

การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่, การหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขัง, โทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด ข้อ 1. ร้อยตำรวจเอกเก่งและสิบตำรวจเอกขาว ขับรถจักรยานยนต์ออกตรวจท้องที่ตามอำนาจหน้าที่ พบนายแดงกับนายดำ กำลังขับรถจักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนรถทั้งสองคันอย่างคึกคะนองด้วยความเร็วสูงบนถนนหลวงจึงได้ให้สัญญาณให้หยุดรถเพื่อตรวจจับ แต่นายแดงและนายดำ ไม่ยอมหยุดและได้ขับรถจักรยานต์หนีไป ร้อยตำรวจเอกเก่งและสิบตำรวจเอกขาว จึงขับรถจักรยานยนต์ไล่ตามจนทันและจับกุมตัวนายแดงไว้ได้แต่ยังไม่ได้แจ้งข้อหา ครั้นร้อยตำรวจเอกเก่ง กำลังจะใส่กุญแจมือนายแดงเพื่อนำส่งสถานีตำรวจ นายแดงไม่ยอมให้ใส่ดิ้นรนขัดขืนหลบหนีไป โดยขับรถจักรยานยนต์ของตนไปด้วย ส่วนนายดำได้ใช้รถจักรยานยนต์ของตนที่ขับมาพุ่งชนสิบตำรวจเอกขาว เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส รถจักรยานยนต์เสียหลัก พุ่งชนเสาไฟฟ้า นายดำถึงแก่ความตาย ร้อยตำรวจเอกเก่งจึงยึดรถจักรยานยนต์ของนายดำเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ให้วินิจฉัยว่า นายแดง นายดำ มีความผิดฐานใดหรือไม่ และรถจักรยานยนต์ ของกลาง จะริบได้หรือไม่ ธงคำตอบ ร้อยตำรวจเอกเก่งและสิบตำรวจเอกขาวได้ให้สัญญาณให้นายแดงและนายดำหยุดรถ การที่นายแดงและนายดำไม่ยอมหยุดและได้ขับรถหนีไปจนต้องไล่ตามจับ พฤติการณ์เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของนายแดงและนายดำเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน จึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2401/2545) นายแดงถูกจับกุมตัวถึงแม้ยังมิได้แจ้งข้อหาก็เป็นการถูกคุมขังแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(12) (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 772/2536) การที่นายแดงหลบหนีไปจึงเป็นการหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขัง ตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา จึงมีความผิดตาม มาตรา 190 วรรคแรก และ การที่นายแดงดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้ร้อยตำรวจเอกเก่งใส่กุญแจมือ ถือเป็นการต่อสู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นความผิด ตามมาตรา 138 วรรคแรก ส่วนนายดำใช้รถจักรยานยนต์ของตนขับพุ่งชนสิบตำรวจเอกขาว จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 สำหรับรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้น เมื่อนายดำถึงแก่ความตาย โทษย่อมเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 38 จึงไม่อาจริบรถจักรยานยนต์ของกลางได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2456/2530, 4418/2548) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือ ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้ มาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มี อำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรกได้กระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิดผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี อันตรายสาหัสนั้น คือ
มาตรา 289 ผู้ใด ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต มาตรา 38 โทษให้เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2545 การกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นความผิดที่เกิดขึ้นและมีอยู่ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา นับตั้งแต่เมื่อบุคคลผู้นั้นได้ยึดถือเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจนกระทั่งขนเคลื่อนย้ายไป คดีนี้ปรากฏว่าคนร้ายซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมาจ้างจำเลยให้ขับรถยนต์ไปส่งยังจุดหมายปลายทาง โดยจำเลยรู้จักคนร้ายเป็นอย่างดีและรู้ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลาง 1,000 เม็ด คนร้ายจะนำไปจำหน่ายที่จังหวัดเชียงใหม่ การที่จำเลยรับจ้างขับรถยนต์เพื่อส่งคนร้ายโดยมียาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือความปกครองดูแลของจำเลยด้วยถือว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง เมื่อจำเลยกับคนร้ายกระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุตามความประสงค์โดยการกระทำแต่ละขั้นตอนเป็นสาระสำคัญก่อให้เกิดเป็นความผิดขึ้น การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นตัวการมิใช่เป็นผู้สนับสนุน การที่จำเลยขับรถยนต์มาถึงด่านตรวจ เจ้าพนักงานตำรวจให้สัญญาณหยุดรถเพื่อขอตรวจค้น จำเลยไม่ยอมหยุดและขับรถเลยไปจนต้องมีการไล่ติดตามเพื่อสกัดจับและจำเลยดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมนั้น เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการจะหลบหนี เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2536 หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพันตำรวจโท บ. พันตำรวจโท บ. สอบปากคำจำเลยจำเลยขออนุญาตกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้าน เพราะเสื้อผ้าเปื้อนเลือด พันตำรวจโท บ. ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านของจำเลย จำเลยเดินเข้าไปในบ้าน พันตำรวจโท บ. นั่งคอยจำเลยอยู่ที่ห้องรับแขก กับมีเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน คอยอยู่นอกบ้านแม้ไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโท บ. ทำบันทึกการมอบตัวหรือแจ้งข้อหาแก่จำเลย แต่ก็ถือได้ว่าพันตำรวจโท บ. ได้คุมขังจำเลยไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปตามอำนาจหน้าที่แล้ว การที่จำเลยไม่กลับมาพบพันตำรวจโท บ. แล้วหลบหนีออกทางประตูหลังบ้านไป ถือได้ว่าจำเลยได้หลบหนีไปจากความควบคุมของพันตำรวจโท บ. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 แล้ว แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยไปเก็บเงินค่าสินค้าที่ต่างอำเภอและถูกคนร้ายชิงทรัพย์ก็ตาม การที่จำเลยพาอาวุธปืนไปเก็บเงินที่อำเภอดังกล่าวในวันเกิดเหตุก็ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เพราะไม่แน่ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่สมควรลงโทษจำเลยสถานเบา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2456/2530 ผู้กระทำความผิดใช้อาวุธปืนยิงเจ้าพนักงานตำรวจแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้กระทำความผิดย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 และโทษก็เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 ดังนั้น อาวุธปืนซึ่งเป็นปืนที่มีทะเบียนของผู้อื่นที่ผู้ตายใช้ยิงเจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่อาจริบได้ตามบทกฎหมาย. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2548 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะของกลางของจำเลยที่ 1 ทั้งที่ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่ใช้รถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ มิได้ใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้โดยตรง และพิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะของกลางของจำเลยที่ 2 ทั้งที่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้วและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ระงับลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) และโทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 38 จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ฝ่ายจำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ |