

อำนาจกระทำการของผู้แทนนิติบุคคล อำนาจกระทำการของผู้แทนนิติบุคคล การถอนชื่อออกจากการเป็นกรรมการ โจทก์เป็นนิติบุคคลยื่นฟ้องจำเลยโดยกรรมการชุดเดิมต่อมาที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีมติให้กรรมการชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณากรรมการชุดเดิมยื่นคำร้องขอถอนฟ้องศาลอนุญาตต่อมาโจทก์โดยกรรมการชุดใหม่ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยกรรมการชุดเดิม พิจารณาแล้วเห็นว่าหนังสือรับรองของโจทก์ท้ายฟ้องไม่มีการจดทะเบียนถอนชื่อกรรมการชุดเดิมออกจากการเป็นกรรมการจึงต้องถือว่ายังไม่ได้พ้นจากการเป็นกรรมการจึงมีอำนาจกระทำการแทนแม้จำเลยจะเป็นบุตรของกรรมการชุดเดิมก็ตามการขอถอนฟ้องในนามของโจทก์ไม่ถือว่าประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์กับของกรรมการชุดเดิมเป็นปฏิปักษ์แก่กัน จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์โดยนายพยัพ และหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ภาณุพันธ์กรรมการ ยื่นคำร้องลงวันที่ 18 ตุลาคม 2534 ขอถอนฟ้องคดีนี้ศาลแรงงานกลางอนุญาต ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2534 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ไม่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของโจทก์ให้ถอนฟ้องคดีนี้ การที่บุคคลทั้งสองแอบอ้างชื่อโจทก์มาถอนฟ้องคดีนี้เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ตามเอกสารท้ายคำร้อง โดยเฉพาะบุคคลทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่าที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ สมัยวิสามัญครั้งที่ 1/2534เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 ได้มีมติให้บุคคลทั้งสองพ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้ว บุคคลทั้งสองดังกล่าวไม่ใช่ผู้ฟ้องคดี ไม่ชอบที่จะแอบอ้างมาถอนฟ้องคดีนี้จำเลยเป็นบุตรของนายพยัพและเป็นน้องภรรยาของหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์บุคคลทั้งสามเป็นพวกเดียวกันร่วมคบคิดกันถอนฟ้องคดีนี้โดยฉ้อฉล เป็นการไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางสั่งว่าเอกสารท้ายฟ้อง ระบุว่า กรรมการสองคนลงชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของโจทก์ ผูกพันโจทก์ได้นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ต่างเป็นกรรมการของโจทก์อีกทั้งตามคำร้องของโจทก์ระบุว่าตราสำคัญที่ประทับในการถอนฟ้องเป็นตราสำคัญของโจทก์ จึงถือว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ได้กระทำการในนามโจทก์ การสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือสั่งเป็นอย่างอื่นให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้แทนโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ แต่งตั้งทนายความและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำแทนและในนามโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีมติที่จะถอนฟ้อง ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์และที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ สมัยวิสามัญครั้งที่ 1/2534ได้มีมติให้นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์พ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์ไปแล้วนั้น เห็นว่า ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องปรากฏว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์เป็นกรรมการของโจทก์โดยไม่มีการจดทะเบียนถอนชื่อบุคคลทั้งสองจากการเป็นกรรมการของโจทก์ ต้องถือว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ไม่ได้พ้นจากการเป็นกรรมการของโจทก์ และตามหนังสือรับรองข้อ 3 ระบุว่า จำนวนหรือชื่อกรรมการที่ลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ คือกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ ประกอบกับตามหนังสือรับรองดังกล่าวและข้อบังคับของโจทก์ตามเอกสารท้ายคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2534 ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดอำนาจของกรรมการว่าถ้าโจทก์ไม่มีมติให้ถอนฟ้องคดีใด กรรมการของโจทก์จะทำการแทน โจทก์ขอถอนฟ้องคดีนั้นไม่ได้ จึงเห็นว่าการที่นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ขอถอนฟ้องคดีนี้ ถือได้ว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ขอถอนฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของนายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์จำเลยเป็นบุตรของนายพยัพและเป็นน้องภรรยาของหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์จึงไม่สามารถกระทำการแทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 80 นั้น เห็นว่าการขอถอนฟ้องคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ ผลดีหรือผลเสียนั้นย่อมตกได้แก่นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกันจะถือว่าประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์กับของนายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ในการถอนฟ้องคดีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่บัญญํติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ไม่ได้และด้วยเหตุดังวินิจฉัยแล้วจึงเห็นว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน. มาตรา 1151 อันผู้เป็นกรรมการนั้น เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้ มาตรา 1157 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ให้บริษัทนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง หมายเหตุ ตาม ป.พ.พ. หลังจากที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมติให้กรรมการคนใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 1151 บริษัทจะต้องนำไปจดทะเบียนกรรมการคนใหม่ภายใน 14 วัน ตามมาตรา 1157 และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะย่อข้อความไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 1021 หลังจากนั้นจึงให้ถือว่าข้อความซึ่งจดทะเบียนเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามมาตรา 1022 หากยังไม่มีการโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา บริษัทจะถือประโยชน์จากข้อความที่จดทะเบียนยังไม่ได้ แต่ในคดีนี้แม้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของโจทก์จะให้พ.กับท. พ้นจากการเป็นกรรมการก็ตาม แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าถ้าไม่มีการจดทะเบียนถอนชื่อ พ.กับท. ออกจากการเป็นกรรมการรายชื่อกรรมการของโจทก์ที่จดทะเบียนต่อนายทะเบียน จึงยังคงมีชื่อของ พ.กับท.ปรากฏอยู่ด้วยและไม่อาจถือได้ว่าพ.กับท.พ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้ว และไม่อาจถือได้ว่าศาลได้รู้เรื่องการพ้นตำแหน่งของ พ.กับท. ตามมาตรา 1022 ด้วยเช่นกัน การกระทำของพ.กับท. จึงต้องผูกพันโจทก์ดังกล่าว แต่หากการกระทำนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ก็สามารถฟ้องร้อง พ.กับท. เรียกค่าสินไหมทดแทนได้อยู่แล้วตามมาตรา 1169 คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่ากรรมการของบริษัทที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนเท่านั้นถือว่าเป็นกรรมการที่ถูกต้อง มีอำนาจทำการแทนบริษัทได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1951-1955/2497 จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนข้อบังคับว่าต้องมีกรรมการสองนายลงชื่อและประทับตราของบริษัทจึงจะมีผลผูกพันบริษัท กรรมการของจำเลยที่ 1นายเดียวได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนไปซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างจากโจทก์แล้วไม่ชำระหนี้ ปรากฏว่าการตั้งตัวแทนทำภายหลังบริษัทจะจดทะเบียนแต่ก่อนโฆษณาการจดทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างจากโจทก์ก่อนมีการโฆษณาข้อบังคับในราชกิจจานุเบกษา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปหลังจากที่บริษัทจดทะเบียนแล้ว แต่ข้อบังคับของบริษัทที่ว่ากรรมการต้องลงนาม 2 นาย และประทับตราของบริษัทด้วยนั้นยังไม่ได้โฆษณายังใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ แม้กรรมการนายเดียวจะได้ลงชื่อแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน การกระทำนั้นก็ผูกพันบริษัทจำเลย บริษัทจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาซื้อขายนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2513 บริษัทโดยกรรมการชุดโจทก์ฟ้องให้กรรมการชุดจำเลยเลิกบริหารกิจการของบริษัท และให้ส่งมอบกิจการของบริษัทแก่กรรมการชุดโจทก์ ระหว่างการพิจารณาคดีนั้นอยู่ปรากฏว่าศาลได้ตัดสินในอีกคดีหนึ่งถึงที่สุดให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ซึ่งตั้งพวกโจทก์เป็นกรรมการบริษัท ดังนี้ ก็ต้องถือว่ากรรมการชุดจำเลยที่จดทะเบียนครั้งหลังสุดและเป็นกรรมการอยุ่เดิมยังคงมีอำนาจบริหารงานต่อไป ศาลต้องยกฟ้องคดีของโจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436-1801/2533 ช. เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยจำนวนร้อยละ 43.46 จึงมีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญได้เมื่อ ช.เรียกประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีการประชุมตามกำหนดจึงเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่มีอำนาจลงมติแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการบริษัทจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. 1173,1174,1151*** และเมื่อการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ให้ถอดถอนกรรมการชุดเดิมทั้งหมดและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ 5 คน โดย ช.และ ว. เป็นกรรมการชุดใหม่มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันกระทำการแทนจำเลยได้ตามมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญได้ให้อำนาจไว้ ดังนี้ช.กับว. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันแต่งตั้งทนายความแทนบริษัทจำเลยได้ และทนายความดังกล่าวย่อมมีอำนาจอุทธรณ์แทนบริษัทจำเลย (***มาตรา 1173 การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้นในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัทได้เข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด------มาตรา 1174 เมื่อผู้ถือหุ้นยื่นคำร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญดั่งได้กล่าวมาในมาตราก่อนนี้แล้ว ให้กรรมการเรียกประชุมโดยพลัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าประโยชน์ทางได้เสียของนิติบุคคลกับของผู้แทนนิติบุคคลเป็นปฏิปักษ์กัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2525 คำว่า ผู้จัดการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 หมายถึง ผู้จัดการที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อโจทก์เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีอำนาจดำเนินการแทนจำเลยที่ 1โดยลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอีกคนหนึ่งที่ระบุไว้และประทับตราสำคัญ ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ เห็นได้ชัดว่าประโยชน์ทางได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับของจำเลยที่ 1 เป็นปฏิปักษ์แก่กันโจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 ประโยชน์ทางได้ทางเสียของจำเลยที่ 2มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 1 ศาลจึงตั้งจำเลยที่ 2 ขึ้นเป็นผู้แทนเฉพาะการของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อสู้คดีกับโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436-1801/2533 ศ.กรรมการของบริษัทจำเลยเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยกระทำการผูกพันจำเลยได้การที่ ศ. เป็นโจทก์ร่วมกับลูกจ้างคนอื่นของจำเลยรวม 366 คน ฟ้องบริษัทจำเลยให้จ่ายค่าจ้างค้างชำระและดอกเบี้ยแก่ตนเอง โดยในระหว่างดำเนินคดี ศ. ได้กระทำการในฐานะผู้จัดการบริษัทจำเลยด้วยการแต่งตั้งทนายความเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ชำระเงินตามฟ้องให้แก่ ศ. และโจทก์อื่นทุกคน และศาลแรงงานกลางได้พิพากษาคดีตามยอม ดังนี้ ประโยชน์ทางได้ทางเสียระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลกับ ศ. โจทก์ที่ 364 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยเป็นปฏิปักษ์แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 80 ดังนั้น ทนายความซึ่งแต่งตั้งโดย ศ. จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินให้แก่ ศ. โจทก์ที่ 364 ได้ และ ป.พ.พ. มาตรา 80 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางระหว่าง ศ. กับ จำเลยจึงขัดต่อป.วิ.พ. มาตรา 138(2) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางระหว่างโจทก์อื่นกับบริษัทจำเลยไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 80 จึงมีผลผูกพันจำเลย. ทวีประจวบลาภ. |