

จำเลยไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี
จำเลยไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วยนั้นซึ่งตามกฎหมายนอกจากคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาแล้ว ยังคุ้มครองอำนาจปกครองดูแลของผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้เยาว์ด้วย ดังนี้ การพรากผู้เยาว์ที่จะเป็นความผิดได้นั้น ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามสภาพความเป็นจริงว่าผู้เยาว์อยู่ในความดูแลหรือไม่ หากผู้เยาว์ไปจากการดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเสียแล้ว อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลย่อมขาดตอนหรือสิ้นสุดลง คดีนี้ผู้เยาว์หนีออกจากบ้านพักที่เคยพักอาศัยอยู่ร่วมกับมารดาไปก่อนเกิดเหตุคดีนี้เกือบ 1 ปี ดังนี้ อำนาจปกครองของมารดาจึงขาดตอนและสิ้นสุดลง ทำให้ผู้เยาว์ไม่อยู่ในอำนาจปกครองของมารดา การที่จำเลยที่ 1 เป็นธุระจัดหาให้ผู้เยาว์ไปค้าประเวณีให้แก่สายลับ จึงไม่เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของมารดา จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากมารดาเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2565 การที่ ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดานั้น เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ที่จะมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้เยาว์ รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เยาว์ เนื่องจากผู้เยาว์เป็นผู้ที่ยังอ่อนในด้านสติปัญญา ความคิด และร่างกาย ขาดความรู้ ความชำนาญ จึงต้องมีผู้ใช้อำนาจปกครองคอยปกครองดูแลจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ แต่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก นั้น แม้กฎหมายบัญญัติโดยมุ่งที่จะคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลของผู้เยาว์ เพื่อปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการล่วงละเมิดต่ออำนาจปกครองก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวนอกจากคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาแล้ว ยังคุ้มครองอำนาจปกครองดูแลของผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้เยาว์ด้วย เห็นได้ว่าการล่วงละเมิดอำนาจปกครองที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก มีความหมายแตกต่างจากอำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 ประกอบกับการพรากผู้เยาว์เป็นความผิดทางอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไม่ได้ ดังนี้ การพรากผู้เยาว์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรกได้นั้น ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามสภาพความเป็นจริงว่าผู้เยาว์อยู่ในความดูแลหรือไม่ หากผู้เยาว์ไปจากการดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเสียแล้ว อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลย่อมขาดตอนหรือสิ้นสุดลง แต่หากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอนหรือสิ้นสุดลงคดีนี้ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์หนีออกจากบ้านพักที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาไปก่อนเกิดเหตุเกือบ 1 ปี และพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า ผู้เสียหายที่ 1 ยังใส่ใจดูแลผู้เสียหายที่ 2 อยู่ ดังนี้ อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จึงขาดตอนและสิ้นสุดลง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่อยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เป็นธุระจัดหาให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปค้าประเวณีให้แก่สายลับ จึงไม่เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากมารดาเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 52 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 4, 9 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 4, 26, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 90, 91, 282, 319 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด จำนวน 2 เครื่อง ของกลาง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 50,000 บาท ได้แก่ ความเสียหายอันเนื่องมาจากถูกละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จำนวน 10,000 บาท ความเสียหายอันเนื่องมาจากการเสื่อมเสียชื่อเสียง จำนวน 20,000 บาท และความเสียหายต่อเสรีภาพ จำนวน 20,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง, 319 วรรคแรก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3), 78 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสอง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย จำคุก 2 ปี ฐานค้ามนุษย์ ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอม และฐานส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 52 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานค้ามนุษย์ คงจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 5 ปี 4 เดือน ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 15,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานค้ามนุษย์ คงจำคุก 4 ปี ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง พร้อมซิมการ์ดของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ขณะเกิดเหตุนางสาว ล. ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ (เกิดวันที่ 6 มกราคม 2546) เป็นบุตรของนางสาว ม. ผู้เสียหายที่ 1 บิดามารดาของผู้เสียหายที่ 2 แยกทางกันตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 2 เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เดิมผู้เสียหายที่ 2 อาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 และสามีใหม่ของผู้เสียหายที่ 1 แต่ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เป็นเวลาเกือบ 1 ปี และไปพักอาศัยอยู่กับนางสาว ย. ไม่ปรากฏชื่อสกุล เพื่อนรุ่นพี่ซึ่งเป็นคนที่แนะนำให้ผู้เสียหายที่ 2 รู้จักกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ก่อนเกิดเหตุพันตำรวจโท ช. เจ้าพนักงานตำรวจ กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี สืบทราบว่าเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ ส. มีพฤติการณ์เป็นธุระจัดหาเด็กให้กระทำการค้าประเวณีด้วยวิธีติดต่อส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อ ส. พันตำรวจโท ช. จึงวางแผนให้สายลับใช้เฟซบุ๊กชื่อ ค. ส่งข้อความขอซื้อบริการทางเพศไปยังเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว จำเลยที่ 1 เจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวส่งข้อความสนทนากับสายลับ ตกลงราคาค่าบริการ 1,500 บาท นัดหมายสถานที่ขายบริการทางเพศที่โรงแรม 69 ห้องหมายเลข 3 เจ้าพนักงานตำรวจใช้ธนบัตรฉบับละ 100 บาท และฉบับละ 1,000 บาท ในการล่อซื้อ จำเลยที่ 1 ติดต่อผู้เสียหายที่ 2 ไปให้บริการทางเพศ โดยจำเลยที่ 1 จะได้ส่วนแบ่งเป็นค่านายหน้าจากผู้เสียหายที่ 2 ต่อมาวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ห้องพักหมายเลข 3 เพื่อขายบริการทางเพศ โดยมีเด็กหญิง ป. ไปเป็นเพื่อน เจ้าพนักงานตำรวจให้ผู้เสียหายที่ 2 ติดต่อจำเลยที่ 1 เจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวให้มารับเงิน จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 มารับเงินแทน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ โดยยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อออปโป้ สีชมพู 2 เครื่อง ของจำเลยทั้งสอง และธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 5 ฉบับ เป็นของกลาง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานค้ามนุษย์ ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอม และฐานส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา ความผิดฐานดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา จึงเป็นอันยุติ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วยหรือไม่ เห็นว่า การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดานั้น เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ที่จะมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้เยาว์ รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เยาว์ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เยาว์เป็นผู้ที่ยังอ่อนในด้านสติปัญญา ความคิด และร่างกาย ขาดความรู้ ความชำนาญ จึงต้องมีผู้ใช้อำนาจปกครองคอยปกครองดูแลจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ แต่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก นั้น แม้กฎหมายบัญญัติโดยมุ่งที่จะคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลของผู้เยาว์ เพื่อปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการล่วงละเมิดต่ออำนาจปกครองก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวนอกจากคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาแล้ว ยังคุ้มครองอำนาจปกครองดูแลของผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้เยาว์ด้วย เห็นได้ว่าการล่วงละเมิดอำนาจปกครองที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก มีความหมายแตกต่างจากอำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 ประกอบกับการพรากผู้เยาว์เป็นความผิดทางอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไม่ได้ ดังนี้ การพรากผู้เยาว์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรกได้นั้น ผู้เยาว์ต้องอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามสภาพความเป็นจริงว่าผู้เยาว์อยู่ในความดูแลหรือไม่ หากผู้เยาว์ไปจากการดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเสียแล้ว อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลย่อมขาดตอนหรือสิ้นสุดลง แต่หากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอนหรือสิ้นสุดลง คดีนี้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์หนีออกจากบ้านพักที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาไปก่อนเกิดเหตุเกือบ 1 ปี แม้ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนว่า ระหว่างผู้เสียหายที่ 2 หายไป สามารถติดต่อผู้เสียหายที่ 2 ได้เป็นบางครั้ง ทราบว่าพักอาศัยอยู่ในเมืองและทำงานรับจ้างที่ร้านเนื้อย่าง เคยบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 กลับมาอยู่ที่บ้าน และผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านไปหลายเดือนจึงติดต่อผู้เสียหายที่ 2 ได้ แต่โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 ติดต่อผู้เสียหายที่ 2 เป็นระยะ ๆ ตลอดเวลา ไม่เคยขาดการติดต่อ และได้พยายามติดตามตัวผู้เสียหายที่ 2 ในข้อนี้ผู้เสียหายที่ 1 กลับเบิกความว่า ปกติไม่ได้ติดต่อผู้เสียหายที่ 2 เท่าไรนัก ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1 มีสามีใหม่และมีบุตรต้องเลี้ยงดูอีก 2 คน โดยก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีพฤติการณ์ไปนอนค้างที่บ้านเพื่อนบ่อยครั้ง ผู้เสียหายที่ 1 และสามีใหม่ต้องดุด่าเป็นประจำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ใช้ความพยายามในการติดต่อหรือติดตามผู้เสียหายที่ 2 ก็ได้ พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าผู้เสียหายที่ 1 ยังใส่ใจดูแลผู้เสียหายที่ 2 อยู่ ดังนี้ อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จึงขาดตอนและสิ้นสุดลง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่อยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เป็นธุระจัดหาให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปค้าประเวณีให้แก่สายลับ จึงไม่เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากมารดาเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น |