คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม คนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรม ข้อ 8. นายหนึ่งซึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับในขณะที่มีสติดีและถูกต้องตามกฎหมาย ยกแหวนเพชร 1 วง ที่นายหนึ่งได้รับการยกให้โดยเสน่หาระหว่างสมรสให้แก่นายสองซึ่งเป็นเพื่อน หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นายหนึ่งได้เขียนข้อความเพิ่มเติมยกเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้มาจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการขายที่ดินสินส่วนตัวของนายหนึ่ง ภายหลังที่นายหนึ่งสมรสโดยชอบต่อจากข้อความยกแหวนเพชรตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าว โดยมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ ขณะที่นายหนึ่งถึงแก่ความตาย นายสามบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่งตายไปก่อนแล้วและนายหนึ่งไม่มีญาติอื่นอีกเลย นอกจากนายสองซึ่งบวชเป็นพระภิกษุ นายห้าซึ่งมิได้เป็นบุตรของนายหนึ่งแต่นายหนึ่งนำมาเลี้ยงเสมือนเป็นบุตรโดยมิได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม กับนายสี่ซึ่งนายสามจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมไว้ ให้วินิจฉัยว่า ทรัพย์สินทั้งสองรายการตามพินัยกรรมของนายหนึ่งจะตกทอดแก่ผู้ใด แหวนเพชรและเงินจำนวน 100,000 บาท ต่างเป็นสินส่วนตัวของนายหนึ่งเพราะแหวนเพชรเป็นทรัพย์สินที่นายหนึ่งได้รับการยกให้โดยเสน่หาระหว่างสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ส่วนเงิน 100,000 บาท ซึ่งได้มาจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการขายที่ดินสินส่วนตัวของนายหนึ่ง มิใช่ดอกผลของสินส่วนตัวอันจะเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (3) (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 1775/2512) ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นของนายหนึ่งที่จะทำพินัยกรรมได้ แม้นายหนึ่งเขียนพินัยกรรมเพิ่มเติมระบุเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่นายสองโดยมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 1657 วรรคสองก็ตาม แต่คงมีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความส่วนนี้เท่านั้นข้อความส่วนอื่นยังคงสมบูรณ์อยู่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546) ดังนั้น แหวนเพชรจึงตกทอดแก่นายสองตามพินัยกรรม เพราะการเป็นพระภิกษุอยู่ก็อาจรับทรัพย์ตามพินัยกรรมได้ตามมาตรา 1622 วรรคสอง ส่วนเงินจำนวน 100,000 บาท ต้องนำมาปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตาม มาตรา 1620 นายสองมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตามมาตรา 1629 เพราะนายสองเป็นเพียงเพื่อน นายห้ามิได้เป็นบุตรของนายหนึ่ง และนายหนึ่งก็มิได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม จึงมิใช่ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1627(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9003/2547) ส่วนนายสี่แม้จะเป็นบุตรบุญธรรมของนายสาม ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่เพราะมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา 1643 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2540) ดังนั้นเมื่อนายหนึ่งไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม เงินจำนวนนี้จึงตกทอดแก่แผ่นดินตามมาตรา 1753 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 " สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส มาตรา 1474 "สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส " มาตรา 1657 "พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ ก็ได้กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความ ทั้งหมด วัน เดือนปี และลายมือชื่อของตน การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรม นั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และ ลงลายมือชื่อกำกับไว้ บทบัญญัติ มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่ พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้" มาตรา 9 "เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือบุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเองแต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อหากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงไดตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นซึ่งทำลงในเอกสาร ที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ " มาตรา 1622 "พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่ เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้อง ภายในกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้ " มาตรา 1620 "ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือทำพินัยกรรม ไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของ ผู้ตายนั้นตามกฎหมาย ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือ มีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่าย โดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรม ตามกฎหมาย" มาตรา 1629 "ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับ แห่ง มาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่ง ต่อไปนี้ คือ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่ง มาตรา 1635" มาตรา 1627 "บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรม นั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความ หมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ " มาตรา 1643 "สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดั่งนั้นไม่ " มาตรา 1753 "ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกเมื่อ บุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน" คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528 พินัยกรรมทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังว่าพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268วรรคแรก ประกอบด้วย มาตรา 266, 264 วรรคสอง จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7มีความผิดตามมาตรา 266 ประกอบด้วย มาตรา 264 วรรคสอง และจำเลยที่ 7ยังมีความผิดตามมาตรา 157 อีกด้วย แต่เป็นความผิดหลายบท คงลงโทษตามมาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 คนละ 2 ปี จำเลยที่ 7 ยังมีความผิดตามมาตรา 162(1) อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คงได้ความเบื้องต้นตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมผู้หนึ่งในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนลุงของเจ้ามรดกนางเติมศรี วีระไวทยะ มารดาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นพี่น้องร่วมบิดากับโจทก์ ส่วนนางสาวจงกลณี พนมวัน ณ อยุธยา เจ้ามรดกผู้ตาย เป็นบุตรนางต่วน น้องสาวของขุนนารถนิกร บิดาของโจทก์ ขณะเกิดเหตุคดีนี้ผู้ตายอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นพินัยกรรมปลอม โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นในขณะที่อ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำพินัยกรรมปลอมขึ้น คงมีแต่ตนเองและนางประพัฒน์ศรี ณ ป้อมเพชรน้องสาวของโจทก์มาเบิกความสรุปได้ว่าขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ โดยเชื่อตามรายงานของแพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตายก่อนตายและโจทก์มีนายแพทย์ทรงศักดิ์ พงศาธร แพทย์ผู้แปลรายงานการตรวจรักษาผู้ตายซึ่งแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้ทำไว้ จากภาษาแพทย์มาเป็นภาษาธรรมดามาเบิกความประกอบรายงานการตรวจรักษาผู้ตายดังกล่าวดังนี้ รายงานของแพทย์ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสำคัญที่จะชี้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายสามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้หรือไม่ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 (ก)แผ่นที่ 1 ว่าผู้ตายได้เข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2521แพทย์ลงความเห็นว่าผู้ตายเป็นปัญญาอ่อนภายหลังมีการอักเสบของเนื้อสมอง ในวันเดียวกันนั้นแพทย์ได้จัดให้มีการทดสอบวัดระดับสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด ได้ระดับสติปัญญา และความเฉลียวฉลาด (I.Q)จากการออกเสียง 81 จากการกระทำ 46 ระดับสเกลเต็มของสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด (I.Q) ได้ 64 แพทย์หมายเหตุว่า ระดับสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดของบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป จะได้ตั้งแต่ 100 ขึ้นไป แสดงว่าในวันที่ 7 มิถุนายน 2521 ผู้ตายยังพูดจาได้และเคลื่อนไหวร่างกายตามคำสั่งแพทย์ได้ แม้จะไม่ถึงระดับบุคคลธรรมดา แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะไม่เข้าใจสิ่งใดหรือพูดจาไม่รู้เรื่อง ในเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 3 แพทย์บันทึกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 ว่า หกล้มแล้วเดินไม่ได้มา 2 วัน ไม่ได้บ่นปวดที่ไหน แสดงว่าก่อนหกล้มยังสามารถเดินได้ และที่ว่าไม่ได้บ่นว่าปวดที่ไหน แสดงว่ายังพูดจาได้แต่ไม่ได้บ่นปวดเท่านั้น ถ้าพูดไม่ได้แพทย์ก็น่าจะบันทึกว่า พูดไม่ได้ เอกสารที่ต้องพิเคราะห์โดยละเอียดได้แก่เอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 5 ไม่ได้ลงวันที่แพทย์บันทึกไว้ว่า "15 วันก่อนอยู่ดี ๆ ก็ล้มลง รู้สึกตัว หลังจากนั้นก็มีแขน ขาข้างขวาอ่อนแรงลง ปัสสาวะราด ไม่ถ่ายอุจาระมา 3 วัน เป็นผู้ป่วยอยู่ในพวกสมองพิการ" การตรวจร่างกายแพทย์บันทึกว่า "ผอมแห้ง พูดไม่ได้ ไม่ซีดไม่เหลือง" เอกสารทั้ง 3 แผ่นนี้นายแพทย์ทรงศักดิ์ พงศาธร พยานโจทก์แปลมาจากเอกสาร จ.13 โดยเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 1 แปลจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 1 การทดสอบวัดระดับสติปัญญาแปลมาจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 2 เอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 3 แปลจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 3 ส่วนเอกสาร จ.1(ก) แผ่นที่ 5 แปลมาจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 5 แปลมาจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 5 ศาลฎีกาตรวจดูที่มาของเอกสารแผ่นที่ 5 นี้แล้ว ปรากฏว่าเป็นเอกสารด้านหลังของเอกสารหมาย จ.1(ข) ซึ่งด้านหน้าปรากฏว่าลงวันที่ "7 มิถุนายน 2521" และ "8 มิถุนายน 2521" ข้อความที่ว่า "15 วันก่อน อยู่ดี ๆ ก็หกล้ม ผอมแห้งพูดไม่ได้" นั้นขัดแย้งกับบันทึกของแพทย์ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 ที่ว่า"หกล้ม แล้วเดินไม่ได้มา 2 วัน ไม่ได้บ่นปวดที่ไหน" เพราะตามเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 5 แสดงว่าผู้ตายหกล้มก่อนวันที่ 8 มิถุนายน 2521 ถึง15 วัน และพูดไม่ได้ แต่ตามเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 3 แสดงว่าผู้ตายหกล้มในวันที่ 16 กรกฎาคม 2522 และยังพูดได้ ถ้าเอาเอกสารหมาย จ.1(ก)แผ่นที่ 5 ได้ทำขึ้นในเดือนมิถุนายน 2521 ก็เป็นเวลาก่อนวันที่ 18 กรกฎาคม2522 อันเป็นวันที่แพทย์บันทึกเอกสารที่เป็นที่มาของเอกสารหมาย จ.1(ก)แผ่นที่ 3 ถึง 1 ปี ฝ่ายจำเลยมีนายชัชวาล สุริรังษี ทนายความผู้รับมอบอำนาจให้เรียกร้องติดตามทวงถามเรียกคืนโฉนดเลขที่ 9371, 9334 ของผู้ตาย ร่วมกับนายบริบูรณ์ ณ ป้อมเพชร มาเบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 26มีนาคม 2522 หมาย ล.4 และ ล.5 ว่า ผู้ตายได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้พยานดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าต่อหน้านายแพทย์อรุณ เชาวนาศัย และเจ้าหน้าที่เขต ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 ว่าก่อนวันทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 23มีนาคม 2522 ขอให้หัวหน้าเขตพญาไทไปรับรองลายมือชื่อของผู้ตายในหนังสือมอบอำนาจด้วย ซึ่งเขตพญาไทก็ได้ส่งนายอนนต์วุฒิ รัตนมาลี เจ้าพนักงานปกครอง 5 ไปที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวันทำหนังสือมอบอำนาจนายอนนต์วุฒิเบิกความว่าพยานและพันเอกนายแพทย์อรุณได้สอบถามผู้ตายเกี่ยวกับการทำหนังสือมอบอำนาจ เห็นว่าผู้ตายพูดจารู้เรื่องดี เมื่อทำใบมอบอำนาจแล้วพยานได้ให้ผู้ตายลงชื่อในใบมอบอำนาจ ซึ่งผู้ตายก็สามารถลงชื่อในเอกสารได้และพยานได้ทำบันทึกรับรองว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.5 ล.6 ต่อหน้าพยานและพันเอกนายแพทย์อรุณจริง ปรากฏตามบันทึกด้านหลังเอกสารหมาย ล.5,ล.6 พันเอกนายแพทย์อรุณก็ทำบันทึกรับรองลายมือชื่อของผู้ตายและเบิกความรับรองว่าเป็นความจริงดังที่นายอนนต์วุฒิเบิกความ ดังนี้จึงแสดงว่าหลังจากวันที่ 8 มิถุนายน 2521 แล้วผู้ตายมีอาการดีขึ้นสามารถทำใบมอบอำนาจและลงชื่อในใบมอบอำนาจได้ เชื่อได้ว่าอาการป่วยของผู้ตายก่อนทำพินัยกรรมมีหนักมีเบาอยู่เป็นระยะ ๆ สุดแต่โรคแทรกซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอย่างไรก็ดี ฝ่ายโจทก์ก็พยายามเสนอเอกสารต่อศาลโดยใช้วิธีสับเอกสารแผ่นที่ 5ซึ่งอยู่ด้านหลังของเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 1 ซึ่งทำในวันที่ 7, 8 มิถุนายน2521 ไว้หลังเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 3 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2522เพื่อแสดงว่าหลังจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 แล้วผู้ตายพูดไม่ได้ เพื่อจูงใจให้ศาลเชื่อว่าในวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 อันเป็นวันที่มีการทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 นั้น ผู้ตายพูดไม่ได้ ดังนี้ เอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 5จึงเป็นพิรุธเชื่อฟังไม่ได้ว่าทำขึ้นตามความเป็นจริงยิ่งกว่านั้น โจทก์ยังอ้างเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 15 เข้ามาอีกฉบับหนึ่งเป็นรายงานแพทย์บันทึกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2522 ว่า "15 วันก่อนล้มลง แล้วแขนขวาอ่อนแรง ปัสสาวะและอุจจาระ ไม่รู้ตัว" ทำให้ยิ่งสับสนหนักขึ้นว่าผู้ตายหกล้มเมื่อใดแน่ เพราะปรากฏวันหกล้มตามเอกสารของโจทก์ 3 ฉบับแตกต่างกันไป นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าแพทย์ผู้บันทึกข้อความในเอกสารอันเป็นพิรุธนี้คือใครและโจทก์ก็ไม่ได้นำแพทย์ผู้บันทึกมาเบิกความประกอบเอกสารเพื่อให้ทนายจำเลยซักค้านคงมีแต่นายแพทย์ทรงศักดิ์ ผู้แปลเอกสารภาษาแพทย์มาเป็นภาษาธรรมดามาเบิกความเป็นพยานเท่านั้น ทั้งนายแพทย์ทรงศักดิ์ก็ไม่ใช่แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตาย และไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคประสาท การที่พยานลงความเห็นว่าดูตามรายงานแพทย์แล้วเห็นว่าผู้ตายไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้คำเบิกความของนายแพทย์ทรงศักดิ์พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ยิ่งกว่าแพทย์ผู้เคยตรวจร่างกายและรักษาผู้ตายโดยตรง ตามคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์ปรากฏว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ได้กระทำกันที่บ้านเลขที่ 36ซอย 23 ถนนลาดพร้าว แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งบ้านนี้เป็นบ้านของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าหลังจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2522ซึ่งแพทย์บันทึกว่าผู้ตาย "หกล้มแล้วเดินไม่ได้มา 2 วัน ไม่ได้บ่นปวดที่ไหน" แล้วผู้ตายก็ได้กลับไปรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้วจะกลับไปทำพินัยกรรมที่บ้านจำเลยที่ 1 ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 ได้อย่างไร วันที่ 30 กรกฎาคม2522 หลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วผู้ตายจึงได้กลับไปรักษาตัวในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1(ข) แผ่นที่ 5 ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2522 อันเป็นวันทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.6 ผู้ตายยังมีสติดี พูดจารู้เรื่อง นายแพทย์วินิต พัวประดิษฐ์ พยานจำเลย ผู้ตรวจร่างกายผู้ตายก่อนทำพินัยกรรมเบิกความว่าขณะตรวจร่างกายผู้ตายนั้นผู้ตายนั่งอยู่กับพื้น พยานถามชื่อ ผู้ตายตอบเสียงค่อนข้างเบา ช้า ๆ ว่าชื่อ นางสาวจงกลณี พนมวัน ณ อยุธยา พยานถามต่อไปว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ตายตอบว่าสบายดี ถามว่าทานข้าวได้ไหม ก็ตอบว่า ทานได้พยานเห็นว่าคนไข้พูดรู้เรื่องจึงหยุดถามแล้วตรวจร่างกายโดยใช้หูฟัง สังเกตเห็นว่าผู้ตายขยับแขนขาได้ เมื่อตรวจแล้วจึงทำรายงานขึ้น 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 3 และ 4 ว่า "นางสาวจงกลณี พนมวัน ณ อยุธยา มีจิตใจและสติสัมปชัญญะเป็นปกติสมบูรณ์ดี" นางสาวกัลยาณีพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 7 ถามผู้ตายว่า วันนี้รู้ไหมว่าจะทำอะไร ผู้ตายบอกว่าจะทำพินัยกรรม แพทย์ให้หายใจยาว ๆ ผู้ตายทำได้ตามที่บอกแสดงว่าผู้ตายพูดจารู้เรื่องดี จำเลยที่ 7 สอบถามเรื่องทรัพย์สินว่าจะยกให้ใคร ผู้ตายก็บอกว่ายกให้ "น้อย" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ 1 ถ้ารับไม่ได้ก็ยกให้ "แจ๋ว" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 2 รับไม่ได้ก็ยกให้ "อู๊ด" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ 3ข้อนี้ก็แสดงว่าผู้ตายยังมีสติสัมปชัญญะดีเพราะจำชื่อเล่นของจำเลยที่ 1, 2 และ3 ได้ นางประยงค์ศรี ซื่อวาจา ผู้เขียนพินัยกรรมเบิกความว่า "ขณะที่ข้าฯ จับมือนางสาวจงกลณีพิมพ์หมึกในคราวแรกนั้น ข้าฯ พูดกับนางสาวจงกลณีว่ามือนิ่มจังนางสาวจงกลณีบอกข้าฯ ว่า ก็ไม่ได้ทำงานอะไร มือจึงนิ่ม" คำเบิกความประโยคนี้ของพยานถ้าพิจารณาเผิน ๆ ก็ไม่มีความสำคัญอันใด แต่ข้อความที่ผู้ตายตอบนางประยงค์ศรีดังกล่าวพิเคราะห์ดูให้ลึกซึ้งแล้วแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า ผู้ตายยังมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนปกติธรรมดา หาได้ตอบคำถามพอให้เสร็จ ๆ ไปเท่านั้นไม่ เกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือลงในพินัยกรรมที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันจับมือของเจ้ามรดกพิมพ์ลงในพินัยกรรมนั้น โจทก์ก็ไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์เป็นการคาดคะเนเอาเท่านั้น โดยข้อเท็จจริงจะเป็นไปได้อย่างไรว่ามือเล็ก ๆ ผอมบางของเจ้ามรดกมือเดียว จะต้องมีมือของจำเลยทั้งเจ็ดช่วยกันจับกดลงในพินัยกรรม ตรงกันข้ามพยานจำเลยซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุยืนยันว่าจำเลยที่ 6ผู้เขียนพินัยกรรมเพียงแต่จับนิ้วหัวแม่มือซ้ายของเจ้ามรดกกดลงบนแท่นหมึกพิมพ์เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้หมึกพิมพ์ติดนิ้วหัวแม่มือมาก ๆ ส่วนตอนพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายลงในช่องผู้ทำพินัยกรรมนั้น จำเลยที่ 6 เพียงแต่ชี้ให้เจ้ามรดกพิมพ์เองแม้กระนั้นก็ต้องพิมพ์ถึง 2 ครั้ง เพราะการพิมพ์ครั้งแรกไม่ชัดเจนพอ ถ้าจำเลยทั้งเจ็ดช่วยกันจับนิ้วเจ้ามรดกพิมพ์ลงในพินัยกรรมแล้ว เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอแล้วเนื่องจากมีแรงกดจากผู้อื่นช่วย โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ขณะมีการทำพินัยกรรมมาเบิกความยืนยันพิสูจน์ความผิดของจำเลย คงอาศัยเพียงรายงานของแพทย์มาประกอบความเห็นของพยานและคาดหมายเอาว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 5มีพิรุธไม่น่าเชื่อว่าทำขึ้นตรงตามความเป็นจริง และโจทก์ใช้วิธีเสนอเอกสารต่อศาลโดยสับเอกสารซึ่งทำขึ้นก่อนวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 มาไว้หลังเอกสาร ซึ่งทำในวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงว่า ระหว่างวันที่ 19 เดือนเดียวกัน จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 อันเป็นวันทำพินัยกรรมผู้ตายมีอาการหนักไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ ฝ่ายจำเลยมีพยานซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ในขณะทำพินัยกรรมมาเบิกความหลายปาก โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ที่ 5 พยานในพินัยกรรม จำเลยที่ 6 ผู้เขียนพินัยกรรม และจำเลยที่ 7ซึ่งมีตำแหน่งหัวหน้างานปกครองผู้สอบถามผู้ตายในการทำพินัยกรรมและบอกข้อความให้จำเลยที่ 6 เขียนในฐานะเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 ก็ล้วนแต่เป็นข้าราชการโดยจำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองผังเมืองกระทรวงมหาดไทยรู้เห็นและเป็นพยานในพินัยกรรมตามอัธยาศัยของเพื่อนบ้านจำเลยที่ 7 ก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รักษาการแทนหัวหน้าเขต ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมาย ทุกคนไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสียในพินัยกรรมทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าพยานเหล่านี้ได้รับการจ้างวาน ใช้ให้กระทำผิด จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่พยานเหล่านี้จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 โดยการร่วมมือกันทำพินัยกรรมปลอมขึ้น จำเลยที่ 1 เป็นหลานของผู้ตาย ซึ่งปรากฏตามคำสั่งศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7830/2521 ว่าเดิมทวดของจำเลยที่ 1เป็นผู้อุปการะผู้ตายมาก่อน เมื่อทวดของจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1กับมรดกก็รับภาระอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายต่อมาอีกหลายปี จึงไม่เป็นการผิดวิสัยที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยมีเหตุผลสอดคล้องฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ คดีฟังได้ว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถ ก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อฟังได้ว่าพินัยกรรมไม่ปลอมการกระทำของจำเลยทุกคนก็ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้านี้มา ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น" พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หมายเหตุ 1. พินัยกรรมคือนิติกรรมที่เจ้ามรดกทำขึ้นให้มีผลบังคับเมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1646,1673 ดังนั้น บทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยนิติกรรมย่อมนำมาใช้บังคับแก่กรณีการทำพินัยกรรมเช่นแบบพิมพ์พินัยกรรมที่วางขายก็ดี ท้ายพินัยกรรมทั่วไปก็ดี มักจะมีสำนวนว่า ขณะทำพินัยกรรมผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะดีเพื่อแสดงว่าให้เห็นว่าผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้อย่างแท้จริง 2. นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6มรดก ยังบัญญัติในการทำพินัยกรรมเกี่ยวกับความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในมาตรา 1703 พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ และมาตรา 1704พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น เป็นโมฆะ และวรรคสอง พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1775/2512 มาตรา 1744 มุ่งหมายถึงการส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกโดยผู้จัดการมรดกไม่มีข้อโต้แย้งสิทธินั้นอย่างใด หาใช่บทบัญญัติห้ามทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกเพื่อตั้งสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งโต้แย้งสิทธิของทายาทนั้นๆ ไม่ เมื่อปรากฏว่าที่ดินเป็นสินเดิม แม้ภายหลังการสมรสที่ดินนี้จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมากเพียงใดก็ตาม ที่ดินดังกล่าวก็ยังมีสภาพเป็นสินเดิมอยู่นั่นเอง ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหาใช่ดอกผลของที่ดินไม่ จึงแยกถือเอาราคาในส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นสินสมรสไม่ได้ คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ 35 ปีมานี้ (ก่อนมีการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5) จำเลยแต่งงานกับนายแมน ทองมังกร เกิดบุตรด้วย 1 คน แล้วต่อมาภายหลัง นายแมนได้อยู่กินกับโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรด้วยกัน 5 คน นายแมนได้จดทะเบียนรับรองว่าผู้เยาว์ทั้ง 5 คนซึ่งเกิดจากโจทก์เป็นบุตรของนายแมน ครั้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2509 นายแมนตายนายแมนมีทรัพย์สินอันเป็นสินเดิมก่อนสมรสกับจำเลยจำนวน 203,000 บาท มีสินสมรสคิดเป็นเงิน 169,800 บาท ค่าเช่าเหมืองในอนาคต 20,000 บาท ทรัพย์สินดังกล่าวจึงตกเป็นมรดกได้แก่บุตรและภรรยา ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2509 โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดกใจความว่า โจทก์ในฐานะส่วนตัวได้รับแบ่งที่ดิน 1 แปลง ส่วนผู้เยาว์ทั้ง 5 คนซึ่งเป็นบุตรได้รับแบ่งปันที่ดิน 3 แปลง และเงินสด 40,000 บาท แต่ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ โจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้ง 5 มิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาดังกล่าวจึงย่อมไม่ผูกพันผู้เยาว์และผู้เยาว์ทั้ง 5 คนมีสิทธิได้รับแบ่งปันมรดกของนายแมนบิดา ตามส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการที่โจทก์ในฐานะส่วนตัวได้รับส่วนแบ่งที่ดิน 1 แปลงตามสัญญานั้น เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ โจทก์จึงย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ โจทก์ได้เรียกร้องสิทธิดังกล่าวจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธและโต้แย้งสิทธิ จึงขอให้พิพากษาว่า (1) โจทก์ในฐานะส่วนตัว มีสิทธิได้รับที่ดิน 1 แปลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้จำเลยโอนให้ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา (2) สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันผู้เยาว์ทั้ง 5 คน (3) ผู้เยาว์ทั้ง 5 คนมีสิทธิได้รับแบ่งมรดกรายนี้ตามส่วนที่ควรได้ตามกฎหมาย (4) ให้ประมูลราคาทรัพย์สินมรดกและแบ่งปันกันเองก่อน หากไม่ตกลง ให้ขายทอดตลาดแบ่งปันกันตามส่วน จำเลยให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาต่างตอบแทนหากส่วนหนึ่งของสัญญาใช้ไม่ได้ สัญญานั้นก็ใช้ไม่ได้ทั้งฉบับ จึงไม่มีความจำเป็นต้องยกที่ดินให้แก่โจทก์ นอกจากนี้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพื่อระงับข้อพิพาทซึ่งอาจมีขึ้นเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นแล้วเพราะโจทก์เองเป็นต้นเหตุ ข้อตกลงที่จะยกที่ดิน จึงย่อมสิ้นไป จำเลยมิได้ปฏิเสธและโต้แย้งสิทธิ หากแต่เรื่องนี้ ศาลได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก และยังอยู่ระหว่างการจัดการมรดก ซึ่งจำเลยต้องรายงานให้ศาลทราบและขออนุมัติต่อศาล การส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ผู้จัดการมรดกมีสิทธิที่จะหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ตามกฎหมาย การแบ่งปันก็ยังไม่ทราบแน่ เพราะศาลยังมิได้อนุมัติ ทั้งเวลายังไม่ถึงกำหนด การที่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลในวันที่โจทก์ ยังไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นโมฆะ จึงไม่ผูกพันผู้เยาว์ทั้ง 5 และโจทก์ในฐานะส่วนตัวไม่มีสิทธิได้รับที่ดินตามสัญญา พิพากษาให้เอาสินสมรสและค่าเช่าเหมืองแร่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ให้จำเลยได้ 1 ส่วน ที่เหลือ2 ส่วนรวมกับสินเดิม แบ่งออกเป็น 7 ส่วน ตกได้แก่ผู้เยาว์ทั้ง 5 คน ๆ ละ 1 ส่วน ทรัพย์สินที่ไม่ใช่เงินสด ให้ประมูลราคาระหว่างกันเองก่อน ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนให้ยกฟ้องโจทก์ในฐานะส่วนตัวเสีย โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาว่า (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งมรดก เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1744 จำเลยไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อน 1 ปี (2) ที่ดิน 4 แปลงซึ่งเป็นสินเดิมนั้น เดิมมีราคาถูกเพราะเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมานายแมนกับจำเลยใช้เงินซึ่งเป็นสินสมรสทำการปรับปรุงที่ดินทั้ง 4 แปลงมีราคาสูงกว่าเดิมมาก จึงควรหักให้เป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งแก่จำเลย 1 ใน 3 เสียก่อน เหลือจากนั้นจึงได้แก่ทายาท สำหรับฎีกาข้อ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1744 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่ไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย ซึ่งมุ่งหมายถึงการส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดก โดยผู้จัดการมรดกไม่มีข้อโต้แย้งสิทธินั้นอย่างใด หาใช่บทบัญญัติห้ามทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกเพื่อตั้งสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งโต้แย้งสิทธิของทายาทนั้น ๆ ไม่ ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องตั้งสิทธิที่โจทก์จะได้รับส่วนแบ่งมรดกรายนี้จากจำเลยในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกซึ่งยังโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนฎีกาข้อ 2 นั้น เมื่อปรากฏว่าที่ดิน 4 แปลงเป็นสินเดิม แม้ภายหลังการสมรสที่ดินนี้จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมากเพียงใดก็ตาม ที่ดินดังกล่าวก็ยังมีสภาพเป็นสินเดิมอยู่นั่นเอง ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหาใช่ดอกผลของที่ดินไม่ จึงแยกถือเอาราคาในส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นสินสมรสไม่ได้ จำเลยไม่มีสิทธิขอให้หักราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งให้แก่จำเลย 1 ใน 3 เสียก่อน พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546 ผู้ตายซึ่งเป็นพระภิกษุเขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตายไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1675 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยเฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 1 ที่ระบุว่า"ทรัพย์สินเงินทองและเข้าของต่างของข้าพเจ้า ที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้มอบให้กับทายาทของข้าพเจ้า ในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว" นั้น ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพ การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย" แม้จะไม่ชอบตามมาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความดังกล่าว เท่านั้นส่วนข้อความอื่นยังคงสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะไม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุเปลื้องสีสมหรือศรีสม ผู้ตายซึ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 ด้วยสาเหตุอุบัติเหตุรถชน ก่อนมรณภาพผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บรรดาทายาทมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนายฤชา ศรีสม และนางลำจวน มั่งคั่ง ซึ่งไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย นางลำจวน มั่งคั่ง ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุเปลื้อง เป็นทายาทมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของพระภิกษุเปลื้องประสงค์จะขอจัดการทรัพย์มรดกของพระภิกษุเปลื้องร่วมกับนายฤชา ศรีสม และนายเกษม ทองเพชร วัดเขาบันไดอิฐยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องและนางลำจวนไม่ใช่ทายาทตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์มรดกของพระภิกษุเปลื้องตกเป็นของวัดเขาบันไดอิฐ เพราะเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุเปลื้องได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศและขณะมรณภาพมีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดเขาบันไดอิฐพินัยกรรมและข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะเนื่องจากมีการปลอมลายมือของพระภิกษุเปลื้องในพินัยกรรมข้อ 1 ที่มีข้อความว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย" โดยใช้ปากกาคนละสี ทั้งไม่มีลายมือชื่อพระภิกษุเปลื้องลงชื่อกำกับไว้ ผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของพระภิกษุเปลื้อง ประสงค์จะขอเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเปลื้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ และยกคำร้องขอของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของนางลำจวน และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเปลื้อง ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องและนางลำจวน มั่งคั่ง ตกลงให้นางลำจวนและนายฤชาศรีสม เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน และเพื่อความสะดวกในการพิจารณาศาลชั้นต้นให้เรียกผู้ร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เรียกนางลำจวนว่า ผู้ร้องที่ 2 และเรียกวัดเขาบันไดอิฐว่า ผู้คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตั้งนายฤชา ศรีสม และนางสาวลำจวน มั่งคั่ง (ที่ถูกนางลำจวน มั่งคั่ง) ผู้ร้องที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุเปลื้อง สีสม หรือศรีสม ผู้ตาย ให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระภิกษุเปลื้อง ศรีสม ผู้ตาย ซึ่งขณะมรณภาพจำพรรษาอยู่ที่วัดผู้คัดค้าน หลังจากผู้ตายมรณภาพได้มีการเปิดห้องหรือกุฎิผู้ตายพบเงิน สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พระเครื่อง และทรัพย์สินอื่น ๆ อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามบันทึกมติของคณะกรรมการเก็บรักษาทรัพย์สินพระเปลื้อง รายการสำรวจทรัพย์สินภายในห้องพระเปลื้องเอกสารหมาย ร.6 และพินัยกรรมที่ผู้ตายเขียนเองทั้งฉบับเอกสารหมาย ร.7 ระบุยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทผู้ตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นโมฆะหรือไม่ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า พินัยกรรมดังกล่าวมีการเติมข้อความว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย" โดยไม่มีลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมลงกำกับไว้เป็นการไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของผู้ตายที่เขียนต่อเนื่องกับข้อความอื่นและอยู่ในบรรทัดเดียวกัน แม้จะมีสีหมึกเข้มกว่าข้อความอื่น ก็หาเป็นข้อบ่งชี้เด็ดขาดที่แสดงให้เห็นว่ามีการตกเติมข้อความแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.7 เป็นพินัยกรรมที่ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตายไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1675 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยเฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า "ทรัพย์สินเงินทองและเข้าของต่างของข้าพเจ้า (น่าจะเป็นข้าวของต่าง ๆของข้าพเจ้า) ที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้มอบให้กับทาญาติ (น่าจะเป็นทายาท) ของข้าพเจ้า ในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว" นั้น ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายตามรายการสำรวจทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.6 ให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพ ลำพังข้อกำหนดดังกล่าวย่อมทำให้พินัยกรรม เอกสารหมาย จ.7เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่แล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า"และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย" แม้จะไม่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็ตามก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความคำว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย เท่านั้นส่วนข้อความอื่นยังคงสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็นสมบัติแก่วัดผู้คัดค้านเพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมไปหมดแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623 ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายอันจะยื่นคำร้องคัดค้านการร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7วินิจฉัยว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย จ.7 ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ" คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2540 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1643ที่กำหนดให้สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรงนั้นหมายความถึงผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอันแท้จริงเท่านั้นส่วนบุตรบุญธรรมแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1627จะให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามก็หมายความเพียงว่าบุตรบุญธรรมเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1629(1)และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นหามีผลทำให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยไม่เพราะไม่ใช่เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1643ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของจ. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดกและจ. ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้วเช่นนี้ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่จ. ได้เพราะผู้ร้องไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของจ. ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกในอันที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวจรัญ เด่นศิริพงษ์ ซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่12 สิงหาคม 2539 นางสาวจรัญเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวสุพิน เด่นศิริพงษ์ เจ้ามรดกซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 กันยายน2539 เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรสและไม่มีบุตรคงมีแต่พี่น้องร่วมบิดามารดาเท่านั้น ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสุพินเจ้ามรดก ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเพื่อไปทำคำร้องคัดค้านมายื่นต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสอบผู้ร้อง ผู้ร้องแถลงว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นางสาวจรัญมารดา ซึ่งรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยาน จึงมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานผู้ร้องและยกคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้คัดค้าน ศาลชั้นต้น พิพากษา ให้ยก คำร้องขอ ของ ผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1643บัญญัติว่า สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ซึ่งหมายความถึงผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอันแท้จริงเท่านั้นส่วนบุตรบุญธรรมนั้น แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629จะบัญญัติ ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ตาม ก็หมายความเพียงว่าบุตรบุญธรรมดังกล่าวเป็นทายาทโดยธรรมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1) และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นแต่หามีผลทำให้บุตรบุญธรรมดังกล่าวมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยไม่เพราะไม่ใช่เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1643 ดังนั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงจากคำร้องขอของผู้ร้องว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวจรัญ เด่นศิริพงษ์ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวยุพิน เด่นศิริพงษ์เจ้ามรดก และนางสาวจรัญได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้วเช่นนี้ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่นางสาวจรัญได้ เพราะผู้ร้องไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวจรัญ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกในอันที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่งคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยเหตุผลและต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน
|