

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สิทธิไล่เบี้ย ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สิทธิไล่เบี้ย ข้อ 3. นายอำนาจ ลูกจ้างบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด ร่วมกับร้อยตำรวจเอกอิทธิพล สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำหมายค้นจากศาลไปทำการค้นร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่ของนางสาวแชท การค้นไม่พบงานอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ด้วยความเชื่อว่าร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่ของนางสาวแชท มีการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จริง และต้องการมีผลงานเพื่อความดีความชอบในหน้าที่การงาน นายอำนาจ จึงร่วมกับร้อยตำรวจเอกอิทธิพล นำแผ่นวีซีดีและซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 10 แผ่น ที่บุคคลทั้งสองร่วมกันจับได้ในคดีอื่นวางไว้ในบริเวณที่ตรวจค้นและอ้างว่าเป็นของกลางที่ตรวจพบในที่เกิดเหตุ ซึ่งนางสาวแชท มีไว้เพื่อขายโดยรู้ว่าเป็นงานอันได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น นางสาวแชท ถูกฟ้องด้วยข้อหาดังกล่าว แต่ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่เชื่อในพยานหลักฐานของโจทก์ ให้วินิจฉัยว่า นางสาวแชท จะฟ้องเรียกนายอำนาจ บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด ร้อยตำรวจเอกอิทธิพล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายฐานละเมิดได้หรือไม่ หากบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่นางสาวแชทผู้เสียหายแล้วจะมีสิทธิไล่เบี้ยจากนายอำนาจ หรือร้อยตำรวจเอกอิทธิพลได้หรือไม่ ธงคำตอบ การกระทำของนายอำนาจ และร้อยตำรวจเอกอิทธิพล เป็นการจงใจกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เขาเสียหายแก่เสรีภาพและสิทธิในชื่อเสียง เป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นายอำนาจ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางสาวแชท ในความเสียหายแก่เสรีภาพและชื่อเสียงของนางสาวแชท บริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์สากล จำกัด นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับนายอำนาจ ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามมาตรา 425 แต่ชอบที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกจ้างได้ตามมาตรา 426 สำหรับร้อยตำรวจเอกอิทธิพล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรณีต้องบังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากเป็นละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ นางสาวแชท ต้องฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดโดยตรง จะฟ้องร้อยตำรวจเอกอิทธิพล ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และเนื่องจากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดด้วยความจงใจ หน่วยงานของรัฐจึงอาจเรียกให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งการกระทำและความชอบธรรมตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 420 " ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" มาตรา 425 "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น " มาตรา 426 "นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น " พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง มาตรา 8 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใดให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7975/2549 รถบรรทุกและข้าวสารบนรถบรรทุกของโจทก์ถูกยึดไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดีอาญาโดยจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวน มีหน้าที่ดูแลรักษารถบรรทุกและข้าวสารของกลางไว้ระหว่างสอบสวนโดยต้องใช้ความระมัดระวังดูแลเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งมีข้าวสารบรรจุกระสอบถึง 200 กระสอบ มูลค่าหลายแสนบาทบรรทุกอยู่บนรถจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นมิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 3 นำรถบรรทุกไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ เป็นเพียงการนำรถบรรทุกไปจอดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการดูแลรักษาทรัพย์สิน แม้จะได้เก็บกุญแจรถไว้ แล้วเอาโซ่และกุญแจล็อกระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์และได้ตรวจดูบ่อยๆ แต่การจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควรย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและข้าวสารไปได้โดยง่าย จำเลยที่ 3 จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสารเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองเป็นเหตุให้รถบรรทุกและข้าวสารสูญหายไปถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-4660 พิจิตร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 นายเอกชน แสนสี ลูกจ้างของโจทก์ ได้ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกข้าวสารจำนวน 200 กระสอบ จากจังหวัดพิจิตร เพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้าที่บริษัทบางใหญ่ค้าข้าว จำกัด อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ครั้นวันที่ 18 สิงหาคม 2541 เวลาประมาณ 14.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ได้จับกุมและยึดรถบรรทุกคันดังกล่าวพร้อมข้าวสารทั้งหมด อ้างว่าบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด แล้วส่งมอบรถบรรทุกพร้อมข้าวสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นร้อยเวรในขณะนั้น ในสังกัดและในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ดูแลรักษาทรัพย์และดำเนินการตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2541 โจทก์ทราบว่า รถบรรทุกของโจทก์และข้าวสารทั้งหมดซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 อันมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางได้สูญหายไปเนื่องจากความประมาทเลิ่นเล่อของจำเลยดังกล่าว ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแล รักษาทรัพย์ของกลางให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและปลอดภัย แต่จำเลยดังกล่าวมิได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลให้เพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมี ทำให้รถบรรทุกและข้าวสารดังกล่าวของโจทก์สูญหายไปทั้งหมด โจทก์จึงร้องทุกข์ไว้และคิดค่าเสียหายเป็นค่ารถบรรทุกเป็นเงิน 250,000 บาท และค่าข้าวสารเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวนของค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 41,250 บาท และค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถบรรทุกดังกล่าวรับจ้างซึ่งเป็นอาชีพหลักของโจทก์เดือนละไม่น้อยกว่า 24,000 บาท โจทก์ขอคิดตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 11 เดือน เป็นเงินจำนวน 264,000 บาท และขอคิดค่าเสียหาย 855,250 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 855,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 814,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 24,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นเวลา 3 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำประมาทเลินเล่อให้รถบรรทุกและข้าวสารจำนวน 200 กระสอบของโจทก์สูญหายไป แต่จำเลยที่ 3 ได้ดูแลทรัพย์ที่ได้ยึดมาดังกล่าวดีแล้ว โดยใช้โซ่คล้องพวงมาลัยกับคลัตซ์ของรถยนต์แล้วใส่กุญแจไว้ เหตุที่ทรัพย์ที่ถูกจับกุมและยึดมาสูญหายเกิดจากนายเอกชน แสนสี ลูกจ้างของโจทก์ได้ลักไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ถ้าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาก็สูงเกินไป เนื่องจากรถบรรทุกดังกล่าวมีสภาพเก่าใช้งานนานถึง 10 ปี มีราคาเพียง 125,000 บาท หากนำไปใช้รับจ้างขนส่งสินค้าย่อมใช้งานได้ไม่เต็มที่ เพราะความเก่าของเครื่องยนต์และอุปกรณ์ของรถยนต์ย่อมชำรุดเสียหายอยู่เสมอ ค่าขาดประโยชน์ในส่วนนี้อย่างมากตลอดเวลาเกือบ 4 ปี ไม่เกิน 80,000 บาท ส่วนค่าข้าวสารจำนวน 200 กระสอบ ไม่ได้ระบุว่าเป็นข้าวสารชนิดใดจึงมีราคาปานกลางและกระสอบละไม่เกิน 1,000 บาท ค่าเสียหายในส่วนนี้จึงมีจำนวน 200,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่รถบรรทุกและข้าวสารที่พิพาทสูญหายไปไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลเพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายตามฟ้องต่อโจทก์และแม้จะฟังว่าเป็นการกระทำโดยละเมิดของจำเลยที่ 2 โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เนื่องจากตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย ในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ยกฟ้อง ในระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าว โดยเห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยชัดแจ้งว่าการที่โจทก์ถูกกระทำละเมิดตามฟ้องนั้น เนื่องมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ กรณีจึงต้องด้วยพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดในผลการกระทำละเมิดของตนต่อโจทก์ได้ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับให้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อไป ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 200,000 บาท และจากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2541 และนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2541 ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอก กิตติ อริยานนท์ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ได้ตรวจยึดรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-4660 พิจิตร ของโจทก์ พร้อมข้าวสารที่บรรทุกอยู่บนรถบรรทุกจำนวน 200 กระสอบ โดยมีผ้าใบคลุมอยู่ เนื่องจากรถบรรทุกคันดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบรถบรรทุกคันดังกล่าว นายเอกชน แสนสี คนขับรถบรรทุกคันดังกล่าวได้หลบหนีไป สิบตำรวจโท อมาตย์ ทิวันทา จึงได้ขับรถบรรทุกที่บรรทุกข้าวสารอยู่ไปจอดไว้ริมถนนบรมราชชนนี (ขาออก) หันหน้ารถไปทางจังหวัดนครปฐม ห่างสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันประมาณ 25 ถึง 50 เมตร ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.8 ถึง ล.10 จากนั้นนำกุญแจรถบรรทุกและบันทึกการตรวจยึดมอบให้แก่จำเลยที่ 3 ในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนอยู่ จำเลยที่ 3 จึงยึดรถบรรทุกคันดังกล่าวของโจทก์ไว้เป็นของกลาง ต่อมารถบรรทุกและข้าวสารบนรถได้หายไปในช่วงเวลาประมาณ 20 ถึง 21 นาฬิกาของวันดังกล่าว ขณะอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของของจำเลยที่ 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 3 กระทำประมาทเลินเล่อไม่ดูแลรักษารถบรรทุกและข้าวสารบนรถขณะอยู่ในความครอบครองดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาประการแรกว่า นายเอกชนลูกจ้างของโจทก์จอดรถบรรทุกวิ่งหลบหนีไปทันทีขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้หยุดเพื่อขอตรวจและทิ้งกุญแจคาไว้เป็นการละทิ้งหน้าที่ในการดูแลรถบรรทุก เมื่อเป็นดังนี้หากปล่อยทิ้งไว้ที่เดิมบนถนนสาธารณะอาจเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่แล่นมาชนเสียหายถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สินบานปลายมากขึ้นก็เป็นได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจึงต้องนำรถบรรทุกมามอบให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนไว้เป็นของกลาง ครั้นในวันเกิดเหตุนั้นเอง นายเอกชนได้ย้อนกลับมาขับรถบรรทุกหลบหนีไป จึงเป็นเรื่องที่นายเอกชนเข้าครอบครองรถบรรทุกดังเดิม การที่นายเอกชนขับรถบรรทุกหายไปเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยร่วมกันกระทำละเมิดแต่อย่างใด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งการที่โจทก์ไม่สามารถฟ้องนายเอกชนให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบและไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเรื่องนอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำให้การไว้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่ารถบรรทุกของกลางเป็นรถขนาดใหญ่บรรทุกข้าวสารจำนวนมากถึง 200 กระสอบ ไม่สามารถนำเข้าไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันได้ จึงต้องนำไปจอดไว้ข้างถนนบริเวณที่กำหนดไว้เป็นสถานที่จอด และไม่ห่างจากสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันมากนักสามารถตรวจดูได้ และได้ตรวจดูอยู่บ่อยๆ ที่ไม่ได้ล็อกประตูเพราะเป็นรถเก่าไม่ปรากฏว่าจะล็อกประตูได้หรือไม่ ทั้งไม่มีทรัพย์สินมีค่าเก็บไว้ในห้องคนขับ การที่จำเลยที่ 3 ดึงกุญแจรถบรรทุกไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน และเอาโซ่และกุญแจไปล็อกไว้ระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์เป็นการป้องกันไว้อย่างดีและมิได้ผิดระเบียบราชการ ไม่ได้เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้น เห็นว่า รถบรรทุกและข้าวสาร 200 กระสอบบนรถบรรทุกของโจทก์ถูกยึดไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดีอาญาโดยจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลรักษารถบรรทุกและข้าวสารของกลางไว้ระหว่างสอบสวนโดยต้องใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสารเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งมีข้าวสารบรรจุกระสอบถึง 200 กระสอบมูลค่าหลายแสนบาทบรรทุกอยู่บนรถจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นมิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 3 นำรถบรรทุกไปจอดไว้ข้างถนนห่างจากสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันประมาณ 25 ถึง 50 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่กำหนดไว้เป็นสถานที่จอด เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันได้เป็นเพียงการนำรถบรรทุกไปจอดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการดูแลรักษาทรัพย์สิน แม้จะได้เก็บกุญแจรถไว้ แล้วเอาโซ่และกุญแจล็อกระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์และได้ตรวจดูบ่อยๆ ก็ตาม แต่การจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควรย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและข้าวสารไปได้โดยง่ายจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสารเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองเป็นเหตุให้รถบรรทุกและข้าวสารสูญหายไป ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืนให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ |