

สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องทางแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องทางแพ่ง ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ข้อ 2. พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีเป็นโจทก์ฟ้องนายวิหาร ว่า ขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ที่นายสมบัติ ขับมาได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้นายสมบัติ ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 หลังเกิดเหตุแล้ว 3 ปี คดีอาญาถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่านายวิหาร กระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 1 ปี โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี ภายหลังจากที่คดีอาญาถึงที่สุดแล้วหนึ่งเดือนนายสมบัติ เป็นโจทก์ยื่นฟัองนายวิหารเป็นจำเลยที่ 1 นายสมชายซึ่งเป็นนายจ้างของนายวิหาร เป็นจำเลยที่ 2 เป็นคดีแพ่ง ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแก่โจทก์ ทั้งนายวิหาร และนายสมชาย ต่างให้การต่อสู้ว่า นายสมบัติไม่ได้ขอเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจึงไม่ใช่คู่ความในคดีอาญาเหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความประมาทของนายวิหารและคดีขาดอายุความแล้ว ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายวิหาร และนายสมชายฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ ประเด็นที่ศาลในคดีแพ่งและคดีอาญาจะต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นที่มาจากมูลกรณีเดียวกันคือ นายวิหาร ขับรถโดยประมาทหรือไม่ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญาถึงที่สุดโดยศาลฟังข้อเท็จจริงว่านายวิหาร เป็นฝ่ายประมาท ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่านายวิหาร เป็นฝ่ายประมาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งคำพิพากษาในคดีอาญา ดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อย่างไรก็ดี แม้ว่านายสมบัติ โจทก์ในคดีแพ่งจะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีอาญา แต่นายสมบัติ เป็นผู้เสียหายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จึงถือว่าพนักงานอัยการอยู่ในฐานะฟ้องคดีแทนนายสมบัติ นายสมบัติและนายวิหาร ย่อมผูกพันตามคำพิพากษาในคดีอาญา (คำพิพากษาฎีกาที่ 6598/2539) ดังนั้น นายวิหารจึงไม่อาจต่อสู้ว่าตนมิได้เป็นฝ่ายประมาท ข้อต่อสู้ของนายวิหารฟังไม่ขึ้น ส่วนนายสมชาย ซึ่งเป็นนายจ้างของนายวิหาร ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญา ดังนั้นข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ศาลฟังว่านายวิหาร เป็นฝ่ายประมาทจึงไม่ผูกพันนายสมชาย นายสมชาย จึงชอบที่จะต่อสู้ได้ว่า นายวิหาร มิได้เป็นฝ่ายประมาท หรือนายสมบัติ มีส่วนประมาทร่วมกับนายวิหาร (คำพิพากษาฎีกาที่ 5590/2548) ข้อต่อสู้ของ นายสมชาย ในข้อนี้จึงฟังขึ้น ส่วนเรื่องอายุความนั้น เนื่องจากเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษนายวิหาร แล้ว สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องทางแพ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม แต่การนับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณชย์มาตรา 448 วรรคสอง กำหนดไว้โดยอาศัยสิทธิในเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจขารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม นั้น มีได้เฉพาะในกรณีที่เรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากผู้กระทำผิดทางอาญา ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจนคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเท่านั้นมิได้หมายความถึงการเรียกร้องจากผู้อื่นซึ่งต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด แต่มิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น เฉพาะนายวิหารเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำผิดทางอาญาที่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมยวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 เมื่อนายสมบัติ มาฟ้องคดีแพ่งในคดีนี้ก่อนครบกำหนด 10 ปี คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ข้อต่อสู้ของนายวิหารในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนนายสมชาย นายจ้างที่มิได้กระทำผิดทางอาญาด้วย ต้องใช้อายุความทางแพ่งในเรื่องละเมิดธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก คือ 1 ปี เมื่อนายสมบัติฟัองคดีแพ่งภายหลังเกิดเหตุแล้วเกินกว่า 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ (คำพิพากษาฎีกาที่ 5399/2533) ข้อต่อสู้ของนายสมชายในข้อนี้จึงฟังขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ มาตรา 51 ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา แม้ถึงว่าผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตในมาตรา 193/20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเป็นผู้ฟ้องหรือได้ฟ้องต่างหากจากคดีอาญาก็ตาม ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา ๙๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ฟ้องคดีแพ่งสิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความในมาตรา 193/32 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อต่อไปนี้ (1) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้ (2) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5590/2548 ตามกรมธรรม์ จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ แต่ก็มีข้อสัญญาพิเศษว่า จำเลยร่วมจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ประกันภัยหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อจำเลยร่วมได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์ต่อจำเลยที่ 2 เพราะเป็นกรณีซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ต้องใช้เงินจำนวนที่จำเลยร่วมได้จ่ายไปคืนให้แก่จำเลยร่วม ซึ่งมีความหมายว่า กรณีที่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันเกิดจากการขับขี่ของบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 แต่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย แล้วไปไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ไม่เกินวงเงินประกันที่จำกัดความรับผิดไว้ เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมิได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันโดยจำเลยที่ 2 แยกยื่นอุทธรณ์อีกฉบับต่างหาก จึงต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาพร้อมกับอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี แต่มาตรา 59 ห้ามมิให้โจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ คดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้รับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งเป็นความรับผิดในมูลละเมิดโดยผลของกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมถูกจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นความรับผิดในมูลสัญญา ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และความรับผิดของจำเลยร่วมจึงแตกต่างกัน มูลความแห่งคดีมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเต็มจำนวนที่ตนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วย การวางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 เป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ และเพื่อเป็นประกันการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โจทก์ย่อมบังคับชำระหนี้ได้เพียงจำนวนตามคำพิพากษาเท่านั้น จะบังคับชำระเอาทั้งหมดตามที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมวางไม่ได้ เงินค่าธรรมเนียมส่วนที่วางเกินหรือเหลือจากการบังคับคดี จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมย่อมขอคืนตามส่วนที่ตนวาง และหากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ย่อมขอเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่วางไว้คืนได้ ซึ่งจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิขอเงินที่วางไว้ดังกล่าวคืนไปแล้วด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางให้ครบถ้วนโดยไม่ยอมให้หักเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วนั้น จึงไม่เป็นการให้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องใช้ให้แก่โจทก์หรือเป็นการวางเงินซ้ำซ้อน ไม่ขัดต่อมาตรา 229 และ 162 คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 745,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยทั้งสองในต้นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 372,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยร่วม ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประกันภัย แม้การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถใด ๆ หรือไม่ เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยร่วมจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย แม้ว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะมีข้อยกเว้นทั่วไประบุว่า การประกันภัยจะไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ แต่ก็มีข้อสัญญาพิเศษว่า "ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัท (จำเลยร่วม) จะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ประกันภัยหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย (จำเลยที่ 2) เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัย เพราะเป็นกรณีซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้เงินจำนวนที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้แก่บริษัท" ซึ่งมีความหมายว่า กรณีที่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันเกิดจากการขับขี่ของบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 แต่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย แล้วไปไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เกินวงเงินประกันที่จำกัดความรับผิดไว้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อจำเลยร่วมยื่นอุทธรณ์โดยวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยจะต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เต็มจำนวน หรือวางบางส่วนโดยหักค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วได้ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมิได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันและร่วมกันวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ โดยแยกยื่นอุทธรณ์คนละฉบับกันเช่นนี้ จึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 คือ ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาพร้อมกับอุทธรณ์ด้วย แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมมีฐานะเป็นจำเลยร่วมในคดีเดียวกัน แต่ ป.วิ.พ. มาตรา 59 ห้ามมิให้โจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ คดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งเป็นความรับผิดในมูลละเมิดโดยผลของกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมถูกจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเข้ามาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นความรับผิดในมูลสัญญา ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และความรับผิดของจำเลยร่วมจึงแตกต่างกัน มูลความแห่งคดีมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเต็มจำนวนที่ตนจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมเท่ากับจำนวนในคำพิพากษาโดยไม่ยอมให้หักค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่จำเลยร่วมชำระไว้แล้วออก จึงเป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเกินกว่าที่จำเลยร่วมจะต้องใช้ให้แก่โจทก์ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 229 มาตรา 59 และมาตรา 162 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2500 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1502/2520 นั้น เห็นว่า การวางเงินค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 นั้น เป็นการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ และเพื่อเป็นประกันการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โจทก์ย่อมบังคับชำระหนี้ได้เพียงจำนวนตามคำพิพากษาเท่านั้น จะบังคับชำระเอาทั้งหมดตามที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมวางไม่ได้ เงินค่าธรรมเนียมส่วนที่วางเกินหรือเหลือจากการบังคับคดี จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมย่อมขอคืนตามส่วนที่ตนวาง และหากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ย่อมขอเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่วางไว้คืนได้ ซึ่งจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิขอเงินที่วางไว้ดังกล่าวคืนไปแล้วด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางให้ครบถ้วนโดยไม่ยอมให้หักเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ที่จำเลยร่วมวางไว้แล้วนั้น จึงไม่เป็นการให้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องใช้ให้แก่โจทก์หรือเป็นการวางเงินซ้ำซ้อน ไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 229 และมาตรา 162 ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 372,500 บาท แก่โจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 745,000 บาท จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจำนวน 372,500 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 9,312.50 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาจำนวน 18,625 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาจำนวน 9,312.50 บาท แก่โจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 9,312.50 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5399/2533 การนับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง กำหนดไว้โดยอาศัยสิทธิเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม นั้น มีได้เฉพาะในกรณีที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากผู้กระทำผิดทางอาญาซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจนคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเท่านั้น มิได้หมายความถึงการเรียกร้องจากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาด้วย โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของนายเอกชัย เจริญเขษมสุข ทำให้รถยนต์ของนายเอกชัยได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 90,000 บาท โจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่นายเอกชัยแล้ว จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของนายเอกชัย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิจากนายเอกชัยเพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายที่จะชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเอกชัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทและคดีขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์จะอาศัยสิทธิเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51วรรคสาม ได้เฉพาะในกรณีที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากผู้กระทำผิดทางอาญาซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจนคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง จึงให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง กำหนดไว้เท่านั้น มาตราดังกล่าวนี้มิได้หมายความถึงผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการฟ้องผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาต้องนับอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง คือ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ พิพากษายืน. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2556 |