สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิดเท่าจำนวนเงินดาวน์ เรียกร้องค่าเสียหายเท่าจำนวนเงินดาวน์ในการเช่าซื้อจากผู้ทำละเมิด รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2548 โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัท ต. โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อ ส. ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจาก ส. ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่าบริษัท ก. ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัท ต. ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์เพียงบางส่วนมิได้ชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ราคารถยนต์ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้ โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ ส. ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของ ส. ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัท ต. ได้รับไปจากบริษัท ก. ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 340,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 330,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ทั้งนี้รับผิดเพียงไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอีกจำนวน 79,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อนายสวัสดิ์ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมา จากนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่าบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์เพียงบางส่วน มิได้ชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ราคารถยนต์ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้ การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ นายสวัสดิ์ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับไปจากบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1. มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว มาตรา 887 อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้ รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัย จะต้องรับผิดชอบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2563 เดิมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับห้องชุดในอาคารชุดให้ ศ. เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับ ศ. เป็นคดีอาญาในข้อหาโกงเจ้าหนี้ กับฟ้องคดีแพ่งขอเพิกถอนการฉ้อฉล คดีทั้งสองเรื่องถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินข้างต้นขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้แก่ ศ. ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง สิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ผู้ถูกทำให้เกิดเสียหายและจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไป เกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง ส่วนการที่โจทก์จำต้องฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลย จึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งแก่โจทก์ ตามตาราง 6 และตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับ ศ. นั้น การที่โจทก์ต้องทำเช่นนั้นจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินแก่โจทก์เช่นกัน ส่วนค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุนนั้น เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 232,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 เมษายน 2560) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 5995/2551 ของศาลจังหวัดพระโขนง ซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 1,100,000 บาท โดยวิธีผ่อนชำระ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม และได้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับห้องชุดในอาคารชุดให้นางสาวศิริรัตน์เพื่อไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยและนางสาวศิริรัตน์ในความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ต่อศาลจังหวัดพระโขนง ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ให้จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ยังฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับนางสาวศิริรัตน์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยและนางสาวศิริรัตน์ ศาลฎีกาพิพากษายืน โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาเป็นของจำเลย แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด และได้เงินจากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้นางสาวศิริรัตน์หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งโจทก์ขอลดทุนทรัพย์ลงเหลือเพียง 50,000 บาท ค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่ง ซึ่งโจทก์ขอลดทุนทรัพย์ลงเหลือเพียง 100,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรม 50,000 บาท และค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุน ซึ่งโจทก์ขอลดทุนทรัพย์ลงเหลือเพียง 300,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีอาญาซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการเสียหายแก่ทรัพย์สินนั้น เห็นว่า แม้การที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้นางสาวศิริรัตน์โดยประสงค์จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าว เป็นการจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ คงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยในทางอาญาเท่านั้น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ก็หามีผลให้โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่จำเลยขายไปได้ไม่ อย่างไรก็ดี กรณีมิใช่ว่าหากโจทก์ไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยแล้ว โจทก์จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำเลยขายไปไม่ได้เลย การดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยจึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะดำเนินการหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น โจทก์จะอ้างว่าการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้นางสาวศิริรัตน์ทำให้โจทก์ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาอันเป็นการเสียหายแก่ทรัพย์สินหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่ง กับค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับนางสาวศิริรัตน์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อให้ทรัพย์สินที่จำเลยขายไปกลับมาเป็นของจำเลย และโจทก์จะได้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าว การที่โจทก์จำต้องฟ้องคดีแพ่งจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งแก่โจทก์ ส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับนางสาวศิริรัตน์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องดำเนินการหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีแพ่งเพื่อให้ทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยทางทะเบียนก่อนที่โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไป การที่โจทก์ต้องทำเช่นนั้นจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินดังกล่าวแก่โจทก์เช่นกัน แต่ที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งเป็นเงิน 150,000 บาท กับค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรม การโอนทรัพย์สินเป็นเงิน 50,000 บาท นั้น เห็นว่า หนังสือยืนยันการรับเงินเป็นเพียงหลักฐานที่ทนายโจทก์ทำขึ้นเพื่อแสดงว่าได้รับเงินดังกล่าวไปจากโจทก์ โดยไม่ได้แยกแยะรายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละรายการและค่าทนายความว่าเป็นอย่างไร ทั้งในชั้นฎีกาโจทก์ยังขอปรับลดค่าเสียหายในส่วนของค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งลงจาก 150,000 บาท เป็น 100,000 บาท โดยไม่ระบุเหตุผล ส่อแสดงว่าโจทก์กำหนดจำนวนค่าเสียหายเอาตามอำเภอใจ ประกอบกับการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินเป็นการดำเนินการต่อหน่วยงานราชการ ซึ่งควรจะมีเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการนั้น แต่โจทก์กลับไม่อ้างเป็นพยานหลักฐาน แม้ในชั้นฎีกาโจทก์ยังคงจำนวนค่าเสียหายในส่วนของค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรม การโอนทรัพย์สินไว้ตามฟ้อง แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ได้วินิจฉัยมาก็ยังไม่อาจรับฟังว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการต่าง ๆ ดังกล่าวรวมทั้งค่าทนายความเป็นจำนวนตามที่ขอมาในฎีกา เมื่อพิจารณาคำพิพากษาในคดีแพ่งโดยคำนึงถึงความยากง่ายแห่งคดี ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินคดีตั้งแต่เริ่มต้นจนคดีถึงที่สุด ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือทนายโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาด้วยหรือไม่ ค่าทนายความที่ศาลกำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์ รวมทั้งรายงานปิดประกาศเรื่องการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้ว สมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่ง 50,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สิน 5,000 บาท ส่วนค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุนนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาเพียงต้องการไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่ได้โอนไป ค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์เรียกร้องจึงอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย ถือเป็นค่าเสียหายที่ไกลกว่าเหตุ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในส่วนนี้ รวมค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ 55,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 เมษายน 2560) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
|