

อายุความรับผิดในฐานะตัวแทนไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ อายุความรับผิดในฐานะตัวแทนไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 21 โจทก์มิใช่ตัวแทนหรือผู้ใช้อำนาจทำการแทนนิติบุคคล การที่จำเลยกระทำละเมิดทำให้สหกรณ์ น. ได้รับความเสียหาย จึงไม่อาจนำอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะ กรณีต้องนำอายุความ 10 ปี อันเป็นบทบัญญัติอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้อันเนื่องมาจากจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ น. ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสหกรณ์โดยทำสัญญาขายปาล์มน้ำมันแก่บริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อโดยไม่ได้ให้บริษัทดังกล่าวจัดให้มีธนาคารค้ำประกันเงินเชื่อนั้น เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย โจทก์ในฐานะเป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์จึงฟ้องคดีแทนสหกรณ์ น. เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ซึ่งสหกรณ์ น. เป็นนิติบุคคล จำเลยฯเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จำเลยฯ จึงเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ดังนั้น ความเกี่ยวพันระหว่างสหกรณ์ น. กับจำเลยฯ จึงต้องรับผิดถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทน เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทน หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการที่โจทก์สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยฯ รับผิดทั้งในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนและในมูลละเมิด ดังนั้น แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยฯ รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือในฐานะตัวแทนไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2566 แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ให้รับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิด หรือให้รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ทำการเป็นตัวแทนหรือทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 แต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ซึ่งสหกรณ์ น. เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 37 วรรคสอง และโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ความเกี่ยวพันระหว่างสหกรณ์ น. กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดทั้งในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนและในมูลละเมิด แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือในฐานะตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 กระทำการฝ่าฝืนระเบียบสหกรณ์ น. ในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 โดยการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายปาล์มน้ำมันกับบริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อและมิได้ให้บริษัท ภ. จัดหาหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามระเบียบ เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันชำระเงิน 60,309,065.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 48,834,265 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่สหกรณ์ น. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 21 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 11 ให้การขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 8 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 8 ออกจากสารบบความ และจำเลยที่ 11 ถึงแก่ความตาย นาย ธ. ทายาทของจำเลยที่ 11 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า สหกรณ์ น. เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสมาชิกโดยวิธีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์และบริการแก่สมาชิกมาจัดการขาย หรือแปรรูปออกขาย โดยซื้อหรือรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกก่อนผู้อื่น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายทะเบียนสหกรณ์ โจทก์เป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์ โจทก์มีอำนาจดำเนินคดีแทนสหกรณ์ น. ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ ผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย และสหกรณ์ไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 21 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 21 ถึงชุดที่ 23 มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2551 สหกรณ์ น. ออกระเบียบว่าด้วยการรวบรวมผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ของสมาชิก พ.ศ. 2551 ข้อ 15 กำหนดว่า “ถ้าจำเป็นต้องขายเงินเชื่อ ให้ผู้ซื้อทำสัญญาไว้กับสหกรณ์ และจะต้องให้ธนาคารค้ำประกันเงินเชื่อนั้น” เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ซึ่งอยู่ในช่วงคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 21 ถึงชุดที่ 23 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้ทำบันทึกข้อตกลงขายปาล์มน้ำมันกับบริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อ โดยไม่มีการเรียกหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ต่อมาบริษัท ภ. ผิดนัดชำระหนี้ สหกรณ์ได้ยื่นฟ้องบริษัท ภ. ต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 227 - 228/2554 บริษัท ภ. ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยขอผ่อนชำระหนี้แก่สหกรณ์และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว แต่บริษัทดังกล่าวไม่ชำระหนี้แก่สหกรณ์ สหกรณ์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีต่อไป บริษัท ภ. มีหนี้ค้างชำระแก่สหกรณ์คำนวณถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นเงิน 48,834,265 บาท และดอกเบี้ย 11,120,250.20 บาท รวมเป็นเงิน 59,954,515.20 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 354,550.14 บาท เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 โจทก์แต่งตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์ทำการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ และวันที่ 1 เมษายน 2562 โจทก์มีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดระเบียบ แต่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่ดำเนินการตามคำสั่งนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบสหกรณ์ น. ว่าด้วยการรวบรวมผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ของสมาชิก พ.ศ. 2551 โดยการทำสัญญาขายปาล์มน้ำมันแก่บริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อ แต่ไม่ได้ให้บริษัทดังกล่าวนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาเป็นหลักประกันไว้แก่สหกรณ์ ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 21 โจทก์มิใช่ตัวแทนหรือผู้ใช้อำนาจทำการแทนนิติบุคคลตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 กระทำละเมิดทำให้สหกรณ์ น. ได้รับความเสียหาย จึงไม่อาจนำอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะ กรณีต้องนำอายุความ 10 ปี อันเป็นบทบัญญัติอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้อันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ น. ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสหกรณ์ว่าด้วยการรวบรวมผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ของสมาชิก พ.ศ. 2551 โดยทำสัญญาขายปาล์มน้ำมันแก่บริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อโดยไม่ได้ให้บริษัทดังกล่าวจัดให้มีธนาคารค้ำประกันเงินเชื่อนั้น เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์แจ้งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบในกรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย แต่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการ โจทก์ในฐานะเป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์จึงฟ้องคดีแทนสหกรณ์ น. ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ให้รับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิด หรือให้รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ทำการเป็นตัวแทนหรือทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 แต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ซึ่งสหกรณ์ น. เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 37 วรรคสอง และโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ดังนั้น ความเกี่ยวพันระหว่างสหกรณ์ น. กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 บัญญัติให้ตัวแทนจะต้องรับผิดถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทน เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทน หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดทั้งในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนและในมูลละเมิด ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือในฐานะตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 กระทำการฝ่าฝืนระเบียบสหกรณ์ น. ในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 โดยการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายปาล์มน้ำมันกับบริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อและมิได้ให้บริษัท ภ. จัดหาหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามระเบียบ เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 11 ว่า สหกรณ์ น. ได้ฟ้องบริษัท ภ. ให้ชำระหนี้ค่าปาล์มน้ำมันต่อศาลชั้นต้น และบริษัทดังกล่าวทำสัญญาประนีประนอมยอมความขอผ่อนชำระหนี้แก่สหกรณ์ ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว แม้บริษัท ภ. จะไม่ชำระหนี้แก่สหกรณ์ สหกรณ์ก็สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวได้อยู่แล้ว ความเสียหายของสหกรณ์จึงหมดไป โจทก์ไม่อาจมาฟ้องจำเลยที่ 11 กับพวกได้อีกนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคดีนี้แทนสหกรณ์ น. เพื่อบังคับให้ชำระค่าเสียหายแก่สหกรณ์อันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ในฐานะคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบของสหกรณ์ในการทำสัญญาขายปาล์มน้ำมันแก่บริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อ โดยไม่ได้ให้บริษัทดังกล่าวจัดหาธนาคารมาค้ำประกันการขายเงินเชื่อนั้น ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายเพราะไม่ได้รับชำระหนี้ แม้สหกรณ์ได้ฟ้องบริษัท ภ. ให้ชำระหนี้และบริษัทดังกล่าวทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลขอผ่อนชำระหนี้แก่สหกรณ์แล้วก็ตาม แต่บริษัทดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ โดยยังค้างชำระหนี้แก่สหกรณ์อีกหลายสิบล้านบาท เมื่อสหกรณ์ยังเสียหายเพราะไม่ได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน โจทก์ย่อมมีอำนาจกระทำการแทนสหกรณ์โดยนำคดีมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 11 กับพวก ที่ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายได้ คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 11 ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่สหกรณ์ น. เพียงใด เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยก่อน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายปาล์มน้ำมันกับบริษัท ภ. ฝ่าฝืนระเบียบ ทำให้สหกรณ์ น. ได้รับความเสียหาย เพราะบริษัท ภ. ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นเต็มจำนวน โดยยังคงมีหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นเงิน 48,834,265 บาท ดอกเบี้ย 11,120,250.20 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 354,550.14 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 60,309,065.34 บาท และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 มิได้ให้การปฏิเสธจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า สหกรณ์ น. ได้รับความเสียหายตามจำนวนหนี้ที่บริษัท ภ. ค้างชำระในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่สหกรณ์ น. แต่ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องนั้น ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีหมายเลขแดงที่ 227 - 228/2554 ของศาลชั้นต้น ว่า บริษัท ภ. ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี เมื่อความเสียหายที่สหกรณ์ น. ได้รับ คือจำนวนหนี้ที่บริษัท ภ. ค้างชำระในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงต้องรับผิดดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี และหากภายหลังสหกรณ์ น. ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ภ. ในคดีดังกล่าวเพียงใด ก็ต้องนำมาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ต้องรับผิดในคดีนี้ด้วย พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ร่วมกันชำระเงิน 60,309,065.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ของต้นเงิน 48,834,265 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่สหกรณ์ น. ทั้งนี้ หากภายหลังวันฟ้องดังกล่าวสหกรณ์ น. ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ภ. เป็นจำนวนเท่าใด ให้นำมาหักออกและบังคับได้เฉพาะส่วนที่ยังค้างชำระเท่านั้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ |