

ฟ้องให้ขายที่ดินคืนตามคำมั่นในสัญญาซื้อขายที่ดิน ฟ้องให้ขายที่ดินคืนตามคำมั่นในสัญญาซื้อขายที่ดิน สัญญาซื้อขายตกลงยินยอมขายคืนเมื่อผู้ซื้อเลิกกิจการเลื่อยไม้ เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สิน กฎหมายไม่ได้บังคับว่าคำมั่นนี้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยขายที่ดินคืนโดยอ้างสิทธิตามคำมั่นในสัญญาซื้อขายจำเลยจะฟ้องแย้งว่าจำเลยเสียค่าใช้จ่ายทำถนนในที่ดินพิพาททำให้จำเลยเสียหาย ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนขายที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายที่ดิน ข้อ 2 ระบุว่า “ผู้ซื้อสัญญาว่าถ้าเลิกกิจการเลื่อยไม้หรือโอนกิจการให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือผู้ซื้อไม่ทำประโยชน์กับที่ดินผืนนี้แล้ว ผู้ซื้อยินยอมขายคืนให้แก่ผู้ขายในราคาตามข้อ 1 นอกจากผู้ขายตกลงไม่ซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร” ซึ่งหมายความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกประกอบกิจการโรงเลื่อยหรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่นหรือไม่ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ตกลงจะขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ตามราคาที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาจากโจทก์ คือ ราคา 200,000 บาท เว้นแต่โจทก์แสดงเจตนาไม่ซื้อที่ดินพิพาทเป็นหนังสือ ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกประกอบกิจการโรงเลื่อยหรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่นหรือไม่ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท คำมั่นดังกล่าวเป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สิน ซึ่งกฎหมายบังคับว่าถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนจะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง กฎหมายหาได้บังคับว่าคำมั่นเช่นว่านี้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่อย่างใดไม่ เมื่อคำมั่นดังกล่าวระบุในสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งทำเป็นหนังสือและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปรากฏตามหนังสือของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางและหนังสือของสำนักงานป่าไม้อำเภอห้างฉัตรว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งขอเลิกการประกอบกิจการโรงงานและได้รับอนุญาตแล้วกับไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการแปรรูปไม้ เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือของราชการ และจำเลยทั้งสองไม่นำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกประกอบกิจการโรงงานแปรรูปไม้แล้วอันมีความหมายอย่างเดียวกับการเลิกกิจการเลื่อยไม้ตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายที่ดินข้อ 2 เพราะการเลื่อยไม้ก็คือการแปรรูปไม้และการประกอบกิจการโรงงานแปรรูปไม้ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จำเลยทั้งสองมีเพียงนายสุวัฒน์เป็นพยานเบิกความลอย ๆ อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เลิกกิจการและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นมะม่วง โดยไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ สนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกการเป็นนิติบุคคลเป็นคนละส่วนกับการประกอบกิจการเลื่อยไม้หรือโรงงานไม้แปรรูปและไม่ใช่ข้อที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังประกอบกิจการดังกล่าวอยู่ พฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกประกอบกิจการโรงเลื่อยแล้ว กรณีจึงเข้าเงื่อนไขตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายที่ดิน ข้อ 2 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าว ซองจดหมายและใบตอบรับเป็นพยานหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวแสดงความจำนงขอซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยทั้งสองทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ตามที่จดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและเป็นที่อยู่เดียวกับที่จำเลยทั้งสองระบุในคำให้การของจำเลยทั้งสอง แต่ไปรษณีย์นำส่งให้แก่จำเลยทั้งสองไม่ได้โดยระบุว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเจตนาหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์แล้ว โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ การให้สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำมั่นในกรณีเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยที่ 1 แจ้งขอเลิกประกอบกิจการเมื่อปี 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้ปี 2540 ยังไม่เกินกำหนด 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นและไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง |