

ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุดคดีอาญาระงับ ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุดคดีอาญาระงับ ความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิที่ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะนำความผิดอันยอมความได้นั้นมาฟ้องผู้กระทำผิดย่อมเป็นอันระงับไปซึ่งการถอนคำร้องทุกข์นั้นผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือต่อพนักงานอัยการ หรือต่อศาลก็ได้ แม้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น เมื่อได้ความว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้ว สิทธิในการนำคดีในความผิดข้อหายักยอกย่อมเป็นอันระงับไปและการที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งสำหรับความผิดข้อหายักยอกที่ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4601/2565 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพในความผิดข้อหาร่วมกันตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในชั้นฎีกา นั้น จำเลยที่ 2 ไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งการถอนคำร้องทุกข์นั้น ผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือต่อศาลก็ได้ แม้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น การที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้ว สิทธิในการนำคดีในความผิดข้อหาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นอันระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งสำหรับความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 4, 8, 39 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 530,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3434/2561 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 567/2562 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรีและนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองต่อจากโทษจำคุกจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 802/2563 ของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง, 39 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันยักยอก จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน ฐานร่วมกันยักยอก คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3434/2561 ของศาลชั้นต้นและคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 567/2562 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 530,000 บาท แก่ผู้เสียหาย หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพในความผิดข้อหาร่วมกันตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในชั้นฎีกานั้น จำเลยที่ 2 ไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 การกระทำความผิดฐานร่วมกันตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกเป็นอันระงับไปหรือไม่ เห็นว่า ความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิที่ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะนำความผิดอันยอมความได้นั้นมาฟ้องผู้กระทำผิดย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ซึ่งการถอนคำร้องทุกข์นั้นผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือต่อพนักงานอัยการ หรือต่อศาลก็ได้ แม้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น เมื่อได้ความว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้ว สิทธิในการนำคดีในความผิดข้อหาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นอันระงับไป ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น และการที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งสำหรับความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย แม้จำเลยที่ 2 มิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันประกอบธุรกิจปล่อยเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการกระทำความผิดที่อุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองและเป็นการประกอบอาชีพบนความเดือดร้อนของผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ตกทุกข์ได้ยากอยู่แล้วตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีเหตุผลประการอื่นดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกา ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 2 มานั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดข้อหาร่วมกันยักยอกสำหรับจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ ยกคำขอให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
|