

การซื้อขายมิได้มีการชำระราคากันจริงถือเป็นการให้โดยเสน่หา การซื้อขายมิได้มีการชำระราคากันจริงถือเป็นการให้โดยเสน่หา ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินระบุว่าเป็นการขายแต่ได้ความว่าการโอนที่ดินสืบเนื่องจากผู้รับโอนหรือผู้ซื้อเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินจากผู้รับจำนอง การโอนที่ดินที่ระบุเป็นการซื้อขายจึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริงแต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หาและการไถ่ถอนที่ดินเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับโอนดังนั้นการไถ่จำนองจึงไม่ใช่ค่าตอบแทนการโอนกรณีเป็นการโอนให้โดยเสน่หาผู้โอนซึ่งเป็นลูกหนี้จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19413/2555 แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทระบุว่าเป็นการขายก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวบรวมเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจาก ม. จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริง แต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาเงินมาไถ่ถอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 จะถือเอาการที่ต้องไถ่ถอนจำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ เมื่อเป็นการโอนให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์ จำเลยทั้งสี่ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่านิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน และสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาท ระบุว่าเป็นการขายก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวบรวมเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากนางมุ่ยเกียง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริง แต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาเงินมาไถ่ถอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 โดยจะถือเอาการที่ต้องไถ่จำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ เมื่อกรณีเป็นการโอนให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกามาในคำฟ้องฎีกาฉบับเดียวกัน และเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีการ่วมกัน แม้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 เพราะเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 แล้ว จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย มาตรา 521 อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น |