คำว่า "ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว" ใช้บังคับแก่คู่สัญญาทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง คำว่า "ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว" นั้นกฎหมายมุ่งบัญญัติให้ใช้บังคับแก่คู่สัญญาทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อ หากฝ่ายใดได้ชำระหนี้ส่วนของตนไปแล้วย่อมจะเรียกร้องเอาสิทธิที่ตนจะได้รับจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ ด้วยสัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ขายย่อมมีหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ส่วนผู้ซื้อต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้น เมื่อโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยฝ่ายผู้ซื้อแล้วจึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนของตนแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3522/2545
บริษัท เฮ็มเพ็ล โค้ทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์
ฎีกาของจำเลยในประเด็นที่ว่าจำเลยได้สั่งซื้อและได้รับสินค้าไปจากโจทก์แล้วหรือไม่ จำเลยอ้างว่า เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างจำเลยปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ แต่โจทก์นำกรรมการโจทก์มาเบิกความประกอบเอกสาร ไม่ได้นำพนักงานขายและพนักงานส่งสินค้าของโจทก์ซึ่งรู้เห็นโดยตรงเข้าเบิกความ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนและเป็นการรับฟังพยานบอกเล่าเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ว่าไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอแก่การจะรับฟังเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 คำว่า "ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว" ตามวรรคสองนั้นกฎหมายมุ่งบัญญัติให้ใช้บังคับแก่คู่สัญญาทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อ ดังนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ชำระหนี้ส่วนของตนไปแล้วก็ย่อมจะเรียกร้องเอาสิทธิที่ตนจะได้รับจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพราะสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ขายย่อมมีหนี้ที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อก็มีหนี้ที่ต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายเมื่อโจทก์ผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าของตนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อแล้วจึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนของตนแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ได้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นเงิน112,361.32 บาท ครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 หลังจากครบกำหนดชำระหนี้จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 112,361.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18ต่อปี นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,507.29 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 130,868.61 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 112,361.32 บาท แก่โจทก์นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ และการซื้อขายสินค้าดังกล่าวเป็นเงินกว่า 500 บาท แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 112,361.32 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้มีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นเงินเพียง 120,073 บาท จึงเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยในข้อ 2(1) ในประเด็นที่ว่าจำเลยได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์และได้รับสินค้าไปจากโจทก์แล้วหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ แต่โจทก์นำนายมอร์เท่น พอร์ซิลด์กรรมการโจทก์มาเบิกความประกอบเอกสาร แต่ไม่ได้นำพนักงานขายและพนักงานส่งสินค้าของโจทก์ซึ่งรู้เห็นโดยตรงเข้าเบิกความ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนและเป็นการรับฟังพยานบอกเล่านั้น ตามฎีกาของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ว่าไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอแก่การจะรับฟังฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้มาโดยเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าให้จำเลยในคดีนี้ไม่ถือเป็นการชำระหนี้บางส่วน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้จำเลยชำระหนี้ได้นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองและสามนั้น คำว่า "ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว" ตามวรรคสองนั้น กฎหมายมุ่งบัญญัติให้ใช้บังคับแก่คู่สัญญาทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อ ดังนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ชำระหนี้ส่วนของตนไปแล้วก็ย่อมจะเรียกร้องเอาสิทธิที่ตนจะได้รับจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพราะสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนผู้ขายย่อมมีหนี้ที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อส่วนผู้ซื้อก็มีหนี้ที่ต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าของตนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนของตนแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า การชำระหนี้บางส่วนหมายความว่า เฉพาะจำเลยได้ชำระค่าสินค้าให้โจทก์แล้วจึงฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อกฎหมายนี้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
พิพากษายืน
มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย
ป.วิ.พ.
มาตรา 248 ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดี ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคู่ความในคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามวรรคสอง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ไม่ว่าศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้หรือไม่ ห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่จะได้มีความเห็นแย้งหรือคำรับรอง หรือหนังสืออนุญาตให้ฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง