

หมิ่นประมาทกับดูหมิ่นซึ่งหน้า-ความผิดอาญามีโทษหนักเบาแตกต่างกัน หมิ่นประมาทกับดูหมิ่นซึ่งหน้าเป็นความผิดอาญาทั้งสองกรณีแต่มีโทษหนักเบาแตกต่างกัน หมิ่นประมาทคืออะไร? การละเมิดกับการหมิ่นประมาท? การทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กฎหมายถือว่าเป็นการละเมิด ในทางแพ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด และถ้าหากการทำละเมิดนั้นเข้าองค์ประกอบของความผิดทางอาญาด้วย ผู้ทำละเมิดยังจะต้องรับผิดและรับโทษในทางอาญาอีกด้วย การหมิ่นประมาท ผู้กระทำจะต้องชดใช้ค่าเสียหายใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้มิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง ส่วนจะเป็นความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญ ถ้าทำโดยเจตนาย่อมเป็นความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทด้วย การดูหมิ่นซึ่งหน้า หมิ่นประมาท ส่วนการดูหมิ่น ความแตกต่างระหว่างดูหมิ่นกับหมิ่นประมาท ดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นการดูหมิ่นผู้ที่ถูกดูหมิ่น และกระทำต่อหน้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย หากมีการดูหมิ่นซึ่งหน้าแล้วถือเป็นความผิดสำเร็จทันที แต่หมิ่นประมาทนั้นจะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ถ้าไม่มีบุคคลที่สามมารับรู้การกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทนั้นก็ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบความผิด ผู้กระทำจะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นซึ่งหน้า คำด่าที่เป็นคำหยาบที่เป็นการเหยียดหยาม คำหยาบคายไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท เนื่องจากไม่เป็นการลดคุณค่าทางสังคมของผู้ถูกหมิ่นประมาทลงมา เช่น คำหยาบ" ไอ้เหี้ย ... ไอ้สัตว์ " เป็นต้น ไม่ว่าจะหยาบอย่างไร ก็เป็นเพียงคำหยาบคายเท่านั้น แต่คำสุภาพบางคำเป็นหมิ่นประมาท เช่น พูดกับคนอื่นว่าเจ้าพนักงานคนนี้รับเงินใต้โต๊ะจึงจะทำงานให้ จะเห็นว่าไม่มีคำหยาบคายเลย แต่ทำให้เจ้าพนักงานคนนั้นถูกมองว่าเป็นคนทุจริต เช่นนี้เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นแม้กระทำต่อผู้ตาย แต่ก็ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทต่อบิดา มารดา บุตร หรือภรรยาของผู้ตายด้วย ในส่วนนี้ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าไม่อาจมีได้ เนื่องจากผู้ตายได้ตายไปแล้ว การไปด่าผู้ตายโดยที่ไม่มีบุคคลที่สามอยู่ด้วยนั้นไม่เป็นความผิดฐานนี้ กฎหมายอาญามาตรา 327 กำหนดว่าผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีโทษบทหนัก คือ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทำให้ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นกระจายสู่บุคคลที่สามในลักษณะเป็นวงกว้าง ความผิดจะหนักขึ้น แต่ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าไม่มีบทหนัก กฎหมายอาญามาตรา 328 กำหนดว่าถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าโดยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท แต่ในเรื่องหมิ่นประมาท กฎหมายอาญามาตรา 330 กำหนดว่า ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่ว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ดังนั้น ถ้าผู้กระทำผิดพิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวที่กล่าวมาแล้วเป็นความจริง ผู้นั้นมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ แต่ก็มีข้อห้ามอีกว่าห้ามพิสูจน์หากข้อความที่ถูกหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่นนี้ไม่ต้องพิสูจน์ถึงแม้จะเป็นเรื่องจริงก็ตาม เพราะถึงมีการพิสูจน์ออกมาว่าเป็นเรื่องจริงก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทอยู่ดี ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีทั้งเหตุยกเว้นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต 1. เพื่อความชอบธรรมป้องกันตนเองหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือ 2.ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ หรือ 3.ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ 4.ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งถ้าเป็น 4 กรณีนี้จะไม่ถือเป็นความผิดเลย ทุกวันนี้นักข่าวที่เสนอข่าวด้วยความคิดเห็นสุจริตด้วยความเป็นธรรมก็ใช้เงื่อนไขนี้ป้องกันตัวเอง แต่ไม่ใช่จะเสนอข่าวได้ทุกอย่างโดยมีมาตรานี้ป้องกัน ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป แต่การดูหมิ่นซึ่งหน้า ไม่มีเหตุยกเว้นความผิด เพราะฉะนั้นไม่ต้องพิสูจน์ว่าข้อความนั้นจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าเป็นดูหมิ่นซึ่งหน้าแล้วถือว่าเป็นความผิดเลยไม่ต้องมาพิสูจน์กันอีก 5. การดูหมิ่นซึ่งหน้าเป็นความผิดลหุโทษซึ่งมีโทษเบากว่าคือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการหมิ่นประมาทโทษจะมากกว่า แต่การพยายามกระทำความผิดลหุโทษไม่เป็นความผิด อย่างไรก็ตาม ความผิดในเรื่องของการหมิ่นประมาทนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ ทางที่ดีเวลาจะพูดจากับใคร หรือจะขีดเขียนข้อความอะไรลงไป อย่ามัวแต่คิดจะเอามันเข้าว่าเพื่อเพิ่มยอดขาย ควรจะตระหนักและคำนึงถึงความเสียหายของบุคคลอื่นด้วยนะครับ อย่าถือว่ากฎหมายเปิดช่องให้ยอมความกันได้แล้วจะรอดตัว เพราะถ้าผู้เสียหายเขาไม่ยอมความขึ้นมา โอกาสติดคุกก็ยังมีนะครับ การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม การดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึงการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอายผู้อื่นต่อหน้า การศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้เข้าใจแนวทางการพิจารณาคดีและการต่อสู้คดีได้ดีขึ้น ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องมีดังนี้: 1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551: จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า "ไอ้ทนายเฮงซวย" ซึ่งศาลพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า 2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552: จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า "อีตอแหล" ซึ่งศาลพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า 3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557: จำเลยโทรศัพท์ไปด่าผู้เสียหายที่อยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ ศาลพิจารณาว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า 4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7572/2542: จำเลยกล่าวต่อโจทก์ร่วมว่า "ไอ้หน้าโง่" ซึ่งศาลพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า 5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2538: จำเลยกล่าวต่อโจทก์ว่า "ไอ้ระยำ ไอ้เบื๊อก ไอ้ตัวแสบ" ซึ่งศาลพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า 6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2537: จำเลยว่าผู้เสียหายว่าเป็น "ผู้หญิงต่ำ ๆ" ซึ่งศาลพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2527: จำเลยว่าผู้เสียหายว่า "พระหน้าผี พระหน้าเปรต" ซึ่งศาลพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2542 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 136, 326, 90และ 91 คำฟ้องที่โจทก์บรรยายไว้มีข้อความครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 (5)แห่ง ป.วิ.อ. แล้ว ทั้งฟ้องโจทก์ได้ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พร้อมทั้งถ้อยคำเบิกความอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทและดูหมิ่นไว้เพียงพอ ที่จะทำให้จำเลยที่ 2เข้าใจข้อหาทั้งสองได้ดี โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องแยกว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทและส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ 1 ในคดีที่จำเลยที่ 1ฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาว่า ในขณะที่โจทก์ทำหน้าที่สืบสวนหามูลคดีในเรื่องที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ถูก ด. กับพวก ร้องเรียนกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันข่มขู่ให้จำเลยให้การปรักปรำ ด. โดยโจทก์ได้เรียกร้องเงินจำนวน 30,000 บาท จากจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนในการปั้นพยานอันเป็นการสร้างพยานหลักฐานที่ไม่เป็นความจริงให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ความจริงโจทก์ไม่เคยเรียกร้องเงินจำนวน 30,000 บาทจากจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 2 เบิกความ การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกสอบสวนเอาความผิดทางวินัยในเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ เพราะกรณีเช่นนี้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 อาจจะรอผลการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ก็ได้ ดังนั้น ถ้อยคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 ไม่ |