

ห้ามโจทก์อุทธรณ์ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ห้ามโจทก์อุทธรณ์ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการให้กู้ยืมเงินด้วยการทำสัญญากัน ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าเหตุเกิดในวันเวลาใด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาใช้บังคับ การขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลลงโทษจำเลยตามพ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องนำกฎหมายและโทษที่ลงแก่จำเลยนั้นมาปรับใช้ เมื่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 มีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526/2564 โจทก์ฟ้องโดยบรรยายวันเวลากระทำผิดของจำเลยฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีทั้งก่อนวันที่แก้ไขกฎหมายและหลังแก้ไขกฎหมาย เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าเหตุเกิดวันเวลาใด จึงต้องนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาบังคับใช้ตาม ป.อ. มาตรา 3 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องนำกฎหมายและโทษที่ลงแก่จำเลยนั้นมาปรับใช้ เพราะการใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยนั้น กฎหมายมิได้จำกัดเฉพาะการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น เมื่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 มีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาบังคับใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) (ข), 3 วรรคสอง พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีดังกล่าวของศาลชั้นต้น จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ที่ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) (ข) (เดิม) (ที่ถูก ไม่ต้องระบุ (เดิม)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ที่ถูก ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จากการให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้) จำคุก 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท ฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้และฐานกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด (ที่ถูก ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จากการให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ และกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ จำคุก 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน 36 วัน และปรับ 1,600 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 470/2562 ของศาลชั้นต้น นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลต้องลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) (2) หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ข้อ 1 (ก) เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยกระทำผิดต่อผู้เสียหายที่ 1 และข้อ 1 (ข) เมื่อระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม 2559 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการให้กู้ยืมเงินด้วยการทำสัญญากันและจำเลยเรียกดอกเบี้ยจากผู้เสียหายเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาตราบเท่าที่จำเลยยังคงเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินอัตราอยู่และผู้เสียหายแต่ละคนได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยนั้นไม่ ตามฟ้องของโจทก์ก็บรรยายวันเวลากระทำผิดซึ่งมีทั้งก่อนวันที่แก้ไขกฎหมายและหลังแก้ไขกฎหมาย เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าเหตุเกิดในวันเวลาใด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ซึ่งพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว หาใช่ต้องปรับด้วยพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ดังฎีกาของโจทก์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว การพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องนำกฎหมายและโทษที่ลงแก่จำเลยนั้นมาปรับใช้ เพราะการใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 นั้น กฎหมายมิได้จำกัดเฉพาะการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น นอกจากนี้การใช้กฎหมายดังกล่าวมาก็เพื่อให้เป็นระบบระเบียบเดียวกันด้วย หาใช่ต้องนำบทบัญญัติที่มิได้ลงโทษแก่จำเลยอันเป็นกฎหมายใหม่มาปรับใช้ดังฎีกาของโจทก์ไม่ เมื่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 มีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยในอุทธรณ์ข้อนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น |