

การสมรสซ้อนที่เป็นโมฆะทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง การสมรสซ้อนที่เป็นโมฆะทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2523 สามีภริยาก่อน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ภริยาไปบวชชี ไม่ได้ความว่าสามีอนุญาต ยังไม่ขาดจากสามีภริยากัน สามีได้ภริยาใหม่จดทะเบียนเมื่อใช้บรรพ 5 แล้ว ไม่เป็นการสมรส ที่สมบูรณ์ ไม่มีสิทธิรับมรดกของสามี สามีตายมรดกตกได้แก่ภริยาเดิมภริยาเดิมจดทะเบียนยกที่ดินให้โจทก์แม้ไม่ระบุถึงบ้านด้วย บ้านเป็น ส่วนควบของที่ดิน โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในบ้านด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท ให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 200 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะให้ยกข้อที่เรียกค่าเสียหาย จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายชมกับนางยังเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายชมกับนางยัง ปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2156 ซึ่งนางยังได้รับโอนมาโดยทางมรดก ต่อมานางยังไปบวชชี แล้วนายชมได้จำเลยเป็นภรรยาอีกคนหนึ่งอยู่กินกันที่บ้านพิพาทเกิดบุตรด้วยกันหลายคนแต่นายชมกับจำเลยเพิ่งจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเมื่อ ปี พ.ศ. 2518นายชมถึงแก่กรรมปี พ.ศ. 2519 โดยมิได้ทำพินัยกรรม หลังจากนายชมถึงแก่กรรม จำเลยก็ยังคงอยู่ในบ้านพิพาทตลอดมาจนบัดนี้ ในปี พ.ศ. 2521นางยังจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2156 ดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทเป็นคดีนี้ อ้างว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ มีประเด็นมาสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิจะอยู่ในบ้านพิพาทหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าระหว่างนางยังบวชชี นายชมเอาอาหารไปส่ง ตามพฤติการณ์แสดงว่านายชมอนุญาตให้นางยังไปบวช นายชมกับนางยังจึงขาดจากการเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่วันที่นางยังบวชชีตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 39 บ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรส ต้องแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เป็นของนายชม 2 ส่วน ของนางยัง 1 ส่วน นางยังไม่ได้ครอบครองส่วนของตนหากแต่นายชมกับจำเลยเป็นผู้ครอบครองมา ส่วนของนางยังจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายชม นายชมจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาททั้งหมดเพียงคนเดียว และเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยกับบุตรของจำเลยนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาไม่ได้ความแน่ชัดว่าเมื่อนางยังไปบวชชีนั้น นายชมได้อนุญาตให้ไปบวชหรือไม่ และไม่ได้ความจากการนำสืบของฝ่ายใดเลยว่า ขณะนางยังบวชชี นายชมได้เอาอาหารไปส่งจึงยังฟังไม่ได้ว่านายชมกับนางยังได้ขาดจากสามีภรรยากันแล้วตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 39 ดังที่จำเลยฎีกา นอกจากเรื่องที่นางยังไปบวชชีแล้วข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายชมกับนางยังได้หย่ากันแต่อย่างใด จึงฟังได้ว่านายชมกับนางยังเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตลอดมาจนกระทั่งนายชมถึงแก่กรรม สำหรับจำเลยซึ่งให้การว่านางยังไปบวชชีเมื่อประมาณ47 ปีมานี้ แล้วต่อมาอีกประมาณ 10 ปี นายชมก็ได้จำเลยเป็นภรรยานั้นตามคำให้การของจำเลยคำนวณได้ว่านายชมได้จำเลยเป็นภรรยาประมาณปี พ.ศ. 2485 ใกล้เคียงกับที่โจทก์บรรยายฟ้องว่านายชมได้จำเลยเป็นภรรยาในปี พ.ศ. 2484 เป็นเวลาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับ แม้จำเลยกับนายชมจะได้จดทะเบียนสมรสกัน การสมรสก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 และ 1445(3) เดิมเพราะขณะจดทะเบียนสมรส นายชมเป็นคู่สมรสหรือสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางยังจำเลยจึงมิใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชม ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายชม หรืออีกนัยหนึ่งไม่มีส่วนเป็นเจ้าของบ้านพิพาทแต่อย่างใดเมื่อนายชมถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ผู้ใด บ้านพิพาทซึ่งเป็นส่วนของนายชม จึงเป็นมรดกตกให้แก่นางยังผู้เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนางยังโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งปลูกบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ แม้จะได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่าในตอนที่ยกที่ดินให้ นางยังไม่ได้พูดถึงบ้านพิพาทด้วย แต่บ้านพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดิน โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 และมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาท" พิพากษายืน การสมรสที่เป็นการสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะนั้น แม้ต่อมาการสมรสครั้งแรกจะสิ้นสุดลง ก็ไม่ทำให้การสมรสซ้อนกลับสมบูรณ์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/252 ป. จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25เมษายน 2495 ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อวันที่15 ธันวาคม 2503 และจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2507 วันที่ 24 มิถุนายน 2507ป. จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาวันที่ 5สิงหาคม 2507 ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 อีก และหลังจากนั้นคือวันที่ 30 ตุลาคม 2507 โจทก์กับ ป.จึงได้จดทะเบียนสมรสกันซ้ำอีกครั้งหนึ่ง วันที่ 1เมษายน 2519 ป. ถึงแก่กรรมเช่นนี้การจดทะเบียนสมรสระหว่าง ป. กับโจทก์ครั้งแรกและระหว่าง ป. กับจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445(3) เพราะในขณะนั้น ป. เป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 สำหรับจำเลยที่ 1 แม้จะปรากฏว่าได้จดทะเบียนหย่ากับ ป. ทำให้การสมรสขาดลง แต่ต่อมาก็ได้จดทะเบียนสมรสกันใหม่โดยสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการสมรสระหว่าง ป. กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้เป็นโมฆะมาตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนสมรสแล้ว การที่โจทก์มาจดทะเบียนสมรสกับ ป. ครั้งหลังอีกจึงเป็นโมฆะเพราะขณะนั้น ป. เป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 1 ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ผู้เดียวของ ป. มีอำนาจฟ้องขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับ ป. เป็นโมฆะ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกประเสริฐซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2519 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นหลักฐานต่อทางราชการว่าเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกประเสริฐ ความจริงจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกับจ่าสิบเอกประเสริฐในขณะที่จ่าสิบเอกประเสริฐกับโจทก์เป็นสามีภรรยากันอยู่ กระทรวงกลาโหมไม่จ่ายบำเหน็จตกทอดให้โจทก์ ขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ และให้ศาลแจ้งคำสั่งของศาลไปยังสำนักทะเบียนให้เพิกถอนทะเบียนสมรสของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกประเสริฐ จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2495 ก่อนจ่าสิบเอกประเสริฐมาจดทะเบียนสมรสกับโจทก์และจำเลยที่ 2 การสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะ โจทก์รบเร้าให้จ่าสิบเอกประเสริฐจดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 จ่าสิบเอกประเสริฐจึงทำการลวงโจทก์โดยจดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้วรีบจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ใหม่ แล้วเอาทะเบียนหย่าไปให้โจทก์ดูและจดทะเบียนสมรสกับโจทก์อีก เมื่อจ่าสิบเอกประเสริฐถึงแก่กรรม โจทก์เอาทะเบียนสมรสที่เป็นโมฆะไปขอรับเงินบำเหน็จตกทอดและคัดค้านการที่จำเลยที่ 1 ขอรับบำเหน็จตกทอด เป็นการไม่ชอบ ขอให้พิพากษายกฟ้องและพิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจ่าสิบเอกประเสริฐเป็นโมฆะให้โจทก์ไปเพิกถอนทะเบียนสมรสดังกล่าวกับถอนคำขอและคำคัดค้านที่จำเลยที่ 1 ยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดของจ่าสิบเอกประเสริฐ หากโจทก์ไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ และห้ามโจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวอีก โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 กับจ่าสิบเอกประเสริฐจะจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2495 จริงหรือไม่ไม่รับรองหากเป็นความจริงก็จดทะเบียนหย่ากันแล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2507 โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจ่าสิบเอกประเสริฐอย่างถูกต้อง โจทก์ไม่เคยรบเร้าให้จ่าสิบเอกประเสริฐจดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้วมาจดทะเบียนสมรสกับโจทก์การที่โจทก์กับจ่าสิบเอกประเสริฐจดทะเบียนสมรสกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2507 ก็เพราะตามทะเบียนสมรสเดิมโจทก์ชื่อ "บัวรินทร์" เมื่อเปลี่ยนชื่อมาเป็น "อารียา" จึงจดทะเบียนสมรสกันใหม่ การจดทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 1 กับจ่าสิบเอกประเสริฐเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2507 เป็นโมฆะเพราะขณะนั้นโจทก์เป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกประเสริฐอยู่แล้วโจทก์มีสิทธิขอรับบำเหน็จตกทอดของจ่าสิบเอกประเสริฐ ไม่เป็นการละเมิด ขอให้ยกฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจ่าสิบเอกประเสริฐตกเป็นโมฆะ คำขออื่นนอกจากนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้ว่าเดิมจ่าสิบเอกประเสริฐจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2495 แล้วต่อมาจ่าสิบเอกประเสริฐได้มาจดทะเบียนสมรสกับโจทก์และจำเลยที่ 2 อีก โดยจดกับโจทก์วันที่ 15 ธันวาคม 2503 ขณะนั้นโจทก์ใช้ชื่อ "บัวรินทร์" และจดกับจำเลยที่ 2 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2507 วันที่ 24 มิถุนายน 2507 จ่าสิบเอกประเสริฐจดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม2507 จ่าสิบเอกประเสริฐก็จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 อีก และหลังจากนั้นคือ ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2507 โจทก์กับจ่าสิบเอกประเสริฐก็จดทะเบียนสมรสกันซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งหลังนี้โจทก์ใช้ชื่อ "อารียา" ซึ่งเป็นชื่อของโจทก์ในปัจจุบัน ครั้นวันที่ 1 เมษายน 2519 จ่าสิบเอกประเสริฐถึงแก่กรรมโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่างไปขอรับเงินบำเหน็จตกทอดของจ่าสิบเอกประเสริฐจากกระทรวงกลาโหม อ้างว่าเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกประเสริฐทางกระทรวงกลาโหมขัดข้อง จะจ่ายให้แต่เฉพาะภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกประเสริฐเพียงผู้เดียว จึงพิพาทกันเป็นคดีนี้มีประเด็นข้อวินิจฉัยว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบเอกประเสริฐ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจ่าสิบเอกประเสริฐกับโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2503 และระหว่างจ่าสิบเอกประเสริฐกับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2507 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445(3) เพราะในขณะนั้นจ่าสิบเอกประเสริฐเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 สำหรับจำเลยที่ 1 แม้จะปรากฏว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2507 ได้จดทะเบียนหย่ากับจ่าสิบเอกประเสริฐทำให้ขาดจากการสมรสก็ตามแต่ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2507 จำเลยที่ 1 กับจ่าสิบเอกประเสริฐก็ได้จดทะเบียนสมรสกันใหม่ การจดทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 1 กับจ่าสิบเอกประเสริฐในครั้งหลังนี้สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายเพราะขณะที่จดทะเบียนสมรสครั้งหลังนี้จ่าสิบเอกประเสริฐมิได้เป็นคู่สมรสของโจทก์หรือของจำเลยที่ 2 เนื่องด้วยการสมรสระหว่างจ่าสิบเอกประเสริฐกับโจทก์และระหว่างจ่าสิบเอกประเสริฐกับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะตั้งแต่วันที่จดทะเบียนสมรสกันแล้วดังวินิจฉัยมาข้างต้น เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจ่าสิบเอกประเสริฐเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2507 ชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มาจดทะเบียนสมรสกับจ่าสิบเอกประเสริฐครั้งหลังในวันที่ 30 ตุลาคม 2507 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445(3), 1490 อีกเช่นกัน เพราะขณะนั้นจ่าสิบเอกประเสริฐเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ผู้เดียวของจ่าสิบเอกประเสริฐจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจ่าสิบเอกประเสริฐเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เสียนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สามีภริยาทิ้งร้างกัน -หากมีการสมรสซ้อนก็เป็นโมฆะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2527 การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในคดีแพ่งนั้น ต่างกับการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดอาญาโดยประมาทซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดโดยแน่ชัดสำหรับคดีแพ่ง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแสดงว่าการละเมิดของผู้ทำละเมิดเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็พอทำให้เข้าใจได้แล้วว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโจทก์มีอย่างไร โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกเรืออวนลากสูงกว่ากฎหมายกำหนดและด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ เป็นเหตุให้เรืออวนลากซึ่งบรรทุกอยู่บนรถชนสายโทรศัพท์และเสาโทรศัพท์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ขับรถบรรทุกบรรทุกเรืออวงลากสูงกว่ากฎหมายกำหนดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3แล่นมาตามถนน เมื่อถึงสี่แยกโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้เรืออวนลากซึ่งบรรทุกอยู่บนรถบรรทุกดังกล่าวชนสายโทรศัพท์และเสาโทรศัพท์เสียหายเป็นเงิน35,800 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ที่ 3ต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้าง ส่วนจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้อง จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การปฏิเสธความรับผิดและตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นทั้งหมดแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในคดีแพ่งนั้น ต่างกับการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดอาญาโดยประมาทซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดโดยแน่ชัดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 สำหรับคดีแพ่งเมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องแสดงว่าการละเมิดของผู้ทำละเมิดเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็พอทำให้เข้าใจได้แล้วว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโจทก์มีอย่างไร คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน ส.ภ.03530 บรรทุกเรืออวนลากสูงกว่ากฎหมายกำหนดและด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถบรรทุกดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้เรืออวนลากซึ่งบรรทุกอยู่บนรถบรรทุกดังกล่าวชนสายโทรศัพท์และเสาโทรศัพท์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว พิพากษายืน ผลของการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1452 ก็คือมาตรา 1498, 1499 วรรคสอง ถึง วรรคสี่ สรุปได้ว่า ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนตามมาตรานี้ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริต ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้น ทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อน มีคำพิพากษาถถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะแล้วแต่กรณี ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพในการณีนี้ให้นำมราตรา 1526 วรรคหนึ่ง และมาตตรา 1528 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อสังเกต การสมรสที่เป็นโมฆะ ได้มีคำพพากษาศาลฎีกาที่ 949/2531 วินิจฉัยว่า การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่อาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่คำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้เป็นการวินิจฉัยก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ บรรพ 5 ปัญหาจึงมีว่า การสมรสที่เป็นโมฆะตามกฎหมายใหม่นั้น ความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวโดยเฉพาะหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูต่อกันนั้น ชายหญิงดังกล่าวจะมีหน้าที่ต่อกันหรือไม่ ตามบทบัญญัติในปัจจุบัน คือมาตรา 1494 ถึง 1500 ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่ตัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิหน้าที่ดังกล่าวไว้เลย คงมีเฉพาะความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สินเท่านั้น การสิ้นสุดแห่งการสมรส เป็นกรณีที่การสมรสนั้นสมบูรณ์อยู่ แต่การสมรสดังกล่าวอาจสิ้นสุดลงได้ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตารา 1501 ซึ่งบัญญัตไว้ว่า การสมรสย่อมสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพาษาให้เพิกถอน ดังนั้น การสมรสสจึงสิ้นสุดด้วยเหตุ 3 ประการ (1) ตาย หมายถึงการตายโดยธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่เพราะศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ตามมาตรา 62 เพราะกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ เป็นเพียงเหตุฟ้องหย่าเท่านั้น ตามมาตรา 1516 (5) (2) การหย่า หมายถึงการที่ชายหรือหญิงเลิกจากการเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยการหย่ากันเอง หรือศาลมีคำพิพากษาให้หย่าตามมาตรา 1514 วรรคหนึ่ง (3) ศาลพิพากษาให้เพิกถอน เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส เพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสฝ่าฝืนมาตรา 1448, 1505, 1506, 1507 และ มาตรา 1509 มาตรา 1448 ชายหรือหญิงสมรสกันโดยมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ มาตรา 1505 การสมรสเพราะสำคัญผิดในตัวผู้สมรส มาตรา 1506 การสมรสเพราะถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาด มาตรา 1507 การสมรสเพราะถูกข่มขู่อันถึงขนาด มาตรา 1509 การสมรสโดยมิได้รับความยินยอมตามมาตรา 1454 การสมรสที่ตกเป็นโมฆียะ ต้องมีการฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสจึงจะสิ้นสุดลง จะนำเรื่องโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 และมาตรา 176 มาบังคับไม่ได้ ผลของการสมรสที่เป็นโมฆียะ คือมาตรา 1511 และมาตรา 1512 คือ ให้ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลงในวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยผลการหย่าโดยคำพิพากษามาใช้บังคับแก่ผลของการเพิกถอนการสมรสโดยอนุโลม คือ คำพิพากษาส่วนที่บังคับเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า ตามมาตรา 1532 (ข) มาตรา 1511 "การสมรสที่ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนนั้น ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการเพิกถอนการสมรสนั้นแล้ว" มาตรา 1512 "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยผลของการหย่าโดยคำพิพากษามาใช้บังคับแก่ผลของการเพิกถอนการสมรสโดยอนุโลม" การสมรสที่เป็นโมฆะ-ความเป็นโมฆะของการสมรส มาตรา 1494 "การสมรสจะเป็นโมฆะก็แต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ในหมวดนนี้" มาตรา 1495 "การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ" มาตรา 1496 "คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตารา 1450 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้" มาตรา 1497 "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้" มาตรา 1497/1 "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการสมรสใดเป็นโมฆะให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเยียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส" มาตรา 1498 "การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นนของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัวภาระในการหาเลี้ยงชีพฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว" มาตรา 1499 "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืน มาตารา 1449 มาตารา 1450 หรือมาตรา 1458 ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุตริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การนมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตารา 1449 ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริต ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะแล้วแต่กรณีฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพในกรณีนี้ในนำมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1528 มาใช้บังคับโดยอนุโลม สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพตามวรรคสาม มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดสำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 หรือมาตารา 1458 หรือนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452" มาตารา 1499/1 "ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ข้อตกลงระหว่างคู่สมรสว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด หรือฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ให้ทำเป็นหนังสือ หากตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ในการพิจารณาชี้ขาด ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ และให้นำความใน มตรา 1521 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 1500 "การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสตามมาตรา 1497/1" ข้อสังเกต (1) มาตรา 1494 วางหลักว่า การสมรสจะเป็นโมฆะก็แต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. เท่านั้น (2) เมื่อการสมรสตกเป็นโมฆะแล้วก็ไม่อาจสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ได้ (3) เหตุแห่งการสมรสที่จะเป็นโมฆะได้นั้น ตามมาตรา 1495 คือการสมรสที่ฝ่าฝืน มรตรา 1449, 1450, 1452 และ มาตรา 1458 แสดงว่ามีอยู่ 4 กรณี เทานั้น คือ มาตรา 1449 "ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ" มาตรา 1450 "ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี โดยความเป็นญาติดังกล่าวให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่" มาตรา 1452 "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้" มาตรา 1458 "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย" การสมรสที่เป็นโมฆะ ตามมาตรา 1449, 1450 และมาตรา 1458 การสมรสที่เป็นโมฆะทั้งสามมาตรา ดังกล่าว ศาลต้องมีคำพิพากษาแสดงเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 ววรคหนึ่ง ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะทั้งสามมาตราดังกล่าวนี้ ก็คือ มาตรา 1498, มาตรา 1499 วรรคหนึ่ง มาตรา 1499 วรรคสาม และวรรคสี่ สรุปได้ว่า การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิด ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ส่วนทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรส รวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง และไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้น ทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะแล้วแต่กรณี ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิค่าเลี้ยงชีพในกรณีนี้ให้นำมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1528 มาใช้บังคับโดยอนุโลม การสมรสที่เป็นโมฆะตามมาตรา 1452 (การสมรสซ้อน) (1) มาตารา 1497 "การสมรสที่เป็นโมฆะตามมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้" (2) การสมรสซ้อนอาจเกิดขึ้นโดยชายหรือหญิงทำการสมรสซ้อนก็ได้ (3) สามีภริยาตามกฎหมายลักษณะผัวเมืยที่มิได้มีการจดทะเบียนสมรสกัน ไม่อาจจดทะเบียนสมรสใหม่กับบุคคลอื่นอีก ถ้าสมรสอีกก็เป็นการสมรสซ้อน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2562 ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลชั้นต้น และโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์อ้างเหตุหย่าว่าเป็นความผิดของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจึงสืบพยานจำเลยไป ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแย้งโดยวินิจฉัยว่า เหตุหย่าตามฟ้องแย้งของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ คดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ประเด็นในคดีดังกล่าวจึงมีอยู่ว่า มีเหตุหย่าตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุต่าง ๆ ตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดี อ้างว่าการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ เพราะขณะทำการสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ประเด็นก่อนกับคดีนี้จึงต่างกันและแม้ในคดีก่อน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้ โจทก์ซึ่งมีเชื้อชาติลิทัวเนียสัญชาติไอร์ริช ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสห้องชุดพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเชื้อชาติและสัญชาติไอร์แลนด์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ขณะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นการสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ในปัญหาว่าสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ จดทะเบียนสมรสกับ ซ. ตามกฎหมายประเทศไอร์แลนด์ ดังนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้กับจำเลยในประเด็นการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่านี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามี และภริยา ทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้" เมื่อขณะที่จำเลยและโจทก์สมรสกัน จำเลยมีคู่สมรสอยู่แล้วคือ ซ. และขณะทำการสมรส รัฐธรรมนูญของประเทศไอร์แลนด์ไม่อนุญาตให้พลเมืองที่ทำการสมรสหย่ากัน จำเลยจึงไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นแห่งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันที่มิใช่ศาลแห่งประเทศที่จำเลยมีสัญชาติที่พิจารณาให้จำเลยหย่าขาดจาก ซ. จึงไม่ทำให้จำเลยขาดจากการสมรสกับคู่สมรสเดิม ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่มีการจดทะเบียนสมรสกันถึงสองครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" ก่อนโจทก์ทำการสมรสกับจำเลย โจทก์มีสัญชาติลิทัวเนีย ส่วนจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ ดังนั้น เงื่อนไขแห่งการสมรสของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือกฎหมายประเทศลิทัวเนีย และประเทศไอร์แลนด์ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า กฎหมายของทั้งสองประเทศดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้อย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายในประเทศไทย" ซึ่งในเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติว่า "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้" และมาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่โจทก์และจำเลยทำการสมรสกันนั้น จำเลยยังมีคู่สมรส คือ ซ. การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นโมฆะ ผลแห่งการสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1498 การที่โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการจ้างบุคคลในสาธารณรัฐโดมินิกันให้จัดทำเอกสารการหย่าระหว่างจำเลยกับคู่สมรส โจทก์จึงมิใช่คู่สมรสฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริต จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1499 เมื่อการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ แม้ห้องชุดพิพาทโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างอยู่ด้วยกันก็ตามก็มิใช่สินสมรส เมื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ทางนำสืบของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ซื้อมา จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ตามมาตรา 1498 วรรคสอง ในส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในเรื่องกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้แบ่งสินสมรสอันได้แก่ ห้องชุด เลขที่ 377/49 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1354 ครึ่งหนึ่ง คิดเป็นเงิน 9,250,000 บาท หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลขายระหว่างกันเอง หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำออกขายทอดตลาดและนำเงินมาแบ่งคนละเท่า ๆ กับให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 150,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2558 รวม 65 เดือน คิดเป็นเงิน 9,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 190,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือจนกว่าโจทก์จะทำการสมรสใหม่ และให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้แบ่งสินสมรส ได้แก่ ห้องชุดเลขที่ 377/49 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1354 คนละเท่า ๆ กัน หากแบ่งไม่ได้ให้ตกลงประมูลขายระหว่างโจทก์กับจำเลย หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งกันคนละเท่า ๆ กัน โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 377/49 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1354 แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่แบ่งให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน 9,250,000 บาท หากไม่ใช้ราคาให้ตกลงประมูลขายกันเองระหว่างโจทก์จำเลย หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำออกขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กัน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นคนเชื้อชาติลิทัวเนีย สัญชาติไอร์ริช ส่วนจำเลยมีเชื้อชาติและสัญชาติไอร์ริช โจทก์และจำเลยต่างเคยมีครอบครัวและบุตรมาก่อน เมื่อเดือนกันยายน 2536 โจทก์และจำเลยอยู่ในประเทศลิทัวเนียได้รู้จักกันและคบหากันฉันชู้สาว ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2536 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันอีกที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์และจำเลยไม่มีบุตรด้วยกัน แต่ระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภริยากันนั้นได้มีการซื้อห้องชุดเลขที่ 377/49 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1354 โดยมีชื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของต่อมาเมื่อปลายปี 2552 โจทก์และจำเลยมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง จำเลยเดินทางมาอยู่ที่ประเทศไทย ส่วนโจทก์อยู่ที่ประเทศโปรตุเกส และไม่ได้อยู่ร่วมกันอีกเลยเป็นเวลาเกินกว่าสามปี ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554 จำเลยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลชั้นต้น โดยอ้างเหตุหย่าว่า โจทก์ประพฤติชั่วทำให้จำเลยได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควรกับโจทก์จงใจละทิ้งร้างจำเลยไปเกินหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (2) (ก) (ค) และ (4) ในคดีดังกล่าว โจทก์ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งอ้างเหตุหย่าว่า จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงอื่น และร่วมประเวณีผู้อื่นเป็นอาจิณ จำเลยประพฤติชั่ว ข่มเหงโจทก์ ทำร้ายร่างกายโจทก์ จงใจละทิ้งโจทก์ไปเกินหนึ่งปี กับไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 (1), (2) (ก) (ข), (3), (4) และ (6) วันที่ 23 มีนาคม 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกฟ้องแย้ง ปรากฏตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้ง กับคำพิพากษาในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 159/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ของศาลชั้นต้น จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาใหม่ตั้งแต่ชั้นรับคำให้การจำเลยว่าจะมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ประการใด แล้วดำเนินกระบวนการพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี วันที่ 26 พฤษภาคม 2556 จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต และมีการสืบพยานจำเลยไป วันที่ 24 ตุลาคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง คดีถึงที่สุดปรากฏตามคำร้องขอถอนฟ้อง คำเบิกความพยานจำเลย คำพิพากษา และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ของศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เป็นเพราะก่อนคดีนี้ จำเลยได้ฟ้องหย่าโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 95/2555 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวมีการถอนฟ้องไป โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป จนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย คดีถึงที่สุด โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว จึงมาฟ้องหย่าจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้น และขอแบ่งสินสมรสห้องชุดพิพาทเป็นคดีนี้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าคู่ความได้ยอมรับอำนาจศาลไทยแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจะเป็นโมฆะ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่นั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นการสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ในปัญหาว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ นั้น ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า ก่อนโจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยได้หย่าขาดจากคู่สมรสเดิมแล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 ส่วนจำเลยนำสืบว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประเทศไอร์แลนด์ ค.ศ.1937 ในมาตรา 41 ข้อ 3.2 บัญญัติว่า "จะไม่มีการออกกฎหมายใดเพื่อยินยอมให้เกิดการสิ้นสุดของการสมรสได้" แต่เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในบทบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัว เรื่องการสิ้นสุดของการสมรสโดยการหย่าได้ โดยบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2539 เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ จดทะเบียนสมรสกับนาง ซ. ตามกฎหมายประเทศไอร์แลนด์ ดังนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้กับจำเลยในประเด็นการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่านี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้" เมื่อโจทก์มิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อนำสืบของจำเลยว่า ขณะที่จำเลยและโจทก์สมรสกัน จำเลยมีคู่สมรสอยู่แล้ว คือ นาง ซ. เพราะจำเลยไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นแห่งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันที่มิใช่ศาลแห่งประเทศที่จำเลยมีสัญชาติ ที่พิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจาก นาง ซ. จึงไม่ทำให้จำเลยขาดจากการสมรสกับคู่สมรสเดิม ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่มีการจดทะเบียนสมรสกันถึงสองครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และวันที่ 24 ธันวาคม 2536 รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จะมีผลสมบูรณ์หรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" ก่อนโจทก์ทำการสมรสกับจำเลย โจทก์มีสัญชาติลิทัวเนีย ส่วนจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ ดังนั้น เงื่อนไขแห่งการสมรสของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลย คือกฎหมายประเทศลิทัวเนีย และประเทศไอร์แลนด์ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า กฎหมายของทั้งสองประเทศดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้อย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศไทย" ซึ่งในเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติว่า "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้" และมาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืน มาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่โจทก์และจำเลยทำการสมรสกันนั้น จำเลยยังมีคู่สมรสอยู่ คือ นาง ซ. การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย จึงเป็นโมฆะซึ่งผลแห่งการสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1498 ข้อที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ทำการสมรสโดยสุจริต นั้น ก็ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยซึ่งโจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่า เหตุที่จำเลยรู้จักและคบหาโจทก์ อันนำไปสู่การจดทะเบียนสมรสถึงสองครั้งนั้นเป็นเพราะจำเลยอ่านพบข้อความประกาศหาคู่ของโจทก์ในหนังสือพิมพ์ และโจทก์กับจำเลยเพิ่งรู้จักกันเมื่อเดือนกันยายน 2536 หลังจากนั้น ประมาณ 2 เดือน จึงได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่สาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งโจทก์ก็เบิกความรับว่า ไม่เคยเดินทางไปที่ประเทศดังกล่าว และจำเลยเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน โจทก์ไม่ทราบรายละเอียด ทั้งการที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากจดทะเบียนสมรสครั้งแรกเพียงหนึ่งเดือนเศษ เช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของการจดทะเบียนสมรสครั้งแรกของโจทก์และจำเลยที่สาธารณรัฐโดมินิกัน นอกจากนี้การที่โจทก์และจำเลยเลือกที่จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศดังกล่าว ทั้งที่โจทก์และจำเลยมิได้ถือสัญชาติโดมินิกัน รวมทั้งมิได้มีภูมิลำเนา หรือทรัพย์สินใด ๆ อยู่ในประเทศนี้ ชี้ให้เห็นถึงข้อพิรุธในการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ทำให้น่าเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการสมรสในครั้งนี้ว่าเป็นการจ้างวานบุคคลให้จัดทำเอกสาร โดยมิได้มีการจดทะเบียนสมรสกันจริง ในส่วนการหย่าระหว่างจำเลยและนาง ซ. คู่สมรสเดิมซึ่งโจทก์นำสืบโดยอ้างสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น เขตศาลซานโต โดมิงโก้ สาธารณรัฐโดมินิกัน โดยโจทก์อ้างในทำนองว่า โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยได้หย่าขาดจากคู่สมรสเดิมแล้ว แต่ปรากฏตามสำเนาจดหมายพร้อมคำแปล ซึ่งโจทก์อ้างว่า เป็นจดหมายที่จำเลยเขียนถึงโจทก์ก่อนที่โจทก์และจำเลยสมรสกัน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์เนื้อความในเอกสารนี้ที่มีใจความว่า "มันไม่มีการหย่าในประเทศไอร์แลนด์ แต่ผมได้หย่าที่อเมริกาใต้เรียบร้อยแล้ว" จากข้อความในจดหมายดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าโจทก์ทราบมาแต่ต้นแล้วว่า จำเลยไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมที่ประเทศไอร์แลนด์ได้ แต่กลับมีเอกสารเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ให้จำเลยหย่าขาดจากคู่สมรสเดิม และโจทก์ จำเลยยังสามารถทำการสมรสกันตามกฎหมายประเทศดังกล่าวได้ โดยที่ไม่เคยเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันเลย ทั้งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันก็มิได้มีจุดเกาะเกี่ยวใด ๆ ทั้งสิ้นกับโจทก์และจำเลย เช่นนี้จึงเป็นข้อพิรุธจากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้นทำให้ข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการว่าจ้างบุคคลในสาธารณรัฐโดมินิกันให้จัดทำเอกสารการหย่าระหว่างจำเลยกับคู่สมรสเดิม มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จึงมิใช่คู่สมรสฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริต จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1499 สำหรับห้องชุดพิพาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสที่จำเลยต้องแบ่งให้แก่โจทก์นั้น เมื่อการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น แม้ห้องชุดดังกล่าวโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกันก็ตามก็มิใช่สินสมรส เมื่อปรากฏว่าทรัพย์ดังกล่าว มีชื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ทางนำสืบของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ซื้อมา จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ตามมาตรา 1498 วรรคสอง ในส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามหลักในเรื่องกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ |
![]() ![]() |