ทวงหนี้ลักษณะข่มขู่ว่าไม่จ่ายจะเดือดร้อนจำคุก 3 ปี
การทวงหนี้เป็นการใช้สิทธิอย่างหนึ่งแต่ต้องเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย แต่ถ้อยคำว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่ตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยตามที่เรียกร้อง จำเลยมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ จำคุก 3 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2553
ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง
กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จำเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม
มาตรา 337 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่น ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือ โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือ ทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอม เช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
(1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของ ผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
(2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับ ตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 92, 337, 371 ริบของกลางทั้งหมด เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายและนับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4721/2547 ของศาลอาญาธนบุรี และนับโทษจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2184/2547 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธมีด ปรับ 90 บาท ฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 3 ปี ปรับ 90 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสามเป็นจำคุก 4 ปี ปรับ 120 บาทจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำคุกคนละ 3 ปี นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4721/2547 ของศาลอาญาธนบุรี นับโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษจำคุกตลอดชีวิตของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2184/2547 ของศาลอาญาธนบุรี ข้อหาอื่นให้ยก ริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ยกคำขอให้ริบของกลางอื่นนอกจากมีดปลายแหลม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานกรรโชกโดยมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (2) ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ที่ว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งห้าเป็นการร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า แม้ถ้อยคำที่กลุ่มจำเลยทั้งห้าโทรศัพท์มาทวงหนี้จากผู้เสียหาย จะไม่ปรากฏว่า หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้แล้วกลุ่มจำเลยทั้งห้าจะทำร้ายผู้เสียหายกับบุตร ภรรยาอย่างไร ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าถ้อยคำที่ว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรม ที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อน และเป็นอันตรายเสียมากกว่า ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยต่อไปว่า ขณะจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 4 อยู่ในร้านอาหารที่เกิดเหตุนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยังไม่มีการพูดขู่เข็ญผู้เสียหายแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุเกิดต่อเนื่องจากวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหายกับภรรยาผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน จึงถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ฉะนั้นแม้ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถูกตรวจค้นจับกุมโดยที่ยังไม่ทันได้พูดจาขู่เข็ญผู้เสียหาย จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายแต่ระบุชื่อภรรยาผู้เสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ก็หาเป็นสาระสำคัญไม่ ประกอบกับได้ความจากพันตำรวจตรีแสวงและร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ ซึ่งซุ่มดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า ที่เข้าตรวจค้นก่อนเพราะเห็นว่ามีลักษณะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันที่มองกันไปมองกันมา แม้จะนั่งอยู่ห่างกันก็ตาม ขณะเดียวกันในวันดังกล่าวผู้เสียหายก็ไม่ได้ไปโดยลำพัง แต่มีสิบตำรวจโทขวัญชัย เจ้าพนักงานตำรวจที่พันตำรวจตรีแสวงให้ปลอมตัวไปนั่งเป็นเพื่อนผู้เสียหายอยู่ด้วย ฉะนั้น โดยวิสัยของคนร้ายในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์แล้ว เชื่อว่าคงไม่ผลีผลามจู่โจมเข้าขู่เข็ญผู้เสียหายทันทีที่พบเห็นแต่จะต้องสงวนท่าทีมองดูรอบข้างให้แน่ใจเสียก่อนว่าไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจดักซุ่มจับกุมอยู่ด้วย จึงจะเข้าพูดคุยกับผู้เสียหาย ดังนั้นที่ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์เฝ้ารออยู่ประมาณ 10 นาที เห็นลักษณะอาการของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกับที่โทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จึงขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเพื่อตรวจค้นจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทันทีก่อนที่เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ปัญหาประการสุดท้ายที่ว่า ก่อนที่ผู้เสียหายจะไปตามที่นัดหมาย ผู้เสียหายได้แวะปรึกษาแจ้งเหตุให้พันตำรวจตรีแสวงทราบและวางแผนจับกุมกลุ่มคนร้ายนั้น ถือว่าผู้เสียหายกลัวและยินยอมตามที่จำเลยทั้งห้าขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกสำเร็จแล้วหรือไม่นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายเดินไปสถานที่นัดหมายเป็นเพราะไปตามคำขู่ของจำเลยทั้งห้า หาได้ไปด้วยความสมัครใจไม่ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัวนั้น จึงเป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติ กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้นการกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้วไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันวางแผนและแบ่งหน้าที่กันกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น