

ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ข้อ 3.ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ขาดเจตนา ข้อ 3. นายชอบ พาสุนัขของตนสองตัวไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ขณะที่ นายชอบ เผลอ สุนัขทั้งสองตัววิ่งหายไปในกลุ่มคนที่มาเดินออกกำลังกาย นายชอบ เห็นสุนัขตัวหนึ่งของ นายใจ เดินอยู่ นายชอบ เข้าใจว่าเป็นสุนัขของตนที่หายไป จึงเข้าไปอุ้มนำขึ้นรถเพื่อกลับบ้าน ระหว่างทาง นายชอบ เห็นสุนัขอีกตัวหนึ่งเดินอยู่ข้างถนนเข้าใจว่าเป็นสุนัขของ นายชื่น นายชอบ อยากได้มาเป็นของตนแทนสุนัขอีกตัวหนึ่งที่หายไป จึงไปอุ้มขึ้นมาบนรถแต่ความจริงเป็นสุนัขของนายชอบเอง ให้วินิจฉัยว่า นายชอบ มีความผิดฐานใดหรือไม่ ธงคำตอบ นายชอบ ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เพราะขาดเจตนาลักทรัพย์ เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงจะถือว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ตามที่มาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติไว้ นายชอบ ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายชื่น เพราะสุนัขอีกตัวหนึ่งที่นายชอบ อุ้มขึ้นมาบนรถเป็นสุนัขของ นายชอบ เอง จึงไม่ใช่การเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 7144/2545) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ โดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมาย บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณี ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มี เจตนา กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและ ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทำนั้น ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะ ถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ นั้นมิได้ กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่ กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจัก ต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวัง เช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7144/2545 คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนที่รับสารภาพว่าเป็นผู้ฆ่าและข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ยันจำเลยเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 จำเลยให้การรับสารภาพแล้วยังนำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและให้ถ่ายรูปไว้ด้วย โดยจำเลยมิได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น และจากการตรวจกางเกงชั้นในของจำเลยที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดมาจากจำเลยที่นุ่งอยู่ในวันถูกจับกุมส่งไปตรวจหารหัสพันธุ์กรรม(ดีเอ็นเอ)ได้ความว่าได้รหัสพันธุ์กรรมตรงกับคราบเลือดของผู้ตาย น่าเชื่อว่าคราบเลือดที่ติดอยู่กับกางเกงชั้นในของจำเลยเป็นของผู้ตาย พฤติการณ์ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยมีน้ำหนักพอที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่งแล้ว เมื่อผู้ตายได้ตายไปแล้วแต่จำเลยคิดว่าผู้ตายสลบไป จึงข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย เพราะผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 277,288, 289, 91, 92 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 289(6) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี จำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ให้ประหารชีวิต รวมสองกระทงคงประหารชีวิตสถานเดียวและเมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายได้อีก จำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและไม่ปรากฏเหตุบรรเทาโทษอื่นที่สมควรจะลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จึงไม่ลดโทษให้ คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6) ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นกระทงเดียวให้ประหารชีวิต ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่เด็กหญิง อ. ผู้ตาย อายุ 12 ปี อยู่เฝ้าบ้านเกิดเหตุคนเดียว ได้มีคนร้ายเข้าไปในบ้าน ต่อมาเวลาประมาณ 2.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นนางดารา เทศกาล มารดาของผู้ตายกลับจากทำงานมาถึงบ้านก็พบผู้ตายซึ่งแต่งกายนุ่งกางเกงขาสั้นสวมเสื้อยืดแขนสั้นถึงแก่ความตายแล้ว โดยศพผู้ตายนอนอยู่บนที่นอนมีร่องรอยถูกข่มขืนกระทำชำเรา คราบเลือดของผู้ตายติดอยู่ที่กางเกงชั้นในผู้ตาย พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความแล้วมาตรวจที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยกล่าวหาฆ่าผู้ตาย และข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายที่อายุไม่เกิน 13 ปี เป็นคดีนี้ จำเลยให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความว่าได้เห็นจำเลยเข้าไปในบ้านผู้ตายในคืนเกิดเหตุเลยดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสมนึก นวลคำที่ไปตรวจที่เกิดเหตุสอบถามนางดารามารดาของผู้ตายได้ความว่าจำเลยได้มาชอบพอนางดารา นางดาราพาจำเลยมาที่บ้าน เมื่อจำเลยพบผู้ตาย จำเลยเคยชมผู้ตายว่าโตเป็นสาวและหน้าตาดี ร้อยตำรวจเอกสมนึกเกิดสงสัยจำเลยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไปพบจำเลยที่บ้านจำเลยซึ่งอยู่ห่างบ้านผู้ตายประมาณ 500 เมตร เพื่อสอบถามและเมื่อนำไปสถานีตำรวจสอบสวนแล้วจำเลยรับสารภาพว่าเป็นผู้ฆ่าและข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายตามคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.16 คำให้การของจำเลยดังกล่าวก็ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ยันจำเลยเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ซึ่งจำเลยให้การถึงรายละเอียดในการกระทำผิดของจำเลยเป็นการยากที่พนักงานสอบสวนจะจัดทำขึ้นเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่จำเลยให้การถึงการแต่งตัวและจัดท่านอนให้แก่ผู้ตายก่อนที่จำเลยจะหลบหนีออกจากบ้านผู้ตายว่าจำเลยได้จัดการนำกางเกงชั้นในและกางเกงชั้นนอกของผู้ตายมาสวมไว้ตามเดิม พร้อมกับนำร่างผู้ตายนอนในสภาพปกติและใช้ผ้าห่มปิดร่างกายผู้ตายในช่วงหน้าอกไปถึงปลายเท้า ซึ่งสภาพศพของผู้ตายที่จำเลยจัดไว้ดังกล่าวนี้ก็ปรากฏว่าตรงกับคำให้การของนางดาราที่กลับมาบ้านเห็นศพของผู้ตายตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ที่จำเลยยอมรับว่านางดาราได้ให้การไว้เช่นนั้นจริงว่า ได้พบผู้ตายนอนอยู่บนเตียงในมุ้งมีผ้าคลุมลำตัวไว้ทั้งศพของผู้ตายก็นุ่งกางเกงชั้นในและกางเกงชั้นนอกอยู่ด้วยเช่นนี้จึงทำให้เห็นว่าหากจำเลยมิได้เกี่ยวข้องกับการตายของผู้ตายแล้วก็ไม่น่าที่จะให้การได้ถูกต้อง ยิ่งกว่านั้นเมื่อพนักงานสอบสวนส่งคราบเลือดที่ติดอยู่ที่กางเกงชั้นในของจำเลยซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดมาจากจำเลยที่จำเลยนุ่งอยู่ในวันถูกจับกุมส่งไปตรวจพิสูจน์หารหัสพันธุ์กรรม (ดีเอ็นเอ) ก็ได้ความว่าได้รหัสพันธุ์กรรมตรงกับคราบเลือดของผู้ตาย โดยพันตำรวจตรีหญิงดรุณี ถิรวิทยาคม แห่งสถาบันนิติเวชวิทยาสำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้การยืนยันการตรวจพิสูจน์ว่าน่าเชื่อว่าคราบเลือดที่ติดอยู่กับกางเกงชั้นในของจำเลยเป็นของผู้ตาย ซึ่งรหัสพันธุ์กรรมหรือดีเอ็นเอนี้เป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะเรื่องนี้เป็นรหัสพันธุ์กรรมของผู้ตาย แต่กลับมาปรากฏอยู่ที่กางเกงชั้นในของจำเลย การที่จำเลยฎีกาอ้างเหตุที่มีคราบเลือดของผู้ตายติดอยู่ที่กางเกงชั้นในของจำเลยว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจยึดกางเกงชั้นในของจำเลยไปนั้น ไม่มีคราบเลือดใด ๆ เลย แต่เจ้าพนักงานตำรวจสร้างหลักฐานขึ้นมาโดยนำกางเกงชั้นในของจำเลยไปเช็ดเลือดของผู้ตายภายหลังแล้วส่งไปตรวจพิสูจน์นั้น ร้อยตำรวจเอกสมนึกผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่าได้ยึดกางเกงชั้นในของจำเลยที่เปื้อนเลือดไว้ ซึ่งบันทึกการจับกุมที่จำเลยลงชื่อไว้ก็ระบุว่าได้ยึดกางเกงชั้นในของจำเลยที่เปื้อนเลือดไว้เช่นกัน นอกจากนี้ในคำให้การของจำเลย จำเลยก็ได้ให้การยอมรับว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดกางเกงชั้นในของจำเลยที่เปื้อนเลือดด้วย ซึ่งบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของจำเลยเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นในวันรุ่งขึ้นหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยนั้นเอง อันเป็นเวลาหลังเกิดเหตุไม่นานนัก ประกอบกับนายศรีเมฆ สุดไทย ผู้ใหญ่บ้านพยานโจทก์ซึ่งเป็นญาติกับจำเลยที่ไปบ้านผู้ตายหลังจากได้รับแจ้งเหตุของผู้ตายในคืนนั้นก็เบิกความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ต่อมาทราบว่าจำเลยรับสารภาพว่าเป็นผู้ข่มขืนฆ่าผู้ตาย โดยเจ้าพนักงานตำรวจพบคราบเลือดติดอยู่ที่กางเกงด้วยเช่นนี้จึงเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดกางเกงชั้นในของจำเลยส่งไปตรวจพิสูจน์ก็เนื่องจากเห็นมีคราบเลือดติดอยู่ตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรกเมื่อจับกุมจำเลยแล้ว มิใช่เป็นการสร้างหลักฐานโดยการเอากางเกงชั้นในของจำเลยไปเช็ดเลือดของผู้ตายเพื่อปรักปรำจำเลยดังเช่นที่จำเลยอ้างในฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด นอกจากนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้ว จำเลยยังนำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูปไว้อีกด้วย โดยจำเลยก็มิได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น พฤติการณ์ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าวมามีน้ำหนักพอที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่า จำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยใช้หมอนขนาดใหญ่ปิดหน้าผู้ตายก็เป็นเพียงทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจ ขาดสติแน่นิ่งไปเท่านั้น โดยผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตายทันทีเมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้ว จำเลยจึงบีบคอซ้ำอีกจนผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยจึงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง นั้น เห็นว่า แม้ผลจากการตรวจสภาพศพของพันตำรวจเอกณรงค์ศักดิ์ เสาวคนธ์ แห่งสถาบันนิติเวชวิทยาสำนักงานนายแพทย์ใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะระบุเหตุการตายของผู้ตายว่าขาดอากาศหายใจจากถูกกดรัดทางเดินหายใจตามเอกสารหมาย จ.24 ก็ตามแต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงการตายของผู้ตายเท่านั้น โดยมิได้แสดงให้เห็นว่าผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนหรือขณะหรือภายหลังที่จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้วซึ่งโจทก์มิได้มีพยานอื่นใดมาสืบให้เห็นแน่ชัดว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้วจึงบีบคอผู้ตายซ้ำอีกจนผู้ตายถึงแก่ความตายดังเช่นที่โจทก์ฎีกา แต่หากพิจารณาผลการตรวจสภาพศพผู้ตายดังกล่าวในส่วนคอที่ระบุว่ากล่องเสียงปกติ หลอดลมปกติ เนื้อเยื่อบริเวณคอช้ำข้างกล่องเสียงด้านขวาขนาด 0.5 x 0.7 เซนติเมตร แล้วเห็นได้ว่าเนื้อเยื่อบริเวณคอช้ำนั้นมีขนาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นทั้งสภาพกล่องเสียงและหลอดลมต่างก็ปกติเช่นนี้ เหตุการตายของผู้ตายน่าจะไม่ใช่เกิดจากที่จำเลยบีบคอผู้ตายดังเช่นที่โจทก์อ้างในฎีกา ดังนั้น การที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนตอนหนึ่งฟังได้ว่า จำเลยใช้หมอนปิดส่วนใบหน้าผู้ตายแล้วใช้มือทั้งสองกดทับบริเวณจมูกและปากผู้ตายเพื่อไม่ให้ส่งเสียงร้อง แต่ผู้ตายยังดิ้นรนขัดขืน จำเลยจึงใช้มือกดหมอนไม่ให้ผู้ตายหายใจออกด้วยต้องการให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อใช้เวลากดนานประมาณ 3 นาที ผู้ตายก็แน่นิ่งไป ซึ่งตามลักษณะรูปร่างของผู้ตายที่ยังเป็นเด็กจำเลยที่มีรูปร่างใหญ่กว่าผู้ตายมาก การที่จำเลยใช้กำลังกดหมอนที่จมูกและปากของผู้ตายเป็นเวลานานถึง 3 นาที เช่นนี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว การที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนตอนหนึ่งตามที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าผู้ตายได้สลบไปเท่านั้นและได้ข่มขืนต่อไป ต่อเมื่อข่มขืนเสร็จแล้ว จึงทราบว่าผู้ตายได้ถึงแก่ความตายแล้วเนื่องจากไม่ได้ยินเสียงร้องและแน่นิ่งไปนั้น เป็นการที่จำเลยตอบคำถามของพนักงานสอบสวนที่ถามว่าหลังจากที่จำเลยใช้หมอนกดปิดปากและจมูกของผู้ตายแล้ว จำเลยทราบหรือไม่ว่า ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายทันทีหรือไม่ โดยจำเลยตอบว่า ไม่ทราบ แต่จำเลยคิดว่าผู้ตายได้สลบไปเท่านั้น การที่จำเลยตอบคำถามของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจึงทำให้เห็นได้ว่า ผู้ตายได้ตายไปแล้ว การที่จำเลยคิดว่าผู้ตายเพียงสลบไปจึงข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย แม้ขณะที่ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายนั้น จำเลยไม่ทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เป็นแต่มาทราบภายหลังจากการข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายเสร็จว่าผู้ตายตายแล้ว ก็หาทำให้จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายไม่ เพราะผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อน ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล ซึ่งคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมายจ.16 เป็นประโยชน์ในการพิจารณาของศาลอย่างมากในการรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลย ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ สมควรที่จะลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78" พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 |