การเลิกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างมีครรภ์ การเลิกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างมีครรภ์ สัญญาจ้างตกเป็นโมฆะ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ข้อ 8. บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด กับนางสาวสมหญิง ได้ตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานกันไว้ข้อหนึ่งว่า เนื่องจากงานต้อนรับลูกค้าเป็นงานที่ถือเป็นภาพลักษณ์ของบริษัท ดังนั้นภายในสองปีนับแต่วันที่เริ่มสัญญา หากนางสาวสมหญิงตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสมหญิง ได้บอกเลิกสัญญา ทั้งนี้ให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์วินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่านางสาวสมหญิงตั้งครรภ์ หลังจากนางสาวสมหญิงทำงานเป็นพนักงานต้อนรับได้ปีเศษ นางสาวสมหญิงก็ตั้งครรภ์ บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด จึงแจ้งให้นางสาวสมหญิง ออกจากงานในวันที่นางสาวสมหญิง ยื่นใบรับรองของแพทย์ว่า นางสาวสมหญิงมีครรภ์ และจ่ายค่าจ้างให้ถึงวันออกจากงาน โดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างสิ้นสุด นางสาาวสมหญิง เห็นว่าสัญญาจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าบริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด เลิกจ้างตนจึงเรียกร้องขอค่าชดเชย ให้วินิจฉัยว่า สัญญาจ้างระหว่าง บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด กับ นางสาวสมหญิง ข้อดังกล่าวใช้บังคับได้หรือไม่ เพียงใด พฤติการณ์ที่บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด แจ้งต่อนางสาวสมหญิง ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ และต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสมหญิงหรือไม่ ธงคำตอบ สัญญาจ้างระหว่างบริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด กับนางสาวสมหญิง ข้อที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสมหญิงตั้งครรภ์ให้ถือว่า นางสาวสมหญิง ได้บอกเลิกสัญญา โดยให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่านางสาวสมหญิง ตั้งครรภ์นั้น เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างนางสาวสมหญิง เพราะเหตุมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 สัญญาจ้างข้อดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2549) พฤติการณ์ที่บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด แจ้งให้นางสาวสมหญิง ออกจากงานในวันที่นางสาวสมหญิง ยื่นใบรับรองของแพทย์ว่านางสาวสมหญิงมีครรภ์และจ่ายค่าจ้างให้ถึงวันออกจากงานโดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ซึ่งอยู่ในความหมายของการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง จึงเป็นกรณีที่บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด เลิกจ้างนางสาวสมหญิง และเมื่อการเลิกจ้างดังกล่าวมิใช่เพราะเหตุในกรณีหนึ่งกรณีใดตามมาตรา 119 บริษัทโรงแรมสีส้ม จำกัด จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสมหญิง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 43 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้ การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้ กระทำผิด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2549 ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ส. ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ว่าภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หาก ส. ตั้งครรภ์ให้ถือว่า ส. ได้บอกเลิกสัญญานี้แล้ว เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้าง เพราะ ส. มีครรภ์ อันขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การปฏิบัติงานบนเครื่องบินเป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติของ ส. แม้ค่าชั่วโมงบินที่ ส. ได้รับในแต่ละเดือนจะมีจำนวนไม่แน่นอนและไม่เท่ากันแต่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างก็จ่ายค่าชั่วโมงบินให้แก่ ส. เมื่อมีการปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือนทุกเดือน ตามอัตราที่คำนวณจากเวลาที่ได้ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ค่าชั่วโมงบินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ ส. เป็นการตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 5/2547 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ในส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 60,561 บาท ให้แก่นางสาวสาวิตรี จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวสาวิตรีตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ข้อ 6.1 ที่ว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากพนักงาน (ซึ่งหมายถึงนางสาวสาวิตรีลูกจ้าง) ตั้งครรภ์ให้ถือว่าพนักงานได้บอกเลิกสัญญานี้แล้ว ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวสาวิตรีตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีได้บอกเลิกสัญญาเป็นข้อตกลงที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกับข้อตกลงในเรื่องสภาพการจ้าง การสิ้นสุดสัญญาและการตั้งครรภ์ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 2 ข้อ 5.2.2 และข้อ 6 ซึ่งสรุปได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจและยอมรับว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีลักษณะเป็นการเฉพาะ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวเกี่ยวกับภาษีที่ใช้ มีบุคลิกภาพที่ดีและสุขภาพสมบูรณ์สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องบินขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรม การทดสอบและการตรวจร่างกายตามระยะเวลาที่โจทก์กำหนด พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการฝึกอบรมและปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความสามารถและประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของการปฏิบัติงาน การตั้งครรภ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ตามข้อ 6.1 ขึ้นเป็นข้อหนึ่งของสัญญาจ้าง ซึ่งข้อ 5.2.2 กำหนดว่า เมื่อนางสาวสาวิตรีได้กระทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ คำสั่งต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในข้อ 2 กรณีร้ายแรง ให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงและข้อตกลงในข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีได้บอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่านางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงข้อ 6.1 เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะนางสาวสาวิตรีมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า ค่าชั่วโมงบินเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการปฏิบัติงานบนเครื่องบินเป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติของนางสาวสาวิตรี แม้ค่าชั่วโมงบินที่นางสาวสาวิตรีได้รับในแต่ละเดือนจะมีจำนวนไม่แน่นอนและไม่เท่ากัน แต่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างก็จ่ายค่าชั่วโมงบินให้แก่นางสาวสาวิตรีเมื่อมีการปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือนทุกเดือน ตามอัตราที่คำนวณจากเวลาที่ได้ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ค่าชั่วโมงบินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่นางสาวสาวิตรีเป็นการตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่จำเลยนำค่าชั่วโมงบินมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน พิพากษายืน.
|