

ฟ้องสำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องสำนักงานอัยการสูงสุด (ดุลพินิจสั่งฟ้องผู้ต้องหา) พนักงานอัยการในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ใช้อำนาจดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล เป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลปกครอง พนักงานอัยการเจ้าหน้าที่ในสังกัด สำนักงานอัยการสูงสุดจำเลย กระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีสั่งฟ้องและยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายว โจทก์เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด แต่สำนักงานอัยการสูงสุดจำเลย กลับมีความเห็นว่าคำสั่งฟ้องเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของสำนักงานอัยการสูงสุดจำเลย เป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียอิสรภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ขาดความเจริญก้าวหน้าทางราชการ และขาดรายได้จากการรับราชการตำรวจ ขอให้บังคับสำนักงานอัยการสูงสุดจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า การกระทำตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาอันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้และศาลยุติธรรมมีอำนาจที่จะเยียวยาได้ด้วย การกระทำในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม คดีนี้เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดจำเลย ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานอัยการใช้อำนาจดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม คำวินิจฉัยที่ 2/2552
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒/๒๕๕๒ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ศาลแพ่ง ระหว่าง ศาลปกครองสงขลา การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลแพ่งและศาลปกครองสงขลาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเหตุว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน ข้อเท็จจริงในคดี เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ ร้อยตำรวจเอก ประสิทธิ์หรือภาคภูมิ สุวรรณโณ โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๔๐/๒๕๔๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๒ สำนักงานอัยการเขต ๘ โดยนายสมยศ ตาณเสวี รักษาการแทนอธิบดีอัยการเขต ๘ สำนักงานอัยการจังหวัดพังงา โดยนายประชัน ทองภักดี อัยการจังหวัดพังงา และนายชัยนันทร์ งามขจรกุลกิจ รองอัยการจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลย ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีสั่งฟ้องและยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาของศาลจังหวัดพังงา หมายเลขดำที่ ๓๔๒/๒๕๔๒ ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดพังงา โจทก์ ร้อยตำรวจเอก ประสิทธ์หรือภาคภูมิ สุวรรณโณ ที่ ๑ สิบตำรวจตรี โกวิทย์ มัธยัสถ์ ที่ ๒ จำเลย ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคสาม (เดิม) และมาตรา ๑๔๓ วรรคท้าย โจทก์เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด แต่จำเลยกลับมีความเห็นว่าคำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการเขต ๘ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียอิสรภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ขาดความเจริญก้าวหน้าทางราชการ และขาดรายได้จากการรับราชการตำรวจ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๕๓,๕๙๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยยื่นคำร้องว่า ตามคำฟ้องเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเป็นกรณีพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โจทก์ทำคำชี้แจงว่า คำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการมิใช่คำสั่งทางปกครอง แต่เป็นขั้นตอนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (คดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๒๒/๒๕๔๗) โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพังงา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๓ ระหว่างร้อยตำรวจเอก ประสิทธิ์ สุวรรณโณ โจทก์ นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ ในฐานะอัยการสูงสุด ที่ ๑ นายนิติ เมฆสวรรค์ ในฐานะอธิบดีอัยการเขต ๘ ที่ ๒ นายประชัน ทองภักดี ที่ ๓ นายชัยนันท์ งามขจรกุลกิจ ที่ ๔ จำเลย ข้อหาร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันเป็นพนักงานอัยการไม่กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ และคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๙/๒๕๔๔ ระหว่างร้อยตำรวจเอก ประสิทธิ์ สุวรรณโณ โจทก์ นายสมยศ ตาณเสวี ในฐานะรองอธิบดีอัยการ เขต ๘ ที่ ๑ นายประภาส สนั่นศิลป์ ในฐานะรองอัยการจังหวัดพังงา ที่ ๒ จำเลย ข้อหาร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันเป็นพนักงานอัยการไม่กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ คดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๓ ศาลจังหวัดพังงามีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คดีในส่วนของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้ประทับฟ้อง คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๙/๒๕๔๔ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจังหวัดพังงามีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ไว้พิจารณา ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษายืน ศาลแพ่งเห็นว่า มูลละเมิดคดีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยร่วมกันออกคำสั่งฟ้องและฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดพังงาในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น การที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งฟ้องและการฟ้องดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพังงาให้ทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพก่อน เท่ากับโจทก์อ้างว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดหน่วยงานของจำเลย ร่วมกันฟ้องโจทก์และสิบตำรวจตรี โกวิทย์เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดพังงาในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น จากกรณีที่โจทก์และสิบตำรวจตรี โกวิทย์ใช้อาวุธปืนยิงจ่าสิบตำรวจ ปรีชา ฉิมบ้านไร่ จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย โดยโจทก์กับพวกอ้างว่ากระทำไปโดยการป้องกันตัวไม่มีเจตนาฆ่าและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และเห็นว่าในกรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ของจำเลยจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพังงาเพื่อทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพก่อน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ เดิม แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่กลับฟ้องโจทก์และพวกเป็นคดีอาญาจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เช่นนี้เห็นว่า การยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพก่อนฟ้องคดีหรือการฟ้องคดีอาญาต่อศาลของพนักงานอัยการเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในคดีอาญา อันเป็นขั้นตอนดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คำวินิจฉัย ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่า พนักงานอัยการเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีสั่งฟ้องและยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคสาม (เดิม) และมาตรา ๑๔๓ วรรคท้าย โจทก์เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด แต่จำเลยกลับมีความเห็นว่าคำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการเขต ๘ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียอิสรภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ขาดความเจริญก้าวหน้าทางราชการ และขาดรายได้จากการรับราชการตำรวจ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า การกระทำตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาอันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้และศาลยุติธรรมมีอำนาจที่จะเยียวยาได้ด้วย การกระทำในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม เมื่อคดีนี้เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานอัยการใช้อำนาจดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ร้อยตำรวจเอก ประสิทธิ์หรือภาคภูมิ สุวรรณโณ โจทก์ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
|