ReadyPlanet.com


ต่อเติมบ้านรุกที่ดินผู้อื่น


 ต่อเติมบ้านรุกที่ดินผู้อื่น แต่เจ้าของเดิมรับรู้ทำได้ เมื่อเจ้าของเดิมขายที่ดินให้เจ้าของใหม่ แต่เจ้าของใหม่ให้เรื้อถอน ควรจะทำอย่างไร อยู่มาเป็น 20 ปีแล้ว ตอนตกลงกับเจ้าของเดิมไม่มีลายลักษณ์อักษรอะไร ควรทำอย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ ตุ้ง :: วันที่ลงประกาศ 2023-12-21 10:30:10


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4550518)

 แนำนำให้ฟ้องแสดงกรรมสิทธิ์โดยได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-06 18:09:46


ความคิดเห็นที่ 2 (4550519)

 การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง

การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตามมาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่ามารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่น้องชายและน้องสาวของผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท คือผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12735/2555

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดที่ 918 ทางทิศตะวันตกของ ท. โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 22 ปี หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องขอ ว. มารดาของผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และโฉนดเลขที่ 918 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรของ ว. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 และแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลัง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง ประกอบกับผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตาม ป.ที่ดิน มาตรา 81 โดยที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าเจ้ามรดกได้มาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิตามมาตรา 78 ก่อน ผู้ร้องในฐานะทายาทผู้รับมรดกจาก ว. มารดาของผู้ร้องจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้องและทายาทอื่นได้

 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอศาลไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่า ที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินเลขที่ 917 และ 918 ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวาสนาโดยการครอบครองปรปักษ์ เพื่อผู้ร้องและทายาทของนางวาสนารับมรดกในที่ดินดังกล่าวต่อไป

ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ

         ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ 

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเพียงว่าสำเนาให้ผู้คัดค้านทั้งสองพร้อมอุทธรณ์ หากจะคัดค้านให้ยื่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันได้รับอุทธรณ์ ให้ผู้ร้องนำส่งไม่มีผู้รับให้ปิด ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว และศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของผู้ร้องต่อไป

ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขออ้างว่านางวาสนามารดาของผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 ทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 918 ทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ของนายเทียนฉาย โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 22 ปี ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องขอ นางวาสนามารดาของผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และโฉนดเลขที่ 918 โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรของนางวาสนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 และแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่านางวาสนามารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลังการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11371 ให้แก่น้องชายและน้องสาวของผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท คือผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครองประกอบกับผู้ร้อง มีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 โดยอสังหาริมทรัพย์คดีนี้เป็นที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าเจ้ามรดกได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งต้องดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิตามมาตรา 78 ก่อน ผู้ร้องในฐานะทายาทผู้รับมรดกจากนางวาสนามารดาของผู้ร้องจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้องและทายาทอื่นได้ และเนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นางวาสนามารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ แม้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองจะได้นำสืบพยานหลักฐานมาครบถ้วนแล้ว แต่เพื่อให้การวินิจฉัยคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาลจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ว่านางวาสนามารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ก่อน

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-06 18:13:07


ความคิดเห็นที่ 3 (4550520)

 ครอบครองโดยสำคัญผิดได้กรรมสิทธิ์โดยปรปักษ์หรือไม่?

ในคดีนี้เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินที่ผู้ซื้อได้ซื้อที่ดินจากผู้ขายรายหนึ่งซึ่งมีสภาพรั้วรอบขอบชิดและมีการถมดินสูงกว่าที่ดินข้างเคียง หลังจากได้ซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์กันเรียบร้อยแล้วก็เข้าทำประโยชน์ ด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เกิน 10 ปี ต่อมาที่ดินข้างเคียงไปขอรังวัดสอบเขตที่ดินปรากฏว่าที่ดินของตนหายเข้าไปในที่ดินของผู้ซื้อรายนี้ถึง 16 ตารางวาเศษ โดยเข้าใจว่าที่ดินที่ล้อมรั้วนั้นคือที่ดินที่ซื้อมาทั้งหมด ถามว่าอย่างนี้เป็นการครอบครองปรปักษ์โดยสำคัญผิดจะได้กรรมสิทธิ์ตาม มาตรา 1382 หรือไม่?

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4182/2554

          จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลย ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองแล้วได้

   มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

 โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 27254 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2544 เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองปรากฏว่าที่ดินของจำเลยทั้งสองดังกล่าวซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองทางทิศเหนือ ไม่ได้ทับกันแต่การครอบครองของจำเลยทั้งสองได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 16.6 ตารางวา เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนไกล่เกลี่ยแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิด ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย กล่าวคือ มีผู้จะซื้อและนัดจดทะเบียนที่ดินของโจทก์ทั้งสองราคาตารางวาละ 10,000 บาท แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกันได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับเงิน 3,090,000 บาท โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเงิน 19,312 บาท ต่อเดือน หรือโจทก์ทั้งสองอาจนำที่ดินให้เช่าได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน แต่ขอคิดเพียง 10,000 บาท ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารย้ายออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยส่งมอบที่ดินเนื้อที่ 16.6 ตารางวา คืนแก่โจทก์ทั้งสองและห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีก ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 10,000 บาท นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบที่ดินคืน

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 ซึ่งเดิมเป็นของนายนิวัตร์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2534 นายนิวัตร์ให้โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว และเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2542 นายนิวัตร์ขายที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสองโฉนดเลขที่ 27254 โดยซื้อจากนางสาวสัยรัตน์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 แล้วจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทเนื้อที่ 16.6 ตารางวาของโจทก์ทั้งสอง โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองในที่ดินส่วนที่พิพาทโฉนดเลขที่ 17146 เนื้อที่ 16.6 ตารางวา ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสอง (ที่ถูกโจทก์ทั้งสอง) ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสอง

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอยู่ติดกันมีเพียงต้นมะพร้าวเป็นแนวแบ่งเขต แต่หาหลักหมุดไม่พบ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วเพิ่งรู้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองรุกล้ำแนวเขตที่ดินพิพาทเมื่อปลายปี 2544 จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในส่วนที่รุกล้ำเนื้อที่ 16.6 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 1,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้ยกเสีย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทเนื้อที่ 16.6 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง คำขออื่นตามฟ้องแย้งให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

 โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุผลสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 จำเลยทั้งสองยื่นคำแก้ฎีกา และคำร้องขออนุญาตยื่นคำแก้ฎีกาอ้างเหตุว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้อาศัยอยู่ที่ภูมิลำเนาตามคำให้การและฟ้องแย้งเนื่องจากจำเลยที่ 2 รับราชการอยู่จังหวัดสุรินทร์ จำเลยทั้งสองจึงไปอยู่ประจำด้วยกันที่จังหวัดสุรินทร์โดยปิดบ้านไว้ไม่มีคนเฝ้า นานๆจะกลับสักครั้ง เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2541 ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์จำเลยทั้งสองกลับบ้านและเพิ่งได้รับหมายนัดและสำเนาฎีกาในวันดังกล่าว มิได้จงใจไม่ยื่นคำแก้ฎีกาภายในกำหนด ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องพร้อมสำเนาคำแก้ฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองโดยวิธีปิดหมายแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นให้รวบรวมสำนวนส่งศาลฎีกาโดยไม่ได้สั่งคำร้องขออนุญาตยื่นคำแก้ฎีกาและคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสอง ดังนั้นศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยสั่งคำร้องและคำแก้ฎีกาดังกล่าวไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เห็นว่า เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาของโจทก์ทั้งสองไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นแห่งเดียวกับที่ใช้ในคำให้การและฟ้องแย้ง และที่ใช้ในชั้นอุทธรณ์โดยวิธีปิดหมาย จึงเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากจำเลยทั้งสองย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ย่อมต้องแจ้งต่อศาลเพื่อให้ส่งหมายยังภูมิลำเนาแห่งใหม่ แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้แจ้ง แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีความประสงค์ให้ส่งหมายหรือเอกสารไปยังภูมิลำเนาตามคำให้การและฟ้องแย้ง ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไปอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ไม่ทราบเรื่องการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จึงไม่รับคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองแต่ให้รับเป็นคำแถลงการณ์

 พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ติดกัน ที่ดินพิพาทแนวเส้นสีแดงเนื้อที่ 16.6 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 27254 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จากนางสาวสัยรัตน์ ในสภาพมีรั้วล้อมรอบและถมดินสูงกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน โดยเข้าใจว่าเป็นของจำเลยทั้งสอง ด้วยการปลูกต้นมะพร้าวตามแนวรั้วที่รุกล้ำตามภาพถ่ายหมาย ล.3 และแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 โดยไม่เคยรังวัดตรวจสอบแนวที่ดินเพราะเป็นการซื้อทั้งแปลง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองดำเนินการรังวัดจึงทราบว่าแนวรั้วกับต้นมะพร้าวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 16.6 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองรู้ว่าแนวรั้วรุกล้ำที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสองก็จะไม่ซื้อ จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงถึงเจตนาอันแท้จริงของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งล้อมรั้วรวมเป็นแปลงเดียวกับที่ดินของจำเลยทั้งสองอย่างเป็นเจ้าของ เมื่อได้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แม้จำเลยทั้งสองจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสองเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น ดังนี้ จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยทั้งสองต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ และโจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

  

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-06 18:22:33


ความคิดเห็นที่ 4 (4550521)

 ครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ซื้อมา ไม่จดทะเบียน

ผู้ร้องซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องเข้าใจว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในฐานะผู้ซื้อแล้ว ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่หลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นมิใช่ทรัพย์ของตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7868/2553

ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า ผู้ร้องกับจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจาก ถ. แล้วตกลงครอบครองที่ดินส่วนของตนเอง ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเฉพาะส่วน 1 งาน ในฐานะที่ซื้อที่ดินร่วมกับจำเลย คำร้องดังกล่าวเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดยืนยันว่า ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วน 1 งาน เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินแทน แม้ผู้ร้องจะบรรยายคำร้องต่อมาว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นมิใช่ทรัพย์ของตนเอง ผู้ร้องจึงไม่อาจได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของตนเอง

ข้ออ้างของผู้ร้องว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ การซื้อที่ดินของผู้ร้องไม่บริบูรณ์ ผู้ร้องยังไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน ดังกล่าว

          คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,712,162.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 3,436,781.93 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,030,462.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 855,554.71 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 132 ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 33014 ตำบลงิ้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 33014 ตำบลงิ้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมตึกชั้นเดียว 1 หลังและอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 1 คูหา ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์   

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งกันส่วนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน ออกจากการบังคับคดีให้แก่ผู้ร้อง

          โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          ผู้ร้องอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          ผู้ร้องฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 33014 ตำบลงิ้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนเนื้อที่ 1 งาน มีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกว่า ผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาอ้างว่าผู้ร้องบรรยายคำร้องและนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นชื่อของบุคคลอื่น ผู้ร้องแสดงการโต้แย้งสิทธิของเจ้าของที่ดินตามเอกสารสิทธิ คำร้องของผู้ร้องประกอบทางนำสืบจึงเข้าองค์ประกอบการร้องครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว เห็นว่า ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าผู้ร้องกับจำเลย (ตามคำร้องไม่ระบุว่าเป็นจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 แต่ตามทางไต่สวนผู้ร้องระบุว่าเป็นจำเลยที่ 2) ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจากนางถาวร แล้วตกลงครอบครองที่ดินส่วนของตนเอง ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเฉพาะส่วน 1 งาน ในฐานะที่ซื้อที่ดินร่วมกับจำเลย คำร้องดังกล่าวเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดยืนยันว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วน 1 งาน เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินแทน แม้ผู้ร้องจะบรรยายคำร้องต่อมาว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่การครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นมิใช่ทรัพย์ของตนเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่อาจได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของตนเองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องข้อสุดท้ายมีว่า ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 รวบรวมซื้อที่ดินและแสดงออกถึงการครอบครองเป็นเจ้าของตามปรกติของชาวบ้านทั่วไปตามความเชื่อและตามสภาพของท้องถิ่นโดยมิได้คำนึงถึงเอกสารสิทธิ ผู้ร้องเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินเป็นของผู้ร้องและไม่น่ามีเหตุที่จะต้องมีการบังคับคดี ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาท เห็นว่า ข้ออ้างของผู้ร้องว่าผู้ร้องซื้อที่ดินแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ การซื้อที่ดินของผู้ร้องไม่บริบูรณ์ ผู้ร้องยังไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ


ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์เองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5478/2550

การสละมรดกนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2481 ข้อ 14, 15 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 กำหนดให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ เจ้าพนักงานที่ดินจึงมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612

ต. ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนทายาทของ ค. ทุกคนรวมทั้ง ส. มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ต. ในฐานะทายาทคนหนึ่งของ ค. คงมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินเฉพาะส่วนของ ต. ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 และมาตรา 1646 แต่ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของทายาทอื่นของ ส. ย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของ ต. ที่จะทำพินัยกรรมยกให้จำเลยทั้งสองได้ เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่แบ่งกรรมสิทธิ์รวม จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของ ส. ทายาท ค. รื้อบ้านทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทหรือเรียกค่าเสียหายได้

          ต. ลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนทายาทของ ค. ซึ่งรวมถึง ส. มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ เพราะการครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่น

           โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนางสัมฤทธิ์ นิ่งสมบูรณ์ นางสัมฤทธิ์ จำเลยทั้งสองและนางสาวตุ๊ กระแสร์โฉม เป็นบุตรของนางสาคร กระแสร์โฉม นางสาครมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ตำบลหัวไผ่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อนางสาครถึงแก่ความตาย บุตรของนางสาครที่มีชีวิตอยู่รวม 6 คน ได้ให้นางสาวตุ๊ ใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแทน นางสัมฤทธิ์ปลูกบ้านและอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 3 งาน ต่อมาปี 2528 นางสัมฤทธิ์ได้ยกที่ดินเนื้อที่ 3 งาน พร้อมบ้านให้โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินเนื้อที่ 3 งาน โดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเกินกว่าสิบปี ปัจจุบันนางสาวตุ๊ถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนตายนางสาวตุ๊ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวแก่จำเลยทั้งสองให้แบ่งแยกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองและใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนทางด้านทิศตะวันออกในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายคำฟ้องหมาย 2 เนื้อที่ 3 งาน ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 3 งาน ดังกล่าว

          จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าบุตรของนางสาครทุกคนได้สละสิทธิรับมรดกโดยให้นางสาวตุ๊รับมรดกที่ดินของนางสาครแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ทั้งสองไม่เคยครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนเนื้อที่ 3 งาน ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แต่ได้ขอนางสาวตุ๊อาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว ปี 2539 นางสาวตุ๊ถึงแก่ความตาย ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยทั้งสอง ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองและบริวารรื้อย้ายเรือนเลขที่ 125/1 และเรือนไม่มีเลขที่ หมู่ 6 ตำบลหัวไผ่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ของจำเลยทั้งสอง ตามแนวเส้นสีแดง แผนที่สังเขปท้ายคำให้การ ให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินจำเลยทั้งสอง

          โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนเนื้อที่ 3 งาน โดยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันนานกว่าสิบปีไม่เคยขออาศัยผู้ใดอยู่ในที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองรื้อบ้านเลขที่ 125/1 และบ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 6 ตำบลหัวไผ่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกจากที่ดินพิพาทตามเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ตำบลหัวไผ่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยาของจำเลยทั้งสอง พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 คำขออื่นของจำเลยทั้งสองให้ยก

          โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          โจทก์ทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ตำบลหัวไผ่ (บ้านศีศะไผ่) อำเภอมหาราช (นครใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เป็นของนางสาคร กระแสร์โฉม นางสาครมีบุตร 7 คน ถึงแก่ความตายก่อนนางสาคร 1 คน นางสาวตุ๊ กระแสร์โฉม เป็นบุตรคนโต จำเลยทั้งสองกับนางสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสองต่างเป็นบุตรของนางสาคร เมื่อนางสาครตายนางสาวตุ๊เป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 258 ต่อมานางสาวตุ๊ได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 258 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน ให้นางสาวสุกัญญา ศรีสกุล ซึ่งเป็นบุตรของที่ 2 นางสาวตุ๊ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อนางสาวตุ๊ตาย จำเลยทั้งสองรับโอนมรดกตามพินัยกรรม ที่ดินตามพินัยกรรมบางส่วนเป็นที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองครอบครองมีเนื้อที่ 2 งาน 48 7/10 ตารางวา ตามเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 แผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3 โดยมีที่ดินพิพาทมีบ้านเลขที่ 125/1 ของนางสัมฤทธิ์ปลูกไว้ตั้งแต่นางสาครยังมีชีวิต เมื่อนางสัมฤทธิ์ตายบ้านเลขที่ 125/1 ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 กับมีบ้านไม่มีเลขที่ของโจทก์ที่ 1 ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท

          ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่านางสัมฤทธิ์ นิ่งสมบูรณ์ ตกลงให้นางสาวตุ๊ กระแสร์โฉม ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้แทนตนดังที่โจทก์อ้างหรือนางสาวตุ๊ได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 258 แต่เพียงผู้เดียว เพราะทายาทอื่นสละสิทธิในการรับมรดกดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ปัญหานี้จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อนางสาครถึงแก่ความตาย นางสาวตุ๊จึงเข้ารับโอนมรดกตามคำสั่งของนางสาครและพี่น้องของนางสาวตุ๊ยินยอมสละมรดกไม่ขอรับมรดกในที่ดินแปลงดังกล่าวทุกคนรวมทั้งนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย การรับมรดกของนางสาวตุ๊ไม่ใช่เป็นการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนทายาทตามคำฟ้องโจทก์แต่ประการใด เห็นว่า การสละมรดกนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2481 ข้อ 14, 15 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 กำหนดให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ แต่ตามบันทึกถ้อยคำเอกสาร จ.5 และ จ.8 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ทายาทของนางสาครคือจำเลยทั้งสอง นางทองขาว คนึงเหตุ นายสำราญ กระแสร์โฉม นางสัมฤทธิ์หรือสำริด นายฉอ้อน กระแสร์โฉม ทำไว้นั้นได้ทำไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งมิใช่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 บันทึกถ้อยคำนั้นจึงมิใช่เอกสารสละมรดกตามที่จำเลยทั้งสองให้การ โจทก์ทั้งสองนำสืบถึงมูลเหตุแห่งการทำเอกสารหมาย จ.5 และ จ.8 โดยนำนายสำราญ กระแสร์โฉม บุตรของนางสาครมาเบิกความว่าตอนแรกทายาททุกคนต้องการลงชื่อในโฉนด แต่ชื่อของนางทองขาวไม่ตรงกับสำเนาทะเบียนบ้านไม่สามารถใส่ชื่อทุกคนได้ เจ้าพนักงานที่ดินแนะนำให้ลงชื่อคนใดคนหนึ่งไว้ก่อนก็ได้จะได้ไม่ต้องเสียเวลามากันอีก ทายาทจึงตกลงกันให้ลงชื่อนางสาวตุ๊ไว้ในโฉนดที่ดิน เนื่องจากนางสาวตุ๊ไม่มีบุตรไม่มีสามี เมื่อนางสาวตุ๊ตายแล้วพยานกับพวกซึ่งเป็นทายาทก็สามารถรับมรดกของนางสาวตุ๊ได้ พยานโจทก์ทั้งสองอีกปากหนึ่งคือนายฉอ้อน กระแสร์โฉม ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 แต่นายชุ่ม กระแสร์โฉม กับนางสาครจดทะเบียนแจ้งเกิดให้เป็นบุตรของนายชุ่มกับนางสาครเบิกความทำนองเดียวกับนายสำราญว่า เมื่อนางสาครตาย ทายาทของนางสาครทั้งหมด เว้นแต่บุตรคนที่ 2 ซึ่งหายออกจากบ้านไปเป็นสิบปีแล้วได้ไปที่สำนักงานที่ดินปรากฏว่าสำเนาทะเบียนบ้านของนางทองขาว มีชื่อคนอื่นเป็นบิดามารดาไม่ใช่นายชุ่มกับนางสาคร เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ จึงแนะนำให้โอนที่ดินเป็นชื่อของนางสาวตุ๊ไปก่อนเพราะนางสาวตุ๊ไม่มีสามีและบุตร ทายาทคนอื่นๆ ก็ยินยอมลงลายมือชื่อไว้ในเอกสาร ความจริงพี่น้องทุกคนมีความประสงค์จะแบ่งที่ดินของผู้ตายแปลงนี้เท่าๆ กัน นางสาวตุ๊เองก็บอกว่าจะแบ่งที่ดินให้เท่าๆ กันทุกคน นางทองขาว คนึงเหตุ บุตรนางสาครก็เบิกความเป็นพยานโจทก์รับว่าหลังจากนางสาครถึงแก่ความตายแล้ว บรรดาทายาทของนางสาครทุกคนได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อที่จะไปลงชื่อรับโอนที่ดินทุกคน แต่ปรากฏว่าชื่อบิดาในสำเนาทะเบียนบ้านของพยานไม่ถูกต้อง ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีตัวจำเลยทั้งสองอ้างตัวเองเบิกความเป็นพยานว่า ทายาททุกคนของนางสาครสละสิทธิการรับมรดกโดยตกลงยกให้นางสาวตุ๊คนเดียว เนื่องจากนางสาวตุ๊เป็นคนเลี้ยงดูนางสาครและยังเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าว เห็นว่า ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 มีการไถ่ถอนจำนองตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2509 ก่อนนางสาวตุ๊จดทะเบียนรับโอนที่ดินวันที่ 4 พฤศจิกายน 2525 นานมาก เมื่อนำข้อเท็จจริงที่ว่านางสัมฤทธิ์มีบ้านเลขที่ 125/1 ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทตามภาพถ่ายหมาย จ.2 เป็นการถาวรอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีตามแผนที่พิพาทวิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 จึงไม่น่าเชื่อว่านางสัมฤทธิ์จะตกลงไม่รับมรดกของนางสาครดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าบรรดาทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยให้นางสาวตุ๊ได้รับมรดกเพียงผู้เดียว แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าการที่ทายาทนางสาครทำเอกสารหมาย จ.5 และ จ.8 ซึ่ง ตรงกับเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ไม่ได้กระทำเพื่อตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปโดยสละมรดก แต่ทายาทนางสาครกระทำเพื่อให้นางสาวตุ๊ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 258 แทนทายาทของนางสาครทุกคนรวมทั้งนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า นางสาวตุ๊ได้รับมรดกในที่ดินโฉนดเลขที่ 258 แต่เพียงผู้เดียวเพราะทายาทอื่นสละสิทธิในการรับมรดก ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า นางสาวตุ๊มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า คดีฟังได้ว่านางสาวตุ๊ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 258 แทนทายาททุกคนรวมทั้งนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วยดังได้วินิจฉัยมาแล้ว นางสาวตุ๊ในฐานะทายาทคนหนึ่งของนางสาครคงมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 258 เฉพาะส่วนของนางตุ๊ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 และมาตรา 1646 แต่ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของทายาทอื่นของนางสาครย่อมไม่เป็นทรัพย์มรดกของนางสาวตุ๊ที่จะทำพินัยกรรมยกให้จำเลยทั้งสองได้ เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของนายสัมฤทธิ์ทายาทนางสาครรื้อบ้านเลขที่ 125/1 และบ้านไม่มีเลขที่ทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทหรือเรียกค่าเสียหายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนบ้าน ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง โดยนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทของนางสาครยกให้ เมื่อคดีฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 258 มีนางสาวตุ๊ลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทนทายาทของนางสาคร ซึ่งรวมถึงนางสัมฤทธิ์มารดาของโจทก์ทั้งสองด้วย ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 258 โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์เองได้ เพราะการครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น นอกจากจะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว จะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย หากเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย หากเป็นการครองครองทรัพย์สินของตนเองแล้ว ก็หามีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์ในการครองครองไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ชอบแล้ว”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลตามฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ.


 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-06 18:26:30


ความคิดเห็นที่ 5 (4550522)

 การแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ

การปลูกสร้างบ้านที่มีลักษณะมั่นคงถาวรโดยนายเลยบิดาผู้ร้องทั้งสองที่ย้ายจากบ้านหลังเดิมที่นางชดปลูกอยู่บริเวณกลางที่ดินมาในบริเวณที่ดินพิพาท ทั้งนายเลยไม่ได้บอกกล่าวหรือขอความเห็นชอบจากเจ้าของรวมก่อนแต่อย่างใด ย่อมเป็นเครื่องชี้ได้ว่านายเลยบิดาผู้ร้องทั้งสองและผู้ร้องทั้งสองมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ ดังนั้น การที่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2566

ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวมและครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ร้องทั้งสองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้านจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทตามกรอบสีดำหมายสีเขียว เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 25 5/10 ตารางวา ในโฉนดที่ดินเลขที่ 4824 จังหวัดราชบุรี ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องให้แก่ทายาทของนางพริ้ง ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์

วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) โดยขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องทั้งสอง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษากลับว่า ให้รับคำร้องขอของผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ไว้ดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องสอด (ที่ถูก ผู้คัดค้าน) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตามกรอบสีดำหมายสีเขียว เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 25 5/10 ตารางวา ในโฉนดที่ดินเลขที่ 4824 จังหวัดราชบุรี ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และยกคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

ผู้ร้องทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทบริเวณกรอบสีดำหมายสีเขียวเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 25 5/10 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4824 จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 3 ไร่ 12 ตารางวา มีบ้านอยู่บนที่ดินพิพาท บ้านหลังนี้นายเลย บิดาของผู้ร้องทั้งสองเป็นคนสร้าง ผู้ร้องทั้งสองพักอาศัยอยู่กับบิดาที่บ้านหลังดังกล่าวตั้งแต่เกิดและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 4824 มีชื่อนางพริ้งยายของนายเลย ซึ่งเป็นบิดาของผู้ร้องทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับอำแดงหล่ำหรือนางหล่ำ ต่อมานายเอี่ยม จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนางหล่ำ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2501 นายเอี่ยมจดทะเบียนโอนขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายทอน ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2511 นายทอนจดทะเบียนโอนขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายเติม บิดาผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ผู้คัดค้านจดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนของนายเติม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกรอบสีดำหมายสีเขียว เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 25 5/10 ตารางวา ในโฉนดที่ดินเลขที่ 4824 จังหวัดราชบุรี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ ผู้ร้องทั้งสองฎีกาในข้อสาระสำคัญว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ มิได้ครอบครองในฐานะสืบสิทธิของผู้เป็นเจ้าของรวม จึงไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าของรวม ดังนั้น เมื่อผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทเกินสิบปีแล้วผู้ร้องทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน เห็นว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่านางพริ้งยกที่ดินให้นางชดซึ่งเป็นบุตรต่อมานางชดยกที่ดินให้นายเลยบิดาผู้ร้องทั้งสอง นายเลยถึงแก่ความตายเมื่อปี 2532 ก่อนตายนายเลยยกที่ดินให้ผู้ร้องทั้งสองแล้วผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาจนปัจจุบัน เป็นเพียงการนำสืบถึงความเป็นมาในการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ต่อศาลเฉพาะเนื้อที่ที่ดินส่วนที่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวมประกอบผู้ร้องทั้งสองเบิกความยืนยันว่าผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ร้องทั้งสองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้าน นอกจากนี้การปลูกสร้างบ้านที่มีลักษณะมั่นคงถาวรโดยนายเลยบิดาผู้ร้องทั้งสองที่ย้ายจากบ้านหลังเดิมที่นางชดปลูกอยู่บริเวณกลางที่ดินมาในบริเวณที่ดินพิพาท ทั้งนายเลยไม่ได้บอกกล่าวหรือขอความเห็นชอบจากเจ้าของรวมก่อนแต่อย่างใด ย่อมเป็นเครื่องชี้ได้ว่านายเลยบิดาผู้ร้องทั้งสองและผู้ร้องทั้งสองมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ ดังนั้น การที่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-06 18:41:17


ความคิดเห็นที่ 6 (4550526)

 ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และให้ถือว่าที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายรชต์เขตต์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2566

แม้คดีนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จนกระทั่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้ผู้ร้องมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโดยไม่มีการออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ผู้ร้องอาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ทั้งยังทำให้ผู้คัดค้านสิ้นสิทธิในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทที่ยึดไว้เพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่ของ ร. ลูกหนี้ของผู้คัดค้านอีกต่อไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลและชอบที่จะยื่นคำร้องขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้คัดค้านอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของ ร. เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ตามประกาศกรมสรรพากร (ภ.ส. 18) เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร โดยปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ดินพิพาทและส่งสำเนาประกาศยึดที่ดินพิพาทให้ ร. โดยชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทครบ 10 ปี จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะสิทธิของผู้ร้องถูกกระทบโดยการยึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้นจึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก คำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้คัดค้านจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 21863 จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 1 งาน 22 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของนายรชต์เขตต์ตามเดิม

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำพิพากษา (ที่ถูก คำสั่ง) ให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า ประมาณปี 2550 นายรชต์เขตต์ได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีอากรจากผู้คัดค้านให้ชำระภาษีอากรจำนวน 267,880,741 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) วันที่ 11 มกราคม 2551 นายรชต์เขตต์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ วันที่ 19 มีนาคม 2551 ผู้คัดค้านโดยอธิบดีกรมสรรพากร ประกาศคำสั่งให้ยึดทรัพย์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 21863 เลขที่ดิน 122 จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีชื่อนายรชต์เขตต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระภาษีอากรค้างดังกล่าว และเจ้าพนักงานของผู้คัดค้านไปทำการยึดที่ดินพิพาทไว้วันที่ 4 เมษายน 2551 ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2553 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของนายรชต์เขตต์ นายรชต์เขตต์จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากรและเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลภาษีอากรกลางให้ยกฟ้องโจทก์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของนายรชต์เขตต์หรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทไว้เพื่อขายทอดตลาดก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องเป็นเพียงการร้องเพื่อขอให้รับรองสิทธิย่อมไม่มีการบังคับคดีแก่ผู้ใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินและเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินจึงไม่ทำให้การบังคับคดีเสร็จสิ้นลง ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิเสมือนเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยึดที่ดินพิพาทไว้เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระค่าภาษีอากรค้างของนายรชต์เขตต์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 นายรชต์เขตต์เจ้าของเดิมสมรู้ร่วมคิดกับผู้ร้องหลบเลี่ยงการถูกบังคับคดีที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งยึดที่ดินพิพาทไว้จึงต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ทวิ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์โดยไม่สุจริตและครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ครบ 10 ปี นายแดงบิดาผู้ร้องไม่ได้ซื้อที่ดินพิพาทคืนมาจากนายรชต์เขตต์ ผู้ร้องไม่มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาเบิกความสนับสนุน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของนายรชต์เขตต์ตามเดิมนั้น เห็นว่า แม้คดีนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จนกระทั่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้ผู้ร้องมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโดยไม่มีการออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ผู้ร้องอาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวไปใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ทั้งยังทำให้ผู้คัดค้านสิ้นสิทธิในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทที่ยึดไว้นั้นได้ เพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่ของนายรชต์เขตต์ลูกหนี้ของผู้คัดค้านอีกต่อไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลและชอบที่จะยื่นคำร้องขอสอดเข้ามาในคดีได้ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ฎีกาของผู้คัดค้านในส่วนนี้ฟังขึ้น ส่วนประเด็นที่ผู้คัดค้านฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของนายรชต์เขตต์ตามเดิม โดยอ้างว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ความจริงแล้วผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ครบ 10 ปีนั้น เห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้คัดค้านอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของนายรชต์เขตต์เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ตามประกาศกรมสรรพากร (ภ.ส. 18 )เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร ฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2551 โดยผู้คัดค้านปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ดินพิพาทและส่งสำเนาประกาศยึดที่ดินพิพาทให้นายรชต์เขตต์โดยชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างในวันที่ 4 เมษายน 2551 ก่อนที่ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทครบ 10 ปี กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะสิทธิของผู้ร้องถูกกระทบโดยการยึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้นจึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก คำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้คัดค้านจึงสามารถพิสูจนได้ว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายรชต์เขตต์ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 21863 จังหวัดพิษณุโลก ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และให้ถือว่าที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายรชต์เขตต์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ


 

ผู้แสดงความคิดเห็น Admin วันที่ตอบ 2024-01-06 18:57:00



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล