แก้ไขโทษของความผิดถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยห้ามฎีกา แก้ไขโทษของความผิดถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยห้ามฎีกา ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยจำเลย 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 เดือน แก้โทษของความผิด ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยละคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2552 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297, 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ และพิพากษาลดโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คงจำคุก 4 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้โทษของความผิดในบทหนักอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษแม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาพอฟังว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกเป็นการโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297, 364, 365 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสจำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 สำหรับจำเลยที่ 1 และลดโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ และพิพากษาลดโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คงจำคุก 4 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้โทษของความผิดในบทหนักอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษ แม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาพอฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกนั้นก็เป็นการโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานบุกรุก และฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อแรกก่อนว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความเป็นพยานโจทก์ได้ความว่า ขณะผู้เสียหายทั้งสองกวนทุเรียนอยู่ในบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง มีนายเล็ก ไม่ทราบนามสกุล มาเคาะประตูเรียกให้เปิดประตู เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เปิดประตูให้ นายเล็กได้เข้ามาล็อกคอผู้เสียหายที่ 2 ลากตัวผู้เสียหายที่ 2 ออกนอกบ้านพร้อมกับร้องเรียกจำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายเอกชัยบุตรของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในบ้านของจำเลยทั้งสองวิ่งออกจากบ้านมายังผู้เสียหายที่ 2 และร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 จนสิ้นสติไป คำเบิกความดังกล่าวต่างจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสอง ที่เบิกความเป็นพยานจำเลยว่าก่อนจะเกิดเหตุทำร้าย ผู้เสียหายที่ 2 ได้ยืนด่าว่าจำเลยทั้งสองอยู่ที่หน้าบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง ด่าจำเลยที่ 1 ว่าหน้าตัวเมีย และว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 คบชู้ จำเลยที่ 1 จึงชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เห็นว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างมีคำเบิกความแย้งกัน อย่างไรก็ตามได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองว่า ที่นายเล็กมาเคาะประตูก็เพียงเพื่อจะชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปร่วมดื่มสุรา ซึ่งผู้เสียหายที่ 2 ไม่อยากไป หากด้วยเหตุเท่านี้ ก็ไม่น่าที่จะทำให้ถึงกับต้องทำร้ายร่างกายกัน จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นตามที่จำเลยทั้งสองเบิกความ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็มีนายผิวพี่ของผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นพยานคนกลางมาเบิกความสอดคล้องกับจำเลยทั้งสองว่า ก่อนทำร้ายร่างกายกันได้ยินเสียงทะเลาะกันเนื่องจากผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างเมาสุรา จึงฟังว่าเหตุเกิดขึ้นบนที่ดินนอกตัวบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งเป็นที่ดินที่ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับมรดกเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ละฝ่ายมีสิทธิใช้ร่วมกัน จำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกบุกรุก ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น... พิพากษายืน. ศาลอุทธรณ์แก้จำนวนโทษเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7773/2555 คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหก, 65 วรรคหนึ่ง, 70 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 69 ด้วย ซึ่งเป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ อันเป็นเหตุฉกรรจ์ หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่แก้จำนวนโทษ โดยมิได้แก้บทลงโทษจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง บทบัญญัติมาตรา 52 วรรคหกของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีจุดมุ่งหมายห้ามมิให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคารในระหว่างอุทธรณ์ในทันทีที่มีการยื่นอุทธรณ์เพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพอาคารมิให้ถูกก่อสร้างเพิ่มเติม เพราะถ้าหากปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารต่อไปอาจทำให้อาคารมีสภาพเปลี่ยนแปลงยากแก่การแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้นข้อห้ามกระทำการใดแก่อาคารจึงเริ่มตั้งแต่วันที่มีการยื่นอุทธรณ์ หาใช่นับแต่วันที่ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ ระหว่างพิจารณา นางเป็งเชียง ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหก, 65 วรรคแรก (ที่ถูก วรรคหนึ่ง) และ 70 จำคุก 4 เดือน และปรับ 80,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาทำนองว่า จำเลยทำการก่อสร้างอาคารพิพาทจนแล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือก่อนกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ถือว่าจำเลยได้รับทราบคำสั่ง จำเลยจึงไม่มีความผิด เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 52 วรรคหก ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีจุดมุ่งหมายห้ามมิให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคารในระหว่างอุทธรณ์ ในทันทีที่มีการยื่นอุทธรณ์เพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพอาคารมิให้ถูกก่อสร้างเพิ่มเติม เพราะถ้าหากปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารต่อไป อาจทำให้อาคารมีสภาพเปลี่ยนแปลงยากแก่การแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้นข้อห้ามกระทำการใดแก่อาคารจึงเริ่มตั้งแต่วันที่มีการยื่นอุทธรณ์ หาใช่นับแต่วันที่ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน มาตรา 52 ผู้ขอรับใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้แจ้งตาม มาตรา 39ทวิ และผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วัน ทราบคำสั่ง การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือและยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ออกคำสั่งดังกล่าว และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นจัดส่งอุทธรณ์และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์แล้วแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์และเจ้าพนักงานท้องถิ่น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสนอคดีต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือศาลได้มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาเป็นประการใดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิบัติตามนั้น ในระหว่างอุทธรณ์ ห้ามมิให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคารอันเป็นมูลกรณีแห่งการอุทธรณ์ เว้นแต่อาคารนั้นจะเป็นภยันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินหรือมีลักษณะซึ่งไม่อาจรอได้ มาตรา 65 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 52 วรรคหก มาตรา 57 หรือ มาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่น บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 21 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 หรือ มาตรา 57 ยังต้องระ วางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะ ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง มาตรา 70 ถ้าการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การศึกษาหรือการสาธารณสุข หรือเป็นการกระทำในทางการค้าเพื่อให้เช่า ให้เช่าซื้อขาย หรือจำหน่าย โดยมีค่าตอบแทนซึ่งอาคารใด ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ
|