

องค์คณะผู้พิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม องค์คณะผู้พิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ข้อ 10. นายกรรม ถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีในข้อหาชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีฯ) ต่อมานายกรรม หลบหนีไม่มาศาล นายตรี ผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดนนทบุรีได้ออกหมายจับนายกรรม ภายหลังนายกรรม ถูกจับตัวส่งศาลจังหวัดนนทบุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรีมอบหมายให้นายโท ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรีและนายตรี ร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ ระหว่างพิจารณานายโท ย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจึงมอบหมายให้นายเอก ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนนทบุรี นั่งพิจารณาร่วมกับนายตรี จนเสร็จการพิจารณา แล้วนายเอก กับนายตรี พิพากษาจำคุกนายกรรม มีกำหนด 8 ปี ให้วินิจฉัยว่า การออกหมายจับ การพิจารณาและการพิพากษาคดีดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ ธงคำตอบ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายเรียก หมายอาญาได้ ดังนั้น นายตรีผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดนนทบุรีย่อมมีอำนาจออกหมายจับซึ่งเป็นหมายอาญาประเภทหนึ่งได้ สำหรับคดีที่นายกรรมถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรีนั้น เป็นคดีที่ต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาสองคนตามมาตรา 26 การที่นายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรีนั่งพิจารณาร่วมกับนายตรีจึงครบองค์คณะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว เมื่อต่อมาระหว่างพิจารณา นายโทย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่นเป็นการพ้นจากตำแหน่งของนายโท เป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 การที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรีมอบหมายให้นายเอกผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนนทบุรีนั่งพิจารณาเป็นองค์คณะกับนายตรีจึงชอบตามมาตรา 28 ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงตามมาตรา 18 ดังนั้น การที่นายเอกกับนายตรีพิพากษาให้จำคุกนายกรรม 8 ปี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 24 ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น (2) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี มาตรา 26 ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึงกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทำคำพิพากษาในคดีนั้นได้ มาตรา 28 ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้ (1) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกา หรือรองประธานศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย (2) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคซึ่งประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี มอบหมาย (3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้น ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มอบหมาย ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอำนาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2548 คำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษานายเดียวลงนามให้จำคุกจำเลย 1 ปีในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ซึ่งจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คนเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี จึงต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2548 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2), 25, 26 คดีนี้ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัด การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้และมีคำสั่งยกคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 26 เนื่องจากการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
|