

ที่งอกริมตลิ่ง- สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินที่จะถือว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งจะต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ข้อ 1. นายเช้า เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทางทิศตะวันตก ถัดจากชายตลิ่งด้านที่ดินของนายเช้าไปประมาณ 10 เมตร มีสันทรายกลางแม่น้ำกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร จากทางทิศเหนือไปทางทิศใต้ โดยเริ่มจากทางทิศเหนือห่างจากที่ดินของนายเช้า ไปประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้บริเวณนั้นแม่น้ำไหลผ่าน 2 เส้นทาง ต่อมาทางราชการได้ปิดกั้นทางน้ำทางทิศตะวันตกของสันทรายทั้งทางด้านเหนือสุดและใต้สุด อีกหลายสิบปีต่อมา ร่องน้ำนั้นตื้นเขินขึ้นจนมีระดับเดียวกับสันทรายและที่ดินของนายเช้า ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง นายเที่ยง ได้เข้าปลูกบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นร่องน้ำที่ตื้นเขินขึ้นดังกล่าวบริเวณหน้าที่ดินของนายเช้า และในที่ดินสันทรายเดิม กับล้อมรั้วปิดกั้นหน้าที่ดินของนายเช้า ทั้งหมด ทำให้นายเย็น ซึ่งเช่าที่ดินของนายเช้า ปลูกบ้านอาศัยอยู่ไม่สามารถเดินผ่านไปใช้แม่น้ำซึ่งเคยใช้อยู่เป็นประจำได้ จึงฟ้องขอให้นายเที่ยง รื้อรั้วให้นายเย็น เดินไปสู่แม่น้ำได้ และนายเช้าฟ้องขอให้ขับไล่นายเที่ยง อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของนายเช้า นายเที่ยง ให้การต่อสู้ว่า นายเช้า และ นายเย็น ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่ตนล้อมรั้วปลูกบ้าน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า นายเช้า และนายเย็น มีอำนาจฟ้องนายเที่ยง หรือไม่ ธงคำตอบ ที่ดินที่จะถือว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 จะต้องเป็นที่ดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการที่น้ำพัดพาเอาดิน หรือทรายจากที่อื่นมาทับถมกันจนเป็นที่งอกออกไปจากริมตลิ่ง การที่ที่ดินพิพาทเกิดจากการที่ทางน้ำตื้นเขินขึ้นเพราะทางราชการปิดกั้นทางน้ำนั้น ไม่ถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอก ริมตลิ่ง นายเช้า ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่นายเที่ยง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 7435/2540 และ ที่ 195/2523) ที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นทางน้ำ เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) เมื่อตื้นเขินขึ้นก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 195/2523) นายเย็น ชอบที่จะใช้ที่ดินดังกล่าวและที่ดินสันทรายเดิมซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นทางเดินไปสู่แม่น้ำได้ การที่นายเที่ยง ล้อมรั้วปิดกั้นทางเดินทำให้นายเย็น เดินไปสู่แม่น้ำไม่ได้นั้น เป็นการใช้สิทธิอันเป็นเหตุให้นายเย็น ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งแม้นายเย็น จะเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินของนายเช้า ปลูกบ้านอาศัยอยู่ แต่นายเย็น ก็เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ นายเย็นจึงมีอำนาจฟ้องขอให้นายเที่ยง รื้อรั้ว เปิดทางให้นายเย็นเดินไปสู่แม่น้ำได้ ตามมาตรา 1337 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1945/2538) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สิน ของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของ แผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น มาตรา 1337 บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไป ตามปกติ และเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมา คำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยัง ความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2540 เดิมที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำ แต่ปัจจุบันติดที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยาวไปทางแม่น้ำ 61.80 เมตร สภาพของที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นซึ่งติดกับที่ดินพิพาทเป็นแนวยาวทอดไปตามริมแม่น้ำหลายกิโลเมตร ที่ดินพิพาทส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์มีลักษณะเป็นที่ลุ่่ม ต่ำกว่าที่ดินของโจทก์ จากที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ลุ่มขึ้นไปทางทิศเหนือมีลักษณะค่อย ๆ ลุ่ม ลึกลงบางตอนลึกท่วมศีรษะ ส่วนทางด้านทิศใต้ก็เช่นเดียวกัน แต่ลักษณะลุ่มลึกน้อยกว่า เมื่อที่ดินพิพาทและที่ดินที่ทอดเป็นแนวยาวไปตามแนวแม่น้ำนั้น เกิดจากกระแสน้ำได้เซาะที่ดินฝั่งตรงกันข้ามและบริเวณดังกล่าวน้ำไม่ไหลหมุนเวียน ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์กับที่ดินพิพาทเดิมมีลำรางคั่นน้ำท่วมถึงทุกปี แต่ระยะหลังลำรางตื้นเขิน เพราะมีเขื่อนกั้นทำให้น้ำเปลี่ยนทางเดิน เป็นที่งอกยาวไปตามแนวแม่น้ำ ที่ดินพิพาทมิได้เกิดจากการที่น้ำพัดพาเอาดินจากที่อื่นมาทับถมกันที่ริมตลิ่งตามธรรมชาติจนน้ำท่วมไม่ถึงทำให้เกิดที่ดินงอกออกไปจากริมตลิ่งแต่เป็นทางน้ำที่ตื้นเขิน ขึ้นเพราะน้ำเปลี่ยนทางเดิน และเดิมที่ดินพิพาทเป็นเกาะมีลำคลองกั้นกลางระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ทางทิศเหนือและทางทิศใต้มีคลอง แต่ทางราชการได้ปิดกั้นคลองทำให้ลำคลองที่กั้นกลางระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ตั้นเขิน น้ำท่วมไม่ถึง ที่ดินพิพาทจึงไปติดกับที่ดินของโจทก์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเดิมสภาพของที่ดินพิพาทเป็นเกาะเมื่อลำรางที่กั้นระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ตื้นเขินและน้ำท่วมไม่ถึง ที่ดินพิพาทจึงติดกับที่ดินของโจทก์ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ดินที่งอกออกไปจากริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ตามธรรมชาติแต่เป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขิน แล้วขยายเข้ามาติดที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 โจทก์และจำเลยทำหนังสือสัญญากันว่า จำเลยยอมรื้อถอนบ้านเลขที่ 50ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 34870 ของโจทก์และที่งอกริมตลิ่งแม่น้ำแม่กลองของที่ดินดังกล่าวออกไปภายใน 90 วัน นับแต่วันทำสัญญา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามยอมให้โจทก์รื้อถอนและดำเนินการตามกฎหมาย หากมีค่าใช้จ่ายจำเลยยอมชดใช้ให้ตามความเป็นจริง และโจทก์ให้เงิน 100,000 บาทแก่จำเลยเป็นค่ารื้อถอน ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ดินดังกล่าวหากนำออกให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 3,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมทั้งบริวารและให้รื้อถอนบ้านเลขที่ 50 และสิ่งปลูกสร้างอื่นของจำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 34870 และที่งอกริมตลิ่งของที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงิน3,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ไม่ชำระเงิน 100,000 บาท ให้จำเลย กลับจะให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 50 และบ้านไม่มีเลขที่อีก 1 หลัง ของบุคคลภายนอกซึ่งอยู่นอกที่ดินโฉนดเลขที่ 34870 จำเลยจึงไม่สามารถปฏิบัติตามได้จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ดินที่ปลูกบ้านทั้ง 2 หลังเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินและไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 34870 เนื้อที่261 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินดังกล่าวติดกับที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่ 1 งาน 68 ตารางวา จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทมาประมาณ 30 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ จำเลยได้ทำสัญญากันว่า จำเลยยอมรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 34870 และที่งอกของที่ดินดังกล่าวภายใน 90 วัน นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ได้มอบเงินให้จำเลย 100,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11 จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 34870 แล้วแต่ไม่ได้รื้อถอนบ้านเลขที่ 50 และบ้านอีก 1 หลัง ซึ่งปลูกในที่ดินพิพาท ตามแผนที่พิพาทและภาพถ่ายหมาย จ.14 ออกไปจากที่ดินพิพาท มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์ฎีกาว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 34870 ทางด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำแม่กลองที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 34870 ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยต้องรื้อบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า ตามแผนที่พิพาทและสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 34870 เอกสารหมาย จ.2 เดิมที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำแม่กลองแต่ปัจจุบันทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์ติดที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยาวไปทางแม่น้ำแม่กลอง 61.80 เมตร สภาพของที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นซึ่งติดกับที่ดินพิพาทเป็นแนวยาวทอดไปตามริมแม่น้ำแม่กลองหลายกิโลเมตร บางแห่งมีลักษณะเป็นเนินสูงบางแห่งต่ำ ที่ดินพิพาทส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำกว่าที่ดินของโจทก์ จากที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นที่ลุ่มขึ้นไปทางทิศเหนือซึ่งไปทางคลองบางสองร้อยจะมีลักษณะค่อย ๆ ลุ่มลึกลงไปจนกระทั่งบางตอนลึกท่วมศีรษะ ส่วนทางด้านทิศใต้ซึ่งไปทางคลองเจ็กก็เช่นเดียวกัน แต่ลักษณะลุ่มลึกน้อยกว่าจากสภาพของที่ดินพิพาทดังกล่าว โจทก์และนางอุไร จันทร์พุ่ม พยานโจทก์เบิกความว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโจทก์แต่นายสุรินทร์ ระนาดแก้ว พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าที่ดินพิพาทและที่ดินที่ทอดเป็นแนวยาวไปตามแนวแม่น้ำแม่กลองนั้นเกิดจากกระแสน้ำได้เซาะที่ดินฝั่งตรงกันข้ามและบริเวณดังกล่าวน้ำไม่ไหลหมุนเวียนส่วนทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์กับที่ดินพิพาทเดิมมีลำรางคั่น น้ำท่วมถึงทุกปีแต่ระยะหลังลำรางตื้นเขินเพราะมีเขื่อนกั้นที่ปากคลองบางสองร้อยและคลองเจ็กทำให้น้ำเปลี่ยนทางเดิน จึงเป็นที่งอกยาวไปตามแนวแม่น้ำแม่กลองจากคำเบิกความของนายสุรินทร์ดังกล่าว แสดงว่าที่ดินพิพาทมิได้เกิดจากการที่น้ำพัดพาเอาดินจากที่อื่นมาทับถมกันที่ริมตลิ่งตามธรรมชาติจนน้ำท่วมไม่ถึงทำให้เกิดที่ดินงอกออกไปจากริมตลิ่งแต่ที่ดินพิพาทเป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขินขึ้น เพราะน้ำเปลี่ยนทางเดินนายสุรินทร์เป็นผู้ใหญ่บ้านซึ่งที่ดินพิพาทและที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตปกครอง นายสุรินทร์ย่อมทราบประวัติและความเป็นมาของที่ดินดังกล่าวดี ทั้งคำเบิกความก็มีเหตุผล ส่วนโจทก์และนางอุไรเบิกความลอย ๆ จึงมีน้ำหนักน้อย คำเบิกความของนายสุรินทร์น่าเชื่อกว่าคำเลิกความของโจทก์และนางอุไร นอกจากนี้คำเบิกความของนายสุรินทร์ยังเจือสมกับคำเบิกความของพยานจำเลยด้วยว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นเกาะมีลำคลองกั้นกลางระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ทางทิศเหนือมีคลองบางสองร้อยทางทิศใต้มีคลองเจ็ก ทางราชการได้ปิดกั้นคลองบางสองร้อยและคลองเจ็ก จึงทำให้ลำคลองที่กั้นกลางระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ตื้นเขิน ต่อมาน้ำท่วมไม่ถึงที่ดินพิพาทจึงไปติดกับที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเดิมสภาพของที่ดินพิพาทเป็นเกาะ เมื่อลำรางที่กั้นระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ตื้นเขินและน้ำท่วมไม่ถึงที่ดินพิพาทจึงติดกับที่ดินของโจทก์ พยานจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินที่งอกออกไปจากริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ตามธรรมชาติแต่เป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขินขึ้นเพราะกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินเมื่อลำรางที่กั้นระหว่างที่ดินพิพาทกับที่ดินโจทก์ตื้นเขินและน้ำท่วมไม่ถึงลำรางที่ตื้นเขินจึงติดกับที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงเป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขินขึ้นแล้วขยายเข้ามาติดที่ดินของโจทก์ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเมื่อฟังว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 195/2523 ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่ง มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง แม้หนองน้ำจะตื้นเขินขึ้นมีระดับเสมอกับที่ดินโจทก์ที่ล้อมรอบหนองน้ำอยู่ ก็มิใช่ที่งอกริมตลิ่ง เพราะมิได้งอกออกจากตลิ่งที่ดินโจทก์ การที่หนองน้ำสาธารณะกลายสภาพเป็นที่ตื้นเขินทั้งแปลงเช่นนี้ แม้ต่อมาพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยโจทก์เข้าทำนาแต่ผู้เดียว ถ้ายังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หนองน้ำดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม แม้โจทก์จะได้ครอบครองมาเกิน 10 ปี ก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีที่ดินมีโฉนดล้อมรอบหนองสาธารณะ (หนองปรือ)แต่หนองสาธารณะได้ตื้นเขินสูญสภาพไป โจทก์ได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกิน 10 ปี ได้กรรมสิทธิ์แล้วโดยเป็นที่งอกติดต่อกับที่ดินของโจทก์ ต่อมาจำเลยได้รังวัดที่ดินดังกล่าวอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ขอให้พิพากษาว่าที่ดินภายในเส้นวงกลมตามแผนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง จำเลยให้การว่า ที่ดินโจทก์มีหนองน้ำอยู่ตรงกลางจริง เดิมเป็นหนองน้ำสาธารณะสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน และต่อมาได้ตื้นเขินขึ้น ทางราชการยังถือเป็นที่หวงห้ามตลอดมา ทั้งยังมิได้ออกพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ร่วมกัน โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินส่วนนี้ แม้หนองน้ำพิพาทจะตื้นเขินขึ้นก็ไม่ถือว่าเป็นที่งอกติดต่อกับที่ดินโจทก์ โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความจากข้อนำสืบของโจทก์ว่า น้ำที่ไหลมาตามลำเหมืองซึ่งเชื่อมติดต่อกันระหว่างหนองปรือกับคลองท่าโพธิ์ พัดพาเอาเศษดินและใบไม้ไปทับถมลงในหนองปรือ จึงทำให้หนองปรือตื้นเขินขึ้นเรื่อย ๆ และตื้นเขินขึ้นพร้อม ๆ กันเต็มเนื้อที่หนองจนมีระดับเสมอกับที่ดินที่อยู่รอบหนองปรือศาลฎีกาเห็นว่าที่งอกริมตลิ่งหมายถึงที่ดินที่งอกไปจากตลิ่ง มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง แม้หนองปรือจะตื้นเขินขึ้นมีระดับเสมอกับที่ดินโจทก์ที่อยู่รอบ ๆก็มิใช่ที่งอกริมตลิ่ง เพราะมิได้งอกออกจากริมตลิ่งที่ดินโจทก์ การที่หนองปรืออันเป็นหนองน้ำสาธารณะกลายสภาพเป็นที่ตื้นเขินทั้งแปลงเช่นนี้ แม้ต่อมาพลเมืองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยโจทก์เข้าทำนาแต่ผู้เดียว ถ้ายังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หนองปรือก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม แม้โจทก์จะได้ครอบครองมาเกิน 10 ปีก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2538 แม้โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าที่ดินปลูกบ้านอาศัย เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลย ย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารระงับการรบกวนใช้สิทธิครอบครองที่ดินให้รื้อถอนเพิงออกไปให้พ้นที่ดินชายตลิ่งหน้าที่ดินที่โจทก์เช่า จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปลูกเพิงสำหรับจอดเรือและเฝ้าเรือที่บริเวณริมตลิ่งคลองแม่กลองซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ ห่างจากบริเวณบ้านโจทก์ประมาณ 3 วา โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดิน และไม่เคยครอบครองที่ดินดังกล่าว การปลูกเพิงของจำเลยจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนเพิงออกไปให้พ้นที่ดินริมคลองแม่กลองหน้าที่ดินที่โจทก์เช่ากับวัดใหญ่ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงครามให้จำเลยและบริวารระงับการก่อกวนการใช้สิทธิครอบครองที่ดินที่โจทก์เช่าห้ามเกี่ยวข้อง จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่าโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินวัดใหญ่ ตำบลแม่กลองอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ปลูกบ้านอยู่อาศัยมาหลายปี แต่ต้องทำสัญญาเช่าเป็นรายปี ที่ดินที่โจทก์เช่าอยู่ติดคลองแม่กลองซึ่งเป็นคลองสาธารณะ บ้านที่โจทก์ปลูกหันหน้าไปทางคลอง โจทก์ใช้ที่ริมตลิ่งหน้าบ้านเป็นท่าน้ำขึ้นลงและจอดเรือจำเลยก็ปลูกบ้านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านโจทก์แต่ได้นำเรือมาจอดที่หน้าบ้านโจทก์มานานประมาณ 10 ปีแล้ว ต่อมาจำเลยปลูกเพิงในบริเวณที่จอดเรือซึ่งอยู่ห่างจากบ้านโจทก์ประมาณ 4 วาเป็นที่ชายตลิ่งอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า โจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลยอ้างว่าจำเลยอาศัย ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ มีข้อที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินวัดใหญ่ปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัย จะมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537หรือไม่ เห็นว่า ฟ้องของโจทก์บรรยายว่าเพิงที่จำเลยปลูกอยู่ที่ชายตลิ่งหน้าบ้านโจทก์ กีดขวางบังหน้าบ้านโจทก์ปิดบังทางลม แสงสว่างปิดบังทิวทัศน์ และทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ท่าน้ำขึ้นลงได้โดยสะดวกเป็นเหตุให้โจทก์ขาดความสะดวกสบาย ขาดความสำราญเสียสุขภาพอนามัย ขอให้จำเลยรื้อเพิงดังกล่าว เป็นการขอให้ขจัดความเดือดร้อนรำคาญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 แต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะให้จำเลยยุติการกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วย แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินของวัดใหญ่ปลูกบ้านอยู่อาศัยหากได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการกระทำของจำเลย และได้รับความเดือดร้อนเป็นพิเศษ โจทก์ก็อยู่ในฐานะที่จะฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนเป็นพิเศษนั้นได้ เพราะเป็นเจ้าของบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว และบ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงเข้ากรณีที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง" พิพากษายืน |