

การกระทำโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง การกระทำโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ข้อ 2. นายแดงเห็นคนเดินเข้าไปในบริเวณบ้านของนายขาวซึ่งเป็นเพื่อนของตนในเวลากลางคืน จึงไปแอบดูอยู่ที่หลังพุ่มไม้ข้างรั้วบ้านของนายขาว นายขาวเดินมาปิดประตูหน้าต่างมองเห็นเงาคนก็เข้าใจว่านายแดงเป็นคนร้ายจะเข้ามาลักทรัพย์ในบ้านของตน จึงใช้ปืนยิงนายแดง 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกนายแดงแต่ไปถูกนายดำซึ่งเดินผ่านมาถึงแก่ความตาย ให้วินิจฉัยว่า นายขาวมีความผิดฐานใดหรือไม่ นายขาวมีความผิดฐานพยายามฆ่านายแดงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามมาตรา 69 เพราะเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าคนร้ายซึ่งจะเข้ามาลักทรัพย์ ทั้งนี้ โดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 วรรคแรก นายขาวมีความผิดฐานฆ่านายดำโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เป็นการกระทำโดยพลาดตามมาตรา 60 แต่เมื่อการกระทำของนายขาวต่อนายแดงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด การที่พลาดไปถูกนายดำก็ย่อมอ้างว่าเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุต่อนายดำได้เช่นกัน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่205/2516 และ 892/2515) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายาม กระทำความผิด ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองใน สามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น มาตรา 69 ในกรณีที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 67 และ มาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่ง ความจำเป็นหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความ ตกใจหรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้ มาตรา 62 ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็น ความผิด หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดหรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษ น้อยลง แล้วแต่กรณี ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่ง มาตรา 59 หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วย ความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำ โดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าการกระทำ นั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้น จะต้องได้รู้ข้อเท็จนั้น มาตรา 60 ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการ กระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดย เจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่ กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำ กฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 205/2516 ผู้ตาย ผู้เสียหาย และจำเลย ร่วมดื่มสุราด้วยกันจนเมาแล้วผู้ตายกับจำเลยทะเลาะกัน ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับบ้าน ผู้ตายตามมาต่อยและเตะจำเลยจนล้ม ลุกขึ้นก็ยังถูกเตะอีก เมื่อผู้ตายเตะ จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวไปแทงสวนไปสองสามครั้ง ถูกผู้ตาย ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้าม จึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยต่อผู้ตายเป็นการกระทำโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แม้จะพลาดไปถูกผู้เสียหายเข้าด้วย ซึ่งตามมาตรา 60 ประมวลกฎหมายอาญา จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิ พอสมควรแก่เหตุอันไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วย โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลมไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรแล้วใช้มีดนั้นแทงนายกำพล ศรีบัว ถึงแก่ความตายและแทงนายสุเทพ ทรงวิรัชธร ผู้เสียหาย ถูกที่ใต้ไหปลาร้าขวาได้รับบาดเจ็บ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 371, 90, 91 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด จำเลยคงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรให้ลงโทษตามมาตรา 295 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันและศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 เบาไป ศาลอุทธรณ์คงเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยแทงผู้ตายเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ และวินิจฉัยความผิดตามมาตรา 295 ต่อไปว่า บาดแผลของผู้เสียหายอาจเกิดจากถูกมีดเอง โดยจำเลยมิได้แทงก็ได้ หรือหากเกิดจากแทงพลาดก็ถือว่าขาดเจตนาอีกทั้งเป็นกรณีเกิดจากการป้องกันตัวโดยชอบด้วย จำเลยไม่มีความผิด คงมีความผิดฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อหาฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเพียงฐานเดียว ศาลฎีกาเห็นว่า คืนเกิดเหตุ จำเลยกับผู้เสียหายพากันไปบ้านงานบวชนาคและจำเลยกับผู้ตายเกิดโต้เถียงกัน ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับ มาได้ประมาณ 10 เมตร ผู้ตายตามมาเรียกให้หยุด แล้วต่อยเตะจำเลย จำเลยล้มลง ลุกขึ้นก็ยังถูกเตะอีก เมื่อผู้ตายเตะ จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวแทงสวนไป กระทำอยู่เช่นนี้ 2-3 ครั้ง ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้าม จึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บการที่ผู้เสียหายถูกแทงนั้น จำเลยไม่มีเจตนาแทงผู้เสียหายโดยตรงแม้ตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี แต่การกระทำของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิพอสมควรแก่เหตุ อันไม่เป็นความผิดแม้ผลของการกระทำอาจเกิดแก่ผู้เสียหายโดยพลาดไป ก็ต้องถือว่าการกระทำโดยพลาดไปนั้น เป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยพอสมควรแก่เหตุเช่นเดียวกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2515 จำเลยตั้งใจยิงคนร้ายที่ปล้ำอยู่กับบุตรสาวและบุตรเขยของจำเลยในน้ำลึกถึงเอว เพื่อช่วยให้บุตรสาวและบุตรเขยพ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่กำลังมีอยู่ โดยไม่พินิจพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนว่าคนไหนเป็นคนร้าย คนไหนเป็นบุตรสาวบุตรเขย คนร้ายมีอาวุธอะไรหรือไม่ เมื่อลูกกระสุนปืนที่จำเลยยิงพลาดไปถูกบุตรเขยถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนาเพื่อป้องกันผู้อื่นเกินสมควรแก่เหตุ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้ปืนยิงนายแดงหรือวันชัย กลิ่นขจร ลูกเขยของจำเลยโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายแดงหรือวันชัยถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ริบปืนและหัวกระสุนปืนที่ใช้ทำผิด จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 15 ปี ริบของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยยิงโดยเจตนาเพื่อจะป้องกันนางทวีบุตรสาวกับนายแดง บุตรเขยให้พ้นจากการถูกคนร้ายทำร้าย เป็นการกระทำการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า คนร้ายขึ้นไปจี้ขู่เอาเงินจากผู้ตายกับนางทวีบนเรือ นางทวีร้องเรียกจำเลยให้ช่วย จำเลยไปช่วยเห็นนางทวีและผู้ตายกำลังปล้ำอยู่กับคนร้ายในน้ำ จำเลยจึงใช้ปืนยิงไป กระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยใช้ปืนยิงคนร้ายขณะที่ปล้ำกับนางทวีและผู้ตายในน้ำลึกถึงเอว เพื่อช่วยเหลือนางทวีกับผู้ตายให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่กำลังมีอยู่ โดยจำเลยไม่รู้ว่าคนไหนเป็นผู้ตายหรือนางทวี คนไหนเป็นคนร้าย และคนร้ายมีอาวุธอะไรหรือไม่ เพราะมืด เป็นการขาดการพินิจพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน เมื่อลูกกระสุนปืนที่จำเลยตั้งใจยิงคนร้ายพลาดไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนากระทำเพื่อป้องกันผู้อื่นเกินสมควรแก่เหตุ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่าจำเลยไม่มีความผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 60, 69 พฤติการณ์แห่งคดีสมควรลงโทษจำเลยสถานเบา ให้จำคุกหนึ่งปี แต่จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว ให้ปล่อยตัวไป |