อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่ฝ่ายโจทก์ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทซึ่งฟ้องแย้ง
การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นคุณเฉพาะฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้แต่อายุความฟ้องแย้งของจำเลยไม่สะดุดหยุดลง โจทก์และจำเลยต่างฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดเหตุเดียวกัน แม้การฟ้องคดีของโจทก์และการฟ้องแย้งของจำเลยจะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเหตุเดียวกันแต่โจทก์กับจำเลยเป็นคนละฝ่ายกัน การฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่ฝ่ายโจทก์ หาได้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งฟ้องแย้งด้วยไม่ เมื่อจำเลยฟ้องแย้งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2556
การฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่ฝ่ายโจทก์ หาได้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองซึ่งฟ้องแย้งด้วยไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายร่วมกันชำระค่าเสียหาย 294,958 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 274,590 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 276,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท แต่ทั้งนี้จำเลยทั้งสองไม่ต้องร่วมกันรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายสุข ผู้ตายที่ตกทอดได้แก่จำเลยทั้งสองให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า นายสุทธิมล พนักงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 - 7154 นครราชสีมาจากจังหวัดมุกดาหารมุ่งหน้าไปจังหวัดยโสธร เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณสี่แยกถนนเลี่ยงเมืองตัดกับถนนวารีราชเดช รถยนต์คันดังกล่าวได้เฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 80 - 0578 ยโสธร ซึ่งนายสุข เป็นคนขับ รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนนายสุขถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดเหตุเดียวกัน การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อายุความในการเรียกค่าเสียหายของจำเลยทั้งสองจึงต้องสะดุดหยุดลงด้วยนั้น เห็นว่า แม้การฟ้องคดีของโจทก์และการฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเหตุเดียวกัน แต่การที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหนี้ ส่วนโจทก์เป็นลูกหนี้ โจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นคนละฝ่ายกัน การฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่ฝ่ายโจทก์ หาได้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองซึ่งฟ้องแย้งด้วยไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ป.พ.พ.
มาตรา 422 ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใดอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่นๆ ผู้ใดทำการฝ่าฝืนเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด
มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
มาตรา 71 ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 26 เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงทางร่วมทางแยกให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติดังนี้
(1) ถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยกผู้ขับขี่ต้องให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน
(2) ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน เว้นแต่ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท ให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน
(3) ถ้าสัญญาณจราจรไฟสีเขียวปรากฏข้างหน้า แต่ในทางร่วมทางแยกมีรถอื่นหยุดขวางอยู่จนไม่สามารถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้ ผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถที่หลังเส้นให้รถหยุดจนกว่าจะสามารถเคลื่อนรถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้
คดีอาญาจำเลยให้การรับสารภาพและผ่อนชำระหนี้ให้บางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าจ้างให้แก่โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน หนี้ตามสัญญาจ้างทำของจึงยังไม่ระงับสิ้นไป คดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์แล้วบางส่วน เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของนั่นเอง เมื่อได้กระทำภายในกำหนดอายุความ 5 ปี ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 5 ปี นับจากวันที่จำเลยทั้งสองไม่ผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์อีก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 680,822.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 647,052.11 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 680,822.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 647,052.11 บาท นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2545 (วันถัดจากวันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อต้นปี 2539 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ปักทอตราเสื้อ โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างแก่โจทก์บางส่วน คงเหลือค่าจ้างค้างชำระอีกประมาณ 1,631,332 บาท จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ 7 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,631,332.07 บาท เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คทั้ง 7 ฉบับ ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงธนบุรีในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ระหว่างพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและตกลงผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1732/2540 ของศาลแขวงธนบุรี จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2544 หลังจากนั้นก็ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า รายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1732/2540 ของศาลแขวงธนบุรีดังกล่าวไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ตามสัญญาจ้างทำของ แต่เป็นการรับที่จะชำระหนี้ตามเช็คพิพาท จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 5 เรื่อง ความระงับหนี้ มาตรา 321 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าชำระหนี้ด้วยออก - ด้วยโอน - หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ปักทอตราเสื้อ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็ค 7 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าจ้างดังกล่าว เมื่อถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว หนี้ตามสัญญาจ้างทำของจึงยังไม่ระงับสิ้นไป และการที่เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้นั้นเป็นเหตุให้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต่อศาลแขวงธนบุรี ในการพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยได้ผ่อนชำระไปแล้วบางส่วนตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของนั่นเอง เมื่อได้กระทำภายในกำหนดอายุความ 5 ปี ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยทั้งสองไม่ผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์อีก คือวันที่ 12 ตุลาคม 2544 นับถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ