ล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครอง ล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครอง ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 (เด็กหญิง) อยู่บ้าน จำเลยโทรศัพท์ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปหาที่บ้านจำเลย แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปที่ห้องนอนของจำเลย และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10284/2555 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา โจทก์ คำว่า “พราก” ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้ การพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเด็กเพียงอย่างเดียวก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อยู่บ้าน จำเลยโทรศัพท์ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปหาที่บ้านจำเลย แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปที่ห้องนอนของจำเลย และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ดังนี้ อำนาจปกครองผู้เสียหายที่ 1 จึงยังคงอยู่ที่ผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลยแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ย่อมทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 1 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาทั้งสิ้น -พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2563 จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 14 ปีเศษ ให้เข้าไปเอาขนมในบ้าน จึงเป็นการกระทำโดยใช้ขนมมาล่อผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้าน ถือเป็นกลอุบายส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้เสียหายมากระทำชำเรา และเมื่อผู้เสียหายเข้าไปแล้วจำเลยก็ได้ปิดประตู จึงนับได้ว่าเป็นการพาไปโดยแยกอำนาจปกครองจากบิดามารดา และการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ป่าละเมาะข้างทุ่งนา และพาผู้เสียหายจากบริเวณแท็งก์น้ำเข้าไปกระทำอนาจารในซอกแท็งก์น้ำ ล้วนเป็นการพาผู้เสียหายจากที่เปิดเผยเข้าไปในจุดลับตาผู้คน จึงเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาทั้งสิ้น เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 317, 371 จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานาย ป. ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อชื่อเสียงและค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การในส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 279 วรรคหนึ่ง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี รวมจำคุก 12 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 1 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 28 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีกระทงเดียว จำคุก 6 ปี ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง ว. ผู้เสียหายที่ 2 เป็นบุตรของนาย ป. ผู้ร้อง กับนาง ร. ขณะเกิดเหตุอายุ 14 ปีเศษ อยู่ในความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยพักอาศัยอยู่กับนาง ส. ผู้ที่ผู้เสียหายที่ 1 ฝากให้ดูแลแทน และเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียน ว. ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ กรณีเหตุเกิดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่บ้านจำเลยนั้น แม้จะได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ว่า จำเลยกระทำเพียงเรียกผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในบ้าน แต่ก็เป็นการเรียกให้เข้าไปเอาขนมในบ้าน จึงเป็นการกระทำโดยใช้ขนมมาล่อผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กให้เข้าไปในบ้าน ถือเป็นกลอุบายส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้เสียหายที่ 2 มากระทำชำเรา และเมื่อผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปแล้ว จำเลยก็ได้ปิดประตูบ้าน กรณีจึงนับได้ว่าเป็นการพาไปโดยแยกอำนาจปกครองจากผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ส่วนกรณีเหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ทุ่งนา และเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 บริเวณแท็งก์น้ำข้างศูนย์ตัดเย็บหมู่บ้านนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปกระทำชำเราที่ป่าละเมาะข้างทุ่งนาก็ดี และการที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 จากบริเวณแท็งก์น้ำเข้าไปกระทำอนาจารในซอกแท็งก์น้ำก็ดี ล้วนแต่เป็นการพาผู้เสียหายที่ 2 จากที่เปิดเผยเข้าไปในจุดลับตาผู้คน กรณีจึงเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสามเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเรา กระทำอนาจารและพรากผู้เยาว์ทุกกระทงความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นจำนวนเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นทุกข้อ ส่วนฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 และมาตรา 279 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทุกกระทงความผิด กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ การกระทำผิดแต่ละครั้งเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6910/2562 จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 บิดาและ ศ. มารดาในฐานะผู้ดูแลและผู้มีอำนาจปกครอง จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเรา 5 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน แม้จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 รายเดียวกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลามิได้กระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91 |