

นำรถไฟแนนซ์ไปจอดกู้เงินผู้รับจำนำเอาไปขายต่อแจ้งความได้ไหม นำรถไฟแนนซ์ไปจอดกู้เงินผู้รับจำนำเอาไปขายต่อแจ้งความได้ไหม? โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทไปจากบริษัท ต. ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ โจทก์ร่วมมอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองรับไป โจทก์ร่วมโอนเงินหลายจำนวนเข้าบัญชีเงินฝากภริยาจำเลยที่ 1 เพื่อโอนต่อเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และโอนเงินอีกหลายจำนวนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 โดยตรงผ่านทางแอปพลิเคชันของธนาคารในโทรศัพท์เคลื่อนที่โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกหรือไม่ การที่โจทก์ร่วมเพิ่งทำสัญญาเช่าซื้อได้แค่เพียง 1 เดือน ก็นำรถไปจำนำดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ร่วมแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ไม่อาจเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าโจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ แต่นำรถยนต์ไปจำนำไว้แก่จำเลยที่ 2 ยังสรุปไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นไป ข้อตกลงซึ่งจำเลยที่ 2 ให้เงินแก่โจทก์ร่วมนำไปใช้เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจโดยโจทก์ร่วมยอมมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลบังคับเป็นสัญญาจำนำแล้ว กรณียังไม่อาจใช้ยันบริษัท ต. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงได้ มีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น หากโจทก์ร่วมชำระหนี้คืนให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 2 ชอบที่จะไม่คืนรถยนต์คันพิพาทให้ได้ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่รถยนต์เพื่อการชำระหนี้ด้วยตนเองโดยพลการ หลังจากโจทก์ร่วมรับเงินจากจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ร่วมผ่อนชำระดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 2 เรื่อยมาโจทก์ร่วมประสงค์ที่จะได้รับรถยนต์คันพิพาทกลับคืนเมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้วจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเบียดบังเอารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นของบริษัท ต. ไปโดยมิชอบ กรณีหาใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมนำรถมาจำนำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111 - 112/2566 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงเพียงว่าโจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท ไม่ชอบที่จะนำรถออกให้จำนำได้ โดยมิได้รับฟังข้ออ้างข้อเถียงของคู่ความถึงนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน จึงเป็นการด่วนวินิจฉัยข้อกฎหมายจากการฟังข้อเท็จจริงที่ยังไม่สิ้นกระแสความ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 ให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทน 1,500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1554/2562 ของศาลอาญา จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ระหว่างพิจารณา นายวีระยุทธ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี ให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้ราคา 1,500,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1554/2562 ของศาลอาญา จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วม และให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นซึ่งโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 นายวีระยุทธ โจทก์ร่วม ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาท ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ป้ายแดง 1 คัน ไปจากบริษัท ต. ในราคา 1,949,052 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 23,203 บาท รวม 84 งวด ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 มีการจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าว ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 โจทก์ร่วมมอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองรับไป โดยในระหว่างวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 โจทก์ร่วมโอนเงินหลายจำนวนเข้าบัญชีเงินฝากภริยาจำเลยที่ 1 เพื่อโอนต่อเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และโอนเงินอีกหลายจำนวนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 โดยตรงผ่านทางแอปพลิเคชันของธนาคารในโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 รับโอนจากโจทก์ร่วมเข้าบัญชีทั้งสิ้น 181,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2561 จำเลยที่ 2 ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายสุรเชษฐ์ ในราคา 320,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากบริษัท ต. มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว จึงไม่ชอบที่จะนำรถยนต์คันนี้ไปจำนำไว้กับจำเลยที่ 2 การที่โจทก์ร่วมเพิ่งทำสัญญาเช่าซื้อได้แค่เพียง 1 เดือน ก็นำรถไปจำนำดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ร่วมแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ไม่อาจเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ เห็นว่า ลำพังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่าโจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ แต่กลับนำรถยนต์ไปจำนำไว้แก่จำเลยที่ 2 หาใช่ข้อบ่งชี้ชัดในทันทีว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นไปดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ด่วนวินิจฉัย ข้อตกลงซึ่งจำเลยที่ 2 ให้เงินแก่โจทก์ร่วมนำไปใช้เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจจำนวน 300,000 บาท โดยโจทก์ร่วมยอมมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ซึ่งหากเป็นจริงตามที่โจทก์ร่วมเบิกความไว้ นอกจากข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลบังคับเป็นสัญญาจำนำแล้ว กรณียังไม่อาจใช้ยันบริษัท ต. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในรถยนต์คันพิพาทได้ด้วย คงมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้นว่าตราบใดที่โจทก์ร่วมชำระหนี้คืนให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 2 ชอบที่จะไม่คืนรถยนต์คันพิพาทให้ได้ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่รถยนต์เพื่อการชำระหนี้ด้วยตนเองโดยพลการเช่นกัน เท่ากับว่ายังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ร่วมสามารถปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไปด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ และสามารถนำรถมาส่งมอบคืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อได้หากมีกรณีที่สัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกัน ฉะนั้น เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบไว้ด้วยว่าภายหลังจากโจทก์ร่วมรับเงินจากจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ร่วมผ่อนชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน เป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยค่าจอดรถอีกเดือนละ 2,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 เรื่อยมา โดยโจทก์ร่วมอ้างว่ามีบันทึกรายการโอนเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งธนาคารเป็นผู้จัดทำ แสดงอยู่ในข้อความสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วม มาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุน ซึ่งในบันทึกรายการโอนเงินดังกล่าวมีระบุไว้ในส่วนบันทึกช่วยจำอย่างชัดเจนว่าเงินที่โอนไปนั้นเป็น “ค่ารถฟอร์จูนเนอร์ให้พี่กิต (หมายถึงจำเลยที่ 1)” และ “ค่ารถฟอร์จูนเนอร์ให้พี่ชานน (หมายถึงจำเลยที่ 2)” อีกทั้งยังอ้างบทสนทนาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งมีข้อความสรุปได้ว่าโจทก์ร่วมจะไปเอารถคืนในวันที่ 18 ธันวาคม 2561 แต่จำเลยที่ 2 ต่อรองเป็นวันที่ 26 หรือ 27 ธันวาคม 2561 ซึ่งโจทก์ร่วมตกลงและจะชำระต้นเงินคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งหมดในวันดังกล่าว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบโดยมีพยานหลักฐานประกอบข้างต้น ย่อมเท่ากับว่าโจทก์ร่วมประสงค์ที่จะได้รับรถยนต์คันพิพาทกลับคืนเมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว โจทก์ร่วมถึงยอมปฏิบัติตามข้อตกลงด้วยการผ่อนชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วยดีตลอดมา หาได้มีพฤติการณ์ปล่อยปละละเลยเพื่อให้รถตกไปเป็นของผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ ทั้งเมื่อหาเงินมาชำระหนี้ได้ ก็ติดตามทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนรถให้แก่ตนในทันที กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์ร่วมนำรถยนต์คันพิพาทซึ่งตนเช่าซื้อออกหาประโยชน์ด้วยการใช้เป็นหลักประกันเพื่อให้ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 มาเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจของตนเป็นการกระทำที่มีเจตนาทุจริต เบียดบังเอารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งเป็นของบริษัท ต. ไปโดยมิชอบ อันจะส่งผลให้โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ซึ่งนับเป็นข้อสาระสำคัญว่าเป็นไปดังที่โจทก์และโจทก์ร่วมกล่าวอ้างหรือไม่ หรือมิฉะนั้นข้อเท็จจริงเป็นไปดังอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ร่วมได้ขายดาวน์รถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว กรณีหาใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมนำรถมาจำนำ ส่วนเงินที่โจทก์ร่วมโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งโจทก์ร่วมกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท ด้วยเหตุนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์โดยอาศัยลำพังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่าโจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท ไม่ชอบที่จะนำรถออกให้จำนำได้ โดยมิได้รับฟังข้ออ้างข้อเถียงของคู่ความถึงนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกันว่ารับสมกับฝ่ายใด จึงเป็นการด่วนวินิจฉัยข้อกฎหมายจากการฟังข้อเท็จจริงที่ยังไม่สิ้นกระแสความ ซึ่งศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นไปดังอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 รวมตลอดถึงอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่ามิได้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด หรือเป็นไปตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมกล่าวอ้างข้างต้น เนื่องจากผลจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในข้อดังกล่าวอาจมีผลต่อสิทธิในการฎีกาของคู่ความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี |