

ผู้ขนส่งจะส่งมอบของแก่ผู้รับของได้ต่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง ผู้ขนส่งจะส่งมอบของแก่ผู้รับของได้ต่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง ข้อ 9. บริษัท ไมโคร จำกัด สั่งซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากบริษัทแอล เอ จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 100 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 40,000 บาท โดยขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต กับธนาคารบางกอก จำกัด โดยมี ข้อตกลงว่าเมื่อบริษัทแอล เอ จำกัด ได้จัดส่งสินค้าลงเรือแล้วให้บริษัทแอล เอ จำกัด เรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากสาขา หรือธนาคารตัวแทนของธนาคารบางกอก จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกา และให้ธนาคารบางกอก จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง ต่อมาบริษัทแอล เอ จำกัด ได้ส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 100 เครื่องให้บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด ผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งให้แก่ธนาคารบางกอก จำกัด เมื่อเรือสินค้าของบริษัทไลน์เนอร์ จำกัด มาถึงท่าเรือกรุงเทพ บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด ได้ส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดให้แก่บริษัทไมโคร จำกัดไป โดยบริษัทไมโคร จำกัด ยังมิได้ชำระราคาสินค้าและรับโอนใบตราส่งจากธนาคารบางกอก จำกัด ธนาคารบางกอก จำกัด จึงเรียกร้องให้ บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด ชำระราคาคอมพิวเตอร์เครื่องละ 40,000 บาท บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด ปฏิเสธไม่ชำระโดยต่อสู้ว่าได้ส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ บริษัทไมโคร จำกัด ซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อไปแล้ว เป็นการส่งมอบที่ถูกต้อง จึงไม่ต้องรับผิดและหากจะต้องรับผิดก็ไม่เกินราคาเครื่องละ 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 อีกทั้งได้ส่งมอบให้แก่ บริษัทไมโคร จำกัด ไปเป็นเวลาหนึ่งปีหกเดือนแล้ว สิทธิเรียกร้องจึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของบริษัทไลน์เนอร์ จำกัด แต่ละข้อฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ กรณีนี้เป็นการรับขนของทางทะเลจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เมื่อ บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด ผู้ขนส่งออกใบตราส่งให้แก่ธนาคารบางกอก จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง และในขณะที่มีการส่งมอบสินค้า ธนาคารบางกอก จำกัด ก็ยังเป็นผู้รับตราส่งอยู่มิได้โอนใบตราส่งให้แก่ บริษัทไมโคร จำกัด หรือผู้ใด ซึ่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ใบตราส่ง หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล แสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแล หรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง” และมาตรา 28 บัญญัติว่า “เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อได้เวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือหาประกันให้ตามควร” ตามบทบัญญัติดังกล่าว บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบของที่ขนส่งให้แก่ผู้รับตราส่งเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่งแล้ว ดังนั้น เมื่อธนาคารบางกอก จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ การที่บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด ส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่บริษัทไมโคร จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้รับตราส่ง แม้จะเป็นผู้สั่งซื้อก็เป็นการส่งมอบที่มิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเล บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด จึงต้องรับผิดต่อธนาคารบางกอก จำกัด ผู้รับตราส่ง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2544, 3959/2545, 7633/2547) และเมื่อเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลจึงมิใช่เป็นกรณีที่ของที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายหรือส่งมอบล่าช้าตามมาตรา 39 ไม่อาจนำข้อจำกัด ความรับผิดตาม มาตรา 58 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ บริษัทไลน์เนอร์ จำกัด ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนในราคาสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ตามที่ธนาคารบางกอก จำกัด เรียกร้อง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2546) และไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 46 มาใช้บังคับได้ ต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2521, 6471/2541) ข้อต่อสู้ของบริษัทไลน์เนอร์ จำกัดทุกข้อฟังไม่ขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 3 "ในพระราชบัญญัตินี้ “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ “ผู้ขนส่งอื่น” หมายความว่า บุคคลซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของในสัญญารับขนของทางทะเล แต่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญานั้นแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง และให้หมายความรวมถึงบุคคลอื่นใดซึ่งผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการขนส่งของนั้นด้วย ไม่ว่าจะมีการมอบหมายช่วงกันไปกี่ทอดก็ตาม แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเล ให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล เช่น พิธีการเข้าเมืองพิธีการศุลกากร การนำร่อง การเข้าท่า การออกจากท่า การบรรทุกของลงเรือ การขนถ่ายของขึ้นจากเรือ หรือการส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่งเป็นต้น “ผู้ส่งของ” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งในสัญญารับขนของทางทะเล “ผู้รับตราส่ง” หมายความว่า (ก) บุคคลซึ่งมีชื่อระบุไว้ในใบตราส่งว่าเป็นผู้รับตราส่ง หรือผู้รับของสำหรับใบตราส่งที่ออกให้แก่บุคคลโดยนาม (ข) ผู้รับสลักหลังคนสุดท้าย สำหรับใบตราส่งที่ออกให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งหรือใบตราส่งที่ออกให้แก่บุคคลโดยนาม และไม่มีข้อห้ามการสลักหลังไว้ หรือ (ค) บุคคลซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับของ ในกรณีที่ไม่มีการออกใบตราส่งหรือมีการออกเอกสารที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น “ของ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ สัตว์มีชีวิต รวมทั้งภาชนะขนส่งที่ผู้ส่งของเป็นผู้จัดหามาเพื่อใช้ในการขนส่งด้วย “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น “สัญญารับขนของทางทะเล” หมายความว่า สัญญาที่ผู้ขนส่งรับขนของทางทะเลจากท่าหรือที่ในประเทศหนึ่งไปยังท่าหรือที่ในอีกประเทศหนึ่ง โดยคิดค่าระวาง “อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายอย่างใดที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง ซึ่งตามประเพณีในการขนส่งทางทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง และให้หมายความรวมถึงเงินที่ผู้ขนส่งจำเป็นต้องเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าระวางปกติ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการให้บริการของผู้ขนส่งเนื่องจากเหตุที่ผู้ขนส่งไม่อาจป้องกันได้ อันมีประเพณีในการขนส่งทางทะเลที่ผู้ขนส่งจะเรียกได้ เช่น การขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะคับคั่งของท่าเรือหรือที่ที่บรรทุกหรือขนถ่ายของ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างสกุลเป็นต้น “ใบตราส่ง” หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง" มาตรา 28 "เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือให้ประกันตามควร" มาตรา 39 "ภายใต้บังคับมาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 56 และมาตรา 58 ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของ สูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบชักช้า ถ้าเหตุแห่งการสูญหาย เสียหาย หรือการส่งมอบชักช้านั้นได้เกิดขึ้นในระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของ หรือตัวแทนผู้ส่งของหรือจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าต้นทางที่บรรทุกของลงเรือกำหนดให้ผู้ส่งของต้องมอบของที่จะขนส่งไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าวจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 " มาตรา 58 "ภายใต้บังคับมาตรา 60 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า ในกรณีที่คำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายได้ตามมาตรา 61 และปรากฏว่า ราคาของนั้นต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น ในกรณีที่มีการส่งมอบของชักช้า ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงสองเท่าครึ่งของค่าระวางแห่งของเฉพาะที่ส่งมอบชักช้า แต่รวมกันต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเล ในกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดทั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสามโดยมีหน่วยการขนส่งเดียวกันเป็นมูลแห่งความรับผิด ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง" มาตรา 46 " ภายใต้บังคับมาตรา 47 และมาตรา 48 สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของ หรือถ้าไม่มีการส่งมอบนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบตามมาตรา 41 (1) หรือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรตามมาตรา 41 (1)ให้เป็นอันขาดอายุความ" คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2544 โจทก์ผู้รับตราส่งฟ้องจำเลยผู้ขนส่งให้รับผิด เนื่องจากจำเลยมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534และสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องนำสินค้าที่รับขนไปส่งมอบให้แก่โจทก์และรับเวนคืนใบตราส่ง แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ กลับส่งมอบให้ผู้ซื้อโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนของทางทะเล แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะกล่าวอ้างมูลละเมิดมาด้วย แต่เมื่อจำเลยผิดสัญญารับขนของทางทะเลและโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดจากมูลผิดสัญญาได้ จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2540 และวันที่ 16มิถุนายน 2540 บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด ได้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ เพื่อสั่งสินค้าไม้แปรรูปจากผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย โดยโจทก์เป็นผู้รับตราส่งโจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ 2 ฉบับตามคำขอ และผู้ขายได้ส่งสินค้ามาทางเรือและส่งใบตราส่งกับเอกสารอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ โจทก์ได้จ่ายสินค้าให้แก่ผู้ขายไป 83,195.45 ดอลลาร์สหรัฐ และ 1,630,566.45 ริงกิต ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2540 โจทก์ตรวจสอบพบว่ามีการส่งสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือมาบตาพุด เมื่อวันที่11 เมษายน 2540 และวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 โดยมีจำเลยเป็นผู้ขนส่ง จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์หรือให้แก่บุคคลที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์โดยมีการเวนคืนใบตราส่งแต่จำเลยได้กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อด้วยการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2540 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 โดยมิได้มีการเวนคืนใบตราส่งและมิได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากโจทก์อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญารับขนของต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายมิได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าจากบริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด และไม่สามารถรับหรือโอนขายสินค้าให้แก่บุคคลอื่นจำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้ต้นเงินที่โจทก์จ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยโจทก์ขอคิดอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันฟ้องในอัตรา 37.5193 บาท ต่อ1 ดอลลาร์สหรัฐ และอัตรา 9.9673 บาท ต่อ 1 ริงกิต พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดวันที่ 18 เมษายน2540 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย449,614.93 บาท และ 2,017,071.85 บาท รวมเป็นเงินต้น19,373,780.03 บาท และดอกเบี้ย 2,466,686.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 21,840,466.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากเงินต้น 19,373,780.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า ผู้ซื้อขนถ่ายสินค้าออกจากระวางเรือของจำเลยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2540 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2540โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 17 เมษายน 2541 และวันที่ 23กรกฎาคม 2541 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 ขอให้ยกฟ้อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 21,840,466.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 19,373,780.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2540และวันที่ 16 มิถุนายน 2540 บริษัทยงสวัสดิ์ค้าไม้ จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ได้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ที่สำนักงานใหญ่เพื่อสั่งซื้อสินค้าไม้แปรรูปจากผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซียโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อผู้ขายได้จัดส่งสินค้าลงเรือแล้วให้ผู้ขายเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากสาขาหรือธนาคารตัวแทนของโจทก์ได้ ผู้ขายและผู้ซื้อตกลงมอบสินค้าทั้งหมด ใบตราส่ง กรมธรรม์ประกันภัยและเอกสารต่าง ๆ ให้แก่โจทก์หรือบุคคลที่โจทก์อนุญาตหากผู้ซื้อไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์มีสิทธินำสินค้าออกจำหน่ายนำเงินมาชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตได้ โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต2 ฉบับ ตามคำขอของผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายส่งสินค้าพร้อมเอกสารการส่งสินค้าพร้อมเอกสารการขนส่งให้โจทก์ โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าให้ผู้ขายจำนวน 83,195.45 ดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 และ1,630,566.45 ริงกิต ไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 จำเลยเป็นผู้ขนส่งตามใบตราส่งและโจทก์เป็นผู้รับตราส่ง เรือสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือมาบตาพุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 และวันที่ 23กรกฎาคม 2540 ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2540 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 มีการขนถ่ายสินค้าจากเรือและจำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง แต่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่งและมิได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากโจทก์ ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันนี้ต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 แต่ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2542 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด จึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 คดีนี้ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 และวันที่ 15 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันที่คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแต่ละฉบับสิ้นอายุ โจทก์ฟ้องคดีนี้ที่ศาลแพ่งธนบุรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 เกินกำหนด 1 ปีจึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้รับตราส่งฟ้องจำเลยในฐานะผู้ขนส่งให้รับผิด เนื่องจากจำเลยซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 และตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องนำสินค้าที่ตนเองรับขนไปส่งมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งและรับเวนคืนใบตราส่ง แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ กลับส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนของทางทะเลแม้ตามคำฟ้องโจทก์จะกล่าวอ้างมูลละเมิดมาด้วยแต่เมื่อฟังได้แล้วว่าจำเลยผิดสัญญารับขนของทางทะเลและโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดจากมูลผิดสัญญาได้กรณีจึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ในเรื่องการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตา 448 มาใช้บังคับ ดังที่จำเลยอุทธรณ์ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดหรือไม่นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959/2545 พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่เข้าเป็นตัวการในการทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งด้วยตนเองในการจัดการขนส่งต่อเนื่องจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เข้าลักษณะเป็นผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า"ผู้ขนส่ง" หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเล เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่ามีการขนส่งหลายช่วง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งช่วงสุดท้ายแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่น ตามพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 หากผู้ขนส่งอื่นประพฤติผิดสัญญาขนส่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ขนส่งอื่นมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1โดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งอันเป็นการประพฤติผิดบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และ 28 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าที่ขนส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเที่ยวที่ตนรับขนส่งแก่โจทก์นับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไป โจทก์ฟ้องและแก้คำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน23,814.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน23,325,144.15 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมชำระเงินจำนวน 13,762,808.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 13,480,276.25 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 4 ร่วมชำระเงินจำนวน 10,051,205.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,844,867.90 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการเป็นตัวแทนเรือของบริษัทแปซิฟิกบริดจ์ เซอร์วิสเซส จำกัด เรียกชื่อย่อว่า บริษัทพีบีเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งทางทะเล มีสำนักงานอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง ก่อนการขนส่งสินค้าเที่ยวที่เกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ว่าจ้างบริษัทพีบีเอส จำกัด ให้ขนส่งสินค้าในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 10 เที่ยว ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของบริษัทพีบีเอส จำกัด ในการประสานงานกับโจทก์สำหรับกิจการที่ต้องทำในประเทศไทย การขนส่งสินค้าทั้งสิบเที่ยวดังกล่าว บริษัทพีบีเอส จำกัดปล่อยสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งและเอกสารการขนส่งซึ่งเป็นแนวการปฏิบัติของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง บริษัทพีบีเอส จำกัด และจำเลยที่ 3 จึงมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความเสียหายของโจทก์เป็นเงินจำนวนไม่ถึง 13,762,808.07 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เคยติดต่อขอชำระเงินค่าสินค้าแก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพื่อใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทยขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ทำการขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง หากแต่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 4 ได้รับการติดต่อจากบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ให้ทำการส่งสินค้าตามคำฟ้องจากท่าเรือแหลมฉบังไปให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ท่าเรือฮ่องกง จำเลยที่ 4 มีหน้าที่เพียงจองระวางเรือเพื่อการขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือฮ่องกงและออกใบตราส่งให้โจทก์เป็นหลักฐานระบุการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือซานเตา โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้รับตราส่ง มีหน้าที่ต้องจัดส่งสินค้าต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ณ เมืองซานเตาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน การออกใบปล่อยสินค้าเพื่อให้ผู้รับตราส่งไปรับสินค้าจากเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือซานเตาไม่อยู่ในอำนาจและความรับผิดของจำเลยที่ 4 ก่อนการขนส่งสินค้าเที่ยวที่เกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ว่าจ้างบริษัทพีบีเอส จำกัด ให้ขนส่งสินค้าในลักษณะและวิธีเดียวกันให้แก่จำเลยที่ 2 มาแล้ว 10 เที่ยว ซึ่งมีการปล่อยสินค้าโดยไม่มีใบตราส่ง ปกติทางการค้าของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 รับสินค้าไปก่อนแล้วชำระเงินภายหลังจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มิได้รับความเสียหายเป็นเงินถึงจำนวน10,051,205.54 บาท เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยติดต่อชำระเงินค่าสินค้าแก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทยขอให้ยกฟ้อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 10,189,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 9,980,276 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 ตุลาคม 2540)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 150,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่โต้แย้งกันว่า เมื่อวันเวลาตามคำฟ้อง โจทก์ทำสัญญาขายแผ่นฟิล์มหุ้มบรรจุภัณฑ์หลายชนิดให้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ส่งสินค้าดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 1 โดยการขนส่งทางทะเลด้วยเรือหมิง-แชมเปี้ยน เรือกัวฉิม และเรือกังเจนเมื่อส่งสินค้าไปถึงปลายทาง มีผู้รับสินค้าไปโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งให้แก่ผู้ขนส่งทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระค่าสินค้า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวทางทะเลหรือไม่ โจทก์มีนายวัลลภคุญานุกรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12 และ จ.16 และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ที่เมืองซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 4 เที่ยว โดยจำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้ามูลค่าจำนวน 13,480,276.25 บาทเป็นจำนวน 3 เที่ยว และจำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้ามูลค่าจำนวน 9,844,867.90 บาท เป็นจำนวน 1 เที่ยว เมื่อโจทก์ชำระค่าระวางบรรทุก จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ออกใบตราส่งและใบเสร็จรับเงินให้ ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12 และ จ.16 และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ส่วนจำเลยที่ 3 มีนายสมบูรณ์ วลีอิทธิกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มีนายมนูญ เฟืองการกล กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 4 เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของบริษัทพีบีเอส จำกัด ซึ่งอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และได้รับมอบหมายจากบริษัทพีบีเอส จำกัด ให้เป็นตัวแทนในการดูแลการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและต่อจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงไปยังประเทศสาธารณประชาชนจีน โดยทำหน้าที่ติดต่อกับโจทก์เพื่อจัดเตรียมตู้สินค้าให้โจทก์ใช้บรรจุสินค้าและกำหนดเวลาในการส่งสินค้าให้แก่โจทก์ รวมทั้งออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8 และ จ.12 เก็บค่าระวาง และออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.21 ส่วนจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายจากบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ซึ่งอยู่ที่ไต้หวันให้ดำเนินการต่าง ๆ ตามสำเนาโทรสารเอกสารหมาย ล.10 โดยให้ติดต่อกับโจทก์ จองระวางเรือ และจัดส่งสินค้าไปให้แก่จำเลยที่ 2 รวมถึงออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.16 เก็บค่าระวาง และออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.21 เห็นว่านายสมบูรณ์และนายมนูญต่างเบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างเป็นผู้ออกใบตราส่งให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8 และ จ.12เพื่อการบรรทุกสินค้ารวม 3 เที่ยว ส่วนจำเลยที่ 4 ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.16เพื่อการบรรทุกสินค้า 1 เที่ยว และต่างเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 และจ.21 เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อความต่าง ๆ ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8 และ จ.12ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งระหว่างโจทก์ผู้ส่งกับผู้ขนส่งที่โจทก์เข้าทำสัญญาด้วยแล้วจะเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นใบตราส่งที่ออกในนามจำเลยที่ 3 และที่ 4 อย่างแท้จริงและไม่มีข้อความใด ๆ ในเอกสารที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกใบตราส่งแทนผู้ใดสำหรับใบตราส่งเอกสารหมาย จ.16 ก็ระบุชัดว่าเป็นการออกในฐานะผู้ขนส่ง นอกจากนี้ใบตราส่งทั้งหมดดังกล่าวเป็นใบตราส่งสำหรับการขนส่งต่อเนื่อง (combined transport)ซึ่งผู้ขนส่งตามใบตราส่งดังกล่าวตกลงรับจัดการขนส่งนับแต่เวลาที่ได้รับสินค้าไว้ที่ลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบสินค้าที่ลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ใช่เพียงตกลงรับจัดการขนส่งเฉพาะในช่วงจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือฮ่องกงตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.10 แผ่นที่ 27, 39, 43 และใบตราส่งเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งที่จำเลยที่ 3 และที่ 4ทำกับสายการเดินเรือเพื่อให้ทำการขนส่งสินค้าตามคำฟ้องจากท่าเรือแหลมฉบังไปจนถึงท่าเรือฮ่องกงก็เจือสมกับใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12 และ จ.16 เพราะปรากฏตามใบตราส่งดังกล่าวว่าเพื่อให้การดำเนินการตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12และ จ.16 ลุล่วงไป จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญากับสายการเดินเรือให้ทำการขนส่งเฉพาะในช่วงท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือฮ่องกงในนามของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เอง โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ส่ง ไม่ได้ระบุว่าเป็นการทำสัญญาแทนบริษัทพีบีเอส จำกัดหรือบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด หรือแทนโจทก์ ทั้งตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.10แผ่นที่ 27, 39, 43 ยังระบุชื่อบริษัทพีบีเอส จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง ซึ่งสอดคล้องกันกับข้อความที่มุมล่างด้านซ้ายของใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8 และ จ.12 ที่ระบุว่าบริษัทพีบีเอส จำกัด เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งตามใบตราส่งดังกล่าว กับตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ก็เป็นหลักฐานที่แสดงอยู่ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินค่าระวางเอง โดยไม่ได้ระบุว่าออกไว้แทนผู้ใด ค่าระวางดังกล่าวเป็นค่าระวางตลอดเส้นทางจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังไปจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ไม่ใช่เป็นเพียงค่าระวางจากท่าเรือแหลมฉบังไปถึงท่าเรือฮ่องกง การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้างว่าการดำเนินการทั้งหมดจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับเพียงเงินค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนจากบริษัทพีบีเอส จำกัด และบริษัทแวกอนชิปปิ้งเอเยนซี่ จำกัด นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับรู้ด้วย จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับบริษัทดังกล่าวจะมีข้อตกลงกันเองอย่างไร จะแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร ในลักษณะใดเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับบริษัทนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับความผูกพันของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ทำไว้กับโจทก์ ซึ่งในเรื่องนี้นายมนูญเองก็เบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 4 และบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ประกอบธุรกิจร่วมกันโดยเป็นตัวแทนของกันและกันมีบางกรณีที่บริษัทดังกล่าวดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 ทั้งตามสำเนาโทรสารของบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ที่มีถึงจำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย ล.1 ก็ปรากฏว่าเงินค่าระวางที่จำเลยที่ 4 เก็บมาจากโจทก์ บริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด จะเรียกเก็บจากจำเลยที่ 4 จำนวน 35 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตู้สินค้า เพื่อให้แก่บริษัทแวกอนชิปปิ้งเอเยนซี่ จำกัด และตัวแทนที่เมืองซานเตาเป็นค่าส่วนแบ่งกำไร ไม่ใช่เป็นเพียงค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนการเป็นตัวแทน นอกจากนั้นนายสมบูรณ์และนายมนูญต่างเบิกความรับว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประกอบธุรกิจคล้ายกัน โดยเฉพาะนายมนูญเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3และที่ 4 ตามที่ปรากฏจากพยานหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าดำเนินการติดต่อและตกลงกับโจทก์ในฐานะเป็นตัวการในการจัดการขนส่งต่อเนื่องจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีบริษัทพีบีเอส จำกัด และบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ร่วมในการจัดการขนส่งหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในการดำเนินการขนส่งสินค้าบางช่วง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 จึงเข้าลักษณะเป็นผู้ขนส่ง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า "ผู้ขนส่ง" หมายความว่า"บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ" แม้จำเลยที่ 4 จะมีนายอุทัย แซ่เกา นางสุณี เอกธีรจิตต์และนายปกรณ์ กังวาลสิงหนาท เป็นพยานเบิกความประกอบสำเนาโทรสาร 2 ฉบับเอกสารหมาย ล.12 และ ล.16 ว่าโจทก์น่าจะทราบจากการแจ้งของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อสินค้า ไม่ได้มีอาชีพประกอบกิจการขนส่งทางทะเล และจำเลยที่ 4 ไม่มีเรือเดินทะเลเป็นของตนเอง จึงอาจทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่ง แต่จากพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ที่ติดต่อกับโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแสดงชัดว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ประกอบการขนส่งที่เข้าเป็นตัวการในการทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งด้วยตนเอง หาใช่ตัวแทนผู้ขนส่งดังที่จำเลยที่ 1 เข้าใจไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องทางทะเลอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12 และ จ.16ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งทางทะเลระบุว่าเป็นการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทยไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่ามีการขนส่งหลายช่วง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งช่วงสุดท้าย แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่น ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 หากผู้ขนส่งอื่นประพฤติผิดสัญญาขนส่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ขนส่งอื่นมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1โดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งอันเป็นการประพฤติผิดบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และ 28 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้ชำระราคาสินค้าที่ขนส่ง ถือได้ว่าเป็นการผิดสัญญาขนส่งต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเที่ยวที่ตนรับขนส่งโดยต้องชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์นับแต่วันผิดสัญญา ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าผู้ขนส่งอื่นเคยส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่เวนคืนใบตราส่งก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้ว ก็ไม่อาจถือว่าผู้ขนส่งอื่นมิได้ประพฤติผิดบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในการขนส่งครั้งที่เกิดเหตุเป็นคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ อนึ่ง สำหรับเงินประกันความเสียหายจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยที่ 1 วางประกันการทำสัญญาซื้อขายสินค้าตามคำฟ้องกับโจทก์ และจำเลยที่ 4 ขอให้นำมาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้นำมาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีสิทธิในเงินประกันความเสียหายดังกล่าว จึงจะขอให้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 จะต้องใช้แก่โจทก์หาได้ไม่ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 10,051,205.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 9,844,867.90 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองศาลโดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2547 จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาตามป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 1 มีกรรมการของบริษัท จำนวนและรายชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นบุคคลชุดเดียวกัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลและทำกิจกรรมแยกต่างหากจากกันโดยจำเลยที่ 1 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งในทวีปเอเชีย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในใบตราส่งแทนจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลร่วมกับจำเลยทที่ 3 ใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 3 ออกให้แก่โจทก์ระบุว่า ผู้รับตราส่งคือตามคำสั่งธนาคาร ค. จึงเป็นเงื่อนไขในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 รับที่จะส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่ธนาคาร ค. หรือตามคำสั่งของธนาคาร ค. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนใบตราส่งแล้ว บริษัทผู้ซื้อจะเรียกให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบสินค้าให้แก่ตนได้ต่อเมื่อบริษัทผู้ซื้อได้ชำระราคาสินค้าให้แก่ธนาคาร ค. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง และธนาคาร ค. สลักหลังโอนส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อ เพื่อบริษัทผู้ซื้อจะได้นำใบตราส่งมาเป็นหลักฐานแลกรับเอาสินค้าจากจำเลยที่ 3 อันเป็นวิธีปฏิบัติในการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศ การที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่บริษัทผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนใบตราส่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องร่วมกันชำระราคาสินค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,051,443.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,051,443.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 มีนาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการของบริษัท จำนวนและรายชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นบุคคลเดียวกัน และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เดียวกัน จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ส่งสินค้าประเภทอาหารทะเลแช่แข็งจำนวน 1,609 กล่อง มูลค่า 1,051,443.81 บาท ไปจำหน่ายให้แก่บริษัทแปซิฟิคริมซีฟู้ด จำกัด ผู้ซื้อ ที่เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งทางเรือตามใบกำกับสินค้า ใบกำกับหีบห่อและใบตราส่งซึ่งประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุว่าในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งกับระบุรับตราส่งคือ ตามคำสั่งธนาคารคาเธ่ย์ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางแล้ว บริษัทผู้ซื้อได้รับมอบสินค้าของโจทก์จากจำเลยที่ 3 ไปโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่ง ธนาคารคาเธ่ย์จึงได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการขอรับสินค้ารวมทั้งใบตราส่งคืนโจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศเข้าทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 3 และต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น นายสมเกียรติ อภิรูปากร พยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโจทก์เบิกความยืนยันว่า ในการว่าจ้างให้ทำการขนส่งครั้งพิพาทนี้ จำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญากับโจทก์แทนจำเลยที่ 3 และในใบตราส่งก็ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของบริษัทจำเลยที่ 3 ส่วนนายสาวิตร ลีฬหาชีวะ พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 1 มีกรรมการของบริษัท จำนวนและรายชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นบุคคลชุดเดียวกัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลและทำกิจการแยกต่างหากจากกัน โดยจำเลยที่ 1 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งในทวีปเอเชีย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในใบตราส่งแทนจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลร่วมกับจำเลยที่ 3 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในกรณีที่โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว การที่บริษัทผู้ซื้อไม่ไปรับใบตราส่งจากธนาคารคาเธ่ย์มิใช่เงื่อนไขในสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยที่ 3 จึงมิได้ประพฤติผิดสัญญารับขนของทางทะเลนั้น เห็นว่า ตามใบตราส่งอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลปรากฏว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2539 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำพระราชบัญญัติการขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 3 บัญญัติว่า “ใบตราส่ง” หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล แสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้วและผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง มาตรา 28 บัญญัติว่า เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อได้เวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือหาประกันให้ตามควร ปรากฏว่าใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 ออกให้แก่โจทก์ระบุว่าผู้รับตราส่งคือ ตามคำสั่งธนาคารคาเธย์ จึงเป็นเงื่อนไขในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 รับที่จะส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่ธนาคารคาเธ่ย์หรือตามคำสั่งของธนาคารคาเธ่ย์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ไว้เวนคืนใบตราส่งแล้ว บริษัทผู้ซื้อจะเรียกให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบสินค้าให้แก่ตนได้ต่อเมื่อบริษัทผู้ซื้อได้ชำระราคาสินค้าให้แก่ธนาคารค่าเธ่ย์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง และธนาคารคาเธ่ย์สลักหลังโอนส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อ เพื่อบริษัทผู้ซื้อจะได้นำใบตราส่งมาเป็นหลักฐานแลกรับเอาสินค้าจากจำเลยที่ 3 อันเป็นวิธีปฏิบัติในการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ การที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่บริษัทผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนใบตราส่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระราคาสินค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้เงินตามฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 ได้ทราบจากจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์ได้รับชำระราคาสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างข้อเท็จจริงมาในคำฟ้องฎีกาลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานการชำระเงินค่าสินค้ามาแสดง ทั้งโจทก์ยื่นคำแก้ฎีกายืนยันว่า โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลเพราะเหตุโจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าแล้ว หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อเท่าใดโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะรับชำระราคาสินค้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 อีกทางหนึ่ง จึงเห็นสมควรกำหนดไว้ในคำพิพากษาสำหรับกรณีที่โจทก์ได้รับชำระราคาสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อด้วย” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อเท่าใด ก็ให้คำนวณเป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วหักออกจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่คำนวณถึงวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2521 จำเลยตัวแทนของบริษัท บี. ซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศรับจ้างขนส่งสินค้าของโจทก์ทางทะเล เพื่อส่งให้แก่บริษัท เอ. ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในใบตราส่งระบุให้ธนาคาร เอ็ม. เป็นผู้รับใบตราส่งเมื่อสินค้าไปถึงท่าเรือปลายทางบริษัท บี. ได้มอบสินค้าให้แก่ตัวแทนบริษัท เอ. ไปโดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่ง และบริษัท เอ. ก็มิใช่ผู้รับใบตราส่งหรือผู้ทรงใบตราส่ง เช่นนี้ แม้ผู้รับสินค้าจะได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาค้ำประกันในการรับสินค้าไป การส่งมอบสินค้าดังกล่าวของบริษัท บี.ก็ยังเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ เมื่อตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศมิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งหรือทรงใบตราส่งโดยชอบ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศย่อมต้องรับผิดตามสัญญารับขนแต่ลำพังตนเอง กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มีการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีผิดสัญญารับขนทางทะเลจึงใช้อายุความ 10 ปี โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานะตัวแทนของบริษัทเดินเรือทะเลบาร์เบอร์ไลน์เอ เอส คาเรีย ซึ่งมีสำนักงานอยู่ต่างประเทศ ได้รับขนเสื้อผ้า 36 หีบ ราคา 1,521 เหรียญสหรัฐของโจทก์ จากกรุงเทพไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเรือเดินทะเล เพื่อส่งให้แก่บริษัทแมนูแฟคเจอร์เรอร์ แฮนโนเวอร์ทรัสท์ จำกัด หรือตามคำสั่ง โจทก์ได้นำใบตราส่งที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ในฐานะตัวแทน พร้อมด้วยตั๋วแลกเงินตามจำนวนมูลค่าของสินค้าและใบกำกับสินค้าส่งมอบแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เพื่อเรียกเก็บเงินค่าสินค้าแทนโจทก์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ได้ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้บริษัทแมนูแฟคเจอร์เรอร์ แฮนโนเวอร์ทรัสท์ จำกัด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกเก็บเงินจากบริษัทอาดอเรนท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าอีกต่อหนึ่ง แต่ปรากฏว่า เมื่อผู้ขนส่งได้ขนส่งสินค้าถึงปลายทางแล้ว ตัวแทนของผู้ขนส่งกลับมอบสินค้าดังกล่าวให้ผู้อื่นรับไปโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่ง และมิใช่เป็นการส่งมอบตามคำสั่งของบริษัทแมนูแฟคเจอร์เรอร์ แฮนโนเวอร์ทรัสท์ จำกัด เป็นการผิดสัญญาขนส่ง เป็นเหตุให้บริษัทอาดอเรนท์ จำกัด ไม่ยอมจ่ายเงิน โจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ แต่จำเลยผัดเรื่อยมา ค่าสินค้า 1,521 เหรียญสหรัฐคิดเป็นเงินไทย 31,104.45 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ส่งสินค้ารายพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องได้มีการแก้ไขใบตราส่งตามที่โจทก์ขอ แต่บริษัทเดินเรือทะเลบาร์เบอร์ไลน์ได้ปฏิบัติตามใบตราส่งที่ส่งไปกับเรือซึ่งยังไม่มีการแก้ไข และได้มีการมอบสินค้าให้แก่ตัวแทนของบริษัทอาดอเรนท์ จำกัด ไปแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ผิดสัญญา พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญา จึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับให้จำเลยใช้เงินค่าสินค้า 31,104.45 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นตัวแทนบริษัทบาร์เบอร์ไลน์จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ทำการรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลจำเลยรับจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าเสื้อสตรีรวมราคา 1,520 เหรียญสหรัฐ โดยนำบรรทุกเรือเดินทะเลของบริษัทบาร์เบอร์ไลน์ จำกัด ไปส่งให้แก่บริษัทอาดอเรนท์ จำกัด ผู้ซื้อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อสินค้าถึงท่าเรือปลายทางบริษัทบาร์เบอร์ไลน์ จำกัด ได้มอบสินค้าให้แก่บริษัทอาดอเรนท์ จำกัดไปโดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่ง บริษัทอาดอเรนท์ จำกัด มิใช่ผู้รับตราส่งหรือผู้ทรงใบตราส่ง แม้จะได้นำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารมาค้ำประกันในการรับสินค้าไป ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิด เป็นเรื่องที่ฝ่ายจำเลยจะต้องไปเรียกร้องเอากับธนาคารผู้ค้ำประกัน การที่บริษัทบาร์เบอร์ไลน์ จำกัด มอบสินค้าให้ตัวแทนบริษัทอาดอเรนท์ จำกัด รับไปจึงเป็นการไม่ชอบและผิดสัญญาต่อโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่าความรับผิดของจำเลยในฐานะตัวแทนสิ้นสุดลงเมื่อเรือบรรทุกสินค้าถึงท่าเรือปลายทาง โจทก์ชอบที่จะฟ้องบริษัทบาร์เบอร์ไลน์ จำกัด ตัวการซึ่งปฏิบัติผิดสัญญาขนส่งนั้น เห็นว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญารับขนส่งกับโจทก์แทนบริษัทบาร์เบอร์ไลน์ จำกัด ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง ตราบใดที่จำเลยยังมิได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งหรือผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบ ความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์ก็ยังไม่หมดสิ้นไป ปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสองบัญญัติว่า "รับขนของทางทะเลท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น" แต่กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศไทยว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มี ดังนั้น การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ผู้ขนส่งทางทะเลไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 31,104.45 บาท แต่นำสืบว่าเสียหายเป็นเงิน 30,920.40 บาท ศาลพิพากษาให้เท่าค่าเสียหายที่แท้จริง พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้เงิน 30,920.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2541 บรรดาหน้าที่และความรับผิดอันเกิดจากการซื้อขายสินค้ามีผลบังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายกับบริษัทอ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อ หามีผลใด ๆ เกี่ยวข้องถึงจำเลยซึ่ง เป็นผู้รับขนไม่ โจทก์จำเลยทำสัญญารับขนของกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2534 ซึ่งขณะนั้น พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังมิได้ใช้บังคับ กรณีจำต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม มาตรา 4 ซึ่งมาตรา 612 และ 613 ได้บัญญัติ ถึงรูปแบบและเหตุที่ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งไว้ทั้งนี้ หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งเสมอไป แต่หากเมื่อใดที่มีการทำใบตราส่งให้แก่กันแล้วจะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอย่างชัดแจ้งว่า ผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกันจึงจะรับของไปได้ ซึ่งจะเป็นไปตาม มาตรา 615 ที่บัญญัติว่า ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กันท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งหรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ออกใบตราส่งให้แก่โจทก์ และจำเลยได้ส่งสินค้ารายนี้ให้แก่บริษัทอ.แล้วโดยบริษัทอ.ไม่ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลย หรือให้ประกันตามควร อีกทั้งไม่มีคำสั่งของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 615จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ส่งสินค้าเรียกให้จำเลยผู้รับขนรับผิด เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขน ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่บริษัทอ.ผู้ซื้อโดยที่บริษัทดังกล่าวไม่ได้เวนคืนใบตราส่ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะคู่สัญญาให้ใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์มิได้ฟ้องในข้อความรับผิดของจำเลยในการที่ของสูญหายหรือบุบสลาย หรือส่งล่าช้า แต่เป็นการฟ้องว่าจำเลย ปฏิบัติผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624แต่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาสินค้ากับดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน2,322,512.39 บาท กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,063,827.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้กระทำผิดสัญญาเพราะจำเลยรับจ้างขนสินค้าพิพาทจากโจทก์เพื่อนำไปส่งมอบให้แก่บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัด ผู้รับตราส่งที่ประเทศโปแลนด์ซึ่งบริษัทไอเอฟบี อินเตอร์เนชั่นแนล เฟรทบริดจ์ (ด๊อยซ์แลนด์)เอ.เอ็ม.เบ.อา. จำกัด ตัวแทนของจำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อยและถูกต้องครบถ้วนแล้วสัญญารับขนไม่มีข้อกำหนดว่าจำเลยจะต้องได้รับคำสั่งจากโจทก์ก่อน จึงจะส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งได้เหตุที่จำเลยส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง โดยไม่มีใบตราส่งเพราะใบตราส่งมีข้อผิดพลาด บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัดผู้รับตราส่งจึงส่งคืนให้โจทก์แก้ไข แต่โจทก์ไม่ส่งกลับคืนไปยังผู้รับตราส่ง ซึ่งถือว่าโจทก์ครอบครองใบตราส่งแทนผู้ซื้อเท่านั้นหากโจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าก็ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาจากบริษัทผู้ซื้อ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญารับขนขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ประเด็นพิพาทที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาก็คือจำเลยผิดสัญญาหรือไม่โดยที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีอ้างเรื่องที่บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัด คืนใบตราส่งมาให้โจทก์เป็นข้อสำคัญประการหนึ่งเพื่อแสดงว่าตนมิได้ผิดสัญญานั้น เห็นว่าบรรดาหน้าที่และความรับผิดอันเกิดจากการซื้อขายสินค้ามีผลบังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายกับบริษัทอินเตอร์-สแตนจำกัด ซึ่งเป็นผู้ซื้อเท่านั้น หามีผลใด ๆ เกี่ยวข้องถึงจำเลยไม่สำหรับโจทก์และจำเลยนั้นชอบที่จะต้องมีหน้าที่และความรับผิดต่อกันซึ่งเกิดจากการที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าให้อันเป็นมูลคดีนี้ เนื่องจากโจทก์จำเลยทำสัญญารับขนของกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2534 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 ยังมิได้ใช้บังคับ กรณีจำต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 612 และ 613 ได้บัญญัติถึงรูปแบบและเหตุที่ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งไว้ ทั้งนี้หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บังคับให้ต้องทำใบกำกับของและใบตราส่งเสมอไป แต่หากเมื่อใดที่มีการทำใบตราส่งให้แก่กันแล้วจะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอย่างชัดแจ้งว่าผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกันจึงจะรับของไปได้ซึ่งจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 615ที่บัญญัติว่า "ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กัน ท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่ง หรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร" ดังนั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายนำสืบต้องตรงกัน ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์และจำเลยได้ส่งสินค้ารายนี้ให้แก่บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัดแล้ว โดยบริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัด ไม่ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลย หรือให้ประกันตามควรแต่อย่างใดอีกทั้งไม่มีคำสั่งของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง เห็นได้ว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 615จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา สำหรับประเด็นพิพาทที่เหลือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำวินิจฉัยใด ๆ เพื่อมิให้คดีล่าช้าเกิดความเสียหายแก่คู่ความ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นพิพาทที่เหลือให้เสร็จสิ้นไป ดังนี้ ประเด็นพิพาทข้อ 2. ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ส่งสินค้าเรียกให้จำเลยผู้รับขนรับผิด เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขน ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่บริษัทอินเตอร์-สแตน จำกัด โดยที่บริษัทดังกล่าวไม่ได้เวนคืนใบตราส่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะคู่สัญญาให้ใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญา เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประเด็นพิพาท ข้อ 3. ที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องในข้อความรับผิดของจำเลยในการที่ของสูญหายหรือบุบสลาย หรือส่งล่าช้า แต่เป็นการฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 คงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ประเด็นพิพาท ข้อ 5. ที่ว่าสินค้าพิพาทมีราคาเท่าใด และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ จำเลยนำสืบว่าราคาดังกล่าวไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเป็นราคาที่ถูกต้องหรือไม่ประกอบกับสินค้าพิพาทเป็นประเภทเสื้อผ้ากรณีไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 ที่จะให้จำเลยรับผิดเพียงไม่เกินราคาที่บอกไว้ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ราคาสินค้าพิพาทตามเอกสารหมาย ล.4 หาใช่ราคาที่แท้จริงไม่ ซึ่งราคาสินค้าพิพาทที่แท้จริงนั้น มีจำนวน 80,618.25ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2,063,827.20 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.60 บาท) ดังที่โจทก์อ้าง โดยที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทให้เป็นอันดับแรก หากคืนให้ไม่ได้จึงขอให้ชดใช้ราคาสินค้าพิพาทแทน ทั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามขอภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 ปรากฏรายละเอียดตามหนังสือเรื่องขอให้ลูกความของท่านคืนสินค้าหรือหากคืนสินค้าไม่ได้ ก็ขอให้ชดใช้ราคาสินค้า เอกสารหมาย จ.14 ฉะนั้นเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติใด ๆ ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวกรณีถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในส่วนที่เป็นหนี้เงิน คือราคาสินค้าพิพาทในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีหาใช่ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังที่โจทก์ขอมาเพราะโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่ทำให้เรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 และให้คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2536 หาใช่ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2534ดังที่โจทก์ขอมาไม่เช่นกัน พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทแก่โจทก์หากคืนให้ไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 2,063,827.20 บาท(สองล้านหกหมื่นสามพันแปดร้อยยี่สิบเจ็ดบาทยี่สิบสตางค์) พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
|