง คงจำคุก 6 ปี 18 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องข้อ 1.1 นางสาว น. และนางสาว ส. ขับรถจักรยานยนต์มาส่งผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านของจำเลย แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 เดินเข้าไปในบ้านและมอบเงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 เพื่อให้มีเพศสัมพันธ์กับจำเลย จากนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 สำหรับความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนตามฟ้องข้อ 1.2 และ 1.4 และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.3 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สามารถรับฟังข้อเท็จจริงให้แตกต่างไปจากคำรับสารภาพของจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยตามฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากผู้เสียหายที่ 1 อายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.1 และศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.1 และจำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 หรือแยกผู้เสียหายที่ 1 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่นางสาว น. เป็นผู้ติดต่อมาหาจำเลยเพื่อเสนอให้ผู้เสียหายที่ 1 ขายบริการทางเพศให้แก่จำเลย และพาผู้เสียหายที่ 1 มาส่งที่บ้านของจำเลย ในทำนองว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด นอกจากนี้อุทธรณ์ของจำเลยมิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหานี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.1 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารนั้น กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันมิใช่ตัวเด็กที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย เด็กแม้จะไปอยู่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่อยู่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดความหมายคำว่า “พราก” ว่าต้องเป็นวิธีการอย่างใด และไม่ว่าเด็กจะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองโดยมีผู้ชักนำหรือไม่ก็ตาม แต่หากมีการกระทำต่อเด็กในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อน แล้วถูกจำเลยพาไปกระทำชำเราภายในบ้านของจำเลย ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายนัดหมายชักชวนมา การกระทำของจำเลยย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาถูกพรากจากไปโดยปริยาย หาใช่ความผิดฐานพรากเด็กจะต้องถึงขนาดเป็นการกระทำที่ต้องพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองตั้งแต่เด็กออกจากบ้าน ถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านแล้วถูกจำเลยกระทำในทางเสื่อมเสียเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา อันเป็นความหมายของคำว่า “พราก” แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.1 อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว คงจำคุกรวม 8 ปี 24 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 13:48:19


ความคิดเห็นที่ 4 (4550371)

 การพรากผู้เยาว์ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและอีกส่วนหนึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2787/2565

พ. ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจําเลยขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้วพาไปส่งที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 โดยสารเครื่องบินไปหาจําเลยที่ประเทศญี่ปุ่น การพรากผู้เยาว์ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่ พ. ขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้ว หาได้เพิ่งเกิดขึ้นขณะที่จําเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ จึงเป็นกรณีที่การกระทำส่วนหนึ่งในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ได้กระทำในราชอาณาจักรและอีกส่วนหนึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ศาลจึงลงโทษจําเลยได้

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8, 83, 91, 277, 279, 283 ทวิ, 317, 319

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาและที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังได้ว่านางสาว ส. ผู้เสียหายที่ 2 เกิดวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ขณะเกิดเหตุตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 มีอายุ 14 ปีเศษ ขณะเกิดเหตุตามคำฟ้องข้อ 1.7 มีอายุ 15 ปีเศษ และอยู่ในความปกครองดูแลของนางสาว ข. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยหลายครั้งต่อปี โดยมีนาย พ. ให้การต้อนรับขณะที่จำเลยอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยรู้จักกันในประเทศไทยตั้งแต่กลางปี 2561 ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร และฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อระหว่างวันที่ 16 ถึง 21 เมษายน 2562 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 มีอายุ 15 ปีเศษ จำเลยร่วมกับนาย พ. พรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิดดังกล่าว สาเหตุที่ไม่ปรากฏหลักฐานการจองห้องพักของนาย พ. ในโรงแรมที่เกิดเหตุในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2561 อาจเป็นเพราะจำเลยใช้บุคคลอื่นให้จองห้องพักแทนนาย พ. และสาเหตุที่พยานโจทก์ปาก นางสาว ศ. เบิกความว่าไม่เคยเห็นผู้เสียหายที่ 2 ในโรงแรมที่เกิดเหตุ เป็นเพราะนางสาว ศ. ซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรมที่เกิดเหตุกลัวว่าการให้เด็กเข้าพักในโรงแรมจะทำให้เจ้าของโรงแรมเดือดร้อน นั้น โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อกลางปี 2561 นาย พ. ชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปทำงานดูแลคนสูงอายุที่โรงแรมที่เกิดเหตุ โดยนาย พ. พาผู้เสียหายที่ 2 ไปพบจำเลยในห้องพัก จำเลยกอดจูบและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการใช้อวัยะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งผู้เสียหายที่ 2 พยายามขัดขืนจำเลยแล้วแต่ไม่เป็นผล ผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในห้องพักดังกล่าวจนถึงเวลา 8 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น แล้ว นาย พ. เดินทางมารับตัวผู้เสียหายที่ 2 โดยจำเลยให้เงิน 10,000 บาท แก่นาย พ. ซึ่งนาย พ. แบ่งเงินให้ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 5,000 บาท จากนั้นอีก 2 วันต่อมานาย พ. แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลยที่ห้องพักในโรงแรมที่เกิดเหตุอีก ผู้เสียหายที่ 2 เดินทางไปหาจำเลยที่ห้องพักดังกล่าวแล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 จากนั้น นาย พ. ให้เงินผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 5,000 บาท อีก 1 สัปดาห์ต่อมานาย พ. แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลยอีก แต่ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิเสธว่าจะไปเที่ยวกับเพื่อนนาย พ. ใช้ให้ลูกน้องมาดักใช้อาวุธมีดขู่ว่าจะแทงผู้เสียหายที่ 2 จนผู้เสียหายที่ 2 กลัว แล้ว นาย พ. เดินทางมารับตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลยที่ห้องพักในโรงแรมอีกแห่งหนึ่ง จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการใช้นิ้วมือสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 ยังคงอยู่ในห้องพักดังกล่าวจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วนาย พ. เดินทางมารับตัวผู้เสียหายที่ 2 และให้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 6,000 บาท ต่อมาเมื่อปี 2562 นาย พ. ถามผู้เสียหายที่ 2 ว่าสนใจเดินทางไปหาจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ ผู้เสียหายที่ 2 อยากเดินทางไปเที่ยวจึงตอบว่าสนใจนาย พ. เดินทางมารับตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปส่งที่ท่าอากาศยาน แล้วผู้เสียหายที่ 2 โดยสารเครื่องบินเดินทางไปหาจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งโดยที่ไม่มีเพศสัมพันธ์กัน แต่จำเลยหอมแก้มผู้เสียหายที่ 2 หนึ่งครั้ง ครั้นผู้เสียหายที่ 2 เดินทางกลับประเทศไทย ผู้เสียหายที่ 2 มีอาการปวดท้อง ผู้เสียหายที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปตรวจดูอาการที่โรงพยาบาลบ้านไผ่ ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 มีอาการมดลูกอักเสบ ผู้เสียหายที่ 2 เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้เสียหายที่ 1 ฟัง จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 เดินทางไปยังโรงแรมที่เกิดเหตุ พบจำเลยกับนาย พ. อยู่ในที่ดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 2 ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ แต่ผู้เสียหายทั้งสองได้รับคำแนะนำจากเจ้าพนักงานตำรวจให้ไปร้องทุกข์ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดขอนแก่น ผู้เสียหายที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน และมีผู้เสียหายที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 ผู้เสียหายที่ 2 มีอาการปวดท้อง ผู้เสียหายที่ 1 จึงพาผู้เสียหายที่ 2 ไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลบ้านไผ่ แล้วผู้เสียหายที่ 2 เล่าให้ฟังว่าตนถูกจำเลยซึ่งมีสัญชาติญี่ปุ่นใช้นิ้วมือสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศ โดยมีนาย พ. ทำหน้าที่เป็นคนพาผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลย จากนั้น 1 เดือนต่อมา ผู้เสียหายที่ 2 แจ้งว่าจำเลยเดินทางมาที่อำเภอบ้านไผ่ และนัดให้ผู้เสียหายที่ 2 เดินทางไปหาจำเลยอีก ผู้เสียหายที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปยังโรงแรมที่เกิดเหตุโดยผู้เสียหายที่ 1 ซุ่มดูเหตุการณ์อยู่ภายนอกโรงแรม ผู้เสียหายที่ 1 เห็นนาย พ. พาผู้เสียหายที่ 2 เดินไปที่หน้าห้องพัก แล้วจำเลยเปิดประตูห้องพักรับผู้เสียหายที่ 2 เข้าห้องไปตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา จนถึงเวลา 13 นาฬิกาเศษ ผู้เสียหายที่ 1 ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน และมีนางสาว ศ. พนักงานโรงแรมที่เกิดเหตุเป็นพยานเบิกความว่านาย พ. เปิดใช้บริการห้องพักของโรงแรมโดยมีจำเลยเป็นผู้ชำระเงินหลายครั้ง ดังนี้ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ระบุว่าเหตุครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นห่างกันประมาณ 2 วัน และเหตุครั้งที่ 3 เกิดขึ้นห่างจากครั้งที่ 2 ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยในครั้งที่ 3 ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมไปหาจำเลยตามที่ นาย พ. สั่งการนาย พ. จึงให้ลูกน้องมาดักใช้อาวุธมีดขู่ผู้เสียหายที่ 2 กลัวจนยอมไปหาจำเลย สอดคล้องกับที่ผู้เสียหายที่ 2 ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า ภายหลังจากที่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมทำตามที่นาย พ. สั่งในครั้งที่ 3 แล้ว ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปเดินเที่ยวดูรถแห่ในตลาด มีหญิงประมาณ 10 คน เข้ามารุมกระชากผมและตบตีผู้เสียหายที่ 2 โดยมีคนชักอาวุธมีดออกมาข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย แต่ภายหลังจากนั้นจนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น และผู้เสียหายที่ 1 ทราบเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 ได้เบิกความหรือให้การว่ามีเหตุการณ์ที่ตนถูกรุมทำร้ายอีก และผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่ได้เบิกความว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวอีกเช่นกัน แต่เมื่อพิจารณาคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 แล้ว กลับปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ให้การว่านาย พ. ส่งคนมารุมทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ในวันเดียวกันนั้น ซึ่งสอดคล้องกับรายละเอียดที่ผู้เสียหายที่ 1 แจ้งความไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า “เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 บุตรสาวของผู้แจ้งไปเที่ยวงานรถแห่ แต่ได้ถูกกลุ่มวัยรุ่นทำร้ายร่างกาย ซึ่งผู้แจ้งเชื่อว่าเป็นฝีมือของนาย พ. ที่สั่งให้กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวรุมทำร้ายบุตรสาวตน” จึงเชื่อได้ว่า เหตุการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่าถูกพวกของนาย พ. รุมทำร้ายและใช้อาวุธมีดขู่ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 ดูรถแห่ในตลาด กับเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 1 แจ้งความว่าผู้เสียหายที่ 2 ถูกพวกของนาย พ. รุมทำร้ายในงานรถแห่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน เพราะหากเป็นคนละเหตุการณ์กันแล้ว ผู้เสียหายทั้งสองย่อมต้องเบิกความถึงเรื่องดังกล่าวต่อศาล เนื่องจากเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ตัดสินใจเดินทางไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสองอ้างถึงวันเวลาในการกระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 แตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงเป็นพิรุธ ประกอบกับเมื่อพิจารณาใบเสร็จรับเงินของโรงแรมแล้ว ไม่ปรากฏว่านาย พ. ได้จองห้องพักโรงแรมที่เกิดเหตุในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2561 อันเป็นช่วงเวลาตามฟ้องแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบโจทก์ด้วยว่านอกจากนาย พ. แล้วยังมีบุคคลอื่นทำหน้าที่จองห้องพักและจัดหาเด็กหญิงมาให้จำเลยกระทำชำเราหรือกระทำอนาจารอีก นอกจากนี้ พยานโจทก์ปากนางสาว ศ. ซึ่งเป็นพนักงานโรงแรมที่เกิดเหตุยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านโดยปราศจากข้อพิรุธสงสัยว่าตนไม่เคยเห็นผู้เสียหายที่ 2 เข้ามาในโรงแรมที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงตามใบต่อคำให้การเพิ่มเติมของผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้ความว่านาย พ. ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้วพาไปส่งที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จากนั้นผู้เสียหายที่ 2 โดยสารเครื่องบินไปหาจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่น เห็นได้ว่าการพรากผู้เยาว์ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่นาย พ. ขับรถยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ที่สี่แยกบ้านไผ่แล้ว หาได้เพิ่งเกิดขึ้นขณะที่จำเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ จึงเป็นกรณีที่การกระทำส่วนหนึ่งในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ได้กระทำในราชอาณาจักร และอีกส่วนหนึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ศาลจึงลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-05 14:21:08



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล