อำนาจจัดการแทน "ผู้เสียหาย" ของ ผู้บุพการี อำนาจจัดการแทน "ผู้เสียหาย" ของ ผู้บุพการี ข้อ 1. นายอังคาร อยู่กินกับนางดาว ฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรชื่อนายจันทร์ นายอาทิตย์ทำร้ายร่างกายนายจันทร์ จนเป็นเหตุให้นายจันทร์ ถึงแก่ความตาม นายอาทิตย์ กลัวความผิดจึงนำศพของนายจันทร์ ไปฝังซุกซ่อนไว้ที่สวนหลังบ้าน หลังจากนั้นนายอาทิตย์ ปลอมหนังสือของนายจันทร์ ส่งไปถึงนายจ้างของนายจันทร์ ว่า นายจันทร์ ขอลาหยุดงาน 15 วัน โดยลงลายมือชื่อปลอมของนายจันทร์ ในหนังสือดังกล่าว พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์ ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตาย ปลอมและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 199, 264, 268 ในระหว่างพิจารณานายอังคาร ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายอังคาร เข้าร่วมเป็นโจทก์ทุกฐานความผิด ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายอังคาร เข้าร่วมเป็นโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ธงคำตอบ ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ผู้บุพการีของผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายถึงตายย่อมมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) นายอังคาร แม้เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ก็เป็นบิดาตามคามเป็นจริงซึ่งเป็นผู้บุพการี ย่อมมีอำนาจจัดการแทนนายจันทร์ ได้ ดังนั้น นายอังคารจึงมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตามมาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายอังคาร เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนความผิดฐานซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 เป็นความผิดเสียหายต่อรัฐ นายอังคาร บิดาของนายจันทร์ ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ดังนั้น นายอังคาร จึงไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม มาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายอังคาร เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ สำหรับความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 นั้น เป็นความผิดต่อผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของนายอาทิตย์ การปลอมหนังสือลาหยุดงานของนายจันทร์ มิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงนายอังคาร แต่อย่างใด ในกรณีนี้ยังไม่ถือว่านายอังคาร บิดาของนายจันทร์ ผู้ตายเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าว มิใชความผิดอาญาที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ ตาม มาตรา 5 (2) จึงไม่ใช่กรณีที่นายอังคาร จะจัดการแทนนายจันทร์ ได้ด้วย ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายอังคาร เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบตาม มาตรา 30 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้ (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล (2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้ มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้ (1) “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษา ซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา (2) “ผู้ต้องหา” หมายความถึงบุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล (3) “จำเลย” หมายความถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด (4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 (5)... คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236 - 2237/2550 ความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาล บ. ว่า ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก. บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่า ผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจะจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) การเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้หรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำร้องดังกล่าวของโทก์ที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 ความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตาย เพื่อปิดบังการตายและความผิดฐานปลอมเอกสารกับฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งต้องลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยจำคุกกระทงละ 1 ปี ดังนั้น ความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 2 นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าว เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา จำเลยนัดหมายให้ผู้ตายไปพบและรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารโดยจำเลยแอบอ้างหลอกลวงผู้ตายเรื่องนัดพบช่างที่จะไปซ่อมแซมบ้านพักผู้ตายระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน จำเลยลอบนำยานอนหลับที่สั่งซื้อไว้ก่อนหน้านี้ใส่ลงในอาหารหรือเครื่องดื่มให้ผู้ตายรับประทานหรือดื่มจนผู้ตายมีอาการสะลึมสะลือครองสติไม่ได้ หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้ตายไปยังอาคารที่จำเลยจัดเตรียมเปิดห้องพักรอไว้ เพื่อทำการหน่วงเหนี่ยวให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แล้วจำเลยลงมือฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่จำเลยวางแผนไว้ จากนั้นจำเลยได้ชำแหละแยกศพผู้ตายออกเป็นชิ้นเล็กๆ บางส่วนทิ้งลงในชักโครกของห้องพักในอาคาร บางส่วนนำไปทิ้งในโถชักโครกของโรงแรมในวันรุ่งขึ้น เพื่อปิดบังการตายของผู้ตาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 264, 268, 309, 310, 288, 289, 90, 91, 32, 33 ริบจดหมายและซองจดหมายของกลาง ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนแรกแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ที่ 2 ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมในสำนวนหลัง ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 264 วรรคแรก, 268 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก), 310 วรรคแรก, 289 (4) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษตามมาตรา 199 จำคุก 1 ปี ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (ที่ถูกให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง) จำคุก 1 ปี ความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรก และมาตรา 289 (4) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 289 (4) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงประหารชีวิตสถานเดียว ริบจดหมายและซองจดหมายของกลาง จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยนำสืบรับกันและที่จำเลยรับในฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดาของผู้ตาย จำเลยและผู้ตายเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2524 ผู้ตายทำงานเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยรับราชการเป็นแพทย์อยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสมรสกันแล้วจำเลยและผู้ตายอยู่กินด้วยกันที่บ้านพักแพทย์ภายในโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นาย ช. และนางสาว ก. ครั้นปลายปี 2541 ผู้ตายและจำเลยเริ่มขัดแย้งกันโดยผู้ตายเข้าใจว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นซึ่งเป็นคนไข้ของจำเลย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2542 ผู้ตายทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.136 ให้จำเลยลงชื่อรับรองว่าจำเลยจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับหญิงคนดังกล่าวอีก วันที่ 27 พฤษภาคม 2542 ผู้ตายจดทะเบียนยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2321 ตำบลสันมะเค็ด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 41 ไร่เศษ ซึ่งเดิมมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของให้เป็นสิทธิของจำเลย วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 จำเลยย้ายออกจากบ้านพักไปอาศัยอยู่ที่อื่น และให้ผู้ตายอยู่อาศัยกับบุตรที่บ้านพักแพทย์ตามเดิม แต่จำเลยจะไปรับบุตรทั้งสองในเวลาเช้าเพื่อไปส่งที่โรงเรียนทุกวัน สำหรับผู้ตายจะไปรับบุตรทั้งสองจากโรงเรียนกลับบ้านในเวลาเย็น ช่วงระหว่างที่แยกกันอยู่ผู้ตายกับจำเลยยังคงมีเรื่องขัดแย้งกัน โดยจำเลยเขียนจดหมายลงวันที่ 18 มกราคม 2543 ด่าว่าผู้ตายที่ไม่ยอมหย่าขาดจากจำเลยและเรื่องสินสมรส จำเลยเคยใช้เหล็กดัมเบลล์ทุบรถยนต์ผู้ตายเสียหาย ผู้ตายไปแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2543 ครั้นวันที่ 29 สิงหาคม 2543 จำเลยฟ้องผู้ตายที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อขอหย่าและแบ่งสินสมรส ผู้ตายให้การต่อสู้คดี และผู้ตายได้ฟ้องจำเลยขอเพิกถอนการยกให้ที่ดินที่จังหวัดเชียงรายเป็นอีกคดีหนึ่ง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางทำการไกล่เกลี่ยในที่สุดจำเลยได้ถอนฟ้องคดีที่ฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 ผู้ตายไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อว่าจำเลยไปถ่ายรูปบ้านพักของผู้ตายโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ หลังจากนั้นผู้ตายกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 ในคดีที่ผู้ตายฟ้องขอเพิกถอนการยกให้ที่ดินที่จังหวัดเชียงราย โดยตกลงกันว่าจำเลยจะไปจดทะเบียนให้ผู้ตายมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2321 ตำบลสันมะเค็ด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ภายใน 15 วัน และผู้ตายกับจำเลยจะร่วมกันไปตรวจทรัพย์สินที่ผู้ตายเก็บไว้ในตู้นิรภัยของธนาคาร ครั้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยกับผู้ตายไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันที่ร้านอาหารโออิชิซึ่งอยู่ที่ชั้นที่ 2 ของศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วจำเลยกับผู้ตายเดินออกจากร้านอาหารไปด้วยกัน หลังจากนั้นผู้ตายหายไป โดยไม่มีผู้ใดพบเห็นผู้ตายอีก ในวันเดียวกันนั้นจำเลยเปิดห้องพักเลขที่ 318 อาคารวิทยนิเวศน์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันรุ่งขึ้นเวลา 11 นาฬิกา จำเลยคืนห้องพักเลขที่ 318 ดังกล่าว และในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยไปเปิดห้องพักเลขที่ 1631 โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ตามที่ได้จองไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 ครั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 เวลา 6 นาฬิกาเศษ จำเลยคืนห้องพักเลขที่ 1631 และในวันเดียวกันจำเลยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรว่าผู้ตายไม่ไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์เวรในวันที่ 21 ที่ผ่านมา จำเลยจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจนครบาลพญาไท เรื่องผู้ตายหายไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรได้รับจดหมาย 2 ฉบับ ประทับตราไปรษณีย์ส่งมาจากจังหวัดจันทบุรี ข้อความในจดหมายพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ฉบับแรกลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 มีลายมือชื่อผู้ตายถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอลาหยุดงาน 15 วัน ฉบับที่สองลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 ลงท้ายจดหมายว่า “ม๊า” แต่ไม่ลงลายมือชื่อโดยมีข้อความจากผู้ตายถึงบุตรทั้งสองว่าผู้ตายจะไปฝึกจิตใจนั่งสมาธิประมาณ 2 สัปดาห์ สำหรับลายมือชื่อผู้ตายในจดหมายฉบับแรกเจ้าพนักงานตำรวจส่งไปตรวจที่กองพิสูจน์หลักฐานเปรียบเทียบกับลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้ตาย ปรากฏว่าลายมือชื่อดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย วันที่ 11 มีนาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตาย วันที่ 23 มีนาคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจค้นอาคารวิทยนิเวศน์ พบคราบโลหิตบริเวณห้องน้ำในห้องพักเลขที่ 318 และพบชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายเนื้อมนุษย์จำนวนหนึ่งในบ่อพักสิ่งปฏิกูล (บ่อเกรอะ) จึงยึดไปตรวจพิสูจน์ ซึ่งเจ้าพนักงานกองพิสูจน์หลักฐานรายงานผลการตรวจในวันที่ 24 มีนาคม 2544 ว่าคราบโลหิตและชิ้นเนื้อที่ตรวจพบมีดี เอ็น เอ แบบเดียวกับผู้ตาย เจ้าพนักงานตำรวจจึงดำเนินคดีแก่จำเลยเพิ่มเติมฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย จำเลยเข้ามอบตัวและให้การปฏิเสธทุกข้อหา ครั้นวันที่ 26 มีนาคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจบ่อบำบัดน้ำเสียจากโรงแรมโซฟิเทล บ่อที่ 25 และ 26 ซึ่งเป็นบ่อพักสิ่งปฏิกูลที่ไหลมาจากห้องที่จำเลยเข้าพัก และสามารถตรวจพบชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายเนื้อมนุษย์อีกจำนวนหนึ่ง จึงยึดไว้เพื่อให้กองพิสูจน์หลักฐานและสถาบันนิติเวชวิทยาตรวจพิสูจน์ สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม ในสำนวนหลังเป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรว่า ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงลายมือชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก. บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่าผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจะจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ด้วย ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ที่ 2 ในความผิดดังกล่าวในสำนวนหลังตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตายเพื่อปิดบังการตายในสำนวนแรก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ไม่อาจมีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1 ไม่อุทธรณ์ในข้อนี้ ความผิดที่โจทก์ที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในความผิดดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ยังมิได้แก้ไขในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนกระทงความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตายเพื่อปิดบังการตายในสำนวนหลังและกระทงความผิดฐานปลอมเอกสารกับฐานใช้เอกสารปลอม ซึ่งต้องลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวในสำนวนหลังนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยจำคุกกระทงละ 1 ปี ดังนั้น ความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 2 นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าว เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้จำเลยคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองด้วยหรือไม่ ...สรุปแล้วพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมาแม้ส่วนใหญ่จะเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณี แต่ก็มีความสอดคล้องต้องกัน และมีเหตุผลต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์อันเป็นข้อพิรุธหลายประการของจำเลยดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 ก่อนเที่ยงวัน จำเลยนัดหมายให้ผู้ตายไปพบและรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารโออิชิในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ โดยจำเลยแอบอ้างหลอกลวงผู้ตายเรื่องนัดพบช่างชื่อสุธีที่จะไปซ่อมแซมบ้านพักผู้ตาย ระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกัน จำเลยลอบนำยานอนหลับดอร์มิคุ่มที่สั่งซื้อไว้ก่อนหน้านี้ใส่ลงในอาหารหรือเครื่องดื่มให้ผู้ตายรับประทานหรือดื่มจนผู้ตายมีอาการสะลึมสะลือครองสติไม่ได้ หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้ตายไปยังอาคารวิทยนิเวศน์ที่จำเลยจัดเตรียมเปิดห้องพักรอไว้เพื่อทำการหน่วงเหนี่ยวให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แล้วจำเลยลงมือฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่จำเลยวางแผนไว้ จากนั้นจำเลยได้ชำแหละแยกศพผู้ตายออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ บางส่วนทิ้งลงในโถชักโครกของห้องพักในอาคารวิทยนิเวศน์ บางส่วนนำไปทิ้งในโถชักโครกของโรมแรมโซฟิเทลในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 เพื่อปิดบังการตายของผู้ตาย พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 ที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอมในสำนวนหลัง และยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตาย หรือปิดบังเหตุแห่งการตายในสำนวนแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หมายเหตุ คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม มีข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องผู้เสียหายอยู่สองประการ คือ ผู้เสียหายที่แท้จริงในความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามมาตรา 5 (2) ประเด็นเรื่องผู้เสียหายที่แท้จริงนั้น การพิจารณาว่าบุคคลใดจะเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงหรือโดยตรงในความผิดฐานใดนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ 1. มีการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งเกิดขึ้น 2. บุคคลนั้นต้องได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาฐานนั้น 3. จะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มีองค์ประกอบความผิดซึ่งเป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำว่า "ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ดังนั้น คุณธรรมทางกฎหมายในความผิดที่เกี่ยวกับการปลอมเอกสาร นอกจากจะมุ่งคุ้มครองประชาชนหรือรัฐมิให้ได้รับความเสียหายจากการปลอมหรือใช้เอกสารปลอมแล้ว ยังมุ่งคุ้มครองเอกชนที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารได้เช่นเดียวกัน คดีนี้จำเลยปลอมหนังสือของผู้ตายส่งถึงแพทย์อำนวยการโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรว่า ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานเป็นเวลา 15 วัน แล้วลงชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงบุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่า ผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ มีข้อความลงท้ายจดหมายว่า "ม๊า" เพื่อให้นายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาลรวมทั้งบุตรของผู้ตายหลงเชื่อว่า เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวผู้ตายเป็นผู้จัดทำขึ้น การกระทำของจำเลยย่อมทำให้โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร รวมทั้งบุตรของผู้ตายที่ได้รับจดหมายอันเกิดจากการทำปลอมขึ้นของจำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 แล้ว ส่วนโจทก์ที่ 1 ซึ่งแม้เป็นบิดาของผู้ตายก็ตาม แต่จดหมายที่จำเลยทำปลอมขึ้นมิได้ส่งถึงโจทก์ที่ 1 รวมทั้งไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารเกี่ยวข้องหรือพาดพิงไปถึงตัวโจทก์ที่ 1 เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะข้อความแห่งเอกสารนั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม ศาลฎีกาย่อมยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาที่นำมาเทียบเคียงได้ คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 3732/2525 วินิจฉัยว่า จำเลยร่วมกันปลอมใบมอบอำนาจของเจ้าของที่ดินขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ พนักงานเจ้าหน้าที่หลงเชื่อในใบมอบอำนาจได้รังวัดไต่สวนแล้วออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินของโจทก์ ดังนี้ ผู้ที่ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการปลอมใบมอบอำนาจคือเจ้าของที่ดิน เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะข้อความแห่งเอกสารนั้น แต่ข้อความในเอกสารไม่เกี่ยวถึงตัวโจทก์เลย การเสียที่ดินไปเป็นเรื่องการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีการนำชี้ทับที่ดินของโจทก์เป็นคนละกรณีกับการปลอมใบมอบอำนาจ สำหรับประเด็นเรื่องผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) บัญญัติว่า "บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้..." บทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่จะมีผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในความผิดฐานใดจะต้องมีผู้เสียหายที่แท้จริงในความผิดฐานนั้นๆ เสียก่อน คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยได้ปลอมเอกสารของผู้ตายภายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ตายย่อมไม่อาจเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เนื่องจากไม่มีสภาพบุคคล โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลในคำพิพากษาว่า "ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2)" จึงทำให้มีข้อน่าคิดว่า หากจำเลยทำการปลอมหนังสือของผู้ตายในขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ส่งถึงโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร และบุตรทั้งสองของจำเลยและผู้ตาย จะถือว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้เอกสารทั้งสองฉบับไม่ได้ส่งถึงผู้ตายก็ตาม แต่ข้อความแห่งเอกสารซึ่งจำเลยทำปลอมขึ้นนั้นมีข้อความเกี่ยวข้องถึงผู้ตายโดยตรง มีผลทำให้บุคคลที่ได้รับเอกสารหลงเชื่อว่าผู้ตายเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวขึ้น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ตาย ผู้ตายย่อมเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) หากต่อมาภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 จะมีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) โดยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งบทบัญญัติใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) กำหนดให้บุพการีมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายก็เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้เท่านั้น โจทก์ที่ 1 แม้จะเป็นบุพการีของผู้ตายก็ตาม แต่เงื่อนไขประการสำคัญของบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวกำหนดให้มีอำนาจจัดการแทนเฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ซึ่งความผิดฐานนั้นๆ ผู้เสียหายจะต้องถูกจำเลยทำร้ายหรือถูกฆ่าจนถึงแก่ความตายหรือผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินคดีด้วยตนเองได้ กฎหมายจึงบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายให้มีบุคคลเข้ามาดำเนินคดีแทนในความผิดที่ถูกจำเลยทำรายถึงตายหรือบาดเจ็บดังกล่าว ในทางกลับกัน ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ไม่ใช่ความผิดที่จำเลยเป็นผู้ทำร้ายผู้เสียหายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้อันอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดให้มีบุคคลเข้ามาจัดการแทนแต่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นแล้วต่อมาภายหลังผู้เสียหายได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกจำเลยฆ่าตายอันเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ซึ่งเป็นความผิดอีกฐานหนึ่ง จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่บุพการีจะมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามบทบัญญัติในมาตรา 5 (2) แห่ง ป.วิ.อ. (มีคำพิพากษาฎีกาเทียบเคียง คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 3879/2546 วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยเพียงแต่ใช้กำลังทำร้ายเตะและต่อยผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ส่วนบาดแผลที่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่กรณีที่ผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำโดยทารุณโหดร้ายและให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยเนื่องจากเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15) กสิชล ว่องไวชล ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม มาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือ มาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว |