

ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม-ลงโทษใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียว ข้อ 4. นายสมได้นำแบบพิมพ์หนังสือลาออกมาเขียนข้อความว่า “เขียนที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน วันที่ 1 สิงหาคม 2550 เรื่อง ขอลาออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เรียน นายอำเภอพานทอง เนื่องด้วยข้าพเจ้า นายแสง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้ เพราะมีปัญหาสุขภาพ จึงขอลาออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน2550 ขอได้โปรดพิจารณาอนุญาตให้ข้าพเจ้าลาออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านด้วย ขอแสดงความนับถือลงลายมือชื่อ นายแสง ผู้ใหญ่บ้าน” และในช่องความเห็นกำนันท้องที่ นายสมได้กรอกข้อความว่า “เห็นสมควรตามที่ผู้ใหญ่บ้านขอลาออก” และได้ลงลายมือชื่อ นายสาย กำนันตำบลบางนาง ความจริงแล้วนายแสงไม่ได้ลาออกจาก
การที่นายสมปลอมเอกสารหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของนายแสง และคำรับรองความเห็นของ นายสาย กำนันตำบลบางนาง โดยนายสมลงลายมือชื่อปลอมของบุคคลทั้งสองในเอกสารหนังสือลาออกดังกล่าวเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายแสง ผู้ใหญ่บ้าน และนายสาย กำนันตำบลบางนาง การกระทำของนายสม จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และการที่นายสมได้นำเอกสารหนังสือลาออกดังกล่าวไปใช้อ้างแสดงต่อนายอำเภอพานทอง นายสมจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ให้ลงโทษนายสมฐานใช้เอกสารปลอม ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 "ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน" มาตรา 268 "ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม มาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือ มาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว" คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2548 คำว่า “เอกสาร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานความหมายนั้น ดังนั้น เอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้ การปลอมเอกสารจึงมีต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยลงลายมือชื่อปลอมบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออก กับปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือซื้อปลอมของกำนันลงในเอกสารเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองว่าความเห็นชอบของกำนันอันเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับโดยนำแบบพิมพ์หนังสือลาออกของที่ว่าการอำเภอพานทองมาเขียนกรอกข้อความว่า “เขียนที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน วันที่ 30 เดือน พ.ย. พ.ศ.2543 เรื่อง ขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เรียน นายอำเถอพานทอง เนื่องด้วย ข้าพเจ้า นายแมน เขียวสม ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายให้ได้ดีเท่าที่ควร อาจเกิดความเสียหายแก่ทางราชการและประชาชน จึงขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบางนาง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 30 เดือน พ.ย. พ.ศ.2543 ขอได้โปรดพิจารณาอนุญาตให้ข้าพเจ้าลาออกจากตำแหน่งได้ตามประสงค์ด้วย ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ แมน เขียวสม ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลบางนาง ความเห็นกำนันผู้ใหญ่บ้านท้องที่ เห็นสมควรตามที่ผู้ช่วยขอลาออก ลงชื่อ (ลายมือชื่อ) ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ลงชื่อ สายสุนีย์ บุญมี ตำแหน่งกำนันตำบลบางนาง” เพื่อให้นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่า นายแมนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ขอลาออกจากตำแหน่งจะได้ออกคำสั่งอนุญาต ความจริงแล้วนายแมนไม่ได้เขียนหนังสือออกแต่อย่างใด และจำเลยนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวไปใช้อ้างแสดงต่อนางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง และนายอำเภอพานทอง ว่า นายแมนขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 เพื่อให้นางสาวนพรัตน์ดำเนินการตรวจสอบเอกสารและนำเสนอนายอำเภอพานทองเพื่ออนุมัติ นางสาวนพรัตน์ตรวจสอบแล้วเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงนำเสนอนายอำเภอพานทอง นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงออกคำสั่งให้นายแมนออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายอำเภอพานทอง นางสายสุนีย์ บุญมี นางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง นายแมน เขียวสม ผู้อื่นหรือประชาชน ต่อมาจำเลยปลอมเอกสารหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นเอกสารราชการโดยจำเลยในฐานะผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลบางนางในขณะนั้น ได้จัดทำหนังสือถึงนายอำเภอพานทองขอแต่งตั้งนางสาวนวลลักษณ์ ชลา เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แทนบุคคลเดิมที่ลาออก โดยปลอมลายมือชื่อของนางสายสุนีย์ บุญมี กำนันตำบลบางนาง ลงในเอกสารดังกล่าวเพื่อให้นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่านางสายสุนีย์ได้ร่วมกับจำเลยพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งดังกล่าวเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ ต่อมาจำเลยนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวอ้างแสดงต่อนางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง และนายอำเภอพานทอง นางสาวนพรัตน์ตรวจสอบเอกสารแล้วเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ได้นำเสนอนายอำเภอพานทองและนายอำเภอพานทองตรวจสอบเอกสารแล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงดำเนินการแต่งตั้งนางสาวนวลลักษณ์เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ความจริงแล้วนางสายสุนีย์ไม่ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกและไม่ได้ลงชื่อดังกล่าว ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสายสุนีย์ บุญมี นายอำเภอพานทอง ผู้อื่นหรือประชาชรน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และริบของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน และริบของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธร์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง, 268 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่งเพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะวินิจฉัยจตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า การปลอมเอกสารจำต้องปลอมจากเอกสารที่มีอยู่จริงก่อนหรือไม่ เห็นว่า คำว่า “เอกสาร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ดังนั้นเอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้เหตุนี้การปลอมเอกสารจึงไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน การที่จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออกดังกล่าว กับการที่จำเลยปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของกำนันลงในเอกสารดังกล่าวเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เช่นนี้ จึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษปรับจำเลยกระทงละ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษปรับกระทงละ 3,000 บาท เรียงกระทงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมลงโทษปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีกกับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2565 ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 268 จะต้องกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อโจทก์ฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ม. และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ออกคำสั่งรื้อถอนอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 ส่วนที่ก่อสร้างต่อเติม โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/75 ด้วย การแก้ไขข้อความบันทึกการตรวจสอบโรงงานและแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานที่ระบุว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 ว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/79 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องว่าประกอบกิจการมีเสียงดังรบกวนให้ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบอาคารตามความจริง กลับเป็นประโยชน์แก่โจทก์ การแก้ไขข้อความในเอกสารจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เมื่อนำไปใช้จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 90, 91, 264, 265, 268 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 99/141 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากัน และเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 โครงการ บ. ต่อมาโจทก์ร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ให้เข้ามาตรวจสอบการก่อสร้าง ต่อเติม ดัดแปลงอาคารของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนนทบุรีว่า สถานประกอบกิจการตัดเย็บและผลิตเสื้อผ้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล ม. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนนทบุรี เข้าไปตรวจที่อาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และทำบันทึกการตรวจสอบไว้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ให้เข้าไปตรวจสอบอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเจ้าพนักงานก็เข้าไปตรวจสอบอาคารเลขที่ดังกล่าวตามคำร้องเรียน แม้บันทึกการตรวจสอบโรงงาน และแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงาน ระบุว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 แต่บ้านเลขที่ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ร้องเรียน และโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าได้ร้องเรียนให้เข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 และไม่ได้นำเจ้าของบ้านหลังดังกล่าวมาเบิกความว่ามีการเข้าไปตรวจสอบที่บ้านเลขที่ 555/75 ด้วย เมื่อนายอภินันท์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่าไม่ได้เข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 แต่อย่างใด และตามบันทึกการตรวจสอบโรงงาน และแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงาน ระบุตรวจสอบพบว่าโรงงานประกอบกิจการตัดเย็บและปักเสื้อผ้า ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และการประกอบกิจการมีเสียงดังรบกวนตามที่โจทก์ร้องเรียน การลงข้อความระบุว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 จึงน่าจะเกิดจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง การแก้ไขข้อความจากเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 เป็นบ้านเลขที่ 555/79 ในภายหลัง จึงเป็นการแก้ไขให้ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบอาคารตามความจริง ซึ่งความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 จะต้องกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อโจทก์ฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ม. และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้แก้ไขคำสั่งหรือให้ยกเลิกคำสั่งเดิม แล้วออกคำสั่งใหม่ให้รื้อถอนอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 ส่วนที่ก่อสร้างต่อเติม โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/75 ด้วย การแก้ไขข้อความว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/79 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องว่าประกอบกิจการมีเสียงดังรบกวน กลับเป็นประโยชน์แก่โจทก์ การแก้ไขข้อความในเอกสารจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เมื่อนำไปใช้จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม พยานโจทก์ที่นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน |