ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




ขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน

ขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถาน

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกับโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้อง จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ต่อมาหลังวันชี้สองสถาน 1 วัน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ผิดหลงพิมพ์ข้อความในคำฟ้องบางส่วนผิดไป ขอแก้ไขคำฟ้องในข้อความที่ว่าผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ คือนางสาวธิดา มิใช่นางสาวสมศรี ส่วนจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลย เนื่องจากขณะที่ทำสัญญาดังกล่าว จำเลยมีอายุเพียง 17 ปี ยังเป็นผู้เยาว์กระทำนิติกรรมโดยมิได้รับความยินยอมจากมารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม จึงมีผลเป็นโมฆียะกรรม ประกอบกับจำเลยซึ่งต่อมาบรรลุนิติภาวะได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งอนุญาตให้โจทก์ และจำเลยแก้ไขคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติให้โจทก์ หรือจำเลยที่ขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย

การณีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องต่อศาล โดยมิได้ยื่นก่อนวันชี้สองสถาน แม้เป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติ แต่ที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องว่า ผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ คือนางสาวธิดา มิใช่นางสาวสมศรี เป็นการแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริง เพราะโจทก์ผิดหลงพิมพ์ผิดไป เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผดหลงเล็กน้อย จึงแก้ไขได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2899/2545) ศาลชอบที่จะสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้

ส่วนที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลย เนื่องจากขณะทำสัญญาดังกล่าวจำเลยมีอายุ เพียง 17 ปี ยังเป็นผู้เยาว์กระทำนิติกรรมโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม จึงมีผลเป็นโมฆียะกรรมของสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องขึ้นโต้เถียงโจทก์ ซึ่งการกล่าวอ้างว่านิติกรรมที่ทำเป็นโมฆียะกรรมโดยจะบอกล้างหรือไม่ก็ตาม มิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะอยู่ในข้อยกเว้นที่พึงอนุญาตให้จำเลยขอแก้ไขคำให้การภายหลังล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายดังกล่าวได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 5074/2549) ทั้งมิใช่กรณีที่มีเหตุสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันนั้นหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อย จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอแก้ไข ศาลชอบที่จะยกคำร้องของจำเลย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 180 การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2899/2545

โจทก์ขอแก้คำฟ้องว่าผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อคือ น. มิใช่ ส. เป็นการแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริงเพราะโจทก์ผิดหลงพิมพ์ผิดไป เป็นการแก้ไขเล็กน้อยจึงแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180

โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ไปในราคาและจะต้องผ่อนชำระงวดละเดือนละเท่าใด จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง 6 งวด ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นมาโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์นำออกขายทอดตลาดได้ราคา 782,000 บาท เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า เหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาสืบเนื่องมาจากเหตุใด และการขายทอดตลาดได้ในราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคาที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป จึงเป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ส่วนสภาพของรถยนต์ในขณะขายทอดตลาดหรือสถานที่ ๆขายทอดตลาดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบเท่านั้น ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม

จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. แต่จำเลยที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอจึงต้องหาธุรกิจเช่าซื้อมาช่วยดำเนินการให้ โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของโจทก์ จากนั้นโจทก์จึงนำรถยนต์มาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน

จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระหว่างที่รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถยนต์คืน

ค่าเสียหายอันเกิดจากโจทก์ขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่อีกจำนวนหนึ่ง เป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการผิดสัญญา และเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดรายได้ ส่วนการกำหนดอัตราค่าปรับอีกร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน จากจำนวนเงินดังกล่าว เป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญาอาจกำหนดไว้ได้ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา เป็นค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 เมื่อกฎหมายลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ โจทก์มอบอำนาจให้นายวรวุฒิ วรธิพรหมมา ฟ้องและดำเนินคดีแทนและนายวรวุฒิได้มอบอำนาจช่วงให้นายวินัย เจริญจิตสวัสดิ์ ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์มอบอำนาจให้นางสาวนิตยา อนันตศิริจินดา ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อออดี้ หมายเลขทะเบียน9ฬ-1402 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ ในราคา 1,452,336.60 บาท โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด ผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 515,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยเบี้ยปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ประกอบกิจการให้กู้ยืมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังตกเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบและได้ราคาต่ำกว่าเป็นจริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการขายทอดตลาดที่ได้ราคาต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อค่าเสียหายจำนวน 450,000 บาท เป็นค่าเช่าซื้อค้างชำระ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว สัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยที่ 1กับโจทก์ รถยนต์พิพาทสามารถขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท หากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเพียงเดือนละไม่เกิน 3,000 บาท โจทก์ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถคืน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน ข้อตกลงที่ให้เรียกค่าปรับดังกล่าวเป็นค่าเสียหายซ้ำซ้อนขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นโมฆะฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 380,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 การแก้ไขคำฟ้องจะต้องกระทำเสียก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานเว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ขอมอบอำนาจช่วงให้นายวินัย เจริญจิตสวัสดิ์ ดำเนินคดีแทนซึ่งโจทก์มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว และทำเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องก็ได้ ส่วนที่โจทก์ขอแก้คำฟ้องว่าผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อคือนางสาวนิตยา อนันตศิริจินดา มิใช่นายสุรเดชภูมิชัย เป็นการแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริงเพราะโจทก์ผิดหลงพิมพ์ผิดไปเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงแก้ไขได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเรื่องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทไม่ชัดเจนเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ไปในราคาและจะต้องผ่อนชำระงวดละเดือนละเท่าใด จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง6 งวด ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นว่าโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และยึดรถยนต์นำออกขายทอดตลาดได้ราคา 782,000 บาท เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจได้ว่า เหตุแห่งการบอกเลิกสัญญาสืบเนื่องมาจากเหตุใด และการขายทอดตลาดได้ในราคาดังกล่าวซึ่งต่ำกว่าราคาที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป จึงเป็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ส่วนสภาพของรถยนต์ในขณะขายทอดตลาดหรือสถานที่ ๆ ขายทอดตลาดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบเท่านั้น ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นยื่นคำให้การจำเลยทั้งสองต่อสู้คดีแต่เพียงว่า โจทก์ประกอบกิจการให้กู้ยืม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง การให้กู้ยืมตกเป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบโจทก์ได้ความว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรวม 22 ข้อ ปรากฏตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.1 และตามวัตถุประสงค์ข้อ 1 คือ "ให้เช่า ให้เช่าซื้อ..." การกระทำของโจทก์อยู่ในวัตถุประสงค์และกิจการดังกล่าวนี้ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง สำหรับเรื่องนิติกรรมอำพรางนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นชุมพลกลการ แต่จำเลยที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอจึงต้องหาธุรกิจเช่าซื้อมาช่วยดำเนินการให้ โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือและโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เป็นของโจทก์จากนั้นโจทก์จึงนำรถยนต์พิพาทมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อการกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน...

ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์ ค่าขาดราคาเช่าซื้อ และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้วตามหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.7 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระหว่างที่รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถยนต์คืน แม้โจทก์จะมิได้นำพยานมาสืบยืนยันว่าอาจนำออกให้เช่าได้เดือนละ 20,000บาท ก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าในระหว่างที่รถยนต์ยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากการใช้สอยโดยไม่ต้องไปเช่ารถยนต์ผู้อื่นทั้งค่าขาดประโยชน์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เดือนละ 10,000 บาท นั้น คิดเป็นรายวันเพียงวันละ 300 บาทเศษ จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว สำหรับค่าเสียหายจำนวน 350,000 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากโจทก์ขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่อีกจำนวนหนึ่ง ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการผิดสัญญา และเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดรายได้ ส่วนการกำหนดอัตราค่าปรับอีกร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน จากจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญาอาจกำหนดไว้ได้ ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ประการใด

จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและขอให้ศาลกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้เสียใหม่เห็นว่า ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา ค่าเสียหายทั้งสองจำนวนเป็นค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 เมื่อกฎหมายลักษณะเช่าซื้อมิได้บัญญัติอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจโดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความสุจริตในการต่อสู้คดีศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจเหมาะสมแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5074/2549

จำเลยที่ 5 ขอแก้ไขคำให้การเดิมโดยอ้างเพิ่มเติมว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 เนื่องจากขณะทำสัญญาจำเลยที่ 5 มีอายุเพียง 17 ปี ยังเป็นผู้เยาว์ มิได้รับความเห็นชอบหรือความยินยอมจากมารดาซึ่งเป็นผู้ปกครอง จึงมีผลเป็นโมฆียะกรรม และขอถือเอาคำให้การที่ขอแก้ไขนี้เป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม คำให้การที่ขอแก้ไขดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะอยู่ในข้อยกเว้นที่พึงอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังล่วงพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180

คดีสืบเนื่องมาจากระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีล่วงเลยระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว ประกอบกับทนายโจทก์คัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ค่าคำร้องเป็นพับ

จำเลยที่ 5 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติว่า "การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานเว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อย" คดีนี้โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งเจ็ดยื่นคำให้การ โดยในวันที่ 17 สิงหาคม 2543 ศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถานไปแล้ว ต่อมาระหว่างศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 5 เพิ่งยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ อันเป็นกรณียื่นคำร้องเข้ามาภายหลังการชี้สองสถานล่วงพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 5 อ้างในฎีกาว่า เป็นกรณีการขอแก้ไขคำให้การในเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งมิได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 5 ขอแก้ไขคำให้การเดิมโดยอ้างเพิ่มเติมว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 เนื่องจากขณะที่ทำสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 5 มีอายุเพียง 17 ปี ยังเป็นผู้เยาว์ กระทำนิติกรรมโดยมิได้รับความเห็นชอบหรือความยินยอมจากมารดาซึ่งเป็นผู้ปกครอง จึงมีผลเป็นโมฆียะกรรม และขอถือเอาคำให้การที่ขอแก้ไขนี้เป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ประกอบกับจำเลยที่ 5 ได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ดังนั้น คำให้การที่ขอแก้ไขดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 5 หยิบยกเรื่องความเป็นโมฆียะกรรมของสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องขึ้นโต้เถียงโจทก์ซึ่งการกล่าวอ้างนิติกรรมที่ทำเป็นโมฆียะกรรมโดยจะบอกล้างหรือไม่ก็ตามมิใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะอยู่ในข้อยกเว้นที่พึงอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังล่วงพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการอนุญาตให้แก้ไขจะทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 5 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.




การสอบเนติบัณฑิต ภาคสอง สมัยที่ 60 (วิชาวิธีพิจารณาความแพ่ง)

คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดี
การฟ้องซ้ำกับ การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
โจทก์ขาดนัดพิจารณาโจทก์จึงไม่มีพยานมาสืบในประเด็นข้อพิพาทจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี
เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ
ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์
คำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนพิพากษาไม่ใช่การบังคับคดีตามคำพิพากษา กรณีไม่ต้องห้ามมิให้ยึดซ้ำ
อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
องค์คณะผู้พิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
การบังคับคดีล่วงเลยเวลา 10 ปี