สำนักงานพีศิริ ทนายความ ตั้งอยู่เลขที่ 34/159 หมู่ 8 ซอยบางมดแลนด์ แยก 13 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 ติดต่อทนายความ 085-9604258 สำหรับแผนที่การเดินทาง กรุณาคลิ๊กที่ "ที่ตั้งสำนักงาน" ด้านบนสุด ทนายความ ทนาย สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ ปรึกษากฎหมายกับทนายความลีนนท์ โทรเลย ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาทนายความ

การเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความ นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3) peesirilaw หรือ (4) @peesirilaw (5) @leenont1 -Line Official Account : เพิ่มเพื่อนด้วย QR CODE
จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพารา แต่จำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยเข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียวเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557
พนักงานอัยการจังหวัดชุมพร โจทก์
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
ป.อ. มาตรา 64, 334, 335(1), 335(12), 335 วรรคสอง
แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการลักทรัพย์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นการแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษฐานผู้ใช้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง คงลงโทษได้ในฐานผู้สนับสนุน
การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,860 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (12) วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 86 ให้จำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายและจำเลยต่างเคยมีคู่สมรสและมีบุตรมาก่อน ต่อมาได้อยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2516 แล้วจดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 และมีบุตรด้วยกัน ปี 2539 จำเลยไปมีภริยาใหม่ ปี 2546 จำเลยฟ้องหย่าผู้เสียหายแล้วถอนฟ้อง ปี 2548 ผู้เสียหายฟ้องหย่าจำเลยและศาลมีคำพิพากษาในปี 2549 ให้หย่าขาดจากกันและคดีถึงที่สุด ที่ดินโฉนดเลขที่ 3558 เดิมจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้เสียหาย ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะซึ่งปลูกยางพาราประมาณ 1,000 ต้น ซึ่งผู้เสียหายอ้างว่าตนกับบุตรสาวที่เกิดจากสามีเดิมเป็นผู้ปลูกและบำรุงรักษาโดยจำเลยไม่เกี่ยวข้องเพราะรับราชการอยู่ที่อื่น ส่วนจำเลยอ้างว่าตนเป็นผู้จับจองทำประโยชน์โดยปลูกต้นไม้รวมต้นยางพาราบางส่วนเมื่อประมาณปี 2516 หรือปี 2517 ภายหลังเกิดพายุเกย์ได้รับความเสียหายจึงได้ซื้อต้นยางพารามาปลูกทดแทนประมาณ 1,000 ต้น และกรีดน้ำยางได้เมื่อปี 2539 โดยจำเลยและผู้เสียหายช่วยกันดูแลรักษาและนำรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องภายหลังการหย่า จำเลยได้ว่าจ้างนายสมปองและนายอนันต์หรืออุเทไปกรีดน้ำยางพาราในที่ดินเกิดเหตุ บุคคลทั้งสองได้กรีดน้ำยางรองใส่ถ้วยยางแต่ยังไม่ได้เก็บน้ำยางไปรวมประมาณ 300 ต้น เป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองและจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายและจำเลยเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ และยอมรับว่าก่อนเกิดเหตุยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว ที่จำเลยจ้างนายสมปองเข้าไปกรีดน้ำยางพาราก็ทำโดยเปิดเผยเพราะเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้ เห็นว่า การเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 ดังนั้น แม้ฟังได้ตามข้ออ้างของจำเลยว่า จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในน้ำยางพารา แต่จำเลยก็จะเอาน้ำยางพาราที่นายสมปองกรีดจากต้นยางพาราไปเพียงผู้เดียว โดยขณะนั้นผู้เสียหายเป็นผู้เดียวที่ครอบครองและได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เสียหายจะครอบครองสวนยางพาราที่เกิดเหตุแทนจำเลยด้วยเพราะมีเหตุพิพาทและหย่าขาดจากกันแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองย่อมเป็นการทุจริตแล้ว จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไปเป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการลักทรัพย์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งเป็นการแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ศาลไม่อาจลงโทษฐานผู้ใช้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง คงลงโทษได้ในฐานผู้สนับสนุนตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยให้เหตุผลไว้ชอบแล้ว ไม่ต้องวินิจฉัยซ้ำอีก
การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและนายสมปองก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยจำคุก 4 เดือน 40 วัน และปรับ 1,600 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 เดือน 30 วัน และปรับ 1,200 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
( ถมรัตน์ เลิศไพรวัน - ธีระพงศ์ จิระภาค - ประมวญ รักศิลธรรม )
ศาลจังหวัดชุมพร - นายสุนทร จันทร์ฉิ้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายธัชพงศ์ วิสุทธิสังวร
|
เกี่ยวกับคดีอาญา