

รอการลงโทษ,ให้การรับสารภาพ
ให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษให้จำเลย จำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนึกในความผิดแห่งตนและไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยมีเอกสารประกอบท้ายฎีกาว่า จำเลยเคยได้กระทำคุณงามความดีโดยเข้าร่วมทำงานเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เมื่อคำนึงถึงโทษจำคุกที่จำเลยได้รับเพียง 2 เดือน ซึ่งมีระยะเวลาอันสั้นแล้ว การให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกไปเสียเลยนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษให้จำเลย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2550 จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในความครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเมื่อถูกดำเนินคดีก็ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนึกในความผิดแห่งตน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยเคยทำคุณงามความดี ทั้งเมื่อคำนึงถึงผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกซึ่งได้แยกดำเนินคดีต่างหากร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายผู้มีหน้าที่รับแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ปี 2547 ว่าจำเลยมีพื้นที่ปลูกลำไยให้ผลผลิตแล้วจำนวน 14 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 944 กิโลกรัมต่อไร่ รวมผลผลิตทั้งสิ้น 13,216 กิโลกรัม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,137,267 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือนลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในประการแรกว่าจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในทำนองว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำความผิด และการกระทำของจำเลยมิได้ทำให้นางจรัสศรีและรัฐได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลฎีการับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อที่จำเลยยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่รับว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ชอบแล้วและเมื่อจำเลยยกปัญหาข้อเท็จจริงนี้ขึ้นโต้แย้งในชั้นฎีกาอีก จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในความครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเมื่อถูกดำเนินคดีจำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนึกในความผิดแห่งตนและไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยมีเอกสารประกอบท้ายฎีกาว่า จำเลยเคยได้กระทำคุณงามความดีโดยเข้าร่วมทำงานเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยรับการฝึกอบรมไทยอาสาป้องกันชาติของจังหวัดลำพูน เป็นทหารกองประจำการเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรโครงการกองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ ฝึกอบรมหลักสูตรแจ้งข่าวอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งหัวช้าง หลักสูตรการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กระทรวงมหาดไทย หลักสูตรราษฎรอาสาสมัครตำรวจชุมชนรุ่นที่ 1 ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน และเป็นผู้ประสานพลังแผ่นดินของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ เมื่อคำนึงถึงโทษจำคุกที่จำเลยได้รับเพียง 2 เดือน ซึ่งมีระยะเวลาอันสั้นแล้ว การให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกไปเสียเลยนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษให้จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยรู้สึกหลาบจำจึงเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หมายเหตุ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร จำเลยให้การรับสารภาพจึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นั้น จะเห็นได้ว่า ข้อความดังกล่าวแสดงว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงเป็นฎีกาที่ขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นควรที่ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยให้ คดีนี้ต้องห้ามฎีกา แต่ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ให้อำนาจผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา มีข้อน่าสังเกตว่าการที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดหรือไม่ จะเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้เป็นจำคุก 2 เดือน ถือเป็นโทษเล็กน้อย การรอการลงโทษหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาวินิจฉัย แต่อย่างใด ซึ่งคดีประเภทนี้ในต่างประเทศไม่สามารถที่จะขึ้นสู่ศาลสูงสุดได้ เหตุที่รับรองฎีกาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คดีขึ้นสู่ศาลฎีกามากจนกระทั่งล้นศาลอยู่ทุกวันนี้ การกระทำความผิดในคดีนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีทุจริตลำไย ซึ่งเกิดจากการกระทำของพ่อค้า นายทุน และนักการเมือง โดยมีประชาชนร่วมกระทำความผิดด้วยนับเป็นจำนวนหลายพันคดี แต่ได้มีการจับกุมเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดในเบื้องต้น ส่วนผู้ที่อยู่เบื้องหลังไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด คงมีข้อพิจารณาว่าสมควรลงโทษจำคุกผู้ที่กระทำความผิดในเบื้องต้นนี้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าไม่สมควรลงโทษจำคุกเสียทีเดียว แต่ให้รอการลงโทษและคุมความประพฤติไว้เท่านั้น โดยศาลฎีกาวินิจฉัยคดีดังกล่าวเหมืออย่างคดีทั่วๆ ไป มิได้พิจารณาในภาพรวมในเรื่องการทุจริตลำไยว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ปัจจุบันประเทศไทยมีการทุจริตมากขึ้นจนติดอันดับว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่ทุจริตมาก ศาลยุติธรรมก็เป็นหน่วยงานหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนในการแก้ไขและปราบปรามการทุจริตได้ การที่มีการทุจริตกันเป็นจำนวนหลายพันคดี แต่ศาลกลับเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย รอการลงโทษให้ ทำให้คนกระทำความผิดไม่เกรงกลัว หากพ่อค้า นายทุน หรือนักการเมืองใช้ให้ประชาชนกระทำความผิดแล้วประชาชนผู้กระทำความผิดต้องติดคุกก็จะไม่มีบุคคลใดกล้าที่จะร่วมมือกระทำความผิดต่อบุคคลดังกล่าวอีก การที่มีบุคคลร่วมกระทำความผิดด้วยและได้รับการรอการลงโทษก็ยิ่งจะเป็นตัวอย่างให้มีการกระทำความผิดในรายอื่นอีกต่อไป โดยนำ เกณฑ์ในคดีนี้มาเป็นบรรทัดฐาน การพิจารณาคดีในชั้นฎีกาน่าจะพิจารณาภาพรวมว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นปกติหรือเกิดขึ้นเพราะเหตุมีการทุจริตระดับประเทศ น่าจะศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาล จะลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึง ถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรมสุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัยอาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว เห็นเป็นการสมควรศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการ ลงโทษไว้ แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลา ที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้ เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มี ข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้นเป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ |