

ผลที่ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ผลที่ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ข้อ 5. นายทรัพย์ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท จากนายมั่น มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี โดยมีนายสินเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ในการทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน นายทรัพย์ได้เขียนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันต่อท้ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้นายมั่นไว้ด้วยลายมือของตนเอง นายสินลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน แต่นายทรัพย์ลืมลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แต่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เขียนในหนังสือสัญญาค้ำประกัน ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวนายสินตกลงยอมให้นายมั่นผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่นายทรัพย์ได้ แต่จะต้องแจ้งให้นายสินทราบเป็นหนังสือโดยพลัน เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายมั่นยินยอมให้นายทรัพย์ชำระหนี้ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่นั้น โดยนายมั่นมิได้แจ้งให้นายสินทราบเป็นหนังสือตามที่กำหนดไว้ในสัญญาค้ำประกัน ให้วินิจฉัยว่า นายมั่นจะฟ้องเรียกร้องให้นายทรัพย์และนายสินรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ สำหรับนายสินผู้ค้ำประกัน เมื่อนายสินตกลงด้วยในการผ่อนเวลาและการตกลงดังกล่าวสามารถทำล่วงหน้าได้ ทั้งข้อตกลงที่ให้นายมั่นต้องแจ้งการผ่อนเวลาให้นายสินทราบเป็นหนังสือโดยพลันนั้น เป็นเพียงรายละเอียด มิใช่เงื่อนไขที่ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเสียไปแม้จะไม่มีการปฏิบัติ นายสินก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700 วรรคสอง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2546) นายมั่นจึงฟ้องเรียกให้นายทรัพย์และนายสินรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว " มาตรา 700 "ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนด แน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด แต่ถ้าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ท่านว่าผู้ค้ำประกัน หาหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ " คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2506 การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทที่มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญนั้น จะฟ้องร้องผู้กู้ให้บังคับคดีไม่ได้เท่านั้นไม่ได้หมายความเลยไปว่า หนี้แห่งการกู้ยืมจะเป็นโมฆะไปด้วยยังคงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ที่อาจมีการค้ำประกันได้ตามมาตรา 681 การที่ผู้กู้เป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันทำให้ไว้แก่ผู้ให้กู้ มีข้อความแสดงว่าผู้กู้เป็นผู้กู้เงินของผู้ให้กู้ไป และผู้กู้ได้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เขียนด้วยนั้นถือได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามความหมายของมาตรา 653 แล้ว โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2504 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 6,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันถึงกำหนดทวงถามแล้วก็ไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับ จำเลยที่ 1, 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้เงิน และไม่ได้ทำสัญญากู้ให้แก่โจทก์ ความจริงมีว่า จำเลยที่ 1 จะขอกู้เงินโจทก์ 6,000 บาท โดยจะให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยที่ 2 ติดธุระจึงลงชื่อในสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ยึดถือไว้ก่อน โดยที่ยังมิได้มีการกู้เงินกัน แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 ออกจากบ้านจำเลยที่ 2 ไป โดยโจทก์อ้างว่าต้องไปเอาเงินจากผู้มีชื่อมาให้จำเลยที่ 1 กู้ ไปถึงบ้านผู้มีชื่อ โจทก์บอกว่ายังเอาเงินไม่ได้โจทก์ขอผัดจะนำเงินกู้มาให้จำเลยที่ 1ในวันหลัง จำเลยที่ 1 จึงไม่ยอมลงชื่อในสัญญากู้ ต่อมาโจทก์ขอผัดเรื่อย ๆ ในที่สุดก็มิได้มีการกู้กัน จำเลยที่ 2 เคยขอสัญญาค้ำประกันคืน แต่โจทก์บอกว่า สัญญาค้ำประกันไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้มีการกู้เงินทั้งโจทก์ฉีกแล้ว เมื่อไม่มีการกู้เงินกัน สัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ก็ไร้ผล ขอให้ยกฟ้อง ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีสอบถามโจทก์จำเลยแล้ว มีคำสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องเป็นการกู้ยืมเงินกว่า 50 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ยืมไว้ จะฟ้องร้องให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดใช้เงินไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันก็ตาม เมื่อหนี้ที่โจทก์อ้างและจำเลยที่ 2 ค้ำประกันนั้นไม่มีทางบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงนามเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ แต่จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เขียนในสัญญาค้ำประกัน ความในสัญญาค้ำประกันระบุว่า "ฯลฯ ในจำนวนเงินหกพันบาทถ้วนซึ่งนายหนู (จำเลยที่ 1)ผู้กู้ได้ทำสัญญากู้เงินของท่าน (โจทก์) ไปนั้นเป็นข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เขียนเอง ข้อความนี้แสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 6,000 บาท และจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับรู้ข้อความนั้น จึงต้องถือว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามความในมาตรา 643 แล้ว โจทก์ย่อมฟ้องได้ส่วนจำเลยที่ 2 จะรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ต้องอาศัยผลการวินิจฉัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 ยังมีข้อต่อสู้กับโจทก์อีก จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ จำเลยที่ 1, 2 ฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ได้ความตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่าเอกสารสัญญากู้นั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ไว้ในสัญญา ส่วนสัญญาค้ำประกันนั้น จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกัน โดยลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เขียนและพยาน เอกสารสัญญากู้และค้ำประกันอยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกันแต่คนละหน้า ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้นั้น ตามมาตรา 653 บัญญัติแต่เพียงว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 หาได้ไม่เท่านั้น ไม่ได้หมายความเลยไปว่า หนี้แห่งการกู้ยืมหากมีจริงจะเป็นโมฆะไปด้วย และหนี้ที่ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ดังกล่าว ก็ยังเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ที่อาจจะมีการค้ำประกันกันได้ตามมาตรา 681 ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกันอันมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินของโจทก์ไปนั้น เป็นข้อความแสดงแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นแต่ผู้เขียนเท่านั้น ไม่ควรหมายความเลยไปว่าจำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้กู้เงินของโจทก์ไปด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 มิได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืม เป็นหลักฐานในเอกสารนั้น หากโจทก์มีหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งอันอาจแสดงความเป็นหนี้ลงลายมือชื่อลูกหนี้มาอ้างแล้ว ก็ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามมาตรา 653 ได้ คดีนี้จำเลยที่ 1 ได้เขียนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำให้ไว้กับโจทก์ และมีข้อความแสดงถึงว่า จำเลยที่ 1 เองเป็นผู้ได้กู้เงินของโจทก์ไป และจำเลยที่ 1 ก็ได้ลงลายมือชื่อผู้เขียนไว้ด้วยเช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่า เอกสารที่จำเลยที่ 1 เขียนนั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามความหมายของมาตรา 653 ได้แล้ว ซึ่งโจทก์อาจใช้สิทธินำเอกสารนี้มาฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ได้สรุปแล้ว มีประเด็นเนื่องจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า ไม่ได้กู้เงินโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกระบวนความ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีนี้ใหม่ชอบแล้ว พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396/2540 สัญญาค้ำประกันฉบับพิพาทในช่องผู้ค้ำประกันมีชื่อจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ และมีข้อความระบุไว้อยู่เหนือลายมือชื่อว่า ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันกู้เงินให้แก่ มีข้อสัญญาดังแจ้งต่อไปนี้ ซึ่ง ผู้กู้ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินของท่านไปเมื่อวันที่ เดือน พ.ศ.นั้น ถ้า ล้มตายเสียก็ดี หลบหนีหายไปเสียก็ดีหรือมีตัวอยู่ก็ดี ท่านจะเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยแก่ไม่ได้ โดยเหตุประการใด ๆ ก็ดี ข้าพเจ้าผู้ค้ำประกันยอมใช้ต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่น ๆ ให้แก่ท่านตามที่ได้ทำสัญญาไว้ให้แก่ท่านจนครบ ทันใดนี้ผู้เขียนสัญญาได้อ่านข้อสัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจโดยละเอียดตลอดทุกข้อแล้วข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานผู้อยู่พร้อมกัน ณ ที่นี้ ข้อความดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกันแต่อยู่คนละหน้าต่อจากหนังสือสัญญากู้เงินที่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้ยืมคือจำเลยที่ 1เป็นสำคัญ ข้อความดังกล่าวอ่านแล้วเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 60,962 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ได้มรณะ แต่โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อในช่องผู้ค้ำประกันปรากฏว่ามีชื่อจำเลยที่ 2ได้ลงลายมือชื่อไว้ตามหนังสือค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2และมีข้อความระบุไว้อยู่เหนือการลงลายมือชื่อว่า ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันกู้เงินให้แก่ มีข้อสัญญาดังแจ้งต่อไปนี้ ซึ่งผู้กู้ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินของท่านไปเมื่อวันที่ เดือน พ.ศ.นั้น ถ้าล้มตายเสียก็ดี หลบหนีหายไปเสียก็ดี หรือมีตัวอยู่ก็ดี ท่านจะเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยแก่ไม่ได้โดยเหตุประการใด ๆ ก็ดีข้าพเจ้าผู้ค้ำประกันยอมใช้ต้นเงิน ดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น ๆให้แก่ท่านตามที่ ได้ทำสัญญาไว้ให้แก่ท่านจนครบ ทันใดนี้ผู้เขียนสัญญาได้อ่านข้อสัญญาให้ข้าพเจ้าเข้าใจโดยละเอียดตลอดทุกข้อแล้ว ข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานผู้อยู่พร้อมกัน ณ ที่นี้ ข้อความดังกล่าวทั้งหมดเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกัน แต่อยู่คนละหน้าต่อจากหนังสือสัญญากู้เงินที่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมคือจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญ ข้อความดังกล่าวอ่านแล้ว เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ครบกำหนดชำระเงินตามวันแห่งปฏิทินแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 60,962 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 จนกว่าได้ชำระเสร็จ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2546 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 ทำความตกลงกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่บริษัทโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกค้า แต่โจทก์จะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยพลัน แสดงว่า จำเลยที่ 3 ได้ตกลงยินยอมในการผ่อนเวลาในการชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคสอง ส่วนข้อตกลงที่ให้โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบเป็นเพียงรายบละเอียดมิใช่เงื่อนไขที่ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเสียไปหากไม่มีการปฏิบัติ จำเลยที่ 3 ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2251/2539 ตามประกาศประกวดราคาของกรมทางหลวงโจทก์ ข้อ 3 กำหนดเพียงว่าโจทก์คาดว่าจะลงนามในสัญญากันได้ประมาณ 30 วัน นับจากวันเปิดซองประกวดราคา และตามข้อ 2 ระบุว่า หากว่าโจทก์มีความจำเป็นอันไม่อาจลงนามในสัญญาได้ตามกำหนดเวลาและจำต้องเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญาต่อไป ผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญายินยอมลงนามในสัญญาในระยะเวลาที่เลื่อนต่อไปไม่ถือกรณีเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญานี้เป็นข้อผิดสัญญาของโจทก์ประการใด กับในข้อ 4 ระบุว่าต้องยืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นับจากวันเปิดซองประกวดราคา ส่วนในข้อ 10ระบุอีกว่า โจทก์จะรับทำสัญญาผูกพันกับผู้ใดต่อเมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินสำหรับค่าของรายนี้แล้ว ดังนี้เห็นได้ว่าระยะเวลา 30 วัน เป็นระยะเวลาที่ประมาณไว้และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ หาได้กำหนดเป็นระยะเวลาแน่นอนที่ต้องลงนามในสัญญาไม่ และในกรณีที่จำต้องเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญา ผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญายินยอมลงนามในสัญญาในระยะเวลาที่เลื่อนต่อไปโดยไม่ถือการเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญาเป็นข้อผิดสัญญาของโจทก์ทั้งประกาศประกวดราคาก็กำหนดให้จำเลยที่ 1 ยืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยื่นใบประกวดราคายืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาดังกล่าวด้วย แสดงว่าการลงนามในสัญญาอาจเกินกว่า 30 วันได้แต่หากเกิน 120 วัน จำเลยที่ 1 ย่อมปฏิเสธที่จะขายในราคาที่เสนอและปฏิเสธการลงนามในสัญญาได้ การที่โจทก์ออกประกาศกำหนดให้ยื่นซองประกวดราคาภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2527 แต่โจทก์เพิ่งประกาศผลการประกวดราคาในวันที่ 6 กันยายน2527 และให้จำเลยมาทำสัญญากับโจทก์ภายใน 15 วัน คือภายในวันที่ 21 กันยายน2527 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อความในประกาศประกวดราคาและถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวโดยไม่ชอบ หรือไม่สุจริต ตามรายการสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์ที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ในปีงบประมาณ 2527 มีรวมทั้งหมด 19 สัญญา แต่มีสัญญาที่ลงนามกับโจทก์ในเดือนกันยายน 2527 จำนวน 10 สัญญา การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอราคาขายยางตามประกาศประกวดราคาซื้อพัสดุของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมทราบเงื่อนไขในประกาศประกวดราคาดังกล่าวดี และเมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นซองประกวดราคา จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันและพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศประกวดราคาเมื่อจำเลยที่ 1 ประกวดราคาได้รวมทั้งย่อมต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาที่ตนลงนามด้วย การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญากับโจทก์ และต้องลงนามในสัญญารวม 10 สัญญาในเดือนกันยายน 2527 เดือนเดียวกัน หาเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 จะนำมาอ้างว่าการส่งมอบยางเป็นพ้นวิสัยเพราะต้องส่งพร้อม ๆ กัน เป็นจำนวนมากได้ไม่ เพราะเป็นความสมัครใจของจำเลยที่ 1 เองที่เข้าเสนอราคากับโจทก์และยอมลงนามเป็นคู่สัญญากับโจทก์การที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจส่งมอบยางให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ตามสัญญาซื้อขายที่พิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและเบี้ยปรับมีข้อความว่า "ข้อ 8. เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกัน หรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7. เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรและถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวน หรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณีภายในกำหนดหกเดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาโดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้น ผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วย ข้อ 9. ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8. ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดหนึ่งห้า (0.15) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7. กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8. วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้" ดังนี้ถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาตามข้อ 8 ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 9 แต่ตามพฤติการณ์คดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขายไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญากล่าวคือ ส่งมอบยางแอสฟัลท์เพียงบางส่วนไม่ครบถ้วนไม่ตรงตามกำหนดเวลา และไม่ส่งมอบยางแอสฟัลท์ส่วนที่เหลือให้โจทก์อีกเลย โจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลท์ตามสัญญาซื้อขายภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2528 หากพ้นกำหนดจะพิจารณาบอกเลิกสัญญาและดำเนินการจัดซื้อใหม่ หากของแพงขึ้นจะเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายต่อไปโดยสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.15 ของราคายางแอสฟัลท์ที่ยังไม่ได้รับมอบและสงวนสิทธิการเรียกค่าเสียหายอันจะพึงมีขึ้น และจำเลยที่ 1 มีหนังสือขอผ่อนผันการส่งยางแอสฟัลท์ถึงวันที่ 25 กันยายน 2528 แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ไม่ประสงค์จะให้มีการบอกเลิกสัญญาโดยทันที หลังจากนั้นโจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2528 โดยระบุว่า จำเลยที่ 1ยังขาดส่งยางแอสฟัลท์ตามสัญญาดังกล่าว รายการที่ 1-22 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1ผิดสัญญา โจทก์จึงขอบอกเลิกสัญญาโดยสงวนสิทธิที่จะเรียกและริบเงินประกันสัญญาและปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.15 ของราคายางแอสฟัลท์ที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาฉบับนี้ดังนี้ข้อความในหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 9 วรรคสอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินประกันกับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาของที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งค่าปรับจากจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนถึงวันบอกเลิกสัญญา ตามหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ เป็นเงินไม่เกิน 200,321 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับและหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนให้ทันที โดยมิต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน ไม่มีข้อจำกัดความรับผิดไว้ว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเพียงร้อยละ 5 ของจำนวนเงินค่าซื้อยางแอสฟัลท์ที่โจทก์ยังไม่ได้รับทั้งตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็มีข้อความว่าหลักประกันที่จำเลยที่ 1นำมามอบไว้ โจทก์จะคืนให้เมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว แสดงอยู่ในตัวว่าหนังสือค้ำประกันที่นำมาเป็นหลักประกันเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายทั้งหมดและตลอดไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะพ้นข้อผูกพันตามสัญญาซื้อขายดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกันและตามหนังสือค้ำประกันมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น เป็นการที่จำเลยที่ 2 ยินยอมด้วยล่วงหน้าในการที่หากจะมีการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 และถือว่าการที่โจทก์ผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่จำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 700 แม้จะมีข้อความตอนท้ายของหนังสือค้ำประกันระบุว่า โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น และการที่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องนี้ก็ตาม ข้อความตอนท้ายดังกล่าวก็มิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่าหากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาค้ำประกันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาไปแล้ว มิใช่ข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเบี้ยปรับที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224วรรคแรก โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล มีนายเสถียร วงศ์วิเชียรเป็นอธิบดี ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2527 โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อยางแอสฟัลท์ จากจำเลยที่ 1 น้ำหนัก 622 เมตริกตัน ในราคา 4,006,420 บาทกำหนดส่งมอบรายการที่ 1 ถึง 22 ณ แขวงการทางลพบุรี รายการที่ 23 ถึง 28 ณ แขวงการทางสระบุรี ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2527 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันเป็นประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ในวงเงิน 200,321 บาท เมื่อสัญญาครบกำหนด จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบยางแอสฟัลท์แก่โจทก์ จนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 1จึงได้ส่งมอบยางแอสฟัลท์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบตามสัญญาเพียง 6 รายการ คือรายการที่ 23 ถึง 28 โจทก์คิดค่าปรับรายวันอัตราร้อยละ 0.15 ของราคายางแอสฟัลท์ที่ส่งมอบล่าช้าดังกล่าวได้เป็นเงิน 9,660.13 บาท รวมกับค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน4,975.50 บาท หักออกจากราคายางแอสฟัลท์ที่โจทก์ได้รับคงเหลือเงินจำนวน482,914.37 บาท ซึ่งโจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนยางแอสฟัลท์ รายการที่ 1 ถึง 22จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์จึงได้มีหนังสือเตือนไปยังจำเลยที่ 1 โดยแจ้งสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับและค่าเสียหายอันจะพึงมีขึ้นตามสัญญา เมื่อครบกำหนดตามหนังสือแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1โจทก์ขอคิดค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 0.15 ของราคายางแอสฟัลท์ที่ไม่ได้ส่งมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาถึงวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญารวม 403 วัน เป็นเงินจำนวน 2,121,111.92 บาท และขอคิดค่าเสียหายจากการที่โจทก์ซื้อยางแอสฟัลท์จากผู้อื่นตามรายการที่ยังไม่ได้ส่งมอบ ซึ่งโจทก์ต้องชำระราคายางแอสฟัลท์เพิ่มขึ้นอีก 253,054 บาท นอกจากนี้โจทก์ขอริบเงินประกันสัญญาจำนวน 200,321 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยในส่วนนี้ โดยขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 2,574,486.92 บาท และจากจำเลยที่ 2 ในต้นเงิน 200,321 บาท นับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามจนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 603,395.40 บาท และ 46,950.25 บาทตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,177,882.32 บาทแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกิน 247,271.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 2,574,486.92 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 และในต้นเงิน 200,321บาท สำหรับจำเลยที่ 2 นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเกินกว่าหลักประกันตามสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญา เพราะโจทก์กำหนดในใบประกาศประกวดราคาว่า โจทก์จะเรียกผู้ขายที่ประกวดราคาได้เข้าทำสัญญาภายใน 30 วัน นับแต่วันประกวดราคาได้ และการส่งมอบยางก็ต้องทำภายใน 30 วัน หรือ 45 วัน ในปี 2527 จำเลยประกวดราคากับโจทก์ได้ถึง 20 สัญญา แต่โจทก์ไม่เรียกจำเลยไปทำสัญญาทันที กลับรอไว้จนถึงเดือนกันยายน 2527 จึงเรียกจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญาพร้อมกัน ซึ่งต้องส่งมอบยางแต่ละสัญญาพร้อมกันภายใน 30 วัน เป็นจำนวนหลายพันเมตริกตัน อันเกินกว่าวิสัยที่จะทำได้และเป็นการกลั่นแกล้งจำเลย ทั้งโจทก์ได้กำหนดการส่งมอบยางโดยให้บรรจุถังดรัมและใช้ซีลแบบใหม่ ไม่ยอมให้จำเลยบรรจุถัง และใช้ซีลแบบเดิมอันเป็นการนอกเหนือจากสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าปรับจากจำเลย การที่โจทก์ปล่อยสัญญาครบกำหนดล่วงพ้นไปแล้วปีเศษจึงบอกเลิกสัญญา แสดงว่าโจทก์ไม่เสียหายในการที่ไม่ได้ใช้ยางแอสฟัลท์ ทั้งการบอกเลิกสัญญาล่าช้าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ควรจะบอกเลิกสัญญาทันทีและซื้อยางใหม่ภายใน 30วัน นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้โจทก์แล้ว ไม่ได้ผิดสัญญาจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจำเลยที่ 2 คงรับผิดเพียงร้อยละห้าของจำนวนเงินตามสัญญา ซึ่งเมื่อหักราคายางแอสฟัลท์ส่วนที่จำเลยที่ 1ส่งมอบไปแล้ว จำเลยที่ 2 คงรับผิดไม่เกิน 175,443.50 บาท และเมื่อโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่แจ้งจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิด โจทก์ไม่เสียหายจริงตามฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์กับบริษัท เอส.ซี ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดและไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 525,573 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 453,375 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงินจำนวน232,221 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 200,321 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,559,634.74บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 1,453,365 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงิน 247,271.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 200,321 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อยางแอสฟัลท์กับจำเลยที่ 1 รวม 28 รายการ เป็นราคา4,006,420 บาท จำเลยที่ 1 ตกลงจะส่งมอบยางแอสฟัลท์ที่ซื้อขายให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2527 ตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ 21 กันยายน 2527 เอกสารหมาย จ.3 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน 200,321 บาท ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 เมื่อครบกำหนดส่งมอบยางแอสฟัลท์ตามสัญญา จำเลยที่ 1ไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นจึงได้ส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญาเพียง 6 รายการ คือรายการที่ 23 ถึง 28 โจทก์คิดค่าปรับรายวันร้อยละ 0.15 ของราคายางที่ส่งมอบบางส่วนแต่ล่าช้านั้นรวมกับค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลหักออกจากราคายางแอสฟัลท์ที่โจทก์ได้รับและโจทก์ได้ชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนยางแอสฟัลท์รายการที่ 1 ถึง 22 จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2528 บอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.20 และมีหนังสือลงวันที่ 16 ตุลาคม 2529 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับและค่ายางแอสฟัลท์ที่โจทก์ซื้อสูงขึ้นมาชำระแก่โจทก์ภายใน 15 วัน รวมทั้งแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันด้วย ตามเอกสารหมาย จ.59 และจ.60 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 เสียก่อน ในปัญหาประการแรกว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้เรียกให้จำเลยที่ 1เข้าทำสัญญาภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศประกวดราคา แต่เรียกเข้าทำสัญญาในเดือนกันยายน 2527 เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องส่งยางให้โจทก์พร้อมกันเกือบ 20 สัญญา ภายในระยะเวลา 45 วัน ด้วยจำนวนยาง 6,000 ถึง 7,000ตัน เป็นการพ้นวิสัยการกระทำของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและส่อไปในทางไม่สุจริตเห็นว่าโจทก์ออกประกาศประกวดราคาซื้อพัสดุยางแอสฟัลท์คดีนี้เมื่อวันที่ 28พฤษภาคม 2527 กำหนดให้ยื่นซองประกวดราคาภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2527จำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองเสนอราคาตามวันที่กำหนด ต่อมาโจทก์ได้ประกาศผลการประกวดราคาซื้อยางแอสฟัลท์วันที่ 6 กันยายน 2527 ให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาซื้อยางแอสฟัลท์รวม 28 รายการ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศ จำเลยที่ 1 ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์กับโจทก์ในวันที่ 21 กันยายน 2527 กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2527 เห็นว่าตามประกาศประกวดราคาเอกสารหมาย จ.31ข้อ 3 กำหนดเพียงว่าโจทก์คาดว่าจะลงนามในสัญญากันได้ประมาณ 30 วัน นับจากวันเปิดซองประกวดราคาและตามข้อ 2 ระบุว่า หากว่าโจทก์มีความจำเป็นอันไม่อาจลงนามในสัญญาได้ตามกำหนดเวลาและจำต้องเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญาต่อไปผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญายินยอมลงนามในสัญญาในระยะเวลาที่เลื่อนต่อไปไม่ถือกรณีเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญานี้เป็นข้อผิดสัญญาของโจทก์ประการใด และในข้อ 4 ระบุว่าต้องยืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นับจากวันเปิดซองประกวดราคากับในข้อ 10 ระบุอีกว่า โจทก์จะรับทำสัญญาผูกพันกับผู้ใดต่อเมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินสำหรับค่าของรายนี้แล้ว ตามข้อความในประกาศประกวดราคาดังกล่าวเห็นได้ว่า ระยะเวลา 30 วัน เป็นระยะเวลาที่ประมาณไว้และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ หาได้กำหนดเป็นระยะเวลาแน่นอนที่ต้องลงนามในสัญญาไม่และในกรณีที่จำต้องเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญา ผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญายินยอมลงนามในสัญญาในระยะเวลาที่เลื่อนต่อไปโดยไม่ถือการเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญาเป็นข้อผิดสัญญาของโจทก์ ทั้งประกาศประกวดราคาก็กำหนดให้จำเลยที่ 1ยืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยื่นใบประกวดราคายืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาดังกล่าวด้วย แสดงว่าการลงนามในสัญญาอาจเกินกว่า 30 วันได้ แต่หากเกิน 120 วัน จำเลยที่ 1 ย่อมปฏิเสธที่จะขายในราคาที่เสนอและปฏิเสธการลงนามในสัญญาได้ ดังนั้นการที่โจทก์ประกาศผลการประกวดราคาในวันที่ 6 กันยายน 2527 และให้จำเลยมาทำสัญญากับโจทก์ภายใน 15 วัน คือภายในวันที่ 21 กันยายน 2527 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อความในประกาศประกวดราคาและถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวโดยไม่ชอบ หรือไม่สุจริตแต่ประการใด ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการเลื่อนเวลาลงนามในสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบยางให้โจทก์พร้อมกัน 20 สัญญาเป็นการพ้นวิสัยนั้น เห็นว่า ตามรายการสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์ที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ในปีงบประมาณ 2527 ตามเอกสารหมาย ล.5 มีรวมทั้งหมด 19 สัญญา แต่มีสัญญาที่ลงนามกับโจทก์ในเดือนกันยายน2527 จำนวน 10 สัญญา การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอราคาขายยางตามประกาศประกวดราคาซื้อพัสดุของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมทราบเงื่อนไขในประกาศประกวดราคาดังกล่าวดี และเมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นซองประกวดราคา จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันและพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศประกวดราคาเมื่อจำเลยที่ 1 ประกวดราคาได้รวมทั้งย่อมต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาที่ตนลงนามด้วย การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญากับโจทก์และต้องลงนามในสัญญารวม 10 สัญญาในเดือนกันยายน 2527 เดือนเดียวกันหาเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 จะนำมาอ้างว่าการส่งมอบยางเป็นพ้นวิสัยเพราะต้องส่งพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมากได้ไม่ เพราะเป็นความสมัครใจของจำเลยที่ 1 เองที่เข้าเสนอราคากับโจทก์และยอมลงนามเป็นคู่สัญญากับโจทก์การที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจส่งมอบยางให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นประการที่สองว่า เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันได้อีก เห็นว่าตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ในส่วนที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและเบี้ยปรับมีข้อความว่า "ข้อ 8. เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกัน หรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7. เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรและถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวน หรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณีภายในกำหนดหกเดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาโดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้น ผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วย ข้อ 9. ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8. ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดหนึ่งห้า (0.15) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7. กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8. วรรคสองนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้" ปัญหาจึงมีว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาตามข้อ 8 หรือข้อ 9 ถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาตามข้อ 8 ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 9 ตามพฤติการณ์คดีนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขายไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญากล่าวคือ ส่งมอบยางแอสฟัลท์เพียงบางส่วนไม่ครบถ้วนไม่ตรงตามกำหนดเวลาและไม่ส่งมอบยางแอสฟัลท์ส่วนที่เหลือให้โจทก์อีกเลย โจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลท์ตามสัญญาซื้อขายภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.16 หากพ้นกำหนดจะพิจารณาบอกเลิกสัญญาและดำเนินการจัดซื้อใหม่ หากของแพงขึ้นจะเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายต่อไปโดยสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.15 ของราคายางแอสฟัลท์ที่ยังไม่ได้รับมอบและสงวนสิทธิการเรียกค่าเสียหายอันจะพึงมีขึ้น จำเลยที่ 1 มีหนังสือขอผ่อนผันการส่งยางแอสฟัลท์ถึงวันที่ 25 กันยายน 2528 ตามเอกสารหมาย จ.17 แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ไม่ประสงค์จะให้มีการบอกเลิกสัญญาโดยทันที โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2528 เอกสารหมาย จ.20 โดยระบุว่า จำเลยที่ 1 ยังขาดส่งยางแอสฟัลท์ตามสัญญาดังกล่าว รายการที่ 1 - 22 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์จึงขอบอกเลิกสัญญาโดยสงวนสิทธิที่จะเรียกและริบเงินประกันสัญญาและปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.15 ของราคายางแอสฟัลท์ที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาฉบับนี้ จากข้อความในหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 9 วรรคสอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินประกันกับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาของที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งค่าปรับจากจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนถึงวันบอกเลิกสัญญาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าปรับเป็นรายวันจึงชอบแล้ว สำหรับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1ได้ส่งมอบยางแอสฟัลท์ให้โจทก์บางส่วนแล้ว ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ต้องลดลงตามส่วนหรือไม่ เห็นว่าตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เป็นเงินไม่เกิน 200,321 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับและหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนให้ทันที โดยมิต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน จากข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อจำกัดความรับผิดไว้ว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเพียงร้อยละ 5 ของจำนวนเงินค่าซื้อยางแอสฟัลท์ที่โจทก์ยังไม่ได้รับทั้งตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 7 ก็มีข้อความว่าหลักประกันที่จำเลยที่ 1 นำมามอบไว้ โจทก์จะคืนให้เมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้วแสดงอยู่ในตัวว่าหนังสือค้ำประกันที่นำมาเป็นหลักประกันเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายทั้งหมดและตลอดไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะพ้นข้อผูกพันตามสัญญาซื้อขาย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่าโจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 โดยไม่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดหรือไม่เห็นว่า หนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2 มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น ข้อความในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 2 ยินยอมด้วยล่วงหน้าในการที่หากจะมีการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ฉะนั้นจึงถือว่าการที่โจทก์ผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแล้ว ไม่เข้าข่ายที่จำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 แม้จะมีข้อความตอนท้ายของหนังสือค้ำประกันข้อ 2 ระบุว่า โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น และปรากฏว่าโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องนี้ก็ตาม ข้อความตอนท้ายดังกล่าวก็มิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่า หากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาค้ำประกันข้อ 2 นี้เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาไปแล้ว มิใช่ข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาข้อสองมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันผิดนัดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับใน 15 วันตามหนังสือลงวันที่ 16 ตุลาคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.59 จำเลยที่ 1 รับหนังสือบอกกล่าววันที่ 20 ตุลาคม 2529 ครบกำหนด 15 วัน วันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเบี้ยปรับที่ศาลกำหนดนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้คิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องในเบี้ยปรับ1,000,000 บาท แก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเบี้ยปรับ 1,000,000 บาท พร้อมเงินค่าประกันและค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ซื้อสินค้าแพงขึ้นเป็นเงิน 453,375 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,453,375 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ |