

สัญญาขายฝากไม่มีเหตุผลต้องผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กัน สัญญาขายฝากไม่มีเหตุผลต้องผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กัน สัญญาขายฝากหากคู่สัญญามีเจตนาทำสัญญาขายฝากจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมีการผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กันเพราะการขายฝากที่ดินสามารถชำระเงินสินไถ่ให้แก่ผู้ซื้อฝากได้ในคราวเดียวหรือนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ในคราวเดียวกันไม่จำต้องผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ที่ดินผู้ดำเนินการทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ย่อมไม่อาจทราบที่มาแห่งมูลหนี้หรือเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาว่ามีเจตนาที่แท้จริงเป็นเช่นใด จึงเป็นเพียงเบิกความไปตามเอกสารเท่านั้น ส่วนข้อความด้านหลังหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท ที่มีข้อความว่า ขอรับรองว่า การทำสัญญานี้เป็นการขายฝากจริงไม่ใช่การกู้ยืมแต่อย่างใด โดยมีลายมือชื่อของผู้ขายฝากลงชื่อไว้เห็นว่าหากไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารก็จะไม่ได้เงินจึงไม่อาจยืนยันว่าเจตนาที่แท้จริงเป็นการทำสัญญาขายฝากกันจึงสามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ คู่สัญญาไม่มีเจตนาทำนิติกรรมการขายฝากที่ดินต่อกัน นิติกรรมขายฝากจึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมที่มีที่ดินเป็นประกัน จึงตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินที่มีที่ดินเป็นหลักประกันซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ การชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายไม่อาจเรียกคืนได้ แต่ต้องนำดอกเบี้ยที่ชำระไปหักเงินต้นปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนทำให้ไม่อาจพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมขายฝากเพราะจะกระทบสิทธิของผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้ คืนที่ดินได้ จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดิน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2565 โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากสัญญาขายฝากเป็นเอกสารสัญญามหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จากทางนำสืบของโจทก์ โจทก์โอนเงินดอกเบี้ย 2 ครั้ง ให้ ฉ. และ ฉ. โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน จากต้นเงิน 350,000 บาท ซึ่งโอนหลังจากหักดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือนแล้ว ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำสัญญาขายฝากจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมีการผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กันเพราะการขายฝากที่ดินพิพาทสามารถชำระเงินสินไถ่ให้แก่ผู้ซื้อฝากได้ในคราวเดียวหรือนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ในคราวเดียวกันไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยรายเดือน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมที่มีที่ดินพิพาทเป็นประกัน ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยึดถือเป็นหลักประกัน โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืม 350,000 บาท แต่การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมเป็นโมฆะ การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 โจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกคืนได้ แต่ต้องนำเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระไปหักเงินต้นดังกล่าว และเมื่อนิติกรรมการขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันจึงตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยข้างต้น ทำให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์ทั้งสองไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้ สภาพแห่งหนี้จึงไม่อาจเปิดช่องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคิดตามราคาประเมินตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอและให้นำไปหักเงินกับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองต้องชำระตามสัญญากู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับชำระหนี้ 350,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ติดตามนำที่ดินโฉนดเลขที่ 11153 ที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 3 หากจำเลยทั้งสามไม่อาจจัดการให้ได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ราคาที่ดิน 865,900 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง 515,900 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11153 ที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 ในราคาขายฝาก 450,000 บาท มีกำหนดระยะเวลาไถ่คืนภายใน 6 เดือน ซึ่งขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทมีราคาประเมิน 865,900 บาท แต่เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน โจทก์ทั้งสองไม่ไถ่ถอน ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 950,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลสมบูรณ์ ไม่ใช่นิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน ภาระการพิสูจน์ว่าหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินจึงตกแก่โจทก์ทั้งสอง เนื่องจากหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 แทน มีกำหนด 6 เดือน เป็นเงิน 450,000 บาท ผู้ขายฝากได้รับเงินครบถ้วนแล้ว ลงชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ขายฝาก และจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซื้อฝากเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง แม้ข้อสันนิษฐานดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะต้องรับฟังตามนั้น โจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ โดยโจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ที่ 2 นางสาวฉลวย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 350,000 บาท โดยใช้ที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันการกู้ยืม จำเลยที่ 1 คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2561 จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อจำเลยที่ 2 พาโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาท ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้โอนเงินเข้าบัญชีนางสาวฉลวย รวมสองครั้งเป็นเงิน 286,669 บาท โดยหักดอกเบี้ยล่วงหน้าสองเดือนเป็นเงิน 21,000 บาท ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ 38,331 บาท ซึ่งเหลือเงินใกล้เคียงกับเงินที่จำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีของนางสาวฉลวย และภายหลังโจทก์ทั้งสองได้โอนเงินผ่านบัญชีนางสาวฉลวยเพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2561 ให้แก่จำเลยที่ 1 ครั้งละ 10,500 บาท แต่เดือนมกราคม 2562 ไม่สามารถติดต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ จะเห็นได้ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานการโอนเงินของจำเลยที่ 1 ที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวฉลวยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นการโอนเงินวันเดียวกันกับวันที่ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท ซึ่งเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวฉลวยดังกล่าวแล้ว เมื่อคำนวณตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 350,000 บาท หักดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนเป็นเงิน 10,500 บาท ไว้ล่วงหน้า 2 เดือน เป็นเงิน 21,000 บาท กับค่าธรรมเนียมการขายฝากเป็นเงิน 38,331 บาท แล้วจะเหลือเงิน 290,669 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกับเงินที่จำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวฉลวยรวมเป็นเงิน 286,669 บาท นอกจากนี้ยังปรากฏว่า นางสาวฉลวยได้โอนเงินจากบัญชีนางสาวฉลวยเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม 2561 เดือนละ 10,500 บาท เท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือนจากต้นเงิน 350,000 บาท ซึ่งเป็นการโอนภายหลังจากพ้นระยะจากที่มีการหักดอกเบี้ยล่วงหน้าสองเดือนแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้อ้างตัวเองเบิกความโต้แย้งให้เห็นว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างไม่ถูกต้องหรือไม่ อย่างใด หรือเงินที่มีการโอนเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองผ่านบัญชีเงินฝากของนางสาวฉลวย จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้โอนเงิน หรือเป็นเงินอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมหรือการขายฝากคดีนี้ ทำให้เชื่อว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนเกิดจากต้นเงิน 350,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำสัญญาขายฝากจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมีผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กันเพราะการขายฝากที่ดินพิพาทสามารถชำระเงินสินไถ่ให้แก่ผู้ซื้อฝากได้ในคราวเดียวหรือนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ในคราวเดียวกันไม่จำต้องผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีว่าที่ร้อยตรีธนาชัย ทนายความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าเบิกความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยให้โจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงิน การจดทะเบียนขายฝากเป็นตามเจตนาที่แท้จริงก็ตาม แต่พยานจำเลยปากดังกล่าวก็เบิกความตอบคำถามทนายโจทก์ทั้งสองยอมรับว่า ไม่ได้รู้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำสัญญาขายฝาก ทำให้คำเบิกความของว่าที่ร้อยตรีธนาชัยจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองได้ และแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีนายไชยรัฐ เจ้าหน้าที่ที่ดินผู้ดำเนินการทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทมาเบิกความยืนยันรับรองความถูกต้องว่าเป็นการจดทะเบียนขายฝากที่แท้จริงและตรงตามเจตนาของคู่สัญญา นิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะก็ตาม แต่พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปากนี้เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ย่อมไม่อาจทราบที่มาแห่งมูลหนี้หรือเจตนาที่แท้จริงของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่ามีเจตนาที่แท้จริงเป็นเช่นใด การเบิกความรับรองของพยานจำเลยปากนี้จึงเป็นเพียงเบิกความไปตามเอกสารเท่านั้น ส่วนข้อความด้านหลังหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท ที่มีข้อความว่า ขอรับรองว่า การทำสัญญานี้เป็นการขายฝากจริงไม่ใช่การกู้ยืมแต่อย่างใด โดยมีลายมือชื่อของโจทก์ทั้งสองลงชื่อไว้ นั้น โจทก์ที่ 2 ก็เบิกความว่า หากไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวก็จะไม่ได้เงิน ข้อความดังกล่าวจึงไม่อาจยืนยันว่าเจตนาที่แท้จริงเป็นการทำสัญญาขายฝากกัน หรือเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเจตนากู้ยืมแต่ต้นแต่มาเปลี่ยนเจตนาทำสัญญาขายฝากภายหลัง พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงและน่าเชื่อถือสามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้ ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเป็นเงิน 350,000 บาท โดยมีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน โดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกัน โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาทำนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทต่อกัน นิติกรรมขายฝากจึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมที่มีที่ดินพิพาทเป็นประกัน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินที่มีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่านิติกรรมการขายฝากไม่ใช่นิติกรรมอำพรางการกู้ยืม นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น อนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในปัญหาข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยก่อน สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองมีหนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายคำฟ้องซึ่งศาลมีคำสั่งรวมมาแสดง และโจทก์ทั้งสองมีนางสาวฉลวยเบิกความว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้นางสาวฉลวยเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนจริง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่ว่า จำเลยที่ 3 ทราบหรือไม่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับจำเลยที่ 2 เป็นนิติกรรมอำพราง การกู้ยืมที่มีที่ดินพิพาทเป็นประกัน โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากนายขวัญใจ เบิกความตอบคำถามศาลว่า ได้บอกแก่จำเลยที่ 3 ว่าจะซื้อที่ดินคืน แสดงว่าจำเลยที่ 3 ทราบการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพราง ทั้งพยานจำเลยที่ 3 ปากนายชรัมย์ เบิกความตอบคำถามค้านว่า จำได้ว่าพี่น้องของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหญิงเคยมาปรึกษาว่าหากสัญญาขายฝากพ้นระยะเวลาการขายฝากแล้วจะเป็นอย่างไร อันเป็นการแสดงว่าพยานจำเลยที่ 3 รับรู้ปัญหาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับโจทก์ทั้งสองมาตั้งแต่ต้น และวันที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท นายชรัมย์ นำจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 มาทำสัญญาในห้องทำงานส่วนตัวของตนพร้อมกับถ่ายรูปเป็นหลักฐาน อันเป็นการผิดวิสัยการทำสัญญาทั่วไป จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่สุจริต นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทภายหลังจากสัญญาขายฝากพ้นกำหนดไถ่ถอน จึงได้รับประโยชน์แห่งข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงมีภาระพิสูจน์ให้เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ซื้อที่ดินพิพาทเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองปากโจทก์ที่ 2 และนางสาวฉลวยเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทต่อจากจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตเพราะจำเลยที่ 3 รับทราบปัญหาของพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาตั้งแต่ต้น แต่พยานโจทก์ทั้งสองกลับเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 3 ตอนหนึ่งว่า ที่เบิกความว่า จำเลยที่ 3 รับรู้ปัญหาหมายถึงนายขวัญใจ เล่าให้ฟังว่าได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบว่าโจทก์ทั้งสองมีปัญญาด้านการเงิน ไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาและกำลังหาเงินไปคืน แสดงว่าพยานโจทก์ดังกล่าวได้รับบอกเล่าข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์ปากนายขวัญใจ ซึ่งเมื่อนายขวัญใจมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามที่พยานโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใด คงเบิกความเพียงว่า จำเลยที่ 3 สนิทสนมกับพยานและครอบครัวเพราะทำธุรกิจรถเกี่ยวข้าวด้วยกัน เดือนตุลาคม 2562 พยานทราบว่าจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และพยานได้ต่อว่าจำเลยที่ 3 หลังทราบเรื่อง พร้อมกับเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 3 เพียงว่า พยานทราบว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 2 ก่อนจำเลยที่ 3 จะซื้อที่ดินเท่านั้น และเบิกความตอบคำถามศาลเพียงว่า พยานเคยบอกจำเลยที่ 3 ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะซื้อที่ดินไปจากจำเลยที่ 2 ว่าเกี่ยวข้าวได้เงินมาแล้วจะเอาไปซื้อที่ดินคืน ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ตอบว่าอะไร คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายขวัญใจดังกล่าว ไม่ได้เบิกความยืนยันให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ทราบว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 การทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเพื่อเป็นการทำนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม ซึ่งจำเลยที่ 3 ให้การและนำสืบว่า ในขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ประกอบกับจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทในราคา 950,000 บาท และชำระเงินต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน โดยมีนายชรัมย์ เจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทมาเบิกความยืนยันว่าซื้อขายกันจริงโดยมีการถ่ายภาพไว้ด้วย ซึ่งราคาซื้อขายดังกล่าวสูงกว่าราคาประเมิน ลำพังข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่ว่า นายชรัมย์ นำจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 มาทำสัญญาในห้องทำงานส่วนตัวของตนเองและถ่ายรูปเป็นหลักฐาน อันเป็นการผิดวิสัยการทำสัญญาทั่วไป และข้อเท็จจริงเพียงว่านายชรัมย์เคยรับปรึกษาญาติโจทก์ทั้งสองที่ขายฝากหลุด ไม่พอฟังว่าในขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 ทราบว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาขายฝากเพื่ออำพรางการกู้ยืมโดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกัน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงย่อมได้รับคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกัน เป็นผลให้สัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะและต้องบังคับตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาจะผูกพันในนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง และถือว่าสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นหลักฐานว่าโจทก์ได้กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยึดถือเป็นหลักประกัน ซึ่งโจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืม 350,000 บาท แต่การกู้ยืมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 โจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกคืนได้ แต่ต้องนำดอกเบี้ยที่โจทก์ทั้งสองชำระไปหักเงินต้นดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สี่งวด งวดละ 10,500 บาท รวมเป็นเงิน 42,000 บาท เมื่อนำไปหักต้นเงินแล้วคงเหลือหนี้ที่โจทก์ทั้งสองต้องรับตามสัญญากู้ยืมเป็นเงิน 308,000 บาท ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้โจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 และเมื่อนิติกรรมการขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันจึงตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยข้างต้น ทำให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนทำให้ไม่อาจพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมขายฝากเพราะจะกระทบสิทธิของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคิดตามราคาประเมิน 865,900 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอ และให้นำไปหักกับเงิน 308,000 บาท ที่โจทก์ทั้งสองต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 557,900 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 557,900 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ |