ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




บันทึกเป็นหนังสือไม่เรียกร้องทรัพย์มรดก-การสละมรดก

บันทึกเป็นหนังสือไม่เรียกร้องทรัพย์มรดก-การสละมรดก

ข้อ 8. นายกิ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายต้น ซึ่งนายต้นรับรองแล้วว่าเป็นบุตร นายกิ่งได้จดทะเบียนสมรสกับนางใบหลังจากนายยอดสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางใบตายแล้ว 2 เดือน และนางใบคลอดบุตรชื่อเด็กชายผลหลังจากจดทะเบียนสมรสได้ 3 เดือน ต่อมาอีก 25 ปี นายกิ่งถึงแก่ความตายนายกิ่งมีทรัพย์สินส่วนตัวคือเงินจำนวน 100,000 บาทกับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์จำนวน 80,000 บาท ซึ่งเงินเฉพาะส่วนนี้ นายกิ่งได้ระบุในใบสมัครในการเข้าเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ให้นางใบเป็นผู้รับเมื่อนายกิ่งตาย หากปรากฏว่าหลังจากที่นายกิ่งตายแล้ว นางใบและนายผลได้ร่วมกันทำบันทึกเป็นหนังสือมีข้อความว่านางใบจะไม่เรียกร้องทรัพย์มรดกของนายกิ่งอีก เพราะนางใบได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์แล้ว โดยนางใบลงลายมือชื่อในบันทึกแต่ผู้เดียว

ให้วินิจฉัยว่า ทรัพย์มรดกของนายกิ่งมีอะไรบ้าง และจะตกทอดแก่ผู้ใด เพียงใด

  ธงคำตอบ

 สินส่วนตัวจำนวน 100,000 บาท เป็นทรัพย์มรดกของนายกิ่ง เพราะเป็นทรัพย์สินของนายกิ่งที่มีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ส่วนเงินฌาปนกิจสงเคราะห์จำนวน 80,000 บาท เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายกิ่งจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600
นายต้นมิใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของนายกิ่ง จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) ไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดก

(คำพิพากษาฎีกาที่ 525/2510) นางใบเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกิ่งจึงเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629วรรคสอง ส่วนนายผล กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1537 ว่า นายผลเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายกิ่งเพราะนางใบจดทะเบียนสมรสใหม่กับนายกิ่ง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1453 และคลอดนายผลภายใน 310 วัน นับแต่วันที่การสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดลง นายผลจึงเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) ดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายกิ่งจึงตกทอดแก่นางใบและนายผล

แต่การที่นางใบและนายผล ทำบันทึกเป็นหนังสือร่วมกันว่านางใบจะไม่เรียกร้องทรัพย์มรดกของนายกิ่งอีก เป็นการตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดกของนายกิ่งที่จะมีขึ้นในเรื่องของการแบ่งปันทรัพย์มรดกในอนาคตให้หมดไป จึงเป็นการสละมรดกโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยนางใบสละมรดกทั้งหมด มิใช่สละมรดกบางส่วน เพราะนายกิ่งมีทรัพย์มรดกคือเงินที่เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น กรณีต้องตามมาตรา 1612 และ 1613 (คำพิพากษาฎีกาที่ 3776/2545)แม้นายผลผู้รับมรดกอีกผู้หนึ่งจะมิได้ลงลายมือชื่อในบันทึก การสละมรดกของนางใบก็มีผลบังคับ (คำพิพากษาฎีกาที่1419/2492) ดังนั้น ทรัพย์มรดกทั้งหมดของนายกิ่งจึงตกทอดแก่นายผลแต่ผู้เดียว

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600 "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ "

มาตรา 1629 "ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่ง ต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่ง มาตรา 1635"

มาตรา 1537 "ในกรณีที่หญิงทำการสมรสใหม่นั้นเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 1453 และคลอดบุตรภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดแต่หญิงนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ และห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานใน มาตรา 1536 ที่ว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีเดิมมาใช้บังคับ ทั้งนี้เว้นแต่ มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย ผู้เป็นสามีคนใหม่นั้น "

มาตรา 1453 "หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อย กว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่
(1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(3) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์หรือ
(4) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้ "

มาตรา 1612 "การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ"

มาตรา 1613 "การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้

การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2510

 แม้จำเลยจะได้แถลงรับว่า ทะเบียนการเกิด การตายทะเบียนโรงเรียนทะเบียนสำมะโนครัว เป็นเอกสารที่แท้จริง ก็ฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ได้แจ้งไว้ว่าเจ้ามรดกเป็นบุตรของโจทก์จำเลยมิได้แถลงรับด้วยว่า โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกทั้งก็ยังได้ความว่า โจทก์กับ ส. มารดาของเจ้ามรดกได้อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์เป็นบิดานอกกฎหมายของเจ้ามรดก และในคำให้การของจำเลยก็ว่า ทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกไม่มีบุคคลใดอีกนอกจากจำเลย ซึ่งแสดงว่าจำเลยมีข้อต่อสู้ว่าโจทก์มิใช่ทายาทของเจ้ามรดก หาใช่จำเลยสละข้อต่อสู้ที่ว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดกนั้นเสียไม่

แม้โจทก์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่เจ้ามรดกแต่โจทก์กับเจ้ามรดกก็ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติถึงบิดากับบุตรว่า เป็นทายาทซึ่งกันและกัน หมายถึงเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย มิฉะนั้นก็ไม่เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน

บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามปกติไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อกันอย่างใดเลย และไม่มีสิทธิได้รับมรดกซึ่งกันและกันด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1627 เป็นบทบัญญัติวาง ข้อยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บิดารับรองแล้วให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดกฎหมายบทนี้บัญญัติไว้แต่ว่าให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย (อ้างฎีกาที่ 1271/2506)

โจทก์ฟ้องว่า นางสงวนกับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากันโจทก์แต่งงานกับนางสงวนแต่มิได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตร 1 คน คือนางสาวสมใจ โจทก์ได้แจ้งทะเบียนการเกิด และลงทะเบียนสำมะโนครัวว่า เป็นบุตรของโจทก์ระหว่างอยู่กินกับนางสงวน นางสงวนมีทรัพย์สินคือนา 1 แปลง ตามโฉนดที่ 2405 และที่ดินตามโฉนดที่ 2726 นางสงวนตายมิได้ทำพินัยกรรม ต่อมานางสาวสมใจตายโจทก์ขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยค้าน ขอให้ศาลสั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ฯลฯ

จำเลยให้การว่า ที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว บิดามารดานางสงวนมอบให้นางสงวนก่อนอยู่กินกับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกของนางสาวสมใจ

วันชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่าทรัพย์พิพาทเป็นมรดกของนางสงวนตกทอดมายังนางสาวสมใจ โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรตามกฎหมายคดีเหลือประเด็นเดียวว่าโจทก์หรือจำเลยใครจะเป็นทายาทของนางสาวสมใจคู่ความท้ากันให้ศาลพิสูจน์เอกสารที่ส่งศาลประกอบคำฟ้องและคำให้การไม่ติดใจสืบพยาน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์เป็นบิดานอกกฎหมาย ไม่เป็นทายาทของนางสาวสมใจ จำเลยเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกของนางสาวสมใจพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นางสาวสมใจมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ แต่คดีนี้จำเลยมิได้ฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเลยไปว่าที่ดินตามโฉนดทั้งสองแปลงตกทอดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยนั้น เป็นการนอกประเด็นแห่งคดีพิพากษาแก้เป็นให้ตัดคำว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2405 และเลขที่ 2726 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยออกเสีย นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 2 นาย ที่ได้ร่วมพิจารณาคดีนี้มีความเห็นแย้ง เห็นว่า โจทก์เป็นบิดาตามกฎหมายของนางสาวสมใจ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะได้แถลงรับว่า ทะเบียนการเกิดการตาย ทะเบียนโรงเรียน ทะเบียนสำมะโนครัว เป็นเอกสารที่แท้จริง ก็ฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ได้แจ้งว่า นางสาวสมใจเจ้ามรดกเป็นบุตรของโจทก์ตามเอกสารดังกล่าวเท่านั้น จำเลยมิได้แถลงรับด้วยว่า โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสมใจ ข้อเท็จจริงยังได้ความอยู่ว่า โจทก์กับนางสงวนอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์เป็นบิดานอกกฎหมายของนางสาวสมใจ และในคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยก็ว่าทายาทโดยชอบธรรมของนางสาวสมใจไม่มีบุคคลใดอีก นอกจากจำเลยผู้เดียวซึ่งแสดงว่าจำเลยยังมีข้อต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่ทายาทของนางสาวสมใจนั่นเองหาใช่จำเลยสละข้อต่อสู้ที่ว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดกนั้นเสียไม่

ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกัน แสดงอยู่ว่า แม้โจทก์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่นางสาวสมใจ แต่โจทก์กับนางสาวสมใจก็ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย มาตรา 1629 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติถึงบิดามารดากับบุตรว่าเป็นทายาทซึ่งกันและกันนั้น หมายถึงบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายมิฉะนั้นก็ไม่เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วนั้น มาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ เห็นว่า บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นตามปกติไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อกัน และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันกฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติวางข้อยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บิดารับรองแล้ว ให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด กฎหมายบทนี้บัญญัติไว้แต่ว่า ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย ถ้ามุ่งหมายให้ถือว่าเป็นบิดาและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งกันและกันตามประมวลกฎหมายนี้ก็น่าจะระบุไว้ให้ชัดเช่นนั้น ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับมรดกนางสาวสมใจที่เกิดจากนางสงวน (อ้างฎีกาที่ 1271/2506 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

พิพากษายืน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2545

 พินัยกรรมที่มีพยานลงลายมือชื่อสองคน แต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

บันทึกข้อตกลงที่มีข้อความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกของ ส. ไปในวันนี้แล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก เป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดก ที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 นอกจากนี้เงิน 10,000 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ก็เป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป แล้วทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก จึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกเพียงบางส่วนจึงมีผลเป็นการสละมรดกตามมาตรา 1612 และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 สละมรดกแล้วมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกไม่มีอำนาจร้องขอถอนผู้จัดการมรดก

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทรเกตุจิตร ผู้ตาย เพื่อจัดการมรดกตามพินัยกรรม

ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันสี่คน คือ นางเฉลียว คงดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 1 นางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย และนายสุจินต์กลิ่นเกษร ซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว ผู้ตายได้สมรสกับนายโนแล เกตุจิตร นายโนแลถึงแก่กรรมก่อนผู้ตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมนั้น เนื่องจากพินัยกรรมของผู้ตายไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมายเพราะพินัยกรรมไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมและพยานมิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะทำพินัยกรรม ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดก อีกทั้งพินัยกรรมมีพิรุธ เพราะระบุยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้อง บุตรของผู้ร้องและบุตรของพี่สาวผู้ร้องเท่านั้น และในขณะที่ทำพินัยกรรมผู้ตายกำลังป่วย ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะสามารถทำพินัยกรรมได้ ขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันสี่คน คือ ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 นางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย นายสุจินต์ กลิ่นเกษรซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วผู้ร้องได้แบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นเงิน 60,000 บาท แล้วทำหลักฐานเป็นหนังสือยืนยันว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายอีก และยังทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก โดยยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของตนบางส่วน จึงขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องกับยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1

ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมของผู้ตายมีผลสมบูรณ์เพราะมีพยานหลายคนขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายไป 60,000 บาท และทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆอีก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยทำผิดหน้าที่ในการจัดการมรดกแต่อย่างใด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนนางสนิท คงดิษฐ์ ผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งนางชำเรือง มาใหญ่ ผู้คัดค้านที่ 1 กับนางเฉลียว คงดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตรผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.6 ไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นเงิน 10,000 บาทเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 โดยบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ อีก ตามเอกสารหมายร.12 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.6 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.6 ไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ไว้ ซึ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 บัญญัติว่า พินัยกรรมต้องทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้นและผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ดังนั้น แม้พินัยกรรมดังกล่าวจะมีพยานลงลายมือชื่อสองคนแต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมก็ต้องถือว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1656 ย่อมเป็นโมฆะ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1705 เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรมไม่มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอันจะทำให้มีสิทธิเรียกร้องขอถอนผู้จัดการมรดกหรือไม่ ตามบันทึกเอกสารหมาย ร.12 มีข้อความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตร ไปในวันนี้แล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดกรายนี้ ที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป โดยผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในขณะนั้นยอมจ่ายเงินให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 10,000 บาท แล้วผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850นอกจากนี้เงินจำนวน 10,000 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้ความจากพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองว่าเป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ของลูกค้า ธกส. อำเภอสรรพยาซึ่งผู้ตายระบุไว้ในใบสมัครว่า เมื่อผู้ตายถึงแก่กรรมแล้วให้ผู้ร้องเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์เงินดังกล่าวย่อมมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป 10,000 บาท แล้ว ทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก จึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกเพียงบางส่วนการประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ร.12 ดังกล่าวจึงมีผลเป็นการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 สละมรดกแล้วมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ไม่มีอำนาจมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางเฉลียว คงดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร  ผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวให้ยกคำร้องของนางชำเรือง มาใหญ่ผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1419/2492

 ผู้รับมรดกได้ทำเอกสารเป็นการประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612,850 และผู้รับมรดกผู้รับผิดได้ลงชื่อไว้ให้แล้วผู้รับมรดกคนอื่นที่มิได้สละสิทธิ ไม่จำต้องลงชื่อด้วยก็ย่อมใช้ได้และผูกพันผู้รับมรดกที่สละมรดกนั้น

ความว่า จำเลยไม่ใช้เงินตามคำพิพากษาท้ายยอม โจทก์จึงนำยึดเรือน ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่าเป็นเรือนของผู้ร้อง ขอให้ถอนการยึด คู่ความรับกันว่าเรือนหลังนี้เป็นสินสมรสระหว่างนายแอ๊วกับผู้ร้อง ซึ่งเป็นบิดามารดานางพลอยจำเลย นายแอ๊วตายแล้วมีผู้รับมรดก 4 คน คือผู้ร้อง นางเพ็ชร นางสาวถนอม และนางพลอยจำเลย ผู้ร้องส่งเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งอ้างว่านางพลอยได้รับส่วนแบ่งมรดกไปแล้วตามเอกสารฉบับนี้โจทก์แถลงรับว่านางพลอยได้ทำเอกสารนี้ไว้จริง แต่เป็นการสละมรดกซึ่งทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายคู่ความไม่สืบพยานขอให้ศาลวินิจฉัยว่าเอกสารนี้จะใช้ได้หรือไม่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เรือนรายพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายแอ๊วกับผู้ร้อง ส่วนนายแอ๊วเป็นมรดกตกแก่นางพลอยหนึ่งส่วน โจทก์มีสิทธิยึดได้ ให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในเอกสารที่พิพาทมีข้อความว่า "ข้าพเจ้านางพลอยบำรุงจิตร ขอทำใบรับเงินให้ไว้แก่นางเรือน บำรุงจิตร ดังมีข้อความต่อไปนี้

ด้วยบรรดาทรัพย์สมบัติมรดกทุก ๆ อย่าง ซึ่งเป็นของนายแอ๊ว นางเรือง บำรุงจิตรบิดามารดาของข้าพเจ้านั้น เวลานี้ข้าพเจ้าได้ส่วนแบ่งซึ่งเป็นมรดกที่ข้าพเจ้าจะได้รับนี้เป็นเงิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) เงินจำนวนนี้ ข้าพเจ้าได้รับไปจากนางเรืองบำรุงจิตร แต่วันทำใบรับเงินนี้แล้ว และต่อไปข้าพเจ้าจะไม่เกี่ยวข้องในทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นกองมรดกของนายแอ๊ว นางเรืองต่อไป ลงชื่อ นางพลอย"

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในเอกสารนี้เป็นการประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612,850 เพราะนางพลอยผู้รับผิดได้ลงชื่อไว้แล้ว ผู้รับมรดกคนอื่นที่มิได้สละสิทธิไม่จำต้องลงชื่อด้วย

พิพากษากลับ ให้ถอนการยึด

เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายใน 310 วัน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2529

บทบัญญัติมาตรา 1536 ซึ่งบัญญัติว่า เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามี หมายถึงเด็กที่เกิดจากหญิง ขณะที่เป็นภริยาชายโดยชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีในกรณีที่เด็กเกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่การสมรสของชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสได้สิ้นสุดลงตามกฎหมาย

 




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 59(วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ผู้ทำละเมิดหลุดพ้นในมูลละเมิด
การปลดหนี้ให้แก่ผู้ค้ำประกัน
การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉล
การถือเอาสิทธิแก่บุคคลภายนอกในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน
ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่น-การซื้อขายแบบ CIF
ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ภาระจำยอมโดยอายุความ
การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณี
ทำสัญญาเช่าหกปีไม่ได้จดทะเบียนเช่ามีผลบังคับได้เพียงสามปี