

ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 188 ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 188 จำเลยทั้งสองนำเช็คไปเสนอขายลดเช็คให้แก่โจทก์รวม 26 ฉบับ โจทก์โอนเงินค่าซื้อเช็คให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์เรียกเก็บเงินฉบับแรกได้ แต่เช็คฉบับที่สอง ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองให้โจทก์นำเช็คทั้งหมดมาคืนจำเลยทั้งสองอ้างว่าผู้สั่งจ่ายเช็คเสียชีวิตแล้วจำเลยทั้งสองนำเช็คไปให้ทายาทเพื่อแลกเป็นเงินสดนำมาให้แก่โจทก์ สัญญาขายลดเช็คเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งต่างหากจากการให้กู้ยืมเงินซึ่งไม่อยู่ในบังคับห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่ว่าเช็คทั้ง 25 ฉบับ เป็นเอกสารของโจทก์หรือไม่โดยไม่ต้องคำนึงว่ามูลหนี้ตามเช็คจะบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองขายลดเช็คทั้ง 25 ฉบับ ให้แก่โจทก์ เช็คนั้นก็เป็นเอกสารของโจทก์ จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาไปเสีย ทำให้โจทก์ขาดพยานหลักฐานที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2565 ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานสำคัญ ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาจึงอยู่ที่เช็คทั้ง 25 ฉบับ เป็นเอกสารของใครโดยไม่จำต้องพิจารณาว่ามูลหนี้ตามเช็คบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองขายลดเช็คทั้ง 25 ฉบับ ให้แก่โจทก์ เช็คนั้นก็เป็นเอกสารของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาไปเสีย ทำให้โจทก์ขาดพยานหลักฐานที่จะต้องฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 341 ประกอบมาตรา 83 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (เดิม), 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี ทางพิจารณาของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษ (ที่ถูก ลดโทษ) ให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน เมื่อดูพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดีแล้วไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อ 2 เพราะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย มิใช่ปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2558 จำเลยทั้งสองนำเช็ค รวม 26 ฉบับ จำนวนเงินที่ระบุในเช็คเป็นเงินรวม 4,209,500 บาท ไปเสนอขายลดเช็คให้แก่ โจทก์รับซื้อเช็คดังกล่าวและโอนเงินค่าซื้อเช็คให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับแรกได้ แต่เมื่อถึงกำหนดเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับที่สอง ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเจ้าของเช็คเสียชีวิต ให้โจทก์นำเช็คทั้งหมดมาคืนจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองนำเช็คไปให้ทายาทเพื่อแลกเป็นเงินสดนำมาให้แก่โจทก์ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ตามความเป็นจริง แต่เป็นแผนการที่จำเลยทั้งสองกำหนดขึ้นโดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจของโจทก์ที่ค้าขายกันมานาน ทำให้โจทก์หลงเชื่อมอบเช็คตั้งแต่ฉบับที่สองรวม 25 ฉบับ ให้แก่จำเลยทั้งสองไป คิดเป็นเงินที่ระบุตามเช็ครวม 4,052,600 บาท อันเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดเอกสารที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 อย่างไรก็ตาม ก่อนคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง แต่ยังมิได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น จึงให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานฉ้อโกงจากสารบบความ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวเป็นอันระงับไป มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 188 หรือไม่ เห็นว่า โดยทั่วไปสัญญาขายลดเช็คเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งต่างหากจากการให้กู้ยืมเงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็คในคดีนี้มีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินแล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายดังกล่าว นอกจากนั้น ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ก็มิใช่ข้อสำคัญในคดี เนื่องจากความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานสำคัญ ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาจึงอยู่ที่ว่าเช็คทั้ง 25 ฉบับ เป็นเอกสารของใครโดยไม่จำต้องพิจารณาว่ามูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองขายลดเช็คทั้ง 25 ฉบับ ให้แก่โจทก์ เช็คนั้นก็เป็นเอกสารของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาไปเสีย ทำให้โจทก์ขาดพยานหลักฐานที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างคำพิพากษาของศาลฎีกา 378/2536 มาในฎีกาของจำเลยทั้งสองด้วยนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นเรื่องความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งมีปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาว่ามีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมา และข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องและแถลงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 1 กันยายน 2563 ว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองสามารถตกลงกันได้ โดยโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 2,750,000 บาท และขอศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ในสถานเบา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ ให้เหมาะสมสอดคล้องแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
|