

กระทำชำเราผู้เยาว์ในบ้านไม่ถือว่าแยกเด็กจากอำนาจปกครองดูแล
กระทำชำเราผู้เยาว์ในบ้านไม่ถือว่าแยกเด็กจากอำนาจปกครองดูแล โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหากระทำชำเรา พรากผู้เยาว์ บุกรุกเคหสถาน ศาลชั้นต้นพิพากษาข้อหากระทำชำเราจำคุก 7 ปี พรากผู้เยาว์จำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า “พราก” ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงหมายความว่าพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก คดีนี้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุ 12 ปี ภายในบ้านพักที่ผู้เสียหายที่ผู้เยาว์พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้เยาว์ แม้จะได้ความว่าหลังจากที่จำเลยกระทำชำเราผู้เยาว์ และออกจากบ้านของผู้เยาว์แล้ว จำเลยเรียกให้ผู้เยาว์ออกจากบ้านเพื่อให้เงินและมีการโอบกอดผู้เยาว์นั้น แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกันในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุนั้นเอง จำเลยมิได้พาผู้เยาว์ไปที่อื่นอันเป็นการพาไปหรือแยกออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของมารดาของผู้เยาว์ที่ทำให้อำนาจปกครองดูแลของมารดา ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2565 จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ภายในบ้านพักที่ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 แม้หลังจากจำเลยกระทำชำเราและออกจากบ้านพักดังกล่าวแล้ว จำเลยเรียกให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านเพื่อให้เงินและมีการโอบกอดผู้เสียหายที่ 2 แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกันในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุนั้นเอง จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่นอันเป็นการพาไปหรือแยกออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ที่ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ยังไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317, 364, 365 จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานาง อ. ผู้เสียหายที่ 1 และเด็กหญิง ร. ผู้เสียหายที่ 2 โดยนาง อ. ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และค่าเสียหายเพราะทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมเป็นเงิน 300,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 รวมเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง, 317 วรรคสาม, 365 (1) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และฐานบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 7 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 12 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 7 ปี 12 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสองเป็นเงินคนละ 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันกระทำละเมิด (วันที่ 18 ตุลาคม 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เด็กหญิง ร. ผู้เสียหายที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2550 ขณะเกิดเหตุอายุ 12 ปี 9 เดือนเศษ เป็นบุตรของนาย ธ. กับนาง อ. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ภายหลังผู้เสียหายที่ 1 กับนาย ธ. เลิกรากัน ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านไม่ทราบเลขที่ ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวทำด้วยปูนมีสภาพเก่า แพทย์หญิงสุริสาเป็นผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายที่ 2 ผลการตรวจร่างกายภายนอก ไม่พบร่องรอยการทำร้ายร่างกาย ผลการตรวจร่างกายภายใน พบรอยฉีกขาดใหม่บริเวณเยื่อพรหมจารีที่ 4 นาฬิกา และ 8 นาฬิกา ไม่พบอสุจิ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีอายุเพียง 12 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 2 ไม่เคยรู้จักจำเลยหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนเบิกความเป็นลำดับตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุเห็นจำเลยนั่งดื่มสุราอยู่ในกลุ่มเดียวกับบิดาของผู้เสียหายที่ 2 ใกล้ที่พักของผู้เสียหายที่ 2 จนกระทั่งถูกจำเลยล่วงละเมิดทางเพศโดยมีสาระสำคัญสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนที่ให้การไว้ต่อหน้าพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ ทั้งยังมีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความสนับสนุน ซึ่งการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องน่าอับอายเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล หากไม่มีเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายที่ 2 คงไม่แต่งเรื่องราวขึ้นเพื่อใส่ร้ายปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ แม้หลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ไปพบเพื่อนแต่ไม่ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เพื่อนฟังทันทีก็ไม่ใช่ข้อพิรุธเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าอับอาย แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 พบผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา ผู้เสียหายที่ 2 ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้เสียหายที่ 1 ทราบในทันทีและมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจในวันเดียวกัน ส่วนที่แพทย์หญิงสุริสาตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ไม่พบตัวอสุจิ แต่พบรอยฉีกขาดใหม่บริเวณเยื่อพรหมจารีที่ 4 นาฬิกา และ 8 นาฬิกา ซึ่งการพบรอยฉีกขาดใหม่แสดงให้เห็นว่าบาดแผลดังกล่าวยังไม่ได้มีการสมานของเนื้อเยื่อ น่าเชื่อว่าเป็นบาดแผลที่เกิดมาไม่เกิน 1 วัน และแพทย์หญิงสุริสายังตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เยื่อพรหมจารีของผู้เสียหายที่ 2 มีการฉีกขาดในลักษณะเป็นเส้นตรงที่บริเวณ 4 นาฬิกา และ 8 นาฬิกา ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในคดีข่มขืนกระทำชำเราแม้ไม่ได้ความว่าแพทย์หญิงสุริสาทำการตรวจด้วยวิธีการใดหรือใช้เครื่องมือใดในการตรวจภายในผู้เสียหายที่ 2 ก็มิได้ทำให้ผลการตรวจชันสูตรร่างกายของผู้เสียหายที่ 2 เป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือตามที่จำเลยฎีกา น่าเชื่อว่าแพทย์หญิงสุริสาทำการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ตามวิธีทางการแพทย์อย่างถูกต้องและให้ความเห็นตามหลักวิชาโดยไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ จึงนำมารับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ส่วนการตรวจไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายนั้น ได้ความจากแพทย์หญิงสุริสาตอบทนายจำเลยถามค้านอีกว่า การถูกมัดหรือรัดด้วยเชือกหากไม่ได้มัดไว้โดยแรงจนทำให้เส้นเลือดฝอยแตกก็อาจไม่พบรอยบวมช้ำ อาจจะเป็นแค่รอยแดง รอยแดงดังกล่าวไม่เกิน 1 วัน ก็สามารถจางหายได้ ฉะนั้น การที่ไม่พบร่องรอยช้ำตามร่างกายของผู้เสียหายที่ 2 จึงไม่ได้ขัดแย้งกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ส่วนที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธใด ๆ ขู่บังคับผู้เสียหายที่ 2 ให้เกิดความกลัวนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นชายฉกรรจ์อายุ 29 ปี รูปร่างสูงกว่า 175 เซนติเมตร อยู่ในอาการมึนเมาสุราย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปีเศษ ไม่ได้มีร่างกายใหญ่โตผิดปกติกว่าเด็กผู้หญิงทั่วไปที่จะสู้แรงชายฉกรรจ์ได้และเกิดความกลัวที่ถูกทำร้ายจึงไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือ การที่ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ร้องขอให้เพื่อนหรือชาวบ้านใกล้เคียงช่วยเหลือจึงไม่เป็นข้อพิรุธ อีกทั้งภายหลังเกิดเหตุมีการตรวจพบกางเกงชั้นในแบบชายระบุว่าสีฟ้าหรือสีน้ำเงินวางอยู่บนพื้นปลายที่นอนในห้องนอนที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยให้การในชั้นสอบสวนรับว่าวันเกิดเหตุจำเลยสวมกางเกงชั้นในสีน้ำเงิน แม้รายงานการตรวจเก็บวัตถุพยานเอกสาร ระบุวัตถุพยานที่ตรวจเก็บจากบ้านเกิดเหตุตามข้อ 7.1.5 เป็นกางเกงชั้นใน สีน้ำเงิน ยี่ห้อรอซโซ่ (ของผู้ชาย) แต่ตามบันทึกข้อความเอกสาร ระบุกางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย ยี่ห้อ ROSSO และมีลายมือเขียนตกเติมว่า สีเทา นั้น ได้ความจากพันตำรวจโทพิรุนพัฒน์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์วัตถุของกลางดังกล่าวตอบโจทก์ถามติงว่า วัตถุพยานที่ทำการตรวจรับต้องเก็บไว้ในซองปิดผนึก หากมีร่องรอยการเปิดปิดไม่เรียบร้อยจะส่งคืนไม่ทำการตรวจให้ กางเกงชั้นในผู้ชายสีกรมท่าคือตัวเดียวกับที่บรรจุในซองหีบห่อที่ส่งตรวจดีเอ็นเอ แม้พันตำรวจโทพิรุนพัฒน์มิได้ตรวจเก็บวัตถุพยานดังกล่าวด้วยตนเองแต่การตรวจเก็บทำโดยพนักงานสอบสวนร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจของศูนย์นิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนและไม่มีส่วนได้เสียในคดี น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาโดยจัดเก็บวัตถุพยานที่พบใส่ซองปิดผนึกเรียบร้อยก่อนนำส่งตรวจพิสูจน์ต่อไป เมื่อผลการตรวจพิสูจน์เสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีดำขอบสีแดง เสื้อชั้นในสตรีสีขาว กางเกงชั้นในผู้ชายสีกรมท่า และธนบัตรฉบับละ 100 บาท ของกลาง พบสารพันธุกรรม (DNA) ลักษณะปนเปื้อนของบุคคลมากกว่าหนึ่งคนติดอยู่ แต่เป็นสารพันธุกรรม (DNA) ที่เข้ากันได้กับสารพันธุกรรม (DNA) ของจำเลย จึงน่าเชื่อว่ากางเกงชั้นในสำหรับผู้ชายเป็นตัวเดียวกับกางเกงชั้นในผู้ชายสีกรมท่าที่ส่งและมีการตรวจพิสูจน์ เพียงแต่เขียนตกเติมระบุสีผิดไปเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยนำสืบเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์โดยรับว่าเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุจริง แต่อ้างลอย ๆ ว่าเป็นเพราะตนเมาสุรา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยเข้าไปในห้องนอนที่เกิดเหตุภายในบ้านที่พักอาศัยของผู้เสียหายทั้งสองแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็ก แต่สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารนั้น เห็นว่า “พราก” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายความว่า ทำให้จากไป พาไปเสียจาก ทำให้แยกออกจากกัน หรือแยกออกไป ดังนั้น คำว่า “พราก” ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงหมายความว่าพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ภายในบ้านพักที่ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 แม้จะได้ความว่าหลังจากที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 และออกจากบ้านพักดังกล่าวแล้ว จำเลยเรียกให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านเพื่อให้เงินและมีการโอบกอดผู้เสียหายที่ 2 ดังที่ผู้เสียหายที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกันในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุนั้นเอง จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่นอันเป็นการพาไปหรือแยกออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ที่ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทนเป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสาม และยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 สำหรับดอกเบี้ยในต้นเงินค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชำระอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันกระทำละเมิด (วันที่ 18 ตุลาคม 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หลังจากนั้นให้ชำระอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยหากมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ |