

กฎหมายมิได้กำหนดให้การขายฝากสามารถเรียกดอกเบี้ยต่อกันได้ กฎหมายมิได้กำหนดให้การขายฝากสามารถเรียกดอกเบี้ยต่อกันได้ สัญญาขายฝากเป็นการอำพรางการกู้ยืมเงินให้กู้ยืมเงิน 1,000,000 บาท โดยเรียกเก็บดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี หักวันแรกเป็นการชำระดอกเบี้ยล่วงหน้าระยะเวลา 1 ปี เป็นเงิน 360,000 บาท แล้วส่งมอบเงินให้โจทก์ร่วมเพียง 640,000 บาท อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้ทำเป็นสัญญาขายฝากแต่การที่ผู้ให้กู้ยืมหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ลักษณะของการขายฝาก การกระทำมีเจตนาให้กู้ยืมเงินโดยประสงค์ต่อดอกเบี้ย การขายฝากจึงเป็นการอำพรางการกู้ยืมเงิน ผู้กู้ติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงิน แต่ผู้ให้กู้กลับให้ทำเป็นสัญญาขายฝากโดยใช้วิธีคิดดอกเบี้ยจากราคาขายฝากในระยะเวลาไถ่ถอน 1 ปี แล้วหักเงินไว้ล่วงหน้า อันเป็นลักษณะของการเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมเงิน แทนที่จะกำหนดสินไถ่ให้สูงกว่าราคาขายฝาก อันเป็นลักษณะของการคิดผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายฝาก ส่อชัดว่าไม่ได้มีเจตนาจะผูกนิติสัมพันธ์ตามสัญญาขายฝากส่วนการที่ผู้กู้ยืมยินยอมทำสัญญาขายฝากก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินกู้ในลักษณะที่จำยอมต้องกระทำตามความประสงค์ของผู้ให้กู้ยืม โดยไม่สมัครใจทำสัญญาขายฝาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2565 ปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ร่วม เมื่อความผิดตามฟ้องมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายย่อมไม่กระทบอำนาจฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 5, 16 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณา นาง ศ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 5 (3) (7), 16 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำคุก 1 ปี ฐานประกอบกิจการให้สินเชื่อภายใต้การกำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกรวม 16 เดือน ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย และให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจดทะเบียนใช้ชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เมื่อประมาณปลายปี 2558 โจทก์ร่วมไปพบจำเลยที่ 1 ที่ร้านค้าของจำเลยที่ 1 ติดต่อขอกู้ยืมเงิน 600,000 บาท เพื่อนำเงินไปเป็นทุนค้าขายหมากเคี้ยวตามคำแนะนำของเพื่อน แต่จำเลยที่ 1 ต้องการหลักประกันและให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก โจทก์ร่วมเสนอที่ดินโฉนดเลขที่ 15902 ของโจทก์ร่วม เป็นหลักประกัน จำเลยที่ 1 ไปดูที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วพอใจ แต่ที่ดินติดจำนองธนาคารเป็นประกันหนี้ที่โจทก์ร่วมค้างชำระอยู่ 300,000 บาทเศษ ต้องนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก่อนนำที่ดินมาจดทะเบียนขายฝาก โจทก์ร่วมจึงต้องการเงิน 1,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2558 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วม และนายบรรจบ สามีของโจทก์ร่วม เดินทางไปที่ธนาคาร จำเลยที่ 1 นำเงินชำระหนี้ของโจทก์ร่วมให้แก่ธนาคาร 300,000 บาทเศษ แล้วรับโฉนดที่ดินพร้อมทั้งเอกสารที่จำเป็นจากธนาคารพากันเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาปรางค์กู่ ดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง จากนั้นโจทก์ร่วมจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองมีกำหนด 1 ปี โดยระบุราคาขายฝาก 1,000,000 บาท และสินไถ่ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งหมดโดยจะนำมาหักออกจากจำนวนเงินที่มอบให้แก่จำเลยที่ 1 ในภายหลัง ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 หลังจากครบกำหนดไถ่ถอน จำเลยทั้งสองขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นางจิ มารดาของโจทก์ร่วม ในราคา 1,400,000 บาท คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงิน 1,000,000 บาท โดยเรียกเก็บดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี หักวันแรกเป็นการชำระดอกเบี้ยล่วงหน้าระยะเวลา 1 ปี เป็นเงิน 360,000 บาท แล้วส่งมอบเงินให้โจทก์ร่วมเพียง 640,000 บาท อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้ทำเป็นสัญญาขายฝากแต่การที่จำเลยที่ 1 หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ลักษณะของการขายฝาก การกระทำของจำเลยที่ 1 มีเจตนาให้กู้ยืมเงินโดยประสงค์ต่อดอกเบี้ย การขายฝากจึงเป็นการอำพรางการกู้ยืมเงิน ในข้อนี้ โจทก์มีโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ร่วมขอกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท แบ่งเป็นไว้ใช้เอง 600,000 บาท ส่วนที่เหลือ 300,000 บาทเศษ ใช้ไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคาร แต่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าต้องทำเป็นสัญญาขายฝาก โจทก์ร่วมต้องการใช้เงินจึงตกลงทำสัญญาขายฝากตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ หลังจากจดทะเบียนขายฝากที่ดินแล้ว จำเลยที่ 1 แจ้งว่านอกจากต้องหักหนี้ไถ่ถอนจำนอง 300,000 บาทเศษแล้ว ยังมีค่าดำเนินการ ค่าภาษีเกี่ยวกับที่ดิน และหักดอกเบี้ยอีกประมาณ 360,000 บาท โจทก์ร่วมคงได้รับเงินเพียง 300,000 บาทเศษ ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ร่วมมาขอกู้ยืมเงินไปลงทุนค้าขาย จำเลยที่ 1 แจ้งว่าให้กู้ยืมเงินได้แต่ต้องมีหลักประกันและทำเป็นขายฝาก โจทก์ร่วมต้องการใช้เงินรวมประมาณ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ตกลงรับซื้อฝากในราคา 950,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี ไถ่ถอนในราคา 1,000,000 บาท โจทก์ร่วมตกลง จำเลยที่ 1 มอบเงิน 350,000 บาท ให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ในการไถ่ถอนจำนอง โดยชำระค่าไถ่ถอนจำนอง 300,000 บาทเศษ เหลือเงินสดอีก 10,000 บาทเศษ จำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ร่วมไปก่อน ส่วนที่เหลืออีก 600,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ไปถอนเงินจากธนาคารนำมามอบให้โจทก์ร่วมแล้ว รวมเป็นเงินที่โจทก์ร่วมได้รับไปทั้งสิ้น 950,000 บาท เห็นว่า ในส่วนของเงินที่ใช้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองนั้น โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เบิกความรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบเงินให้โจทก์ร่วมนำไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองประมาณ 300,000 บาทเศษ คงมีปัญหาโต้แย้งกันเฉพาะเงินในส่วนที่เหลือ ซึ่งโจทก์ร่วมอ้างว่าได้รับเพียง 300,000 บาทเศษ โดยโจทก์ร่วมได้ฝากเข้าบัญชีธนาคารผ่านตู้รับฝากเงินอัตโนมัติ ตามรายการเดินบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่ามอบให้โจทก์ร่วม 600,000 บาท โดยโจทก์ร่วมทำหลักฐานการรับเงินไว้ และมีจำเลยที่ 2 เบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนไปถอนเงินจากธนาคารซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า จำนวน 200,000 บาท เมื่อเวลา 17.09 นาฬิกา และจำนวน 475,000 บาท เมื่อเวลา 17.11 นาฬิกา รวม 675,000 บาท แล้วมอบให้จำเลยที่ 1 จำนวน 600,000 บาท ศาลฎีกาพิจารณารายการเดินบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ปรากฏว่าหลังจากได้รับเงินมาโจทก์ร่วมนำฝากเข้าบัญชีธนาคารผ่านตู้รับฝากเงินอัตโนมัติในวันนั้นเลยตั้งแต่เวลา 16.15 ถึง 16.22 นาฬิกา รวม 4 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 300,000 บาท โดยในวันดังกล่าวไม่มีรายการฝากเงินจำนวนอื่นเข้าบัญชีอีก แต่ตามสำเนาบันทึกรายการธุรกรรมประจำวัน จำเลยที่ 2 เพิ่งจะทำรายการถอนเงินในวันเดียวกันเมื่อเวลา 17.09 และ 17.11 นาฬิกา เงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 มอบให้แก่โจทก์ร่วมตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความ แม้โจทก์ร่วมทำหลักฐานการรับเงินไว้ให้จำเลยที่ 1 ระบุว่า ได้รับเงินจากจำเลยทั้งสอง 950,000 บาท ไปครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏจากบันทึกที่จำเลยที่ 1 เขียนขึ้นเองและมอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อประกอบคดี ข้อ 4 และข้อ 5 ว่า จำเลยที่ 1 รับซื้อฝากไว้ในราคา 1,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี โดยหักดอกเบี้ย 150,000 บาท ไว้ก่อน วันจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายฝากจำเลยที่ 1 มีเงินไป 850,000 บาท หลังจากชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยที่ 1 ได้มอบเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ร่วมไป แสดงว่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมได้รับไปจากจำเลยที่ 1 รวมทั้งสิ้นไม่ถึง 950,000 บาท ขัดกับที่จำเลยที่ 1 นำสืบ บ่งชี้ว่าหลักฐานการรับเงินเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมเขียนขึ้นไม่ตรงกับจำนวนเงินที่ได้รับไปจริง ข้อเท็จจริงเชื่อได้ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 หักค่าดอกเบี้ยที่คิดไว้ล่วงหน้ารวมกับค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเงินทั้งสิ้น 360,000 บาท แม้โจทก์จะนำสืบได้ไม่ชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีจำนวนเท่าใด แต่ก็ไม่น่าจะมีจำนวนที่มากนัก จึงเชื่อว่าเงินในส่วนของดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 หักไว้มีจำนวนมากกว่า 150,000 บาท อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ การที่โจทก์ร่วมมาติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงิน แต่จำเลยที่ 1 กลับให้ทำเป็นสัญญาขายฝากโดยใช้วิธีคิดดอกเบี้ยจากราคาขายฝากในระยะเวลาไถ่ถอน 1 ปี แล้วหักเงินไว้ล่วงหน้า อันเป็นลักษณะของการเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมเงิน แทนที่จะกำหนดสินไถ่ให้สูงกว่าราคาขายฝาก อันเป็นลักษณะของการคิดผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายฝาก ส่อชัดว่าจำเลยที่ 1 หาได้มีเจตนาจะผูกนิติสัมพันธ์ตามสัญญาขายฝากดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ ส่วนที่โจทก์ร่วมยินยอมทำสัญญาขายฝากก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินกู้ในลักษณะที่จำยอมต้องกระทำตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 มิใช่ว่าโจทก์ร่วมเปลี่ยนเจตนาในการทำนิติกรรมจากกู้ยืมเงินมาเป็นการขายฝากโดยสมัครใจ สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองจึงทำขึ้นเพื่ออำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยมีที่ดินเป็นหลักประกัน แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินโดยทำเป็นสัญญาขายฝากอำพรางการให้กู้ยืมเงินดังที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกา แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์และโจทก์ร่วมสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงมีความผิดฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 แต่โดยที่มาตรา 4 (1) ของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 บัญญัติให้การให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ยังคงเป็นความผิดเช่นเดิม เพียงแต่แก้ไขโทษใหม่ กรณีจึงมิใช่เป็นการยกเลิกการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังด้วย แต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังมีระวางโทษสูงกว่าที่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) กำหนดไว้ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 กรณีจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานประกอบกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการธนาคาร และประกอบกิจการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย เป็นการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังในทางการค้าปกติ โดยร่วมกันจัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้มีชื่อและบุคคลอื่นทั่วไปกู้ยืมเงิน โดยไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคาร และเป็นกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่านอกจากโจทก์ร่วมแล้ว ยังมีบุคคลอื่นใดที่จำเลยที่ 1 ให้กู้ยืมเงินโดยประสงค์ที่จะได้รับดอกเบี้ยเป็นผลประโยชน์ตอบแทนอันเป็นทางค้าปกติของจำเลยที่ 1 แต่กลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพค้าขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างโดยจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด อีกทั้งยังได้ความจากพันตำรวจโทประยงค์ พนักงานสอบสวน พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ร้านค้าของจำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากสถานีตำรวจเพียง 300 เมตร พยานไม่เคยได้ยินว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยเงินกู้ หรือมีบุคคลใดมาร้องเรียนกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยเงินกู้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้บุคคลทั่วไปกู้ยืมเงินเป็นทางค้าปกติ ลำพังการที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการธนาคาร และประกอบกิจการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (3) (7) และข้อ 16 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ นั้น เห็นว่า ปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ร่วม เมื่อความผิดตามฟ้องมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย ย่อมไม่กระทบอำนาจฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) จำคุก 3 เดือน และปรับ 900 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 600 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับนอกจากให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกันอีก พฤติการณ์กระทำความผิดไม่ร้ายแรงนัก โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 |